N. Mahfouz's "Thebes at War"


มีเรื่องตลกจะเล่าให้ฟัง ปีกว่ามาแล้วเห็นผู้หญิงคนหนึ่งบนรถเมล์ กำลังอ่าน "โคตรไคโร" ของมาฟาวซ์อยู่ เลยถามว่าเป็นยังไง เธอตอบว่าดีนะแต่ "flowery" ไปหน่อย มาตอนนี้ได้อ่าน "Thebes at War" เป็นหนังสือเล่มแรกของมาฟาวซ์ที่เราอ่าน ก็อดไม่ได้จะเห็นด้วยว่า เออ มัน "flowery" จริงๆ นั่นแหละ

"flowery" นี่แปลเป็นไทยก็คงประมาณ "ลิเก" หมายถึงบรรยายฉาก หรือตัวละครเสียครึ่ง หรือหนึ่งหน้า โดยที่ฉาก หรือตัวละครนั้นๆ อาจไม่ได้กลับมาเยือนคนอ่านอีกเป็นหนสอง มาฟาวซ์เป็นนักเขียนที่ลิเกที่สุดคนหนึ่งที่เคยหยิบหนังสือเขาขึ้นมาอ่าน ชนิดที่ว่าทมยันตี ว. วินิจฉัยกุล หรือนักเขียนนิยายประโลมเมืองไทยยังชิดซ้ายเลย

แต่ในแง่หนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิธีการเขียนลิเกๆ แบบนี้ ก็เข้ากันได้ดีเป็นปี่เป็นขลุ่ยเลยกับเนื้อเรื่อง "Thebes at War" ซึ่งว่าด้วยสงครามปลดปล่อยอียิปต์จากเผ่าเอิร์ตแมน โดยตัวเองของเรื่องคือกษัตริย์อียิปต์พระนามว่าเอมอส เนื้อเรื่องส่วนใหญ่วนเวียนอยู่ระหว่างราชวงศ์ ทั้งของเอิร์ตแมนเอง และของอียิปต์ ฉากก็เน้นปราสาทราชวังเสียส่วนใหญ่ ดังนั้นที่นิยายจะเขียนให้ลิเกแบบนี้แหละถูกต้องแล้ว (ในทางกลับกันไม่รู้ว่าภาษาลิเกๆ แบบนี้จะเข้ากันได้ดีแค่ไหน กับเรื่องสมัยใหญ่อย่าง "โคตรไคโร" เป็นคำถามที่ต้องดูกันต่อไป)

อ่าน "Thebes at War" แล้วก็นึกถึงที่ Eco เคยพูดไว้เรื่อง reading time สำคัญเหมือนกันที่คนเขียนจะเอาการบรรยายฉากมาเป็นอุปสรรค ขัดขวางไม่ให้นักอ่านอ่านเร็วเกินไป โดยอุปสรรคเหล่านี้ บางครั้งต่อให้คนอ่านกระโดดข้ามเป็นย่อหน้าๆ ก็ถือว่าได้ทำหน้าที่ของมันแล้ว ซึ่งก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะสารภาพว่าตัวเองอ่าน "Thebes at War" ชนิดข้ามไปทีละครึ่งหน้าเหมือนกัน

ตะกี้พูดถึงนิยายประโลมเมืองไทยค้างไว้ อยากกลับไปพูดต่อ เพราะเอาเข้าจริง "Thebes at War" นี่ก็จัดว่าเป็นนิยายประโลมโลกได้เช่นกัน นี่คือหนังสือประเภทฝ่ายพระเอกดีแสนดีทุกคน ผู้ร้ายก็แสนจะชั่วช้า พระเอกต้องไปหลงรักลูกสาวผู้ร้ายซึ่งเป็นเจ้าหญิงของชนเผ่าซึ่งตัวเขาต้องการขับไล่ออกจากดินแดนบ้านเกิด ส่วนนางเองก็สุดหยิ่งผยอง แทบทุกฉาก ทุกเหตุการณ์ใน "Thebes at War" เดาได้ล่วงหน้าเป็นบทๆ ซึ่งถามว่าเป็นข้อเสียหรือเปล่า ก็ไม่เชิงเสียทีเดียวนะ นี่คือนิยายแบบที่คุณชมัยภรคงเรียกว่า "เชยฉ่ำ" บางครั้งการอ่านอะไรเชยๆ ก็เหมือนเดินชมสวนดอกไม้ เพลินดี

ปัญหาที่มากับความเชยคือความตื้นเขิน "Thebes at War" เป็นนิยายที่ปราศจากข้อขัดแย้ง เพราะมันปูไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าเอิร์ตแมนเป็นผู้ร้าย ส่วนอียิปต์เป็นพระเอก ทุกอย่างซื่อๆ ตรงไปตรงมา เด็กประถมมาอ่านก็ตัดสินใจแทนพระเอกได้ทุกสถานการณ์ ซึ่งก็เข้ากับความเป็นนิยายประวัติศาสตร์ของมันดี แต่ก็อีกนั่นแหละ ถ้าเล่มอื่นๆ มาฟาวซ์เขียนได้ตื้นเขินแบบนี้ก็คงไม่ไหวเหมือนกัน

อ่านจบแล้วก็อดคิดขำไม่ได้ว่าเผลอๆ ใครจะไปรู้ นักเขียนไทยที่เข้าใกล้รางวัลโนเบลที่สุดอาจไม่ใช่คุณชาติ คุณวินทร์ หรือคุณแดนอรัญ แต่เผลอๆ อาจเป็นปิยะศักดิ์ กิ่งฉัตร แก้วเก้า ก็ได้ ใครจะไปรู้

2 comments:

เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์ said...

Laughable Loves

ผมทึ่งคุณมากๆเลย
ตอนแรกเห็นเขียนถึงจอยซ์ ก็แอบชื่นชมแล้ว

เมื่อมาเห็นเขียนถึง อัลธูแซร์ นักมาร์กซิสต์ตัวเอ้ และยังข้ามไปถึง Kenneth Arrow นักเศรษฐศาสตร์โนเบลผูู้ยิ่งใหญ่ ปิดท้ายด้วย Henri Bergson นักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20

ผมซี้ดมาก ยังไม่เท่านั้น คุณยังเขียนถึง ดอสโตเยฟสกี้ เฮสเส และอีกหลายๆคน

แหะๆ แต่ตอนนี้ผมกลับมาสนใจ มาห์ฟูซ อีกครั้งหนึ่ง ก็พอดีมาอ่านที่คุณเขียน

อยากให้ช่วย Review เรื่องที่โดนแบน
Children of Gebalawi นะครับ

ผมขอเห็นต่างในการอ่านงานของมาห์ฟูซนิดนึง

ผมไม่คิดว่าท่านจะเป็นแนว Flowery ถ้าเป็นแค่นั้นคงไม่ได้โนเบล

ผมคิดว่างานทางมนุษย์ศาสตร์หรือศิลปะนั้น ต่างจากงานทางสังคมศาสตร์ ซึ่งเน้นที่เนื้อหา

ศิลปะ จะเน้นที่วิธีการเล่าเรื่องที่กลมกลืนกับเนื้อหา นิยายน้ำเน่า หากรู้จักเล่าเรื่อง หยิบมุมมอง สร้างความเป็นมนุษย์ที่เข้มข้นลึกล้ำให้ตัวละคร นิยายน้ำเน่าก็จะกลายเป็นยอดนิยายที่ยิ่งใหญ่ได้

ผมอ่านเรื่อง Miramar แล้ว "ซี้ด" มาก เนืือเรื่องไม่มีอะไร แต่มาห์ฟูซได้ใช้ศิลปะร้อยเรียงชีวิตที่หลากหลาย ให้มาอยู่ร่วมกัน ถกเถียง โดยใช้เทคนิคกระแสสำนึกซ้อนทับไปอีกที ทำให้เรื่องลุ่มลึกซับซ้อนยิ่งขึ้น

เดี๋ยวจะยาวเกินไป

เอาเป็นว่า ขอบคุณที่เขียนรีวิวงานยากๆ ล้ำลึกๆ ให้พวกเราคนไทยได้เข้าใจภูมิปัญญาโลก

ส่วนที่แลกเปลี่ยนและเห็นต่างๆนั้น เพราะอยากเพิ่มมูลค่าเข้าไปบ้าง เพื่อไม่ให้เป็นการเอาเปรียบคุณจนเกินไป

ขอให้ blog นี้จงเจริญ

เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์
www.siamintelligence.com
charoenchai.cha@gmail.com

laughable-loves said...

ขอบคุณครับ ที่ช่วยแนะนำหนังสือดีๆ ของมาฟูซ์ จริงๆ ไม่อยากตัดสินนักเขียนจากหนังสือเล่มเดียวเลย แต่ก็ยังไม่มีโอกาสหานิยายเล่มอื่น ของมาฟูซ์มาอ่านจริงๆ จังๆ สักที คงได้ฤกษ์กับ Children of Gebalawi และ miramar นี่แหละครับ