รากนครา (ปิยะพร ศักดิ์เกษม)


ตกลงกันก่อน เราจะขอเรียกหนังสืออย่าง "รากนครา" ว่าโรมานซ์ก็แล้วกัน เพราะไม่ว่าคำไทยคำใดซึ่งถูกใช้เรียกนิยายจำพวกนี้ เช่น "นิยายผู้หญิง" "นิยายประโลมโลก" "นิยายน้ำเน่า" หรือ "เรื่องรักๆ ใคร่ๆ " ก็ออกจะแฝงน้ำเสียงเหน็บแนมดูถูกไว้กลายๆ จริงๆ ก็เรื่องนี้แหละ ที่อยากพูดถึง "รากนครา" เป็นหนึ่งในโรมานซ์ห้า หกเล่มซึ่งเคยได้เข้าชิงซีไรต์ จำไม่ได้แล้วว่าเล่มอื่นมีอะไรบ้าง ที่แน่ๆ มี "รัตนโกสินทร์" ของ ว. วินิจฉัยกุล อะไรสักเล่มของสีฟ้า และประภัสสร ส่วนโรมานซ์เล่มเดียวที่เคยได้รางวัลคือ "ปูนปิดทอง" ของกฤษณา แน่นอนว่าซีไรต์ไม่ใช่ตัวตัดสินหรอกว่าหนังสือเล่มไหนดี ไม่ดี แล้วก็ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ข้อไหนกีดกันโรมานซ์จากการได้ชิง แต่ก็เป็นที่รู้กันอีกนั่นแหละ ว่ายากนักหนาจะได้เห็นโรมานซ์สักเล่มผ่านเข้ารอบสุดท้าย จนเหมือนจะกลายเป็นความจริงโดยไม่ต้องบอกแล้วว่าโรมานซ์นั้นเทียบไม่ได้กับ "วรรณกรรมผู้ชาย" อย่าง "คำพิพากษา" หรือ "ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน"

ยอมรับว่าตัวเองอ่านโรมานซ์น้อย จริงๆ "รากนครา" แทบจะอยู่ในโรมานซ์ไม่ถึงสิบเล่มที่เคยได้อ่านด้วยซ้ำไปกระมัง ถ้าจะเอานิยายเล่มนี้เป็นมาตรฐาน ก็ยอมรับว่ามันสู้ "คำพิพากษา" ไม่ได้หรอก แต่ที่แน่ๆ มันดีกว่า "วรรณกรรมผู้ชาย" ที่เคยอ่านหลายสิบเล่ม กระทั่งมองว่ามันเป็นนิยายการเมือง ประเด็นการเมืองของมันก็อ่านแล้ว ดูมีสติปัญญากว่าวรรณกรรมการเมืองผู้ชายหลายเล่มที่เคยสัมผัส

"รากนครา" เปิดเรื่องในแผ่นดินสยามยุคต่อรัชกาลที่ 4 และ 5 เมื่อกุลาขาว หรือฝรั่งแผ่อิทธิพลเข้ามาในแหลมอินโดจีน ตัวเอกคือศุขวงศ์ หนึ่งในเจ้านครล้านนาผู้พยายามพาเมืองของตนให้พ้นจากเงื้อมมือฝรั่ง โดยหันไปผูกไมตรีกับสยาม ซึ่งในขณะนั้น ด้วยท่าทีโอนอ่อนผ่อนตาม และพระปรีชาสามารถของกษัตริย์ไทย น่าจะเป็นแผ่นดินเดียวซึ่งรอดพ้นการตกเป็นเมืองขึ้น

ธีมหลักของ "รากนครา" คือบางทีการที่เราจะรักษาความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้ ก็ต้องผ่อนปรน ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และพยายามเข้ามาดูแลผลประโยชน์อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงนั้นให้มากที่สุด แทนที่จะขวางลำน้ำเชี่ยว ยึดติดค่านิยมเดิมๆ แค่ธีมตรงนี้ ก็เหนือชั้นกว่าประเด็น(พยายาม)การเมืองในนิยายผู้ชายหลายเล่มแล้ว

ไม่ได้ชื่นชอบทุกอย่างของนิยายเล่มนี้หรอกนะ มีปัญหาหลายเรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่ก็อยู่ในกรอบ genre ของมัน ยกตัวอย่างเช่นความเยิ่นเย้อ นี่คือนิยาย 540 หน้า ที่เสียเวลาไปกับการบรรยายฉาก สร้างบรรยากาศโดยไม่จำเป็น (ที่ตลกคือ พอถึงฉากเมืองพม่า คุณปิยะพรเล่าผ่านๆ แวบๆ ซึ่งชัดเจนว่าแกคงไม่ได้ค้นเรื่องพม่า มามากเท่ากับล้านนา) แต่ขณะเดียวกัน ได้คุยกับเพื่อนซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญโรมานซ์ เธอก็บอกว่าไม่มีผู้หญิงคนไหนอยากซื้อโรมานซ์ที่สั้นกว่า 300 หน้าหรอก เพราะรู้สึกว่าไม่คุ้ม บางทีอาจเป็นความชอบของแฟนๆ ก็ได้ที่อยากถือหนังสือหนาๆ ในมือ เอาเป็นว่า ถ้าช่วงไหน ขี้เกียจนึกบรรยากาศตาม ก็อ่านผ่านสายตาข้ามๆ ไปก็แล้วกัน

แต่ปัญหาหลักของมันคือประเด็นอื่นนอกเหนือการเมือง เรื่องรักใคร่สามเส้าระหว่างศุขวงศ์ และเจ้าหญิงทั้งสองพระองค์แห่งเชียงเงิน ขนบนิยายประเภทนี้ก็คือให้พระเอก หรือนางเอกซึ่งถูกบรรยายตั้งแต่หน้าแรกว่าแสนฉลาด โง่ในเวลาที่พอเหมาะพอควรกับการดำเนินเรื่อง ความเข้าใจผิดประเภทให้สองคนที่รักกันจะเป็นจะตายได้มาร่วมเรียงเคียงหมอนโดยไม่รู้ตัวว่าอีกฝ่ายก็มีใจ ถ้าเคยชิน หรือไม่รู้สึกจักกะจี้กับเรื่องลักษณะนี้มาก ก็คงอ่านโรมานซ์เล่มนี้ได้เพลินๆ

จริงๆ ประเด็นเรื่องที่ทางของโรมานซ์ในแวดวงวรรณกรรมไทยเป็นเรื่องน่าสนใจ ไว้วันหลังจะกลับมาพูดถึงใหม่ก็แล้วกัน

3 comments:

Anonymous said...

โรมานซ์ ของปิยพร ศักดิ์เกษม ก็ได้อ่านอยู่เรื่องเดียว คือ รากนครา นี่แหละ

วันก่อนเพิ่งคุยกับรุ่นน้องอีกคนหนึ่งไปว่า งานของนักเขียนนิยายโรแมนซ์ยุคใหม่หน่อย (ในกรณ๊ที่ยก กฤษณา อโศกสิน, ทมยันตี, ว.วินิจฉัยกุล, โสภาค สุวรรณ, สีฟ้า, สุวรรณี สุคนธา, โบตั๋น ไล่ไปจน สิริมา อภิจาริน ไว้อีกรุ่นหนึ่ง)มันดูจะไม่ซับซ้อน หรือ มีความหลากหลายเท่านักเขียนกลุ่มในวงเล็บ

รากนครา ของ ปิยพร ก็มารูปรอบเดียวกัน ตัวละครไม่ได้มากมาย แล้วก็ดูชัดเจน ไม่ดูลึกลับ มีความเป็นคนที่ยากหยั่งถึง เหมือนตัวละคร ของ กฤษณา และถึงจะมีคุณลักษณะเป็นพระขนางโรแมนติค แต่ยังไงซะก็ไม่โรแมนติคจนเข้าใกล้อุดมคติแห่งความโรแมนติค แบบ ทมยันตี

แต่ก็พูดลำบาก ไม่ได้อ่านงานเขียนนักเขียนกลุ่มใหม่นี่เท่าไหร่เลย (ปิยพร ศักดิ์เกษม,กิ่งฉัคร และ?)เท่าสไหร่เลย ปีที่แล้วได้อ่าน คำรัก ของ ดวงตะวัน อีกเรื่อง ก็ชอบภาษา แต่นักเขียนใหม่ท่านนี้ก็ดูจะยังคุมความสม่ำเสมอไว้ไม่ค่อยอยู่

นี่ยังไม่พูดประเด็นว่านักเขียนรุ่นก่อนนั้นเขียนงานเป็นตอนๆลงในนิตยสารผู้หญิง อย่าง สกุลไทย, ขวัญเรือน ฯลฯ ซึ่งมันน่ามหัศจรรย์มากที่บางคนเขียนนิยายพร้อมกันทีละสองเรื่อง แล้วยังคงความสม่ำเสมอในงาได้ ยิ่งถ้าเป็นอย่างของ ทมยันตี ที่ขยันค้นคว้า ยิ่งน่าสนใจ ถึงจะจับแพะชนแกะมั่ง แต่งานอย่างพวก กฤติยา นี่แกก็ค้นแหลกจริงๆ

ความเป้นโรมานซ์มันก็ดีนะ ช่วยลดทอนความซีเรียสบางอย่างลงได้ ขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางที่นักเขียนเหล่านี้จะแอบ educate คนอ่านบ้าง ลองนึกถึงงานของ โสภาค สุวรรณ ที่เขียน ปุลากง เพื่อพูดถึงปัญหาโจรก่อการร้ายทางสี่จังหวัดภาคใต้สมัยก่อน หรือ น้ำคำ ที่พูดถึงชนกลุ่มน้อยในพม่า แล้ว อือม์ ก็น่าทึ่งจริงแหละ

หรือแม้แต่ กฤษณา อโศกสิน ที่ถูกครหาว่าชอบเขียนแต่เรื่องผัวๆ เมียๆ แต่งานอย่างปูนปิดทอง หรือคาวน้ำค้าง ก็ชวนให้คนอ่านตื่นขึ้นจากโลกแห่งความฝันได้เหมือนกับกับประเด็น เด็กบ้านแตกหิวรัก และเด็กสาวที่เคยมีประสบการณถูกลวนลามทางเพศ

ซึ่งประเด็นอะไรแบบนี้ ไม่ค่อยเห็นในวรรณกรรมที่ถูก "สถาปนา" ว่าเป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์สักเท่าไหร่

Anonymous said...

คนที่ออกความเห็นเกี่ยวกับหนังสือแนวนี้อย่างเอาจริงเอาจังนี่เขาอายุเท่าไหร่กันนะ

Anonymous said...

๓๔ ครับ