V. Buckley's "Christina Queen of Sweden"

อ่านหนังสือมาก็มากมาย เคยได้ยินแต่ตำนานของ unsympathetic biographer เพิ่งประสบพบตัวจริงก็วันนี้เอง unsympathetic biographer หมายถึงผู้เขียนชีวประวัติที่ไม่ได้เห็นอกเห็นใจ หรือชื่นชมบุคคลที่ตัวเองเขียนถึงสักเท่าไหร่ ซึ่งเป็นเรื่องแปลก พยายามจินตนาการว่าถ้าตัวเองต้องเขียนหนังสือ ทำวิจัย อุทิศชีวิตสามสี่ปีให้กับใครคนหนึ่ง อย่างน้อยก็ต้องเป็นคนที่เราชื่นชมด้วยเหตุผลบางอย่าง (กรณีชีวประวัติบุคคลชั่วร้ายอย่างอดอฟ ฮิตเลอร์ ถึงผู้เขียนไม่ได้ "เห็นอกเห็นใจ" แต่ก็จะออกแนวทึ่ง เหมือนที่ทึ่งพายุ สึนามิ และภัยธรรมชาติอื่นๆ )

ในท้ายเล่ม บักลีให้เหตุผลว่า เมื่อเราพูดถึงราชินีคริสตินาแห่งสวิเดน เราก็จะนึกถึงภาพนางเอ๊ก นางเอกของเกรตา กาโบ เป้าหมายของบักลี ในการเขียนชีวประวัติราชินีคริสตินา คือการทำลายภาพนั้น จะพูดว่าเธอทำวิจัย เขียนหนังสือทั้งเล่มเพื่อ "ป้ายสี" ราชินีคริสตินา ก็อาจจะพอได้

หรือไม่ก็เป็นเราเองที่อคติ เรารู้จัก ได้ยินชื่อราชินีคริสตินาแห่งสวีเดนครั้งแรกจากหนังสือประวัติศาสตร์ของวอลแตร์ วอลแตร์ชื่นชอบราชินีผู้นี้มาก ชีวิตของเธอช่างมีสีสัน เป็นเลสเบี้ยน ได้รับฉายาว่าเป็นราชินีนักปราชญ์ เพราะให้การสนับสนุนชุบเลี้ยงนักปราชญ์ฝรั่งเศส ช่วงที่พวกเขาหลบหนีภัยสงครามต้นรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และที่สุดของที่สุดคือ คริสตินาสละราชบัลลังก์ด้วยความตั้งใจของตัวเอง เปลี่ยนศาสนา และไปใช้ชีวิตอย่างสามัญชน เพื่อศึกษาปรัชญา ประวัติศาสตร์ และความรู้แขนงอื่นๆ

แต่นั่นไม่ใช่ภาพของคริสตินาที่บักลีนำเสนอแม้แต่น้อย จากหนังสือเล่มนี้ เราได้ทราบว่าคริสตินาเป็นผู้ปกครองที่ย่ำแย่ เพราะมัวแต่งัดข้อกับที่ปรึกษา ออกเซนสเตียนา ก็เลยนำไปสู่ความล้มเหลวเชิงนโยบายหลายประการ (แต่ก็อีกนั่นแหละ ขึ้นอยู่กับนักประวัติจะวาดภาพออกเซนสเตียนาให้ออกมาอย่างไร ตอนที่เราอ่านหนังสือเกี่ยวกับสงครามสามสิบปี ภาพของออกเซนสเตียนา ไม่ได้แลดูเลอเลิศเหมือนที่บักลีพยายามสร้าง) คริสตินาเป็นราชินีหยิบโหย่งที่มีความสนใจหลายประการ แต่ทำอะไรไม่สำเร็จเลยสักอย่าง เธอชุบเลี้ยงนักปรัชญาฝรั่งเศสเอาไว้มากมาย แต่ก็เหมือนเพื่อเสริมสร้างบารมี มากกว่าจะศึกษาวิชาความรู้จริงจัง และที่วอลแตร์บอกว่าเดสการ์ดใช้ชีวิตบั้นปลายที่ราชสำนักสวีเดน ภายใต้การดูแลของคริสตินา บักลีเขียนเหมือนกับว่า เดสการ์ดถูกล่อให้มาตายอย่างหนาวเหน็บในดินแดนทางเหนือมากกว่า

ไม่ว่าจะเป็นคำบอกเล่าของวอลแตร์ ภาพยนตร์ของกาโบ หรือหนังสือของบักลี สุดท้ายเราก็ได้แต่เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งกับภาพอันขัดแย้งของราชินีคริสตินาที่แต่ละคนนำเสนอ อย่างว่า ใครเล่าจะผูกขาดเรื่องราวในประวัติศาสตร์เป็นของตัวเองได้แต่เพียงผู้เดียว