J. Shapiro's "1599"

"นักประวัติศาสตร์ไม่ควรตัดสินความถูกผิดของคนในอดีตว่าเป็นอย่างไร เรารู้แค่ไหนเราก็ควรบอกกล่าวแค่นั้น โดยอาศัยหลักฐานที่มีอยู่ เพื่อมิให้กระทบกระเทือนประวัติศาสตร์ที่เสร็จสิ้นไปแล้ว"
เมื่อเร็วๆ นี้มีวิวาทะระหว่างนักประวัติศาสตร์สองคน หนึ่งในนั้นอ้างเอ่ยคำพูดข้างบนขึ้นมา เราชอบคำว่า "กระทบกระเทือนประวัติศาสตร์ที่เสร็จสิ้นไปแล้ว" มาก มันสะท้อนให้เห็นอคติของนักวิชาการทางประวัติศาสตร์ในบ้านเราได้อย่างชัดเจนดี

คำว่า "โลกาภิวัตน์ / globalization" ถูกใช้เป็นครั้งแรกในปีทศวรรษ 1930 เริ่มเป็นที่นิยมในแวดวงเศรษฐศาสตร์ปี 1960 และแพร่ขยายมาในหมู่คนทั่วไปปี 1980 ส่วนใหญ่คำนี้จะหมายถึงโลกยุคอินเตอร์เน็ต แต่เอาเข้าจริงปรากฏการณ์อะไรก็แล้วแต่ที่ส่งผลย่นย่อโลกลง ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์ทั้งนั้น

น่าตื่นเต้นมากที่ชาปิโรใช้คำว่า "globalization" อธิบายความเปลี่ยนแปลงของประเทศอังกฤษในปี 1599 หลังความพ่ายแพ้ของเอิร์ลแห่งเอซแซค ในสงครามกบฎไอริช เอซแซคเป็นขุนนางผู้ทรงอิทธิพล เขาเป็นตัวแทนวัฒนธรรมอังกฤษโบราณ ระหว่างยกกองทัพไปปราบกบฎในประเทศไอร์แลนด์ ทุกครั้งที่ทหารทำความดีความชอบ เขาจะจัดพิธีเชิดชูเกียรติ เลื่อนยศตำแหน่งให้อย่างสวยหรู ท่ามกลางความไม่พอใจของราชินีอลิซาเบธ (เพราะคนที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในงานพิธีคือรัฐบาลกลาง) หลังจากเอซแซคพ่ายแพ้ ถูกเรียกตัวกลับลอนดอน เขาถูกจับด้วยข้อหาสมคบคิดล้มราชบัลลังก์ และถูกประหารชีวิต เหลือเพียงคำกล่าวทิ้งไว้ว่า "เอซแซคเลื่อนยศตำแหน่งให้อัศวิน เป็นจำนวนคนมากกว่าที่เขาสังหารกบฎไอริชลงได้เสียอีก"

พร้อมๆ กับความปราชัยของเอซแซค คือการรวมกลุ่มพ่อค้าเพื่อจัดตั้ง Virginia Company บริษัทนี้เองที่เป็นโต้โผส่งเรือสำเภาไปค้าขาย และยึดครองดินแดนอันไกลโพ้น อันเป็นที่มาของยุคล่าอาณานิคม ขณะที่วัฒนธรรมอัศวินและการทหารนำไปสู่ความพ่ายแพ้ของอังกฤษในไอร์แลนด์ (ไม่นับความพ่ายแพ้ที่มีต่อมหาอำนาจอื่นอย่างสเปน และเนเธอแลนด์ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างเครือข่ายเรือสำเภาขึ้น) วัฒนธรรมการค้านำหน้าการทหารต่างหากที่ทำให้อังกฤษกลายเป็นเจ้าโลกจนถึงต้นศตวรรษที่ 20

และนี่เองคือต้นกำเนิดของโลกาภิวัตน์ที่ชาปิโรพูดถึง แน่นอนว่าในสมัยเชคสเปียร์ยังไม่มีคำนี้อยู่ในโลก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อคำถูกคิดค้นขึ้นมาแล้ว เราจะไม่สามารถนำมันมาใช้อธิบายเพื่อ “กระทบกระเทือนประวัติศาสตร์” ย้อนหลังได้ ไม่สิ ในทางตรงกันข้าม หน้าที่หนึ่งเดียว ภาระสูงสุดของนักประวัติศาสตร์ก็คือการเอาปัจจุบันไปกระทุ้งกระแทกประวัติศาสตร์ต่างหาก

(ก่อนจะมีคนครหาว่าไม่เห็นเกี่ยวอะไรกับหนังสือ หรือเชคสเปียร์เลย กล่าวโดยสรุป 1599 ก็คือหนังสือชีวประวัติเชคสเปียร์ ที่ชาปิโรวิเคราะห์บทละครสำคัญๆ ซึ่งถูกเขียนในปีนั้น โดยอรรถาธิบายวิธีการที่เชคสเปียร์ใช้ภาวะบ้านเมืองในปีปัจจุบัน [ปี 1599] มาเล่าย้อนหลังเพื่อกระทุ้งกระแทกประวัติศาสตร์ หรือเรื่องราวที่ถูกเล่าขานติดปากมาจนเกร่อแล้วนั่นเอง)

1 comment:

price per head said...

Good posting, im subscribing to your rss. Thanks for sharing a very informative article. Many thanks once more