A. Moravia's "Man as an End"


สารภาพก่อนว่าอ่าน Man as an End ระหว่างนอนซมอยู่บ้าน อ่านไปเบลอไปจึงอาจจับความได้ไม่สมบูรณ์ หากผิดพลาดประการใด ขออภัยมา ณ ที่นี้

Man as an End รวมบทความต่างกรรมต่างวาระของโมราเวีย หัวข้อที่พูดถึงไล่ยาวมาตั้งแต่การเมือง สังคม และวรรณกรรม โดยมีบทความหลักชื่อเดียวกันกับหนังสือ ว่าด้วยการออกมาปกป้องมนุษยนิยมจากการเมืองยุคใหม่แบบมาคิอาเวลลี ซึ่งโมราเวียมองว่า แม้จะสมเหตุสมผล แต่ก็เป็นความสมเหตุสมผลบนตรรกะของคนบ้า

ส่วนตัวแล้วเราไม่ชอบบทความนี้เท่าไหร่ บทความที่เราชอบในหนังสือเล่มนี้จะออกไปในแนววรรณกรรมมากกว่า ทฤษฎีวรรณกรรมของโมราเวียผูกติดอยู่กับแนวคิดเชิงอุดมคติ (ideology) คำถามที่ถูกถามซ้ำไปซ้ำมาในหลายบทความ อะไรคือความแตกต่างระหว่างวรรณกรรมแห่งศตวรรษที่ 19 และ 20 โมราเวียตอบว่า ในศตวรรษที่ 20 หนังสือไม่ใช่หนทางเดียวอีกต่อไปแล้วที่จะสร้าง representation หรือตัวแทนของความเป็นจริงขึ้นมา อันที่จริง มันอาจจะเป็นหนทางที่อับจนที่สุดเลยด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับกล้องถ่ายรูปหรือภาพยนตร์ ด้วยเหตุนี้ แนวทางวรรณกรรมแห่งศตวรรษที่ 20 จึงไม่อาจเป็นการเฝ้าสังเกตธรรมชาติแบบเดียวกับที่ฟลอเบิร์ตหรือบัลซัคเคยทำจนโด่งดังมาแล้วได้ นักเขียนยุคใหม่เล่าเรื่องผ่านบุรุษที่ 1 มากขึ้น วรรณกรรมกลายเป็นเรื่องของการบอกเล่าอุดมคติของคนเขียน มากกว่าการนำเสนอความจริง

แต่ขณะเดียวกัน ในบทความที่ดีที่สุดในเล่ม โมราเวียกล่าวประณามงานศิลปะแบบสัจสังคมนิยม (Socialist Realism) หรือพูดรวมๆ ก็คือศิลปะของประเทศคอมมิวนิสต์ทั้งหลายแหล่ ว่าเป็นงานศิลปะที่แสนจะเฮงซวย ถ้างานศิลปะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรับใช้อุดมคติที่ไม่ใช่ของตัวนักเขียนเอง นั่นจะเป็นที่สุดแล้วแห่งความเสื่อมโทรม แล้วบทความนี้สามารถเอามาอ่านคานกับ ศิลปะเพื่อชีวิต ของจิตร ภูมิศักดิ์ได้สบายๆ (โมราเวีย "เซฟ" ตัวเองโดยบอกว่า ทั้งหมดที่เขากล่าวมานี้ครอบคลุมเฉพาะศิลปะสัจสังคมนิยมในประเทศสังคมนิยมเท่านั้น แต่ถ้าเป็นงานลักษณะเดียวกันในประเทศที่ยังอยู่ในระบบศักดินา หรือทุนนิยม เหมือนกับเจ้าตัวยังก้ำๆ กึ่งๆ อยู่)

การวิเคราะห์เชิงอุดมคติสามารถนำมาปรับใช้แยกแยะความแตกต่างระหว่างเรื่องสั้นและนิยายได้ด้วย (ไม่ค่อยมีนักคิดชาวตะวันตกเขียนถึงเรื่องสั้นเท่าไหร่ เราเคยบอกแล้วว่า ความนิยมงานเขียนลักษณะนี้เป็นเอกลักษณ์ของคนไทยมากๆ ) โมราเวียพูดอย่างน่าคิดตามว่า นิยายต้องประกอบไปด้วยอุดมคติอันหลากหลาย ผ่านตัวละครแต่ละตัว ขณะที่เรื่องสั้นเป็นแค่การมองบางส่วนของชีวิตเท่านั้น เรื่องสั้น (หลายๆ เรื่องรวมกัน) จะนำเสนอภาพรวมของสังคมได้ดีกว่า นักเขียนเรื่องสั้นจึงคล้ายคลึงกับคนทำงานสารคดี แต่นักเขียนนิยายที่ดีต้องเป็นนักปรัชญา และนิยายที่ดีต้องมีความใกล้เคียงกับงานเขียนเชิงปรัชญาด้วย

1 comment:

price per head call center said...

Hey great stuff, thank you for sharing this useful information and i will let know my friends as well.