ความขัดแย้งของเหตุการณ์ (conflict of events)


รุ่นพี่เราถามว่าความขัดแย้งในประเทศไทยตอนนี้มีสาเหตุมาจากความเห็นต่าง และการไม่ยอมรับความคิดของผู้อื่นใช่หรือไม่ (conflict of ideas) เมื่อเรามาใคร่ครวญคำถามของแกดีๆ คำตอบของเราคือไม่ใช่ ปัญหาของประเทศไทยไม่ได้มาจากความขัดแย้งทางความคิด แต่เป็นความขัดแย้งของเหตุการณ์ (conflict of events) การสลายกลุ่มผู้ชุมนุมในวันที่ 10 เมษายน มีความเป็นไปได้สูงว่าต้นเหตุของการปะทะและบาดเจ็บล้มตายส่วนหนึ่งมาจาก “มือที่สาม” ซึ่งยิงอาวุธเข้าไปในหมู่เจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม เราคิดว่าเหตุการณ์นี้เป็นภาพสรุปของประเทศไทยช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา คำถามคือมือที่สามเป็นใคร เขาทำแบบนี้เพื่ออะไร และจะได้ประโยชน์อะไรจากเหตุการณ์นี้บ้าง

คำตอบคือไม่มีคำตอบ สังคมไทยไม่ได้ซื่อขนาดจะเหมารวมอีกแล้วว่ารัฐบาลหรือผู้ชุมนุมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ก่อเหตุ ดังนั้นจึงไม่มีเทวดาหน้าไหนจะคาดเดาได้ว่ายิงกระสุนเข้าไปแล้ว ผลที่เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์หรือโทษกับตัวเอง การยิงปืนเป็นเพียง “เหตุการณ์” ซึ่งไม่มีเหตุผลหรืออุดมคติอะไรมารองรับ ถึงจะฟังดูน่าเศร้าแต่คนที่พลีชีพ ทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่และพลเรือน ก็พลีชีพเพื่อเซ่น “เหตุการณ์” ล้วนๆ

อีกกรณีหนึ่งที่ชวนขบคิดคือการตะลุยปิดสื่อของรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน จริงๆ แค่ปิดสื่อก็ถือว่าผิดหลักประชาธิปไตยแล้ว หากจะมีคนออกมาโวยวายเรื่องเสรีภาพในการสื่อสารก็น่าจะเป็นคำค้านที่หนักแน่นพอ กระนั้นปฏิกิริยาสะท้อนกลับของกลุ่มคนเสื้อแดงคือ “ถ้าจะปิดพีเพิลแชแนล ก็ต้องปิดเอเอสทีวีด้วย!” คำกล่าวนี้ไม่ได้อ้างอิงหลักการอะไรเลย แต่อ้างอิง “การคงอยู่ของเอเอสทีวี” ซึ่งต้องถือว่าเป็น “เหตุการณ์” อีกเช่นกัน (เพราะอุดมคติของสถานีทีวีช่องนี้คือ “สื่อไม่ใช่กระจกสะท้อนความจริง แต่เป็นโคมประทีปส่องให้เห็นถูกผิด” ซึ่งเอาไปถกเถียงกับใครที่ไหนก็คงโดนเขาหัวเราะเยาะ)

คำว่า “สองมาตรฐาน” ซึ่งยกกันขึ้นมาอย่างหนาหูในช่วงนี้ ก็มีพื้นความคิดมาจาก “ความขัดแย้งทางเหตุการณ์” นี่แหละ

น่าเศร้าที่ความวุ่นวายในประเทศไทย ณ ช่วงเวลานี้ล้วนมาจากเหตุการณ์อันหาที่มาที่ไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการยึดสนามบิน กรณีเขาพระวิหาร (ล่าสุดก็เพิ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวไทยเข้าชมเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น) เมษาเลือดปี 2551 หรือกระทั่งรัฐประหารเองก็ตาม (ต้องไม่ลืมว่ารัฐประหารคราวนี้ต่างจากเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว ในสมัยนั้นรัฐบาลชาติชายเป็นรัฐบาลแรกที่มาจากการเลือกตั้ง วาทกรรมการแยกอำนาจฝ่ายปกครองและฝ่ายทหารยังไม่แข็งแรง การรัฐประหารจึงยังพอมีอุดมการณ์มาสนับสนุน)

ถ้าจะเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายขึ้น พรรคเดโมแครตและรีพับลิกันของอเมริกานั้นมีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน รีพับลิกันเชื่อในตลาดเสรีและรัฐบาลขนาดเล็ก ขณะที่เดโมแครตเชื่อว่ารัฐบาลจำเป็นต้องควบคุมบางกลไกเพื่อให้ตลาดดำเนินไปอย่างยุติธรรม นักการเมืองที่มาจากสองพรรคนี้ก็จะดำเนินนโยบายสอดคล้องกับสิ่งที่ฐานมวลชนของเขาเชื่อ ลองมาเทียบกับในเมืองไทยดู ไม่ถึงสองอาทิตย์ หลังจากคุณอภิสิทธิ์ขึ้นเป็นนายก แกก็อัดเม็ดเงินเข้าต่างจังหวัด ซึ่งแทบไม่ต่างจากนโยบายประชานิยมของคุณทักษิณเลย (พูดให้สละสลวยคือ จริงๆ แล้วคุณอภิสิทธิ์ก็พยายามแก้ไขปัญหาความยากจนในต่างจังหวัดอยู่เหมือนกัน)

สงครามผู้ก่อการร้าย สงครามเย็นและสงครามโลกครั้งที่สองคือตัวอย่างของความขัดแย้งทางอุดมการณ์ เมื่อโลกถูกแบ่งเป็นค่ายอิสลาม ค่ายฟาสซิสต์ ค่ายคอมมิวนิสต์ และค่ายประชาธิปไตย แต่ก่อนหน้านั้น เรามีสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งจวบจนปัจจุบันนี้ก็ยังถกเถียงกันได้ไม่รู้จบว่าสาเหตุคืออะไรแน่ นอกจาก "เหตุการณ์" การสังหารมกุฏราชกุมารของออสเตรีย

เมื่อรู้ว่าปัญหาไม่ได้มาจากอุดมการณ์หรือความเชื่อ แล้วเราจะแก้ไขความขัดแย้งในวันนี้ได้ด้วยวิธีใด อย่างแรกก็คือต้องเข้าใจก่อนว่าการตั้งโต๊ะเพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดนั้นไม่มีประโยชน์อะไร เพราะหลักการที่ทั้งสองฝ่ายยึดมั่นนั้นเป็นหลักการเดียวกันคือ “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” และแน่นอนยิ่งกว่านั้นคือการยัด "หลักการ" เข้าปากอีกฝ่ายไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นมา ("เสื้อแดงจงใจล้มสถาบัน!" "อภิสิทธิ์ปกป้องอำมาตย์!" "เสื้อเหลืองสนับสนุนรัฐประหาร!")

เมื่อปัญหาอยู่ที่เหตุการณ์ก็ต้องแก้ด้วยเหตุการณ์ ต้องสร้างเหตุการณ์อะไรสักเหตุการณ์หนึ่งเพื่อนำประเทศออกจากความวุ่นวาย (ยุบสภาก็คือหนึ่งในเหตุการณ์นั้น) เมื่อหัวค่ำก็เพิ่งมี “เหตุการณ์” เกิดขึ้น นั่นก็คือการยุบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งก็เกิดขึ้นมาอย่างงงๆ ทั้งกองเชียร์สองสีก็ยังงงๆ ว่ามาจากไหน มาทำไม และมาอย่างไร ต้องติดตามดูกันต่อไปว่าเหตุการณ์นี้จะมาคลายหรือยิ่งขมวดปมให้ประเทศชาติยุ่งเหยิงไปอีก

3 comments:

simplyme said...

so you think dissolving the parliament will fix the problem? Do you actually have the conviction that the act A, B and C could restore peace to thailand and mend the wound? If you really think so, I have to say I envy your faith in the knowledge you have. You know me and how defective my logic can be. Even with limited ability, I thought I'm still capable of understanding some simple logic. However, Thai politics is always beyond my understanding, especially the situation in thailand at this moment. I have been trying to understanding it but only get a bad headache out of the attempt. With the lack of understanding, deciding what action is required to bring peace is simply beyond my grasp. I can easily imagine the same act to either bring peace or tear apart the country even further.

With no hope to understand and find short term solution for the problem, I tend to zero in on what I can observe, don't like, and hope to change (with whatever little power I have). And that would be the tendency for violence and intolerance toward people who think differently. The casualty from these tendencies might not be as obvious as that of the confrontation or conflicts of events as you mentioned, but damage it causes runs deep and lasts a long time. These tendency appear not only in the conflict between the red and yellow but also during the murder of the guy who destroyed the statue at Aerawan Hotel. Is it a case of out-of-control anger, or does it has to do with the feeling that authority wouldn't give the person who 'wrong' you the punishment he deserves so you take matter in your own hands?

Or am I overanalyzing everything in a very loopy, not-very-logical way again?

fatbearandmolepig said...

ประเทศไทย คือ กีฬาสีของเด็ก

กฎหมาย คือ กติกาการแข่งขันที่แล้วแต่ผู้ใหญ่จะตัดสิน

ยศ ศักดิ์ศรี คือ รางวัลสำหรับผู้ชนะ

ความสำเร็จในชีวิต(Thai Dream) คือ การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในการตัดสินการแข่งขัน

laughable-loves said...

มีคนพูดกันเยอะว่ายุบสภาไป เลือกตั้งเสร็จ ก็ต้องมีสีใดสีหนึ่งออกมาประท้วงกันให้วุ่นวายอีกอยู่ดี แต่ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับคำพูดนี้ครับ ผมคิดว่าสังคมไทยและคนไทย "เติบโต" ทางความคิดขึ้นแล้ว ต่อให้ทางกายภาพเรากลับไปอยู่ ณ จุดเดิมเหมือนเมื่อสี่ห้าปีที่แล้ว ผมมั่นใจว่าปฏิกริยาของคนจะเปลี่ยนแปลงไปครับ

ดังนั้นใช่ครับ ผม "ไม่" เชื่อว่ายุบสภาคือทางออก แต่ผมเชื่อว่า ไม่มีทางออกใดที่จะไม่เริ่มต้นด้วยการยุบสภา