S. Ozment's "A Mighty Fortress"


ช่วงศตวรรษที่ 20 ต้น 21 นี้ ถ้าพูดถึงประเทศเยอรมัน สิ่งแรกที่หนีจากห้วงความคิดของคนส่วนใหญ่ไปไม่พ้นคือ “สงครามโลกครั้งที่ 2” และ “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว” ถึงขนาดว่าเยอรมันกลายเป็นสัญลักษณ์ของการทำลายล้าง แต่เชื่อหรือไม่ว่า ถ้าย้อนอดีตไปสักร้อยปี จะไม่ใช่เยอรมันหรอกที่ติดปากคนส่วนใหญ่ในฐานะชนเผ่าแห่งความพินาศ แต่เป็นฝรั่งเศสต่างหาก “ปฏิวัติฝรั่งเศส” และ “นโปเลียน” คือสัญลักษณ์แห่งความบ้าคลั่งที่หลอกหลอนชาวยุโรปเป็นเวลาร้อยกว่าปี (สองสิ่งนี้เป็นอย่างเดียวกันหรือเป็นพลังที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง ก็ยังเป็นเรื่องที่นักประวัติศาสตร์ถกเถียงกันจวบจนทุกวันนี้)

คงฟังดูกระแดะมาก ถ้าจะบอกว่าสาเหตุหนึ่งที่เราอ่าน A Mighty Fortress ประวัติศาสตร์เยอรมันฉบับย่นย่อก็เพราะอยากเข้าใจตัวเอง อยากรู้ว่าทำไมเราถึงได้ชอบวรรณกรรมและปรัชญาเยอรมันนัก ขณะเดียวกันก็ต่อต้านอะไรที่มันเป็นฝรั่งเศสไปเสียหมด ซึ่งก็ไม่ผิดหวังเลย A Might Fortress ได้ให้คำตอบในเรื่องนี้ ที่เราต้องการรู้

ปรัชญาเยอรมันตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ตั้งแต่คานท์ เฮเกล นิทเช่ จวบจนไปถึงฟรอยด์ เป็นปรัชญาที่ถูกเขียนโดยนักคิดผู้เฝ้าสังเกตและจับตามองความบ้าคลั่งในฝรั่งเศสระหว่างศตวรรษที่ 18 และ 19 ชนิดหายใจรดต้นคอ ถ้าปรัชญาของโวลแตร์และรุสโซคือต้นกำเนิดแห่งความบ้าคลั่งนั้น คานท์และเฮเกลก็คือผู้รับและดัดแปลงความคิดของลูเธอร์ มาสร้างปรัชญายุคใหม่ที่ผสานขั้วตรงข้ามเอาไว้ด้วยกัน

เท่าที่สังเกตมา คนฝรั่งเศสหมกมุ่นกับความขัดแย้งเอามากๆ เมื่อใดที่มีพลังสองอย่างหักล้างและขับเคี่ยวกันเองอยู่ในชาวหรือสังคมฝรั่งเศส ดูจะเป็นเรื่องที่พวกเขาทนทุกข์ทรมาน และต้องพยายามหาทางออกจากความขัดแย้งตรงนี้ให้ได้ (ไม่ว่าจะด้วยการฆ่าตัวตายหรือไปยิงคนอื่นเพราะ “แดดมันร้อน”) ขณะเดียวกันชาวเยอรมันเคยชินกับการผสมผสานและยอมรับความขัดแย้ง ช่วงศตวรรษที่ 18 ดนตรีของบาคและบทกวีของเกอเตแสดงออกถึงขั้วตรงข้าม ยิ่งในศตวรรษที่ 19 ประเทศเยอรมันยิ่งต้องรักษาสมดุลระหว่างแนวคิดใหม่ที่ระบาดมาจากประเทศเพื่อนบ้านและอำนาจของชนชั้นปกครอง ถ้าเฮเกลและวิภาษวิธีคือรูปธรรมของการผสมผสานความขัดแย้งในเชิงปรัชญา บิสมาร์คก็คงจะเป็นรูปธรรมของการคานอำนาจในเชิงการเมือง

แน่นอนคำถามที่หลีกเลี่ยงไม่พ้นคือ กับประเทศที่เหมือนจะเดินทางสายกลางได้แบบเยอรมัน มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ถ้าพลังแห่งปัญญาคือสิ่งที่ประคับประคองพวกเขาให้รอดพ้นศตวรรษที่ 19 มาได้ แล้วพลังนั้นมันหายไปไหน ออสเมนท์ไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนในเรื่องนี้ เขาก็คงเหมือนกับเรา ในขณะที่คนปัจจุบันพร้อมจะสร้างลักษณะนิสัยบางอย่างให้กับชาวเยอรมัน เพื่อใช้อธิบายสาเหตุสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งเราและออสเมนท์อาจจะเห็นอกเห็นใจและเข้าอกเข้าใจเกินกว่าจะยอมรับคำอธิบายมักง่ายแบบนั้น

2 comments:

Anonymous said...

คำอธิบายที่คิดเอาเองอย่างง่าย ๆ แต่ไม่รู้จะมักง่ายรึเปล่าคือ สิ่งที่ฝรั่งเศสและและสัมพันธมิตรทำกับเยอรมันหลังWWII ทำให้เกิดปฏิกิริยาลัดวงจรเช่นนั้น แต่ข้อคิดเห็นนี้ต้องขึ้นอยู่กับสมมุติฐานว่า WWI เยอรมันเข้าร่วมแบบสถานการณ์พาไป ซึ่งก็ไม่น่าจะใช่นะ

laughable-loves said...

จริงๆ แล้วนั่นคือเหตุผลของออสเมนท์เลยใน A Mighty Fortress เขาอธิบายว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดจากรัฐอิสระเล็กๆ สองรัฐขัดแย้งกันเอง และสุดท้ายออสเตรียซึ่งเป็นประเทศพี่น้องกับเยอรมันก็ต้องก่อสงครามกับยักษ์ใหญ่รัสเซีย (ซึ่งมีสนธิสัญญากับอังกฤษและฝรั่งเศส)

ออสเมนท์พยายามเน้นว่า จริงๆ แล้วประเทศเยอรมันก็ไม่ได้สนใจใยดีออสเตรียอะไรขนาดนั้น ทางด้านเศรษฐกิจและการปกครอง ก็เหมือนจะเป็นรัฐที่ก่อโทษมากกว่าให้คุณประโยชน์กับเยอรมัน

แต่ก็แน่นอนละว่าออสเมนท์เองก็เข้าข้างเยอรมันอยู่ไม่น้อย ก็เลยใหคำอธิบายลำเอียงแบบนี้