J. Austen's "Pride and Prejudice"


สาบานเลยเอ้า ว่าเราคือหนึ่งในผู้ชายส่วนน้อยที่ไม่ได้ดูดมดูดีอะไรกับเคียรา ไนท์ลี แต่ที่เอารูปเธอมาแปะ เพราะต้องยอมรับว่าสมัยนี้คงหาเอลิซาเบธ เบนเนทที่ดูดีดูทันสมัยเท่าเธอไม่ได้แล้ว

ถึงจะเพิ่งเคยอ่าน Pride and Prejudice เป็นครั้งแรก แต่เรื่องราวอลม่านของครอบครัวเบนเนท ลิซ่าผู้เต็มไปด้วยอคติ และดาซีผู้เต็มไปด้วยความหยิ่งยะโส ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ขนาดนั้น Bridget Jones's Diary ก็เคยดูมาแล้วสองสามรอบ ยังไม่นับภาคหนังเพลงอินเดีย Bride and Prejudice ก็แปลกดีเหมือนกันที่หนังสือของเจน ออสตินมักถูกเอามาดัดแปลงให้ทันสมัย เปลี่ยนฉากจากอังกฤษช่วงศตวรรษที่ 18 เป็นฮอลลีวูด บอลลีวูด หรือว่าลอนดอนในศตวรรษที่ 20 (อย่าง Emma ก็ถูกดัดแปลงมาเป็น Clueless)

ยิ่งมาอ่านหนังสือ ก็ยิ่งแปลกใจ เพราะว่ากันจริงๆ Pride and Prejudice ไม่ได้มีความทันสมัยหรือมีแง่คิดที่เป็นอมตะเลย ในทางตรงกันข้าม เสน่ห์ของมันอาจจะอยู่ที่ความล้าหลังเลยด้วยซ้ำ Pride and Prejudice คือหนังสือที่เต็มไปด้วยตัวอย่างของการแต่งงานที่ล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นคู่สามีภรรยาเบนเนทเอง คุณนายเบนเนทที่คิดแต่จะแต่งลูกสาวจนน่ารำคาญ คู่สามีภรรยาคอลลินส์ ซึ่งผู้หญิงยอมแต่งงานกับผู้ชายที่ไม่ได้ชอบ เพราะรู้สึกว่าหน้าตาเฉยๆ อย่างเธอ หาสามีมั่งคั่งระดับนี้ได้ก็ดีนักหนาแล้ว หรือคู่สามีภรรยาวิคแฮมส์ ซึ่งขนาดออสตินเองยังแย้มพรายว่าคงไม่ได้จบสุขสันต์แน่ๆ

ถ้าอ้างความเชื่อสตรีนิยมว่า "แม้นโลกนี้ไร้ชายใดที่พึงเชย อย่ามีคู่เสียเลยจะดีกว่า" Pride and Prejudice เป็นนิยายที่ปฏิเสธคำพูดนี้อย่างสิ้นเชิง นี่คือหนังสือที่ "เสียทองเท่าหัว ไม่ยอมเสียผัวให้ใคร" ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ผิด ภายในกรอบบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงในยุคเจน ออสติน นี่คือความเชื่อที่ถูกแบบแล้ว

ในแง่วรรณคดีศึกษา Pride and Prejudice เป็นตัวอย่างของวิธีดำเนินเรื่องด้วย "การตระหนักรู้" (aphorism) ออสตินให้ตัวละครเอกได้พบกับความรู้หรือข้อมูลใหม่ๆ ตลอดเวลา (ซึ่งมักจะมาในรูปแบบของจดหมาย) เพื่อให้เธอได้ใช้ข้อมูลตรงนั้น ทบทวนและใคร่ครวญสิ่งที่เกิดในอดีตด้วยมุมมองแบบใหม่ การที่ลิซาพร้อมจะตัดสินคนอื่นโดยไม่รู้จักอีกฝ่ายดีพอ ทำให้เธอเหมาะเจาะมากที่จะเป็นตัวเอกของนิยายเรื่องนี้ ขณะเดียวกันการปิดบังข้อมูล หรือการไม่ยอมให้ผู้อื่น "ตระหนักรู้" ก็ยังเป็นเงื่อนไขในการดำเนินเรื่องและการตัดสินใจของตัวละครด้วย

รู้สึกว่าตัวเองตั้งใจและต้องใช้สมาธิในการอ่าน Pride and Prejudice มากกว่าที่คาดไว้ในตอนแรก อ่านงานชิ้นนี้ของออสตินแล้วนึกถึงเฮนรี เจมส์ แม้ยุคสมัยจะต่างกันเกือบร้อยปี และใช้เทคนิกทางวรรณศิลป์ที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง แต่นิยายของทั้งคู่ว่าด้วยมารยาทในสังคมและการที่คนเราต้องขุดลึกลงไปกว่าเปลือกนอก ถึงจะตัดสินสิ่งที่มองเห็นด้วยตาได้

1 comment:

Unknown said...

สวัสดีค่ะ พอดีจะทำโครงงานเรื่องนี้
จึงอยากติดต่อกับเจ้าของบล็อกอ่าค่ะ
ถ้าพอจะมีเวลาว่างรบกวนช่วยติดต่อกลับหน่อยน้ะค่ะ
line : jula.aa
( ช่วยหน่อยน้ะค่ะะ พลีสสสส )