F. Beiser's "Hegel"

เราเคยถามผู้กำกับว่า "เชื่อเรื่องดวงไหม" ประโยคนี้ถามเป็นนัยว่า อีกฝ่ายเชื่อในปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากวิทยาศาสตร์ ปัจจัยที่พิสูจน์ไม่ได้เช่น วันเดือนปีเกิด ดวงดาว กรุ๊ปเลือด ลายมือ ว่ามีผลกำหนดลักษณะนิสัย ชะตาชีวิตของคุณหรือไม่ (และอาจ imply ลึกๆ ไปอีกว่า คุณเชื่อในไสยศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์) คำตอบของผู้กำกับคือ "เชื่อเรื่องดวง แต่เชื่อแบบวิทยาศาสตร์" ตอนที่ได้ยินคำตอบนี้ครั้งแรก อดรู้สึกไม่ได้ว่ามันตัดปมกอร์เดียนยังไงไม่รู้ เหมือนไม่ยอมเลือกข้าง ฉันเชื่อเรื่องดวงนะ แต่ฉันไม่งมงาย ฉันมองมันเป็นวิทยาศาสตร์

ทุกวันนี้ พอมองย้อนกลับไปคำตอบดังกล่าว ฉุกคิดขึ้นมาได้อย่างหนึ่งว่าช่างเป็นคำตอบที่ Hegelian อะไรอย่างนี้

ปรัชญาของเฮเกล อย่างน้อยที่ไบเซอร์สรุปออกมา ก็คือการตัดปมกอร์เดียนปมแล้วปมเล่าด้วยวิธีการคล้ายๆ แบบนี้ สิ่งที่นักปราชญ์ชาวเยอรมันในยุครอยต่อศตวรรษที่ 18 และ 19 ให้ความสำคัญก็คือการทำลายขั้วตรงข้าม แนวคิดแบบทวิภาค เช่น ถ้าไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ก็ต้องเป็นไสยศาสตร์ เฮเกลสลายขั้วตรงข้ามด้วยคำตอบที่ จะมองว่าลึกซึ้งก็ได้ หรือกำปั้นทุบดินก็ได้อีกเหมือนกัน

เช่น มนุษย์เราควรมีชีวิตอยู่เพื่อตัวเอง หรือส่วนรวม คำตอบคือถูกทั้งสองข้อ เฮเกลจะพูดกับฝ่ายแรกว่า จริงแท้ คนเราควรมีชีวิตอยู่เพื่อตัวเอง แต่ตัวตนของเรานั้นถูกสร้างขึ้นมาโดยคนรอบข้างและการใช้ชีวิตในสังคม ขณะเดียวกันเขาก็จะพูดกับฝ่ายหลังว่า ถูกต้อง คนเราควรมีชีวิตอยู่เพื่อส่วนรวม ส่วนรวมนั้นประกอบไปด้วยแต่ละส่วนอันมีหน้าที่ เป้าหมายการดำรงชีวิตที่แตกต่างกัน

spirit ของเฮเกล ก็คือองค์รวมของทุกสรรพสิ่งในโลกหล้า นึกถึงวิชาชีวะมัธยมปลายที่เรียนเรื่ององค์ประกอบเซล จู่ๆ ไมโตคอนเดรียมีปากมีเสียงลุกขึ้นมาทะเลาะกับไลโซโซมว่า...เธอต้องเป็นฉันสิ...ไม่ใช่ เธอต่างหากที่ต้องเป็นฉัน ก่อนทั้งคู่จะตระหนักว่าแท้จริงแล้วต่างเป็นส่วนประกอบของเซลเดียวกัน (ไบเซอร์บอกว่านี่คือความหมายที่แท้จริงของวิภาษวิธี ไม่ใช่บทเสนอ บทแย้ง บทสังเคราะห์แบบที่มักเข้าใจกัน) และเมื่อเซลแต่ละเซลทะเลาะกันด้วยบทสนทนานี้ สุดท้ายก็จะตระหนักว่าล้วนเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเยื่อเดียวกัน จากเนื้อเยื่อไปสู่อวัยวะ จากอวัยวะไปสู่ร่างกาย จากร่างกายไปสู่สังคม สู่ประเทศ สู่โลกทั้งใบ และองค์รวมของทั้งหลายทั้งปวงนั้นแลคือ spirit

ในทางกฏหมาย ยุคนั้นมีสองโรงเรียนตบตีกันว่า ตกลงกฏหมายบัญญัติขึ้นตามหลักเหตุและผล อันเป็นสากลในธรรมชาติ หรือว่าแต่ละสังคมกำหนดขึ้น คำตอบแบบกำปั้นทุบดินของเฮเกลคือ กฏหมายบัญญัติขึ้นตามหลักเหตุและผล หากว่าเหตุและผลไม่ได้สถิตย์อยู่ในธรรมชาติ หากอยู่ในสังคมต่างหาก และเนื่องจากเฮเกลเชื่อว่าทุกสังคม ทุกวัฒนธรรม และทุกประเทศสามารถรวมกันเป็นส่วนหนึ่งของ World Spirit ได้ ดังนั้นเหตุและผลจึงเป็นภาวะ "สากล" ที่ "ไม่สากล"​ นั่นเอง

3 comments:

price per head call center said...

Thank you for sharing information. It is quite useful for us also. I always love to read such type of things.

Anonymous said...

I read for my spirit, for social and world!!!

Anonymous said...

I read for my spirit, for social and world!!!