U. Eco's "The Search for the Perfect Language"


อาจารย์ฟิสิกส์ตอนม. ปลาย เคยบอกนักเรียนว่า สังเกตไหม เลข 1 อารบิกถึงเลข 9 ถูกออกแบบมาให้แต่ละเลขมีมุมเท่าจำนวนค่าของมันพอดี เช่น เลข 1 ถ้าเขียนบางแบบ จะมีมุมหนึ่งมุม เลข 2 มีสองมุม เลข 3 มีสามมุม และเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ แน่นอนว่าไม่จริงหรอก แค่ 5 แค่ 9 ก็ผิดแล้ว ที่สำคัญทฤษฎีนี้จะเป็นจริงได้ ก็ด้วยวิธีเขียนเลขบางลายมือเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ค่อยจะเป็นสากลเท่าไหร่ (เช่น เขียนเลข 2 ให้คล้ายตัว z หรือเขียน 3 ให้คล้ายซิกมา)

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งที่อาจารย์เราพูด แสดงให้เห็นถึงความฝันลึกๆ อย่างหนึ่งซึ่งสืบทอดมาในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ นั่นคือการค้นหา "ภาษาสมบูรณ์" (perfect language) ภาษาที่เรียกทุกสิ่งทุกอย่างด้วย "ชื่อที่แท้จริง" ของมัน เป็นภาษาสากลซึ่งตอบสนองธรรมชาติของมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์

The Search for the Perfect Language ว่าด้วยประวัติศาสตร์การค้นหาภาษาสมบูรณ์นี้ คำเตือนอย่างหนึ่งคือหนังสือเล่มนี้เป็น Narrative History ซึ่งเหมือนจะเป็นคลังข้อมูลมากกว่าจะมีการวิเคราะห์อะไรลึกซึ้ง ถ้าเกิดใครไม่ได้สนใจประเด็นนี้จริงๆ อ่านข้ามๆ เอาน่าจะถูกจริตกว่า

แน่นอนว่าประวัติศาสตร์การค้นหาภาษาสมบูรณ์เป็นประวัติศาสตร์ที่ล้มเหลว ขนาดในปัจจุบันที่เทคโนโลยีและความจำเป็นเอื้อให้เกิดภาษาสากลขึ้น แต่ทุกฝ่ายก็พร้อมยอมให้อังกฤษกลายเป็นภาษาสากลโดยดุษฎี ขนาดเอสเปอรันโต ภาษาสากลที่มีคนรู้จักและเป็นชิ้นเป็นอันมากที่สุด ซึ่งเกิดมาได้ศตวรรษกว่าๆ แล้ว ก็ยังแพร่กระจายไปไม่ถึงไหน

ภาษาสมบูรณ์แบ่งออกเป็นสองยุค ยุคแรกคือยุคศาสนา นักวิชาการพยายามค้นหาภาษาของอาดัมก่อนหอคอยบาเบลถล่ม นักปรัชญาในยุคนั้นเชื่อว่าภาษาสมบูรณ์เกิดขึ้นมาได้จากการย้อนศรภาษาที่แต่ละเผ่าพันธุ์ใช้ ไปยังภาษาบริสุทธิ์ (บางคนถึงกับเชื่อว่า ภาษาจีนคือภาษาบริสุทธิ์ เนื่องจากชาวจีนไม่ได้ไปเกี่ยวอะไรด้วยกับการสร้างหอคอยบาเบล)

ในยุคที่สอง หลังยุคการรู้แจ้ง นักวิชาการยอมรับแล้วว่าภาษาบริสุทธิ์เป็นสิ่งที่มนุษย์เข้าไม่ถึง ความพยายามคิดค้นภาษาสมบูรณ์จึงออกมาในรูปแบบของภาษาใหม่ที่ไม่เหมือนภาษาไหนๆ เลย แต่อาศัยไวยากรณ์ที่ลดความกำกวม คลุมเครือลงไปให้มากที่สุด ก็จะได้ภาษาที่มีคุณสมบัติเป็นภาษาสากล ใครๆ ก็สามารถเรียนได้โดยง่าย (ระบบเลขอารบิกแบบที่อาจารย์เราเชื่อ การออกแบบตัวอักษรที่ตอบสนองตรรกะก็คือตัวอย่างหนึ่งของภาษาสมบูรณ์)

เอสเปอรันโตก็คือผลผลิตดังกล่าว แต่ปัญหาก็คือภาษาจำพวกนี้เป็นระบบสัญญะ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้แทนสัญญะอีกทอดหนึ่ง (“หมา" ในเอสเปอรันโตไม่ได้หมายถึงสัตว์สี่เท้า เห่าฮ่งๆ แต่หมายถึงคำว่า "dog” ในภาษาอังกฤษ) ด้วยเหตุนี้ เอสเปอรันโต (ซึ่งถูกคิดค้นโดยชาวยุโรป) เมื่อเอามาใช้นอกประเทศยุโรป ก็ไม่สามารถสื่อความหมายได้ดีเท่าที่ควร จึงไม่เป็นที่นิยม

แม้จะเป็นประวัติศาสตร์ของความล้มเหลว แต่ก็ใช่ว่าการค้นหาภาษาสมบูรณ์จะไม่มีความหมายเสียทีเดียว การใคร่ครวญถึงภาษาบริสุทธิ์ของอาดัม ช่วยให้นักปรัชญาศาสนาในยุคนั้นเข้าใจและตั้งคำถามเชิงเทววิทยา การคิดค้นภาษาสมบูรณ์ นำไปสู่การจัดแบ่งสกุลสัตว์และสิ่งมีชีวิตของไลบ์นิซ เหมือนกับที่เอโคเคยกล่าวในหนังสือเล่มก่อนหน้านั้น บางทีความล้มเหลวหรือความผิดพลาด ก็อาจก่อคุณได้โดยไม่ตั้งใจเหมือนกัน

2 comments:

Anonymous said...

whoah this weblog is wonderful i love studying your posts.

Keep up the great work! You realize, many
individuals are looking round for this information, you can aid them greatly.
Feel free to surf my website : comprar perfume

Anonymous said...

My brother suggested I might like this blog. He was entirely
right. This post actually made my day. You can not imagine just how much time I had spent for this info!
Thanks!
My web blog - pizza games zombies