F. Fukuyama's "The End of History and the Last Man"
ฟุคุยามาเขียน The End of History and the Last Man แล้วเสร็จในปี 1992 พอดีกับช่วงเวลาที่โลกเสรีกำลังเฉลิมฉลองกันอย่างสุดเหวี่ยงกับการแตกสลายของค่ายคอมมิวนิสต์ สิบปีหลังจากนั้น จากเหตุการณ์ 9-11 สงครามร้อนๆ เย็นๆ ของจอร์จ บุช และความพินาศของระบบการเงินอเมริกา หนังสือเล่มนี้ก็ดูจะเสื่อมความนิยมลง นักวิชาการอย่างชอมสกี้มักจะใช้ The End of History and the Last Man เป็นตัวอย่างความผิดพลาดของแนวคิดเสรีนิยมแบบรีพับลิกัน
ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็น่าเสียดาย ประเด็นของฟุคุยามาในหนังสือเล่มนี้ “ทรงพลัง” มากๆ (มากเสียยิ่งกว่าแนวคิดทางการเมืองของชอมสกี้อีก) และสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้คนจะศึกษามัน โดยเฉพาะปัญญาชนชาวไทยที่ช่วงนี้ออกมาพูดกันเป็นแฟชั่นว่า “สังคมไทยกำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน” แต่เปลี่ยนไปไหนและเปลี่ยนได้อย่างไร The End of History and the Last Man น่าจะช่วยให้บางคำตอบและตั้งคำถามใหม่ๆ ที่น่าสนใจได้
ประเด็นของฟุคุยามามีอยู่สองข้อ ข้อแรกคือประวัติศาสตร์ไม่ได้เกิดซ้ำไปซ้ำมา แต่มีทิศทางแน่นอน เหมือนอย่างที่มาร์กเชื่อ และประเด็นที่สองซึ่งตรงข้ามกับมาร์กโดยสิ้นเชิง นั่นคือจุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์ไม่ใช่สังคมนิยมแต่เป็น “Liberal Democracy” สุดแท้แต่จะแปลคำคำนี้ เหมาๆ เอาว่าประชาธิปไตยแบบตลาดเสรีคงพอได้กระมัง
เราชอบช่วงแรกของหนังสือเล่มนี้มากกว่าครึ่งหลัง ในช่วงแรกฟุคุยามาอธิบายว่ากระดูกสันหลังซึ่งขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ไปข้างหน้าคือการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ไม่เหมือนกับปรัชญาการเมืองหรือรสนิยมทางศิลปะ วิทยาศาสตร์ไม่มีวัฏจักร ครั้งหนึ่งคนไทยอาจจะปรารถนาให้นายกมาจากการเลือกตั้งถึงขนาดออกมาสละชีพกันบนท้องถนน แต่อีกครั้งหนึ่งคนไทยก็อาจรังเกียจการเลือกตั้งมากพอที่จะทำร้ายผู้อื่นได้ แต่เมื่อเรารู้แล้วว่าฝนมาจากหยดน้ำบนก้อนเมฆกลั่นตัว ครั้นจะหวนไปเชื่อเรื่องพญาแถนนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ (ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าคติเช่นนี้จะต้องสูญหายไปโดยพลัน) แม้กระทั่งเทคโนโลยี แม้จะรู้ว่าการเผาไหม้เชื้อเพลิงนำไปสู่ปรากฏการณ์โลกร้อน แต่วิธีแก้ปัญหาไม่ใช่การสละเทคโนโลยีทิ้ง แต่เป็นการยิ่งพัฒนาไปข้างหน้า สร้างเชื้อเพลิงหรือเครื่องยนต์สะอาดขึ้นมา
ในเมื่อวิทยาศาสตร์เดินทางเดียวแบบนี้ ระบบการเมืองหรือลัทธิ แนวคิด ความเชื่อใดๆ ก็ตามที่ผุดงอกมาจากพัฒนาการทางเทคโนโลยี ก็ย่อมดำเนินไปแต่ข้างหน้าเท่านั้นด้วย ฟุคุยามาพยายามถกเถียงว่าประชาธิปไตยแบบตลาดเสรีนี่เอง คือผลิตผลจากพัฒนาการของวิทยาศาสตร์ (เชื่อไม่เชื่อแก ไปหาอ่านกันเอาเองนะ)
ในครึ่งหลังฟุคุยามาใช้ปรัชญาของเฮเกลและโคจีฟมาวิเคราะห์ทิศทางของประวัติศาสตร์ แกบอกว่า ความปรารถนาหลักของมนุษย์มีอยู่ด้วยกันสองข้อ คือความสุขสบายและการได้รับการยอมรับจากผู้อื่น จะเรียกอย่างหลังสั้นๆ ว่าศักดิ์ศรีก็คงพอได้ ระบบประชาธิปไตยของโลกตะวันตกซึ่งมีรากฐานมาจากแนวคิดของลอคและฮอบบ์ ให้ความสำคัญกับอย่างแรกมากกว่า ประชาธิปไตยทุนนิยมจึงเกิดขึ้นมา เป็นระบบที่รับประกันความสะดวกสบายตราบเท่าที่สมาชิกทุกคนทำงานตามบทบาทหน้าที่ แต่ก็เป็นระบบที่ไม่เอื้อต่อความเท่าเทียมในสังคม (คือไม่รับประกันศักดิ์ศรีนี่เอง)
อธิบายแบบคร่าวๆ เท่านั้น เพราะฟุคุยามาก็เถียงตัวเองอีกนั่นแหละว่าแล้วอย่างนี้ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมมันจะเป็นคำตอบสุดท้ายของมนุษยชาติได้อย่างไร เพียงเพราะแค่ว่ามันดีกว่าสังคมนิยมเท่านั้นหรือ (เหมือนในวาทะอมตะของเชอร์ชิล)
เขียนถึงหนังสือการเมืองก็อดไม่ได้จะทิ้งท้ายเหตุการณ์ปัจจุบัน ต่อแต่นี้ไปถ้ายึดแนวคิดของเฮเกล (ฉบับฟุคุยามาอ่าน) ก็ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายไหนจะมีข้อขัดแย้งภายในมากกว่ากัน ระหว่างประชาธิปไตยที่ไม่เชื่อในเสียงส่วนใหญ่หรือชนชั้นล่างที่ร่วมต่อสู้กับมหาเศรษฐี เฮเกลทำนายว่า ฝ่ายไหนขจัดข้อขัดแย้งของตัวเองออกไปได้มากกว่า (ในระยะยาว) ฝ่ายนั้นแหละคือผู้ชนะ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
2 comments:
find more their explanation Homepage visit their website blog weblink
l1u32h2a51 v8x07w7y81 g7p39n4p60 d4r70n2e41 z3x43f3w82 o3j98y6u57
Post a Comment