
ขออนุญาตนำเอาจดหมายของคุณ "นิรนาม" มาโพสไว้ตรงนี้ เพราะคุณเขียนได้น่าสนใจมาก อยากขอใช้พื้นที่ตรงนี้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย แต่ก็ขออีดิทชื่อจริงของรักชวนหัวทิ้งไป ไม่ว่ากันนะครับ (เป็น "หลักการ" ของเราเองที่ไม่อยากให้ความกังวลเรื่องตัวตนที่แท้จริงมาขัดขวางอาการ "ปากหมา" ของเรา)
<เริ่มจดหมาย>ติดตามอ่านบลอกของพี่รักชวนหัวมานานครับ (ขออภัยหากต้องใช้ชื่อจริง เพราะต้องการสื่อสารกับรักชวนหัว ไม่ใช่รักชวนหัว หากเห็นว่าไม่เหมาะสมเชิญลบได้ หรือไม่ต้องโชว์ทั้งคอมเมนต์เลยก็ได้) เห็นความพยายามในการทำความเข้าใจองค์ความรู้ทางด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ทั้งๆที่ไม่ได้ถูกฝึกมาทางด้านนี้
แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีความคิดเห็นเกี่ยวกับเนื้อหา หากให้ผมเดา พี่ไม่ได้อ่านงานแต่ละงานจนจบเล่ม (หรือถ้าจบก็ไม่ได้ให้เวลากับมันมากพอ หรือไม่ได้ลงมือค้นหาสืบสวนงานอื่นๆ ที่อยู่ในบริบทเดียวกันที่เกี่ยวเนื่อง แล้ว "รอ" ให้มันพัฒนาไปก่อนออกความคิดเห็น) หลายๆโพสต์จึงแตะนี่นิดแตะโน่นหน่อย ตีความเอาเองอย่างพละการบ้าง หรือบางครั้งจับแพะชนแกะไปเลยก็มี (ขออภัย ผมมีเวลาจำกัดจึงไม่ขอยกตัวอย่าง) จึงทำให้ - อย่างน้อยในสายตาของผม - บลอกรักชวนหัวกลายเป็นสถานที่ "โชว์" ว่าเจ้าของเป็นผู้อ่านหนังสือจำนวนมาก แทนที่จะเป็นเวทีในการถกเถียงอภิปรายในหมู่หนอนหนังสือด้วยกัน
แน่ละ พี่อาจจะบอกว่าได้ทำเช่นนั้นไปใน "xxx" (ซึ่งก็ไม่ได้เปิดให้คอมเมนต์?) และบลอกรักชวนหัวเป็นการแสดง impression เบื้องต้นในการอ่านงานแต่ละชิ้นเท่านั้น
นั่นแหละคือประเด็นของผม
แน่นอนว่าการ "ตีความ" เป็นเรื่องสำคัญ แต่การนำเสนอความเห็นที่ "ชุ่ย" เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ใครๆก็เขียนบลอกได้ แสดงความคิดเห็นได้ แต่พี่ในฐานะปัญญาชน(?) พี่ยอมให้ความเห็นที่ "ชุ่ย" ออกสู่สาธารณะได้หรือครับ? (แม้มีคนไม่มากที่รู้ว่าเป็นพี่ พี่ก็ย่อมรู้ตัวเองดี)
ความเห็นอย่าง "ขณะที่มาร์กซิสแบบดั้งเดิมคือการศึกษาโครงสร้างสังคมโดยเน้นที่พื้นฐาน (ระบบเศรษฐกิจ และการเมือง) แต่มาร์กซิสสามารถนำมาดัดแปลงเพื่อศึกษาวรรณกรรม ศิลปะ และอุดมคติอื่นๆ ได้เช่นกัน ชอบไม่ชอบคอมมิวนิสต์ก็เรื่องหนึ่ง แต่ยอมรับในความเจ๋งของปรัชญานี้เลย" (จากโพสต์เกี่ยวกับหนังสือ Marxism and Literature ของเรมอนด์ วิลเลียมส์) แสดงให้เห็นว่าพี่ไม่ได้อ่านงานมาร์กซิสต์เลยย (ต้องเน้นเสียง) ไม่สามารถแยกแยะได้ถึงปรัชญาเบื้องต้นของมาร์กซิสต์ กับการนำเอาไปใช้พัฒนาเพื่อจุดประสงค์ของประเทศคอมมิวนิสต์แต่ละประเทศ ที่สำคัญคือพี่ไม่เห็นถึง "จุดประสงค์" ในการเขียนงานชิ้นนี้ขึ้นมาของร. วิลเลียมส์ ว่าเป็นความพยายามในการ rework ความมสัมพันธ์ระหว่าง base กับ superstructure ใหม่ในการจะแย้งกับความคิดมาร์กซิสต์ดั้งเดิมว่า เศรษฐกิจอาจไม่ได้เป็นตัวกำหนดความเปลี่ยนแปลงเสมอไป วัฒนธรรมสามารถมี autonomy ในการเปลี่ยนแปลงได้ (เรียก "cultural materialist approach" ซึ่งต่อมาก็มีมาร์กซิสต์ออกมาโต้กลับ แต่ผมคงไม่กล่าวต่อไปอีก) พี่อาจจะล้อเล่นที่ไม่รู้ว่าร. วิลเลียมส์เป็นมาร์กซิสต์อังกฤษที่ถูกฝึกมาทางสายภาษาอังกฤษ ร่วมสมัยกับสจวร์ต ฮอล์และริชาร์ด ฮอกการ์ด ซึ่งร่วมกันก่อตั้งสำนักวัฒนธรรมศึกษาที่เบอร์มิงแฮม (ที่มีอิทธิพลต่อนักวิชาการวัฒนธรรมศึกษาไทยค่อนข้างมาก) ดังนั้นเขาจึงใช้วรรณกรรมเป็นแกนกลางในการวิเคราห์สังคม และมองว่าวรรณกรรมสามารถอธิบายความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนรรมได้ดีกว่า (เป็นที่มาของการเสนอแนวความคิด the structure of feeling อันลือลั่น แต่ผมผิดหวังที่พี่กลับไม่พูดถึงแนวความคิดนี้เลยแม้แต่น้อย! ไม่ได้อ่าน? อ่านไม่ถึง? ไม่เข้าใจ?)
ใช้เวลากับความคิดมากหนอย โพสต์ช้าลง แต่เอาให้ "จั๋งหนับ" ไม่ดีกว่าหรือครับ? คนอ่านจะได้มีเวลาไปตามอ่านแล้วมาถกด้วยได้ หรือหากบอกว่าไม่มีเวลา อย่าเพิ่งเขียนจะดีกว่าไหมครับ?
ขอเข้าสู่เรื่องโพสต์นี้หน่อยนะครับ เมื่อเห็นข้อความ "อาจารย์ภัทรวดีเผยให้เราได้เห็นบทบาทของรัฐบาลทหาร ในการอนุรักษ์และผสานวัฒนธรรมไทยให้เข้ากับวัฒนธรรมตะวันตก"
ผมไม่แน่ใจว่าเราอ่านหนังสือเล่มเดียวกันหรือเปล่า?
ประเด็นหลัก (argument) ของอ.ภัทรวดีในบทที่ 1 2 และ 3 คือหลังจากวัฒนธรรม traditional เริ่ม "อ่อน" ลงตั้งแต่ปลาย ร.5 (และอ่อนลงไปอีกในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง) นั้นได้ถูกกลับมาส่งเสริม อนุรักษ์ ฯลฯ ใหม่ภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. เพื่อจุดประสงค์ในการสร้างความมั่นคงของรัฐบาล ทั้งภายใน (เผด็จการ) และนอกประเทศ (คอมมิวนิสต์) (ประเด็นสำคัญที่น่าถกต่อไปคือวัฒนธรรมดั้งเดิมถูกเลือกหยิบมาใช้ และปรับเปลี่ยนอย่างไร) หากใช้คำของอ.ปริตตาคือ "คลัง" ของวัฒนธรรมดั้งเดิมได้ถูกหยิบมาใช้ใหม่อีกครั้ง
หากสุนทราภรณ์เป็นวงที่ "รับใช้เผด็จการ" อย่างที่พี่เหมารวม เหล่าข้าราชการจำนวนมหาศาลที่ทำงานภายใต้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ปัจจุบัน และนักเรียนทุนรัฐบาล (ที่ต้องกลับไปทำงานใช้ทุน) ไม่ "รับใช้เผด็จการ" ไปด้วยหรือครับ? (คงจะต้องว่ากันในรายละเอียด แน่นอนว่า หลวงวิจิตรวาทการ "รับใช้เผด็จการ" อย่างแท้จริง)
ลองอ่านประวัติพระเจนดุริยางค์ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองดู ก็อาจจะทำให้เราเข้้าใจว่ามันมีความสลับซับซ้อนมากกว่าการที่มี "เผด็จการ" อยู่ข้างหนึ่งแล้วที่เหลือก็เป็นฝ่ายตรงข้าม (โดยเฉพาะในแง่มุมของชีวิตศิลปิน นักดนตรี)
---------------------
เช่นเดียวกับพี่, ด้วยความอยากเห็นสังคมไทยมีวุฒิภาวะขึ้น
<จบจดหมาย>ขอเริ่มตอบจากประเด็นมาร์กซิสก่อนเลยแล้วกันครับ
แน่นอนว่าน้องมีความเข้าใจมาร์กซิสดีกว่าพี่มากก (ลากเสียงยาวเหมือนกัน) แต่ขณะเดียวกันพี่ก็ไม่แน่ใจว่าคำพูดของพี่ที่น้องยกมา "ขณะที่มาร์กซิสแบบดั้งเดิมคือการศึกษาโครงสร้างสังคมโดยเน้นที่พื้นฐาน (ระบบเศรษฐกิจ และการเมือง) แต่มาร์กซิสสามารถนำมาดัดแปลงเพื่อศึกษาวรรณกรรม ศิลปะ และอุดมคติอื่นๆ ได้เช่นกัน ชอบไม่ชอบคอมมิวนิสต์ก็เรื่องหนึ่ง แต่ยอมรับในความเจ๋งของปรัชญานี้เลย" ขัดแย้งกับสิ่งที่น้องอรรถาธิบายมาอย่างไร คือในความเห็นของน้อง "มาร์กซิส
ไม่สามารถนำมาดัดแปลงเพื่อศึกษาวรรณกรรมได้" หรือว่า "มาร์กซิสแบบดั้งเดิม
ไม่ใช่การศึกษาโครงสร้างสังคม"
พี่ขอเดาแล้วกันว่าเป็นประเด็นแรก นั่นก็คือน้องกำลังบอกพี่ว่ามาร์กซิสที่ใช้วิเคราะห์วรรณกรรมและงานศิลปะ เป็นมาร์กซิสคนละตัวกับมาร์กซิส "ต้นแบบ" หรือเป็นทฤษฏีแก้ที่ขัดแย้งกับ "ต้นแบบ" ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ (ไม่ว่าคำว่า "ต้นแบบ" จะหมายถึงอะไรก็ตาม ต้องมาจากหนังสือของมาร์กเท่านั้นถึงจะถือว่าเป็นต้นแบบใช่หรือเปล่า ถ้าเช่นนั้นก็คงไม่มีใครแอบอ้างได้ว่าเรียนรู้ศาสนาพุทธ "ต้นแบบ" กระมัง)
แต่ในคำพูดของพี่ที่น้องยกมา พี่ก็ใส่คำว่า "ดัดแปลง" ลงไปแล้ว ต่อให้ทฤษฎีสองตัวมันขัดแย้งกันชนิดดำขาว ถ้าทฤษฏีตัวหลังมันเกิดมาจากตัวแรก (มาจากความพยายามพิสูจน์ว่าตัวแรกผิด) เราจะเรียกได้ไหมว่ามันคือทฤษฎีที่ถูกดัดแปลงมาจากทฤษฏีตัวแรก (ยกเว้นว่าในแวดวงวิชาการมีการตีกรอบอย่าง "ชัดเจน" โดย "นักวิชาการทุกคน" ว่าขอบเขตการดัดแปลงมาร์กซิสคือเท่านี่ๆ เท่านั้น ถ้าดัดแปลงไปไกลกว่านี้ ห้ามเรียกทฤษฎีนั้นว่ามาร์กซิสเป็นอันขาด)
ไม่แน่ใจว่านี่คือปัญหาที่น้องมีกับข้อความที่หยิบยกมาหรือเปล่า ถ้าพี่ตีความคำวิจารณ์ของน้องผิดถูกอย่างไร โปรดชี้นำด้วย
อีกประเด็นคือภาพยนตร์เรื่อง
โหมโรง พี่ยอมรับว่าการตีขลุมให้สุทราภรณ์เป็นผลิตผลของเผด็จการทหารนั้นเป็นการตีความประวัติศาสตร์อย่างคับแคบ แต่ขณะเดียวกัน มันต่างอะไรจากแง่มุมที่ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอออกมาว่า เผด็จการทหารจะต้องนิยมของนอกและรังเกียจวัฒนธรรมไทย
พี่ยกตัวอย่างสุนทราภรณ์เพื่อแสดงให้เห็นว่าภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร ศิลปินก็สามารถสร้างผลิตผลทางวัฒนธรรมไทยที่ยั่งยืนจนเป็นที่ยกย่องตราบจนทุกวันนี้ได้ (แต่ก็คงเถียงกันได้อีกนั่นแหละว่า สุนทราภรณ์คือวงดนตรีที่ "บดขยี้" ความเป็นไทย หรือได้พยายาม "ไพบูลย์" และนำวัฒนธรรมไทยมาแปลงโฉมใหม่เพื่อเผยแพร่) และที่สำคัญคือไม่ใช่ศิลปิน "เด็กแนว" แบบ "ศร" ซึ่งขัดแย้งกับฝ่ายอำนาจอย่างโจ่งแจ้ง (สมดังบทบาท "พระเอก" หนังที่พวกเราคุ้นเคยกันดี) เพราะเท่าที่พี่รู้มา ศิลปินวงสุนทราภรณ์ก็ดูจะถ้อยทีถ้อยอาศัยและได้รับแรงสนับสนุนจากรัฐบาลแต่โดยดี แม้ต้องแลกกับการเป็น "เครื่องมือ" แต่งเพลงร้องเพลงปลุกใจให้รักชาติก็ตาม (ถ้าข้อมูลตรงนี้ของพี่ผิดพลาด ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)
"ลองอ่านประวัติพระเจนดุริยางค์ช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครองดู ก็อาจจะทำให้เราเข้้าใจว่ามันมีความสลับซับซ้อนมากกว่าการที่มี "เผด็จการ" อยู่ข้างหนึ่งแล้วที่เหลือก็เป็นฝ่ายตรงข้าม (โดยเฉพาะในแง่มุมของชีวิตศิลปิน นักดนตรี)"
นี่คือสิ่งที่เราสองคนเห็นตรงกัน และคือสาเหตุทำไมพี่ถึงใช้หนังสือเล่มนี้มาเป็นอาวุธโจมตีภาพยนตร์เรื่อง
โหมโรงส่วนประเด็นที่ว่าพี่ควรเขียนให้ละเอียดจั๋งหนับกว่านี้ไหม พี่ขอยืนยันว่า "รักชวนหัว" ไม่ใช่รวมบทวิจารณ์ แต่เป็น "ไดอารี่" หรือบันทึกส่วนตัวของพี่เอง เช่นเดียวกับคนอื่นเขียนเล่าว่าวันนี้ไปพบปะสังสรรค์ใคร ทำอะไรมาบ้าง บันทึกออนไลน์คงไม่อาจนำมาตัดสินว่า "ชุ่ย" หรือ "ไม่ชุ่ย" ได้กระมัง อย่าลืมว่ารักชวนหัวไม่ใช่พื้นที่สาธารณะของเวปไซต์หรือเวปบอร์ดใดๆ ที่นี่คือ "บ้านของพี่" ภายใต้กฏกติกาว่า "พี่จะเขียนอะไรก็ได้" และผู้ที่เข้ามาอ่านก็สามารถวิจารณ์อะไรได้ทั้งนั้น ตั้งแต่เปิดบลอคนี้มา พี่ไม่เคยลบความเห็นใครเลยแม้แต่ความเห็นเดียว
ดังนั้นสิ่งที่น้องกล่าวมาว่า "บลอกรักชวนหัวกลายเป็นสถานที่ "โชว์" ว่าเจ้าของเป็นผู้อ่านหนังสือจำนวนมาก แทนที่จะเป็นเวทีในการถกเถียงอภิปรายในหมู่หนอนหนังสือด้วยกัน" ก็ถูกต้องแล้วในระดับหนึ่ง (รูปแบบของ blogspot ที่ไม่เปิดโอกาสให้สถานที่แห่งนี้เป็น "เวทีอภิปราย" ก็คืออีกสาเหตุหนึ่ง)
ส่วนอีกคอลัมน์หนึ่งซึ่งพี่ "บังอาจ" เรียกมันว่าบทวิจารณ์แต่กลับไม่เปิดพื้นที่ให้คอมเมนต์กลับ ถือว่าเป็นจุดอ่อนอย่างมาก ไว้พี่จะพยายามติดต่อกับคนดูแลเวปครับ
ประเด็นสุดท้ายคือที่น้องตั้งคำถามว่าพี่อ่านจบ อ่านจริงหรือเปล่า พี่ขอสงวนไม่ตอบแล้วกัน ทิ้งไว้ให้เป็นความพึงใจของผู้เข้ามาอ่านบลอคตัดสินตัวพี่เอง
ชอบไม่ชอบอย่างไร รู้สึกดีใจเสมอที่มีคนแวะเวียนเข้ามาพูดคุยกัน ณ ที่นี้ครับ