เคยพูดไปแล้วว่า เราไม่นิยมวรรณกรรมหรืองานศิลปะที่แตะประเด็น post-modern แบบผิวเผินเท่าไหร่ อย่างดีสุด งานเหล่านี้ก็จะตีความ post-modern แบบผิดๆ (โลกนี้ไม่มีอะไรจริง ทุกอย่างเป็นอัตถวิสัย) หรือเลวร้ายกว่านั้น มันจะส่ง message ที่ตรงกันข้ามเลย (มุ่งหน้าเข้าหาธรรมะสิเธอว์ เป็นอกาลิโกนะ ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง) ซึ่งกลับกลายเป็นแนวคิดแบบ pre-modern ไป
ลักษณาการที่ post- และ pre-modern รับใช้ซึ่งกันและกันนี่ โดยผิวเผินเหมือนจะเป็น paradox แต่พวกนักโฆษณาชวนเชื่อเวลาเผยแพร่คำสอนให้สาวก เขาก็จะใช้เหตุผลแบบ pre-modern ปลุกปั่นให้คนเชื่ออย่างนู้นอย่างนี้ แต่พอต้องไปเถียงกับคนที่เห็นต่างจากเขา (และฉลาดกว่าเขา) เขาจะบอกว่าตัวเองมีสิทธิที่จะเชื่ออะไรก็ได้ เพราะโลกนี้เป็น post-modern
ในบทความ Truth and Politics อาแรนด์ทแบ่งชนิดของวาทกรรมออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้ ด้านหนึ่งคือวาทกรรมพื้นฐานที่ไม่ต้องผ่านการสังเคราะห์ แบ่งออกเป็นข้อเท็จจริง (factual truth) กับ หลักการ (rational truth) ข้อเท็จจริงพิสูจน์ได้ในเชิงประจักษ์ เช่น "วันนี้ฝนตก" ขณะที่หลักการ ต้องใช้เหตุผลถกเถียงกัน เช่น "ระบบการปกครองที่ดีที่สุด คือการปกครองประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน" ส่วนสิ่งที่ตรงข้ามกับข้อเท็จจริงคือคำลวง (lie/error) และที่ตรงข้ามกับหลักการคือความเชื่อ (dogma) วาทกรรมพื้นฐานเหล่านี้ผลิตวาทกรรมสังเคราะห์ขึ้นมาอีกชั้น ข้อเท็จจริงนำไปสู่ความคิดเห็น (opinion) และหลักการนำไปสู่ -- อาแรนด์ทใช้คำว่า political speculation/understanding แต่เราขอใช้คำว่า -- จุดยืนทางการเมือง
ดังนั้นเวลาเราอ่านหนังสือพิมพ์ บทสัมภาษณ์ หรือบทความอะไรก็แล้วแต่ ข้อเท็จจริง/คำลวง หลักการ/ความเชื่อ ความคิดเห็น และจุดยืน ปนเปประเดประดังกันเข้ามา (presentation ที่เหมาะมากๆ คือใช้สี่เหลี่ยมเกรมาส แต่เราแอบหมั่นไส้ไอ้สี่เหลี่ยมนี้ เลยขอไม่ทำดีกว่า) ใช่ว่าทั้งสี่อย่างนี้จะเต้นไปตามจังหวะ post-modern ได้ดีเท่ากันหมด ความคิดเห็นเหมือนจะเป็นอัตถวิสัย แต่สุดท้ายก็ยังยืนพื้นอยู่บนข้อเท็จจริง หรือคำโกหก เทคนิคพื้นฐานของนักโฆษณาชวนเชื่อ คือการโกหกเพื่อสร้างความคิดเห็น และพยายามขายความคิดเห็นนั้น โดยปกปิดซุกซ่อนที่มาที่ไป หรือข้อเท็จจริงให้แนบเนียนที่สุด (เพราะข้อเท็จจริงถึงจะบิดเบือนได้บ้าง ใช้จำนวนคนมากดดันได้บ้าง แต่เหมือนที่ลินคอล์นกล่าวไว้ "คุณหลอกคนบางคนได้ตลอดกาล หลอกคนทุกคนได้ในบางเวลา แต่คุณไม่สามารถหลอกคนทุกคนได้ตลอดกาล")
ในทำนองเดียวกัน จุดยืนทางการเมือง ก็มาจากหลักการหรือความเชื่อก็ได้ และถึงที่สุดจริงๆ ทั้งจุดยืน ความคิดเห็น หลักการ/ความเชื่อ และ ข้อเท็จจริง/คำลวง ส่งผลซึ่งกันและกัน คนที่มีจุดยืนบนหลักการแน่นๆ ก็มักจะมีความคิดเห็นที่สร้างมาจากข้อเท็จจริง ขณะเดียวกันใครที่คุ้นเคยกับการสร้างความคิดเห็นจากคำลวง สุดท้ายแล้วก็มักจะอาศัยความเชื่อมาเป็นจุดยืนของตัวเอง (อย่างไรก็ดี เร็วๆ นี้มีทอล์คโชว์รายการหนึ่ง เลือกแขกได้หลากหลายดีมาก มีทั้งคนที่หลักการแน่นเปรี๊ยะ แต่ก็ยังฟังและเอ่ยอ้างคำลวง ขณะที่อีกคนความคิดความเห็นดีมากๆ แต่กลับไม่มีหลักการอะไรเลย แสดงให้เห็นว่าแต่ละแกน มันแยกออกจากกันพอสมควร)
2 comments:
Nice post, I would like to request you to one more post about that Keep it up
c3w27q7y00 m2s61k2e96 p1x73a0w09 t4p34p4f10 d7d04k7j16 f4w42v2j54
Post a Comment