เปล่าๆ เชคสเปียร์ไม่เคยเขียนบทละครชื่อ "The Wars of the Roses" หรอกนะ มีแต่จตุรภาคสงครามดอกกุหลาบที่ประกอบไปด้วยบทละครสี่เล่ม คือ Henry VI สามเล่ม แล้วก็ Richard III อีกหนึ่งเล่ม ทั้งสี่เล่มเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามดอกกุหลาบ ระหว่างตระกูลยอร์คและแลนแคสเตอร์ในประเทศอังกฤษ (ทั้งสองตระกูลใช้สัญลักษณ์เป็นดอกกุหลาบขาวและแดง) เริ่มในยุคกษัตริย์เฮนรีที่ 6 ภายหลังสงครามร้อยปีกับประเทศฝรั่งเศส ต่อมาถึงกษัตริย์เอดเวิร์ดที่ 4 และไปจบที่ทรราชย์ริชาร์ดที่ 3 ผู้โด่งดัง ก่อนตระกูลยอร์คและแลนแคสเตอร์จะรวมกันเกิดเป็นราชวงศ์ทิวดอร์ ซึ่งเป็นยุคสมัยของเชคสเปียร์
โด่งดังสุดในสี่เล่ม แน่นอนว่าต้องเป็น Richard III บทละครสร้างชื่อเรื่องแรกของเชคสเปียร์ Richard III โด่งดังเสียจน มันกลืนเอาบทละครเฮนรีที่ 6 อีกสามเรื่องหายเข้าไปหมด ทั้งปัจจุบันและในอดีตไม่ค่อยมีใครเล่นบทละครเฮนรีแล้ว แต่บางส่วนบางตอนของมัน ถูกประกอบเข้าไปอยู่ใน Richard III แทน
และเหยื่อของการถูกกลืนตรงนี้ ก็มักจะหนีไม่พ้น Henry VI ภาคสุดท้าย ซึ่งเจ้าชายริชาร์ดเริ่มมีบทบาทเด่นขึ้นมา อันที่จริงก็น่าเสียดาย เพราะถ้าถามเรา บทละครทั้งสองเรื่องนี้ดีพอๆ กัน และดีไปคนละแบบ Henry VI ภาคสุดท้าย เป็นบทละครว่าด้วยสงครามกลางเมือง ดังนั้นจึงไม่มีตัวเอกชัดเจน เหมือนที่กษัตริย์เฮนรีรำพึง ชีวิตของผู้คนในภาวะสงครามเปรียบเหมือนขนนกปลิวไปปลิวมาท่ามกลางกระแสลม บัดเดี๋ยวมีชัย บัดเดี๋ยวแพ้พ่าย ทั้งหมดขึ้นอยู่กับดวง (ไม่ต้องแปลกใจว่าโรเบิร์ต เซเมกคิส ผู้กำกับ Forest Gump เอาอุปมาชีวิตคนเหมือนขนนกมาจากไหน) ฉากที่โดดเด่นที่สุดอยู่กลางเรื่อง เมื่อทั้งฝ่ายยอร์คและแลนแคสเตอร์ส่งทูตไปเจรจาขอความช่วยเหลือจากกษัตริย์ฝรั่งเศส ฉากนี้โชว์ความสามารถ ไหวพริบปฏิภาณทางการทูตของแต่ละฝ่าย ก่อนจะจบลงด้วยความพลิกผันเหนือคาดหมาย
อันที่จริง ถ้าไม่ยึดติดกับอคติว่าพระเอกต้องเป็นคนดี เก่งกล้าสามารถแล้วละก็ Henry VI ภาคสุดท้าย ก็มีพระเอกเหมือนกัน และสองคนเสียด้วย คือกษัตริย์เฮนรีและเจ้าชายริชาร์ด ทั้งคู่เป็นขั้วตรงข้ามระหว่างความดีและความเลวสุดโต่ง ในตอนจบฉากการปะทะกันในหอคอยระหว่างความดีและความเลวเทียบเท่าฉากไคลแมกในภาพยนต์แอคชั่นทั้งหลายเลย (เพียงแต่หนนี้ความดีเป็นฝ่ายปราชัย ริชาร์ดสังหารเฮนรี ก่อนจะตั้งตนเป็นกษัตริย์ได้ในภายหลัง)
Richard III เป็นบทละครอีกประเภทหนึ่ง กษัตริย์ริชาร์ดเป็นตัวเด่น แอนไทฮีโร ที่คุมละครทั้งเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ (และเป็นครั้งแรกอีกเหมือนกันที่เชคสเปียร์เขียนละครลักษณะนี้) ส่วนตัวเราเฉยๆ กับการยึดครองอำนาจของริชาร์ด เราไม่ค่อยชอบผู้ร้ายสองหน้าของเชคสเปียร์เท่าไหร่ (เอดมุนเอย อิยาโกเอย) บทแบบนี้ถ้าเล่นไม่ดีจริง มันจะออกมาเป็นนางร้ายช่องเจ็ดมากๆ แต่สิ่งที่เราชอบที่สุดใน Richard III คือสงครามย่อยๆ ระหว่างเพศ ขณะที่ผู้ชายของสองตระกูลรบราฆ่าฟันกัน จู่ๆ ผู้หญิงก็เริ่มสมัครสมานสามัคคีกันได้ในความเศร้าโศก และก็เป็นอำนาจในเรือนของผู้หญิงต่างหากที่โค่นล้มทรราชย์ริชาร์ดลงได้สำเร็จ
2 comments:
vapormax
kyrie 6 shoes
kobe shoes
yeezy boost
yeezy boost 350 v2
golden goose
golden goose
goyard
kevin durant shoes
nike shoes
see post replica bags from china anchor Celine Dolabuy my review here buy replica bags
Post a Comment