"Aaaaaiiiii don't know..." (ทำเสียงถอนหายใจแรงๆ )
ตั้งแต่แมคคัลสมิธตีพิมพ์นิยายนักสืบหญิงแห่งแอฟริกาเล่มแรกในปี 1999 จนถึงตอนนี้ ลุงแกสำรอกนิยายนักสืบติดๆ กันมายี่สิบกว่าเล่มแล้ว (และนักสืบหญิงแห่งแอฟริกาก็ได้กลายเป็นละครทีวี แต่ขอบคุณพระเจ้า ที่เหมือนมันจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไหร่) พออ่าน The Sunday Philosophy Club จบ ความรู้สึกเหมือนตอนอ่านนักสืบหญิงแห่งแอฟริกาคือ "ลุงแกช่างไม่มีเคล็ดลับ ไม่มีความเข้าใจ ไม่มีฝีมือที่จะเขียนนิยายสืบสวนสอบสวนเอาเสียเล้ยยยย"
อย่างนักสืบหญิงแห่งแอฟริกา จะว่าเป็นนิยายสืบสวนสอบสวนก็ไม่ค่อยถูกเท่าไหร่ เพราะแม้จะมีตัวนักสืบ แต่หล่อนก็ไม่ได้ออกไปสืบสวนอะไรนัก แค่ทำภารกิจที่ตรงไปตรงมา เช่น ตามเด็กหาย จับชายชู้ หรือสะกดรอยแม่บ้าน (สรุปนี่คือนิยายสืบสวนสอบสวนที่ไม่มีปริศนานั่นเอง!) ส่วน The Sunday Philosophy Club หลังจากอ่านมาทั้งเล่ม ภารกิจก็ไขออกกันง่ายๆ ในหน้าสองหน้าสุดท้ายด้วยเงื่อนงำที่ไม่เคยถูกกล่าวถึงมาก่อน (นิยายสืบสวนสอบสวนที่ไม่มีเงื่อนงำ!) จะบอกว่าลุงแกอยากรื้อสร้างนิยายแนวนี้ เราก็อดคิดไม่ได้ว่าจะรื้อสร้างอะไรกันนักกันหนายี่สิบกว่าเล่ม
แต่ที่พูดมานี้ไม่ใช่ว่าจะอ่านแล้วไม่เพลินนะ โดยเฉพาะมาอ่านหลัง Travels with My Aunt ได้อ่านอะไรที่อนุรักษนิยมสุดโต่งแบบนี้ ก็เป็นความเพลิดเพลินในอีกรูปแบบ (ผู้ใหญ่ถูกเสมอ...คุณตัดสินคนได้ทันทีจากภายนอก...มารยาทคือสถาบันทางสังคมที่สำคัญที่สุด...) ทุกอย่างในโลกมันวนกลับมาเป็นวงกลมจริงๆ นั่นแหละ ในโลกตะวันตก ยุคปัจจุบันถ้าอยาก "ถอนรากถอนโคน" (radical) วิธีที่ดีที่สุดก็คือการกลับไปหาคุณค่าแบบคุณปู่คุณย่านั่นเอง
No comments:
Post a Comment