เพิ่งรำพึงอยู่หยกๆ ว่าอะไรหนอคือความลับของนิทาน นิทานช่างเป็นเครื่องมือทางวรรณกรรมอันน่ามหัศจรรย์ คุณสามารถแทรกมันลงไปในนิยายหรือเรื่องสั้นใดๆ ก็ได้ ความเป็นกลางของนิทานช่วยให้มันกลายเป็นสัญลักษณ์ที่รับใช้ได้ทุกเนื้อหา บริบท เหมือนผลึกแก้วหักเหแสงขาวให้กลายเป็นสีรุ้ง และขณะเดียวกันก็รวบสีรุ้งให้กลับมาเป็นแสงขาว
ดีนเซนเป็นเจ้าแม่นิทานยุคใหม่ เรื่องสั้นของเธอ บางเรื่องไม่มีอะไรเลย น้ำท่วมทุ่งไปเรื่อยๆ จนกระทั่งตัวละครแลกเปลี่ยนเล่านิทานสู่กันฟัง เมื่อนั้นแหละ ทั้งเรื่องสั้นของเธอก็จะมีความหมายขึ้นมาทันที งานเขียนของดีนเซนเหมือนกล่องเก็บเครื่องประดับ ที่เปิดเต็มไปด้วยขยะ เว้นแต่ผลึกอัญมณีที่สวยมากๆ ก้อนหนึ่ง เพราะเหตุนี้ เราถึงชื่นชมเรื่องสั้นของดีนเซนมากกว่านิยาย ในจำนวนงานเขียนทั้งหมดของเธอ ผลงานที่ดังที่สุด Out of Africa กลับเป็นผลงานที่เราชอบน้อยที่สุด
ถึงแม้ The Angelic Avengers จะเป็นนิยาย แต่กับเรื่องนี้ดีนเซนใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของตัวเองได้อย่างชาญฉลาด ดีนเซนเอานิทานเรื่อง "เคราน้ำเงิน" (ซึ่งก็คือ โฉมงามกับเจ้าชายอสูร ฉบับจบไม่ดี เพราะเจ้าชายอสูรในที่นี้เป็นฆาตกร) มาเป่าให้มันพองออก กลายเป็นนวนิยายยาว 300 หน้า เพิ่มโฉมงามเป็นสองหน่อ ใส่แบคกราวน์ลงไป เปลี่ยนเจ้าชายอสูรเป็น -- เราก็อธิบายไม่ถูกเหมือนกัน แต่เราชอบตัวละครตัวนี้มาก เราอยากเรียกเขาว่า -- นักบวชมหากาฬ ส่วนผสมระหว่างพิกเมเลียน เอเวอกรีน (มือปืนนักบวชในเรื่อง Trigun) แล้วก็ปาปาเลคบา เทพแห่งความตายในศาสนาวูดู แทนที่เคราน้ำเงินคนนี้จะแต่งงานกับผู้หญิงคนแล้วคนเล่า ก็เป็นเคราน้ำเงินที่รับหญิงสาวมาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรมแทน
นอกจากนิยายทั้งเรื่องจะเป็นนิทานขนาดยาวแล้ว ดีนเซนยังยัดเอานิทาน (หรืออะไรที่เหมือนนิทาน) ใส่ลงไปตรงนู่นตรงนี้ The Angelic Avengers กลายเป็นโคตรนิทานที่น่าอัศจรรย์ใจ นี่คือการรื้อนิทาน ไม่ใช่เพื่อทำลาย แต่เพื่อนำมาสร้างใหม่ให้พิสดาร ไฉไลกว่าเดิมโดยแท้
No comments:
Post a Comment