ก่อนอื่นจับกบมาตัวหนึ่ง โยนลงไปกลางรังมด แล้ววิ่งหนีให้เร็วที่สุด ถ้าฝูงมดแทะซากศพจนเหลือแต่กระดูกเมื่อไหร่ ค่อยดึงเอากระดูกขาออกมา ชายหนุ่มคนไหนอยากให้หญิงสาวหันมาหลงรัก ก็ให้แอบเอากระดูกกบนั่นแหละไปถูๆ ที่หลังเธอ แต่วิธีนี้มีข้อควรระวังอยู่อย่าง คือตอนที่วิ่งหนีออกมาจากรังมด ถ้าวิ่งไม่เร็วพอ จะได้ยินเสียงคำสาปแช่งของกบ จากนั้นชีวิตชายหนุ่มจะประสบแต่หายนะ
อันนี้เป็นตำรา "ยา" เสน่ห์แบบฝรั่ง ซึ่งก็ฟังแล้วชวนสยดสยอง แต่ก็น่าหลงใหลไม่แพ้ยาเสน่ห์แบบไทย
ในทางวรรณกรรม เทพนิยาย ตำนาน หรือนิทานมีเสน่ห์มากๆ แต่ที่แปลกคือทำไม หนังสือหรือทฤษฎีอะไรก็แล้วแต่ที่พยายาม วิเคราะห์นิทานเหล่านี้ มักจะแป๊กเป็นส่วนมาก อาจเป็นเพราะมุมมอง หรือเป้าหมายของเราเอง ที่มักไม่ค่อยสอดคล้องกับนักวิชาการที่ศึกษานิทานพวกนี้ นักโครงสร้างนิยมพยายามเอานิทานมาหย่อนลงกรอบของตัวเองให้พอดิบพอดีที่สุด นักประวัติศาสตร์ก็สนใจแต่ว่านิทานมีบทบาท อิทธิพลต่อสังคมพื้นเมืองอย่างไร
ฟรานซ์เป็นนักจิตวิเคราะห์สายจุง เธอใช้ทฤษฎีของจุงมาวิเคราะห์เทพนิยาย มองว่าเทพนิยายคือความฝันแบบมันดาลาประเภทหนึ่ง แล้วก็ตีความว่าองค์ประกอบในเทพนิยาย จริงๆ แล้วเป็นสัญลักษณ์ของอะไร (กบแทน... มดแทน... กระดูกขาแทน...) อดตั้งข้อสังเกตขำๆ ไม่ได้ว่านักคิดสายจุงเหมือนจะมีปมด้อยอะไรบางอย่าง ตีความความฝันหรือนิทานอะไรออกมาก็ได้ message เดียวกันหมด -- อัตตาเป็น masculine ท่องไปในดินแดนแห่งความมืด พบกับ anima ที่เป็นตัวแทนของไสยศาสตร์เรื่องลี้ลับ มีแต่การผสมผสานระหว่างอัตตาและความเชื่อเหนือธรรมชาติที่ซ่อนอยู่ในใจลึกๆ ที่ทำให้มนุษย์บรรลุถึง Self โดยสมบูรณ์
ก็โอเคอยู่ แต่มันก็ตอบคำถามเราไม่ได้ว่า ทำไมนิทาน ตัวอย่างเช่นเรื่องยาเสน่ห์ขากบที่ยกมาข้างต้น มันถึงอ่านแล้วโดนนัก แล้วในฐานะนักเขียน เราจะผลิตอะไรโดนๆ แบบนี้ออกมาเองได้อย่างไร
No comments:
Post a Comment