L. Svendsen's "A Philosophy of Fear" / M. Douglas's "Risk and Culture"
ใครมั่นใจว่าตัวเองเป็นแฟนพันธุ์แท้ City Hunter (การ์ตูนนะ ไม่ใช่ซีรีส์เกาหลี) ก่อนจะอ่านคำเฉลย ลองตอบมาสิว่า ถ้าไม่นับค้อนของคาโอริ ซาเอบะ เรียวกลัวอะไรอีก...คำเฉลยคือ กลัวการนั่งเครื่องบิน (อันนี้ไม่ใช่มุก แต่มาจากการ์ตูนจริงๆ ) จุดอ่อนหรือสิ่งที่พระเอกกลัว เป็นโมทีฟทั่วไปที่พบได้ในภาพยนตร์และการ์ตูน เป็นนัยว่าเพื่อไม่ให้ตัวละครไร้เทียมทานเกินไป ใน City Hunter โมทีฟตัวนี้ถูกนำมาใช้เป็นมุกตลก ผู้อ่านทุกคนรู้ดีว่าเรียวเป็นโคตรมือปืนที่ไม่มีใครทำอันตรายได้ การที่เขากลัวยานพาหนะซึ่งแสนจะไม่มีอันตราย จึงเป็นที่มาของอารมณ์ขันนี้
แต่จำเป็นเสมอไปหรือเปล่าว่า "ความกลัว" ต้องมาพร้อมกับ "อันตราย" ในหนังสือสองเล่ม สเวนด์เซน และดักลาสตอบตรงกันว่า "ไม่" เราไม่ได้กลัวสิ่งที่เป็นอันตราย ในทางตรงกันข้าม เรากลัว "ความชั่วร้าย" ต่างหาก "อันตราย" เกี่ยวพันกับคุณสมบัติทางชีววิทยาและกายภาพของมนุษย์ ซึ่งไม่ต่างกันมากนักในแต่ละวัฒนธรรม ดังนั้น ถ้าเรากลัว "อันตราย" จริง ทุกวัฒนธรรมน่าจะกลัวอะไรเหมือนๆ กัน อย่างไรก็ดี ความกลัวถูกครอบงำด้วยศีลธรรม ที่แยกแยะระหว่างความชั่วร้ายและดีงาม ดังนั้นแต่ละวัฒนธรรมจึงมีความกลัวที่แตกต่างกันไป
ดักลาสวิเคราะห์เปรียบเทียบแนวคิดเรื่อง "มลภาวะ" ระหว่างชนเผ่าพื้นเมือง และมนุษย์ยุคใหม่ ชนเผ่าฮิมาเป็นพวกทำปศุสัตว์ สิ่งที่พวกเขารังเกียจที่สุด (แม้จะหลีกเลี่ยงมันไม่พ้น) คือวิถีชีวิตของชนเผ่าอิรูซึ่งเพาะปลูก ทำไร่ไถนา "วิทยาศาสตร์" ของฮิมาจึงสร้างแนวคิดเรื่อง "มลภาวะ" ขึ้นมา กล่าวคือใครก็ตามที่กินข้าว (ผลิตผลจากท้องนา) ลงไปผสมกับนม (ผลิตผลจากปศุสัตว์) ในกระเพาะ ข้าวจะแปดเปื้อนนม ทำให้วัวเจ้าของนมนั้นเสียชีวิตได้ (ชาวฮิมาคนไหนที่ำเป็นต้องกินข้าวจริงๆ หลังจากนั้นต้องอดอาหารเป็นระยะเวลาหนึ่งอาทิตย์ เพื่อรอให้ร่างกายบริสุทธิ์ก่อน)
แน่นอนว่าสำหรับคนยุคใหม่ที่ศรัทธาในวิทยาศาสตร์อย่างพวกเรา ปรัชญาฮิมาเป็นเรื่องชวนหัว ดักลาสพยายามชี้ให้เห็นว่า แนวคิดเรื่องมลภาวะสมัยใหม่นั้น ท้ายสุดก็อิงอยู่บนอคติด้านศีลธรรม ไม่ต่างจากชนเผ่าฮิมานัก ดักลาสใช้ตัวอย่างจากกรณีคาซิโนเจน หรือสารก่อมะเร็ง เธออ้างว่า กระทั่งในปัจจุบัน นอกจากบุหรี่ที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดค่อนข้างแน่นอนแล้ว วิทยาศาสตร์ก็ยังไม่มีตัวเลขทางสถิติที่น่าเชื่อถือว่าอะไรก่อหรือไม่ก่อมะเร็งเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ การหลีกเลี่ยงไม่ยอมใช้ "สารก่อมะเร็ง" บางชนิด สุดท้ายแล้วอาจสร้างความเสียหายทางด้านชีวิตและทรัพย์สินมากกว่าการยอมเสี่ยงกับมันก็ได้ (คลอรีนในน้ำดื่ม และยาฆ่าแมลงดีดีที คือตัวอย่างที่นักคิดสำนักนี้ชอบอ้างกัน)
ความกลัวของมนุษย์ยุคใหม่จึงอิงอยู่บนข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ และความเชื่อในแต่ละวัฒนธรรมว่าอะไรคือสิ่ง "ชั่วร้าย" ในทางสุดโต่ง ทุกวาทกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมจึงเป็นวาทกรรมทางการเมือง ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อแบ่งแยกคนออกเป็นสองจำพวก (เทพและมาร ฮิมาและอิรู พวกเราและพวกเขา) นักอนุรักษ์ไม่ต้องจูบปากนักการเมือง แต่พวกเขาไม่ควรแกล้งหลงลืมไปว่า กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยง และผสานประโยชน์ระหว่างคนหมู่มากเช่นที่พวกเขากำลังทำนี้ ที่สุดแล้วก็คือกิจกรรมทางการเมืองอย่างหนึ่งนั่นเอง
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
2 comments:
have a peek herevisit homepage a fantastic readgo to my site get redirected hereread review
e6e40t4b48 n4l92y1m52 b2i24r7j23 o6f18t8i58 h1d84d5i80 r7y17w6y70
Post a Comment