J. D. Hunter's "Culture Wars: The Struggle to Define America"


สิ่งแรกที่คุณควรรู้เกี่ยวกับ culture wars หรือ สงครามวัฒนธรรม   คือเมืองไทยกำลังอยู่ในภาวะสงครามวัฒนธรรม การไม่ชอบ ปฏิเสธ หรือทำไม่รู้ไม่ชี้ ไม่ได้ช่วยให้สงครามนี้สงบลง   การตระหนักรู้และเข้าใจที่มาที่ไปต่างหาก ที่จะตีกรอบสงครามให้อยู่แต่ในเขตแดนทาง "วัฒนธรรม" เท่านั้น

สงครามวัฒนธรรมคืออะไร   นิยามสั้นๆ ของวัฒนธรรมคือโครงสร้างที่กำหนดความหมาย ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง และช่วยให้ปฏิสัมพัทธ์ระหว่างผู้คนดำเนินไปอย่างราบรื่น   การช่วงชิงทางวัฒนธรรม ที่สุดก็คือการกำหนด "ศีลธรรม" ของสังคมนั่นเอง   มันคือการต่อสู้เพื่อนิยามว่าสิ่งใดคือความดีงาม สิ่งใดคือความชั่วร้าย

สงครามวัฒนธรรมคือการต่อสู้ระหว่างใครกับใคร   ใน Culture Wars: The Struggle to Define America  ฮันเตอร์ใช้คำว่าฝ่าย orthodoxy และ progressive   orthodoxy หมายถึงความเชื่อว่าคุณค่าที่ใช้ตัดสินความดีงามของมนุษย์ อยู่เหนือขึ้นไปจากสภาวะที่เราพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน หรือไม่ก็ฝังตัวเองอยู่ในอดีตกาลอันไกลโพ้น ขณะที่ progressive เชื่อว่า เฉพาะสิ่งที่พบเห็น สัมผัส และได้ยินในปัจจุบัน สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงจะนำมาใช้ตัดสินความดีงามได้   และประวัติศาสตร์คือยุทโธปกรณ์หลักในสงครามวัฒนธรรมนี้   ต่างฝ่ายต่างพยายามตีความประวัติศาสตร์ เลือกจดจำ และเลือกลืมเลือน ในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง เพื่อนิยามความหมายของ "ความเป็นชาติ"

สิ่งที่พึงระวังที่สุดในการตีความสงครามวัฒนธรรม คือการลดทอนมันเหลือเพียงสภาวะสองขั้ว   ดังเช่น ปัญญาชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ความแตกแยกในบ้านเมืองเราว่าเกิดจาก "ฝั่งหนึ่งต้องการประชาธิปไตย อีกฝั่งหนึ่งต้องการศีลธรรม"   อันที่จริง เป็นไปไม่ได้เลยที่ฝั่งใดจะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยไม่สนใจ หรือ (ยอมรับว่าตัวเอง) ปฏิเสธอีกสิ่งหนึ่งโดยสิ้นเชิง   ดังที่ได้อธิบายไปแล้ว สงครามวัฒนธรรมเป็นเรื่องของการตีความประวัติศาสตร์ *ทั้งหมด* และจำกัดความหมายใหม่ *ทั้งหมด* ให้กับพื้นที่สาธารณะที่แต่ละคนอาศัยอยู่   เป็นเรื่องเปล่าดายที่คนซึ่งอาศัยอยู่บนคนละพื้นที่จะถกเถียงกันในประเด็นเดียว   การลดทอนรูปแบบความขัดแย้งเช่นนี้ ก็เหมือนกับการเล่นฟุตบอล โดยเปิดเกมมาให้กัปตันแต่ละฝ่ายเดาะบอลแข่งกัน หรือให้ศูนย์หน้าแข่งกันโยนบอลไกล

ผลร้ายของการลดทอนรูปแบบความขัดแย้งก็คือต่างฝ่ายต่างคุยกันไม่รู้ภาษา คุยกันคนละเรื่องเดียว จึงไม่น่าแปลกใจที่สุดท้ายแล้ว สงครามวัฒนธรรมไม่ว่าจะเกิดในประเทศไหน ก็มักจะลงเอยที่การใช้คำพูดรุนแรงจั่วหัวซึ่งกันและกัน ลงเอยที่การจับผิด ดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม ("It's not about who's right, but who's left.")

อยากให้หาหนังสือมาอ่าน เพราะนี่อาจจะเป็นอีกเล่มที่สำคัญที่สุดเท่าที่เราเคยถือในมือเลยก็ได้   สั้นๆ สำหรับคนที่อยากรู้ว่าเราจะอยู่กันได้อย่างไรในภาวะสงครามวัฒนธรรมเช่นนี้   คำตอบง่ายมาก วิธีเดียวที่จะตัดสินแพ้ชนะในกีฬาฟุตบอล ก็คือให้ทั้งสองทีมแข่งกันภายใต้กติกาที่กำหนดนั่นเอง (ไว้ว่างๆ อาจจะเขียนถึงเรื่องนี้โดยละเอียดต่อไป)

No comments: