หมายเหตุ: ไม่เคยอ่านงานชิ้นอื่นของโชเปนฮาวเวอร์เลย การตัดสินความคิดของนักเขียนคนหนึ่ง จากผลงานชิ้นเดียวดูเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม อย่างไรก็ดี โชเปนฮาวเวอร์เองนั่นแหละที่บอกว่า ถ้าเราอยากรู้ความคิดอ่านของนักเขียนคนหนึ่ง เราจำเป็นต้องอ่าน "เนื้อหา" ผลงานทุกชิ้นของเขา แต่ถ้าเราจับสังเกต "รูปแบบ" (style) ในผลงานเพียงชิ้นเดียว เราจะรู้กลวิธีการใช้ความคิดของนักเขียนคนนั้น และสามารถคาดการณ์เนื้อหาในผลงานชิ้นอื่นๆ ได้
ออกตัวก่อนว่าเราไม่ชอบโชเปนฮาวเวอร์ ในโลกแห่งนักปรัชญาตะวันตก (โดยเฉพาะสาย "แข็ง" อย่างในเยอรมัน) โชเปนฮาวเวอร์ดูเป็นสีสันที่พิสดารไม่เหมือนใครดี แกมีอะไรบางอย่างคล้ายคลึงกับพวก "ปัญญาชนสยาม" มากกว่า "นักปรัชญา" กล่าวคือ ดูไม่ใช่คนที่ลึกซึ้งหรือแม่นยำในทฤษฎีอะไร แกแค่ "เฉลียวฉลาด" ในที่นี้คือ มีความชัดเจนในสาระ เรื่องราวที่ตนสนใจ (และคนประเภทนี้ก็มักจะสนใจไปเสียทุกเรื่อง) และสามารถถ่ายทอดความคิดของตัวเองผ่านข้อเขียนได้อย่างตรงประเด็น
โชเปนฮาวเวอร์รังเกียจ และไม่สามารถรับมือกับความคลุมเครือได้ทุกประเภท ดังนั้นในความเชื่อของแก "วรรณกรรม" (ในที่นี้หมายรวมงานเขียนทุกประเภท) คือการสื่อสารทางตรงระหว่างผู้เขียนและผู้อ่าน ความคิดอะไรที่บังเกิดแก่ผู้เขียนระหว่างเขียนข้อความใดๆ ต้องชัดเจน หนึ่ง สอง สาม สี่ และเมื่อผู้อ่านมาอ่านข้อความเดียวกัน ก็ต้องเกิด หนึ่ง สอง สาม สี่ แบบเดียวกันเป๊ะ (เปล่าดายแล้วกระมัง ที่จะบอกว่าความเชื่อแบบนี้ "ล้าหลัง" แค่ไหน)
ที่น่าสนใจคือใครที่มาสายนี้ ก็มักจะลงเอยในชุดความคิดแบบคล้ายๆ กัน เช่น ปฏิเสธการอ่านหนังสือ (โชเปนฮาวเวอร์เป็น "ปัญญาชนตะวันตก" คนแรก -- และอาจจะเป็นคนเดียวเลยด้วยซ้ำ -- ที่เหยียดหยามการอ่าน) ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ และความเป็นต้นตำรับ ดั้งเดิม (original)
เราสนุกกับการอ่าน The Art of Literature ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับแก แต่ก็ต้องยอมรับว่าโชเปนฮาวเวอร์เป็นนักเขียน "เรียงความ" ที่น่าอ่านที่สุดคนหนึ่ง บางความคิดของแก ถูกหรือผิดไม่รู้ แต่ก็น่าเก็บมาขบเคี้ยวต่อ เช่น โชเปนฮาวเวอร์บอกว่า แวดวงวรรณกรรมจะพัฒนาหรือไม่ สำคัญที่สุดคือ หนังสือ และนักเขียนห่วยๆ ต้องถูกก่นด่า ประณาม แกให้ความสำคัญกับการต่อต้านหนังสือที่ไม่ดี มากกว่าการยกย่องหนังสือที่ดีอีก โดยจะย้ำ (แบบจับน้ำเสียงขมขื่นได้) ว่าเราต้องไม่ปล่อยให้พวกตัวปลอมทั้งหลายมีชื่อเสียงขึ้นมา
ส่วน "พวกตัวปลอมทั้งหลาย" นี่มีใครบ้างเหรอคุณ หนึ่งในนั้นคือเฮเกล!
1 comment:
เคยได้ยินชื่อของโชเปนฮาวเวอร์ตอนที่เรียนวิชาปรัชญา
อาจารย์เล่าให้ฟังว่า เฮเกล กับ โชเปนฮาวเวอร์ เป็นสองยอดนักปรัชญาในยุคสมัยเดียวกัน แต่จำนวนผู้เข้าฟังการบรรยายของพวกเขากลับต่างกันราวกับฟ้ากับเหว
เพราะเฮเกลสอนว่าทุกอย่างอธิบายได้ด้วยเหตุและผล ขณะที่โชเปนฮาวเวอร์กลับบอกว่า Life is suffering.
Post a Comment