เกิดเป็นศิษย์อาย แรนด์นั้นแสนยาก อันที่จริงในปัจจุบัน ความคิดของเธอก็ไม่เห็นจะผิดเพี้ยนหลุดโลกไปกว่ามาร์กซ์สักเท่าไหร่ แต่ทำไมการบอกคนอืี่นว่าตัวเองเป็น objectivist มันถึงดูน่าอายกว่าเป็น marxist วะ
อย่างหนึ่งก็คือแรนด์เองแทบไม่เคยเขียนอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเกี่ยวกับ objectivism เลย นอกจากนิยายมหากาพย์สองเล่ม เธอก่อตั้งสมาคม objectivist และเผยแพร่บทความปกิณกะของตัวเองผ่านจดหมายเหตุของสมาคม พอมันไม่มี magnum opus มาอธิบายปรัชญาแบบตรงไปตรงมา จะให้คนเสพมันจาก The Fountainhead หรือ Atlus Shrugged ก็ขึ้นอยู่อีกว่า เขาจะตอบรับคุณค่าความเป็นวรรณศิลป์ของมันแค่ไหน
ส่วนจดหมายเหตุปกิณกะก็ล้าสมัยไปตามวันเวลา แรนด์เขียนบทความเหล่านี้ในยุคที่ฝ่ายซ้ายในอเมริกามีชัยเหนือฝ่ายขวา กำแพงเบอร์ลินยังตั้งตระหง่าน นีโอคอนยังไม่เกิด และชาวโลกยังไม่รู้จักปัญหาที่ทุนนิยมแก้ไขไม่ได้อย่างภาวะโลกร้อน
ในฐานะสาวก เรายืนยันหัวชนฝาว่ามีบางอย่างสวยงามซ่อนอยู่ใน objectivism เช่น คนเราไม่ควรให้ค่ากับการเสียสละจนเกินไป เพราะถ้าเราเห็นดีเห็นงามกับการที่ใครคนใดคนหนึ่งเสียสละตัวเองเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม ท้ายที่สุด เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าสังคมจะเริ่มไม่บังคับให้คนอื่น "เสียสละ" ตัวเองเพื่อส่วนรวมบ้าง นี่ต่างหากต้นกำเนิดของทรราชและเผด็จการ ถ้าเราไม่สามารถเริ่มต้นพูดกันเรื่องสิทธิและผลประโยชน์ของแต่ละสมาชิกในสังคม บทสนทนาใดๆ ก็เปล่าประโยชน์
ความคิดนี้ทรงพลังมากๆ (และมีบางอย่างสอดคล้องกับเสด็จพ่อกุนเดระของเราอย่างน่าประหลาด) น่าเสียดายที่ในปัจจุบัน objectivism เหมือนจะกลายเป็นกลุ่มศาสนา ปิดตัวเองจากโลกภายนอก และไม่ได้พัฒนาความคิดอะไรใหม่อย่างเข้มแข็ง จึงไม่น่าแปลก ทำไมปัจจุบัน หลายคนจะหัวเราะเยาะ หรือมอง "พวกเรา"ด้วยสายตาหยาบหยามนิดๆ
No comments:
Post a Comment