ถ้ามีคนถามเราว่า จากบทละคร 37 เรื่องของเชคสเปียร์ ขอเลือกอ่าน เลือกดูแค่เรื่องเดียว ควรเลือกเรื่องไหนดี จึงจะสิริรวมความเป็นเชคสเปียร์ได้ดีที่สุด แน่นอนว่าคำตอบที่ถูกต้องคือ “เป็นไปไม่ได้” การเลือกผลงานเพียงชิ้นเดียวเพื่อสิริรวมนักเขียนคนหนึ่งนั้น เป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะกับนักเขียนคนใดก็ตาม และยิ่งเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะถ้านักเขียนคนนั้นเป็นเชคสเปียร์
แต่ถ้าถูกบังคับให้ตอบจริงๆ เราจะตอบว่า Julius Caesar
ไม่มีบทละครเรื่องใดของเชคสเปียร์ที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ระหว่างความดีงามและความชั่วร้าย ตัวละครของเชคสเปียร์ล้วนเป็นสีเทา มีแต่ความดีที่ถูกลดหย่อนลงมา และความชั่วที่ถูกขัดถูให้เงางาม และเชคสเปียร์ทำสิ่งนั้นได้ด้วยการเมือง บทละครแทบทุกเรื่องของเชคสเปียร์คือการเขียนเกี่ยวกับการเมือง การเมืองในที่นี้ เกิดจากการแยกออกจากกันระหว่างพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ
สิ่งนี้ชัดเจน (และจับสังเกต) ง่ายที่สุดใน Julius Caesar ยิ่งวันเวลาผ่านไป บทละครเรื่องนี้ก็สามารถถูกตีความให้แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ในช่วงที่กระแสชาตินิยมรุนแรง Julius Caesar ถูกอ่านให้เป็นโศกนาฏกรรมของบรูตัส และบรรดาผู้ร่วมก่อการกบฏ แต่ในบางยุคสมัย (น่าจะรวมไปถึงยุคของเชคสเปียร์ด้วย) มันถูกอ่านให้เป็นโศกนาฏกรรมทางการเมือง ที่บางครั้งผู้มีเจตนาดี อาจก่อความพินาศฉิบหายก็เป็นได้
ในพื้นที่สาธารณะบรูตัสและสหายคือผู้ก่อความวุ่นวาย นำพากรุงโรมไปสู่สงครามการเมือง
เชคสเปียร์ contrast ภาพลักษณ์นั้นกับพื้นที่ส่วนตัวของคนเหล่านี้ ขณะที่บรูตัสทรงเกียรติ ไม่ยอมแม้แต่ซื้อขายตำแหน่งเพื่อเงินเพียงเล็กน้อย แอนโธนีและฝ่ายตรงข้ามไม่ละอายใจที่จะไล่ล่าสังหารบรรดาวุฒิสมาชิก เพื่อรวบรวมทุนมาก่อสงคราม (และในท้ายที่สุด ก็เป็นฝ่ายแอนโธนีและซีซาที่มีชัย)
ในความเห็นของเรา พื้นฐานการอ่านเชคสเปียร์ที่สำคัญที่สุดคือการแยกพื้นที่ของบทละคร เพื่อให้เห็นถึงภาวะความดีงามและเลวทรามที่ย้อนแย้งกันอยู่ในแต่ละพื้นที่
ประเด็นนี้ก็ค่อนข้างชัดเจนใน Anthony and Cleopatra สองพื้นที่ได้แก่กรุงโรมและอเลกซานเดีย พื้นที่แรก เป็นพื้นที่ของทหาร การแย่งชิงอำนาจ และการเมือง ส่วนพื้นที่หลัง เป็นพื้นที่ของการดื่มด่ำ สรวลเส และการเมืองอีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ไหน ในโลกของผู้ชายโรมัน หรือผู้หญิงอียิปต์ การเมืองก็คือเฟืองที่ขับเคลื่อนเหตุการณ์
อย่างไรก็ดี ส่วนตัวแล้วเราไม่ค่อยชอบ Anthony and Cleopatra เท่าไหร่ น่าจะเป็นบทละครของเชคสเปียร์ที่เราชอบน้อยที่สุดเรื่องหนึ่ง มันเต็มไปด้วยการตัดสลับไปมา และเหตุการณ์สำคัญๆ ถูกเล่าย้อนหลังด้วย exposition มากกว่าจะเห็นกับตา กระนั้นก็ตามเฉกเช่นที่นักวิจารณ์หลายคนยอมรับกัน ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าตัวละครคลีโอพัตราน่าจะเป็นตัวละครหญิงที่มีสีสันที่สุดของเชคสเปียร์ (แต่ก็อีกนั่นแหละ ในเมื่อ source material เป็นถึง “พระนางคลีโอพัตรา” ถ้าเชคสเปียร์เขียนบทละครเรื่อง Madonna แล้วตัวเอกจะออกมาจืดจางได้ ก็ให้มันรู้ไป)
No comments:
Post a Comment