I consider Flaubert and Goncourt to be responsible for the repression of the Paris Commune because they did not write a single line to prevent it.ยกประโยคข้างบนนี้มา เพราะรู้สึกว่ามันทรงพลังเอามากๆ ซาร์ตเชื่อว่านักเขียนต้องรับผิดชอบกับทั้งสิ่งที่เราเขียนและไม่ได้เขียน อย่างไรก็ดี แค่ประโยคข้างบนนี้ ไม่อาจสื่อถึงจุดยืนทางความคิดของซาร์ตได้อย่างครบถ้วน เราต้องไม่ลืมว่า ซาร์ตอุทิศช่วงสิบปีสุดท้ายของชีวิตให้กับการเขียนมหากาพย์ชีวประวัติของฟลอแบร์ต (ยาวสามเล่ม สองพันหน้า และยังไม่จบด้วยซ้ำ!) คนที่ซาร์ตเรียกร้องให้รับผิดชอบต่อความตายของสมาชิกปารีสคอมมูนนั่นเอง
ชีวิตซาร์ตเต็มด้วย paradox เขารังเกียจการลอยตัวอยู่เหนือปัญหา ในความขัดแย้งใดๆ ทางการเมือง ซาร์ตเรียกร้องให้ทุกคนเลือกข้าง แต่จนแล้วจนรอดเขากลับกลายเป็นศัตรูได้กับทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาในฝรั่งเศส ภาระหน้าที่ของปัญญาชนคือการตระหนักความเป็น "สัตว์ประหลาด" ของตัวเอง ปัญญาชนคือผู้ถือกำเนิดและได้รับการศึกษาอยู่ในโลกของชนชั้นกลาง แต่เมื่อเขาเติบโตขึ้นมาแล้ว ปัญญาชนจะต้องทรยศต่อชนชั้นของตัวเอง และมาเข้าข้างผู้ที่ถูกกดขี่ข่มเหง
นอกจากชนชั้น ปัญญาชนยังต้องทรยศต่อเพื่อนร่วมอุดมการณ์ พรรคการเมือง องค์กร ชาติพันธุ์ และอื่นๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อจะได้ยืนอยู่เคียงข้างผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบ เพื่อพิสูจน์คำพูดของตัวเอง ซาร์ตเดินทางไปทั่วโลก และเป็นปากเป็นเสียงให้กับผู้ด้อยโอกาส ในยุโรป เขาสนับสนุนสิทธิของชาวยิวและการก่อตั้งประเทศอิสราเอล แต่ในตะวันออกกลาง ซาร์ตเป็นกระบอกเสียงให้กับชาวปาเลสไตน์ที่ถูกรัฐบาลอิสราเอลข่มเหง (เมื่อซาร์ตเสียชีวิต เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นมิตรแท้ทั้งของชาวยิวและชาวปาเลสไตน์) ในสายตาของซาร์ต โลกใบนี้ไม่มีอุดมการณ์ที่ดีหรือเลวในตัวมันเอง ไม่มีแม้กระทั่งคนดีและคนเลว มีแต่ผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่ หน้าที่ของปัญญาชนคือเข้าข้างคนกลุ่มหลัง ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นใครก็ตาม
นี่แหละคือความอลังการที่แท้จริงของนักปราชญ์
No comments:
Post a Comment