ใครติดตามรักชวนหัว น่าจะพอรู้ว่าเราไม่ชอบวรรณกรรมคลาสสิคฝรั่งเศสเอาเสียเลย พวกบิ๊กเนมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นฟลอเบิร์ต หรือพรูส อ่านแล้วแสนจะไม่ถูกจริต ถ้าจะมียกเว้นคนเดียว ก็อาจจะเป็นบัลซัคนี่แหละ
แค่เปิด Cousin Bette มา ก็รู้แล้วว่าเรากำลังอยู่ในคนละโลกกับมาดามโบวารี ความประทับใจที่เรามีต่อวรรณกรรมฝรั่งเศสคือบรรดาตัวละครผู้ชอบไปหยิบยืมเงินชาวบ้าน บริหารบัญชีไม่เป็น แล้วสุดท้ายก็มาคร่ำครวญว่าทำไมชีวิตมันถึงทุกข์ยากขนาดนี้หนอ บัลซัคเปิด Cousin Bette ด้วยการตกลงเจรจาทางธุรกิจ เป็นธุรกิจที่อยู่กึ่งกลางระหว่างความรักและเงินตรา และตลอดทั้งนิยายก็เต็มไปด้วยการผสมผสานระหว่างสองปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตคู่นี้
Cousin Bette จัดอยู่ในประเภทนิยาย ที่เอาตัวประกอบซึ่งไม่ได้มีบทบาทสำคัญอะไรมาเป็นชื่อหนังสือ ถ้าวัดกันหน้าต่อหน้าจริงๆ เบธแค่ผลุบๆ โผล่ๆ เท่านั้น ตัวเอกของเรื่องน่าจะเป็นมาเนตมากกว่า (ภาพยนตร์ดัดแปลงปี 1998 ตัดบทมาเนตออกไปเลย ขับเบธให้กลายเป็นตัวเอกแทน และให้เจนนี คาดีน ซึ่งไม่มีตัวตนในนิยาย มารับบทเป็นมาเนตเวอร์ชั่นอ่อนๆ แทน) บัลซัคแสดงให้เห็นวิธีการซึ่งมาเนตปั่นหัวผู้ชายสามสี่คน ทำลายครอบครัวหนึ่ง และใครต่อใครอีกหลายคนรอบข้าง แค่อ่าน Cousin Bette เอาเฉพาะเรื่องอำนาจทางเพศ และศีลธรรม ก็มีประเด็นน่าขบคิดสุดๆ แล้ว (เพื่อเปรียบเทียบกับมาเนต บัลซัคสร้างตัวละครโจเซฟาขึ้นมา พื้นหลังเธอคล้ายคลึงกับมาเนต คือสร้างเนื้อสร้างตัวมาจากการหลอกลวงผู้ชาย แต่เพราะความแตกต่างในบางรายละเอียดชีวิต ทำให้โจเซฟากลายมาเป็นตัวละครฝ่ายดีในเรื่องได้)
เราประทับใจกลวิธีการเล่าเรื่องของบัลซัคมาก Cousin Bette มีตัวละครสำคัญสิบกว่าตัว แต่แทนที่คนอ่านจะจับต้นชนปลายไม่ถูก เส้นเรื่องของ Cousin Bette ออกมาตรงแหน่ว เทคนิคที่เขาใช้คือการแช่แข็งตัวละคร เมื่อไหร่ก็ตามที่นิยายกำลังพูดถึงเรื่องราวของตัวละครชุดใด ตัวละครที่เหลือจะหายไปจากโลกใบนี้ และแทบไม่ส่งอิทธิพลใดๆ ต่อเส้นเรื่องตรงนั้น ด้วยวิธีการนี้ บัลซัคประสบความสำเร็จในการสลับจุดโฟกัสของนิยาย เพ่งไปที่ตัวละครทีละชุดๆ และเล่าเรื่องราวอันสลับซับซ้อน ให้ออกมาไม่สับสน และสนุกชวนติดตามได้
1 comment:
I wana congratulate you for such a wonderful and excellent work keep it up though its awesome
Post a Comment