A. Abidi's "Passarola Rising"

ไม่เอาไหน! (เต็มปากเต็มคำ)

นิยายพูดถึงบาโธโลมิว บุคคลจริงในประวัติศาสตร์ของโปรตุเกส ซึ่งออกแบบเรือเหาะ พาซซาโรลา บาโธโลมิวและน้องชาย ถูกศาสนจักรหาว่าเป็นพ่อมด ก็เลยต้องใช้เรือเหาะหนีไปอยู่ฝรั่งเศส อ่านเรื่องย่อก็น่าสนุกดีอยู่หรอก แต่นิยายผจญภัยอะไรที่ปราศจาก sense of wonder (ความรู้สึกน่าตื่นเต้นของการผจญภัย การค้นพบโลกใหม่) นิยายประวัติศาสตร์อะไรที่ปราศจาก sense of age (ขนาดมีวอลแตร์โผล่มา ก็ไม่ช่วยให้เรารู้สึกว่ากำลังอยู่ในโลกยุครู้แจ้ง) คนเขียนใช้ภาษาได้ไม่ค่อยดี เหมือนตัวอักษรโล่งๆ ที่ไม่มีพลังแห่งวรรณกรรม ไม่มีอะไรขับเคลื่อนให้คนอ่านอยากอ่านต่อไปข้างหน้า

B. Wasik's "And Then There's This"

หมายเหตุ: ถึงแม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องยืนยันว่า หากเมืองไทยมี Facebook ใช้เร็วกว่านี้สองสามปี เราจะไม่ประสบปัญหาการเมืองอย่างทุกวันนี้ แต่ประเด็นดังกล่าวพูดถึงบ่อยแล้ว สำหรับผู้สนใจติดตามได้ใน http://laughable-loves.blogspot.com/2011/07/d-aaronovitchs-voo-doo-histories.html วันนี้เราจะพูดเรื่องอื่นแทน

บิล วาสิก ไม่ใช่แค่นักหนังสือพิมพ์ธรรมดา เขาคือผู้ให้กำเนิด flash mob นอกจากนี้ยังเป็นผู้ชนะเลิศการแข่งขัน "เว็บไซต์ที่มีคนคลิกมากที่สุด" ของฮัฟติงตันโพสต์ วาสิกเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อเรียบเรียง อธิบายความคิดความเห็น และ "การค้นคว้า" ของเขา เกี่ยวกับปรากฏการณ์ในอินเตอร์เน็ต โดยแต่ละบทแบ่งเป็นหัวข้อต่างๆ ได้แก่ flash mob วงดนตรีในมายสเปซ การขายสินค้าผ่านเทรนด์ จนถึงการใช้ไวร์ไฟเป็นสนามการปะทะปะทังทางการเมือง

คำถามที่ชวนฉงนสงสัยที่สุดใน And Then There's This ชวนฉงนเสียจนแม้แต่วาสิกก็ยังไม่กล้าถามออกมาตรงๆ คือ ทำไมขณะที่เทรนด์อินเตอร์เน็ต และมีมทั้งหลาย เป็นเครื่องมือทางการเมืองอันทรงประสิทธิภาพ มันกลับไม่สามารถนำมาใช้ขายของได้สักเท่าไหร่ การเลือกตั้งทั้งปี 2004 และ 2008 ในอเมริกา หลักๆ ก็คือการฟาดฟันกันทางอินเตอร์เน็ต รวมไปถึงการเลือกตั้งปี 2011 ในเมืองไทย และเหตุการณ์การเมืองหลังจากนั้น ในทางตรงกันข้าม วาสิกพูดถึงบริษัท รถยนต์ มีดโกนหนวด ที่พยายามสร้างกระแสในอินเตอร์เน็ต ด้วยความเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งว่าสุดท้ายกระแสนั้นจะนำไปสู่กำรี้กำไรจริง เราเองก็อดนึกถึงภาพยนตร์ Snakes on a Plane ไม่ได้ จากมหากาพย์เทรนด์ในอินเตอร์เน็ต กลายมาเป็นความล้มเหลวในโลกแห่งความจริงชั่วข้ามคืน (ภาพข้างบนคือ flash mob ที่บริษัททีโมบายจัดตั้งขึ้นในเมืองลิเวอร์พูล สุดท้ายแล้ว การที่คนกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาเต้นอย่างพร้อมเพรียงกัน และต่อให้ถือโทรศัพท์ในมือไปด้วย มันจะช่วยให้ทีโมบายขายสินค้าได้มากขึ้นจริงหรือ)

วาสิกไม่มีคำตอบ (เขาไม่แน่ใจในคำถามด้วยซ้ำ) เราเองก็ไม่มีคำตอบ แต่เป็นไปได้หรือเปล่าที่ การเมืองคือตลาดประเภทเดียวที่ผู้บริโภคไม่ต้องเสียเงินเพื่อ "จับจ่าย" (เพราะสิทธิการเลือกตั้ง และการสนับสนุนพรรคการเมืองใดๆ เป็นสิ่งที่ทุกคนมีมาอย่างเท่าเทียมกันแต่กำเนิด) และสิ่งที่นักการเมืองขายนั้นคือ "ภาพลักษณ์" ซึ่งสามารถดาวโหลด หรือเสพย์เอาได้โดยตรงจากอินเตอร์เน็ต

คนอาจจะชอบเอาเพลง Friday มาร้องใหม่ เสียดสี ล้อเลียน รีเบคกา แบลคอาจได้ปรากฏตัวในมิวสิควีดีโอของเคอรี เพอรี แต่สุดท้ายเธอจะกลายเป็น "สินค้า" ได้หรือเปล่า The jury is still out!

H. de Balzac's "Cousin Bette"

ใครติดตามรักชวนหัว น่าจะพอรู้ว่าเราไม่ชอบวรรณกรรมคลาสสิคฝรั่งเศสเอาเสียเลย พวกบิ๊กเนมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นฟลอเบิร์ต หรือพรูส อ่านแล้วแสนจะไม่ถูกจริต ถ้าจะมียกเว้นคนเดียว ก็อาจจะเป็นบัลซัคนี่แหละ

แค่เปิด Cousin Bette มา ก็รู้แล้วว่าเรากำลังอยู่ในคนละโลกกับมาดามโบวารี ความประทับใจที่เรามีต่อวรรณกรรมฝรั่งเศสคือบรรดาตัวละครผู้ชอบไปหยิบยืมเงินชาวบ้าน บริหารบัญชีไม่เป็น แล้วสุดท้ายก็มาคร่ำครวญว่าทำไมชีวิตมันถึงทุกข์ยากขนาดนี้หนอ บัลซัคเปิด Cousin Bette ด้วยการตกลงเจรจาทางธุรกิจ เป็นธุรกิจที่อยู่กึ่งกลางระหว่างความรักและเงินตรา และตลอดทั้งนิยายก็เต็มไปด้วยการผสมผสานระหว่างสองปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตคู่นี้

Cousin Bette จัดอยู่ในประเภทนิยาย ที่เอาตัวประกอบซึ่งไม่ได้มีบทบาทสำคัญอะไรมาเป็นชื่อหนังสือ ถ้าวัดกันหน้าต่อหน้าจริงๆ เบธแค่ผลุบๆ โผล่ๆ เท่านั้น ตัวเอกของเรื่องน่าจะเป็นมาเนตมากกว่า (ภาพยนตร์ดัดแปลงปี 1998 ตัดบทมาเนตออกไปเลย ขับเบธให้กลายเป็นตัวเอกแทน และให้เจนนี คาดีน ซึ่งไม่มีตัวตนในนิยาย มารับบทเป็นมาเนตเวอร์ชั่นอ่อนๆ แทน) บัลซัคแสดงให้เห็นวิธีการซึ่งมาเนตปั่นหัวผู้ชายสามสี่คน ทำลายครอบครัวหนึ่ง และใครต่อใครอีกหลายคนรอบข้าง แค่อ่าน Cousin Bette เอาเฉพาะเรื่องอำนาจทางเพศ และศีลธรรม ก็มีประเด็นน่าขบคิดสุดๆ แล้ว (เพื่อเปรียบเทียบกับมาเนต บัลซัคสร้างตัวละครโจเซฟาขึ้นมา พื้นหลังเธอคล้ายคลึงกับมาเนต คือสร้างเนื้อสร้างตัวมาจากการหลอกลวงผู้ชาย แต่เพราะความแตกต่างในบางรายละเอียดชีวิต ทำให้โจเซฟากลายมาเป็นตัวละครฝ่ายดีในเรื่องได้)

เราประทับใจกลวิธีการเล่าเรื่องของบัลซัคมาก Cousin Bette มีตัวละครสำคัญสิบกว่าตัว แต่แทนที่คนอ่านจะจับต้นชนปลายไม่ถูก เส้นเรื่องของ Cousin Bette ออกมาตรงแหน่ว เทคนิคที่เขาใช้คือการแช่แข็งตัวละคร เมื่อไหร่ก็ตามที่นิยายกำลังพูดถึงเรื่องราวของตัวละครชุดใด ตัวละครที่เหลือจะหายไปจากโลกใบนี้ และแทบไม่ส่งอิทธิพลใดๆ ต่อเส้นเรื่องตรงนั้น ด้วยวิธีการนี้ บัลซัคประสบความสำเร็จในการสลับจุดโฟกัสของนิยาย เพ่งไปที่ตัวละครทีละชุดๆ และเล่าเรื่องราวอันสลับซับซ้อน ให้ออกมาไม่สับสน และสนุกชวนติดตามได้

H. James's "The Europeans"

ไม่ได้อ่านเฮนรี เจมส์มากพอจะพูดได้อย่างเต็มปากว่าอะไรคือเอกลักษณ์ของแก แต่พอเอา The Europeans ไปเทียบกับ The Wings of the Dove ก็พอเห็นความคลายคลึงเป็นนัยๆ เจมส์ชอบผลักตัวละครเอกของเขา ไปยังจุดหักเหทางศีลธรรม จุดที่ตัวเอกจะต้องตัดสินใจในเรื่องใหญ่ๆ แต่ว่า dilemma และ conflict แทนที่จะเผยให้คนอ่านรับรู้ชัดๆ และร่วมตัดสินใจไปกับตัวละคร กลับถูกซ่อนอยู่ก้ำกึ่งกันระหว่างสิ่งที่ตัวละครพูด และสิ่งที่พวกเขาไม่ยอมพูด บ่อยครั้งที่เจมส์ทิ้งคนอ่านไว้กับการตัดสินใจค้างๆ คาๆ ของตัวละครจนจบเรื่องไปแล้ว

อย่าง The Europeans ก็เป็นนิยาย ที่ทั้งเล่มก็ถูกเขียนขึ้นมา เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญในตอนท้ายของยูจิเนีย บารอนหญิงชาวเยอรมัน ผู้เดินทางมาเยี่ยมญาติในอเมริกา เพื่อตามหารักแท้ ความสำเร็จ อิสรภาพ หรือว่าเงินตรา ยูจิเนียต้องเลือกว่าจะ "รับรัก" โรเบิร์ต แอกตันดีหรือไม่ เขาเป็นผู้ชายที่เหมือนจะสมบูรณ์พร้อมไปทุกทาง และสามารถให้ทุกอย่างที่เธอปรารถนา แม้การตัดสินใจของเธอจะชัดเจน แต่ในย่อหน้าสุดท้าย เจมส์จงใจเล่าให้คนอ่านฟังว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวละครในเรื่องบ้าง ทุกตัว ยกเว้นยูจิเนีย เพื่อสร้างความคลุมเครือบางอย่าง ให้ตามหลอกหลอนผู้อ่าน แม้นิยายจะจบลงไปแล้ว

The Europeans มีวิธีการเล่าและลำดับเรื่องที่แปลกประหลาดเอาการ แต่ละบทอิงอยู่บนความสัมพันธ์ของตัวละครคู่หนึ่ง ฉากต่อฉากอาจเกิดขึ้นห่างกันเป็นอาทิตย์ๆ ทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อเปลี่ยนบท เปลี่ยนชุดตัวละคร เจมส์ก็กลับไปตั้งต้นนับหนึ่งใหม่ และลำดับเฉพาะฉากของตัวละครในบทนั้น วนเวียนแบบนี้ไปเรื่อยๆ เป็นการลำดับเรื่องโดยให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวละคร มากกว่าเหตุการณ์ก่อนหลังตามปฏิทิน (ซึ่งเอาเข้าจริง อาจเพราะนิยายทั้งเล่มนี้ ไม่ได้มี "เหตุการณ์" อะไรเกิดขึ้นเลยก็ได้)

P. Brooks's "Reading for the Plot"

เห็นด้วยกับบรูคส์ว่า การวิเคราะห์วรรณกรรมสายสัญศาสตร์ โครงสร้างนิยมแบบฝรั่งเศส (เกรมาส บาร์ต เลวีสเตราส์ ฯลฯ) มีข้อบกพร่องอยู่ที่การมองข้ามมิติเวลา และแปรทุกอย่างให้เป็นอนุภาคซึ่งสัมพันธ์กันอยู่นิ่งๆ แต่วรรณกรรมเป็นงานศิลปะที่ต้องเสพภายใต้ข้อจำกัด และการควบคุมของเวลา (อาจจะยิ่งกว่างานศิลปะแขนงใดเลยด้วยซ้ำ) ดังนั้นการดึงเวลาออกไปจากการวิเคราะห์งานวรรณกรรม ก็เหมือนคนตาบอดสีที่พยายามวิจารณ์งานศิลปะสกุล fauvist (ตัวอย่างเช่น สี่เหลี่ยมเกรมาสเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมากๆ ในการอธิบายสังคมหรือคอนเซปต่างๆ แต่การปรับมันมาใช้กับวรรณกรรม ก็เหมือนเราละเลยสิ่งที่สำคัญที่สุดในวรรณกรรมไปด้วย)

พูดถึงตาบอดสี จำไม่ได้แล้วว่าเป็นพลาโตหรืออริสโตเติลที่บอกว่า มนุษย์เราได้รับความเพลิดเพลินจากลายเส้นดินสอสีดำซึ่งถูกขีดเขียนอย่างตั้งใจ มากกว่าหลากหลายสีสันที่ประเดประดังลงไปบนผืนผ้าใบอย่างไร้ระเบียบ ระเบียบของวรรณกรรม (ในที่นี้คือลำดับเหตุการณ์) นั่นเองคือ โครงเรื่องหรือ plot ซึ่งเป็นหัวข้อหลักของหนังสือเล่มนี้

บรูคส์เขียนหนังสือเล่มนี้ให้นักวิจารณ์ มากกว่านักเขียน ดังนั้นมันจึงมีประโยชน์ในฐานะคู่มือการเขียนเกี่ยวกับนิยาย มากกว่าการเขียนนิยายโดยตรง บรูคส์เรียกเหตุการณ์ "ใน" นิยายแต่เกิด "ก่อน" นิยายจะเริ่มต้น และเกิด "หลัง" นิยายจบลงไปแล้วว่า the unnarratable หรือเรื่องที่ "เล่าออกมาไม่ได้" ส่วนที่เล่าออกมาไม่ได้ในตอนต้นและตอนท้าย ผลักดันและดึงดูด plot ให้ดำเนินต่อไปข้างหน้า เหมือนโลมากระโดดขึ้นเหนือผิวน้ำได้เพราะแรงส่งของมวลน้ำ และสุดท้ายก็ต้องคืนกลับสู่ผิวน้ำอยู่ดี วงโคจรของ plot เริ่มต้นและจบลงที่ the unnarratable เสมอ แต่ขณะเดียวกันก็จะมีการย้ำคิดย้ำทำให้ผู้อ่านระลึกถึง the unnarratable (ทั้งส่วนต้นและส่วนท้าย) อยู่เสมอ (ถ้าจะฝืนให้อุปมาเดียวกัน ก็คงคล้ายๆ การสะบัดน้ำกลางหาวของปลาโลมา)

A. Leak's "Sartre"

I consider Flaubert and Goncourt to be responsible for the repression of the Paris Commune because they did not write a single line to prevent it.


ยกประโยคข้างบนนี้มา เพราะรู้สึกว่ามันทรงพลังเอามากๆ ซาร์ตเชื่อว่านักเขียนต้องรับผิดชอบกับทั้งสิ่งที่เราเขียนและไม่ได้เขียน อย่างไรก็ดี แค่ประโยคข้างบนนี้ ไม่อาจสื่อถึงจุดยืนทางความคิดของซาร์ตได้อย่างครบถ้วน เราต้องไม่ลืมว่า ซาร์ตอุทิศช่วงสิบปีสุดท้ายของชีวิตให้กับการเขียนมหากาพย์ชีวประวัติของฟลอแบร์ต (ยาวสามเล่ม สองพันหน้า และยังไม่จบด้วยซ้ำ!) คนที่ซาร์ตเรียกร้องให้รับผิดชอบต่อความตายของสมาชิกปารีสคอมมูนนั่นเอง

ชีวิตซาร์ตเต็มด้วย paradox เขารังเกียจการลอยตัวอยู่เหนือปัญหา ในความขัดแย้งใดๆ ทางการเมือง ซาร์ตเรียกร้องให้ทุกคนเลือกข้าง แต่จนแล้วจนรอดเขากลับกลายเป็นศัตรูได้กับทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาในฝรั่งเศส ภาระหน้าที่ของปัญญาชนคือการตระหนักความเป็น "สัตว์ประหลาด" ของตัวเอง ปัญญาชนคือผู้ถือกำเนิดและได้รับการศึกษาอยู่ในโลกของชนชั้นกลาง แต่เมื่อเขาเติบโตขึ้นมาแล้ว ปัญญาชนจะต้องทรยศต่อชนชั้นของตัวเอง และมาเข้าข้างผู้ที่ถูกกดขี่ข่มเหง

นอกจากชนชั้น ปัญญาชนยังต้องทรยศต่อเพื่อนร่วมอุดมการณ์ พรรคการเมือง องค์กร ชาติพันธุ์ และอื่นๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อจะได้ยืนอยู่เคียงข้างผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบ เพื่อพิสูจน์คำพูดของตัวเอง ซาร์ตเดินทางไปทั่วโลก และเป็นปากเป็นเสียงให้กับผู้ด้อยโอกาส ในยุโรป เขาสนับสนุนสิทธิของชาวยิวและการก่อตั้งประเทศอิสราเอล แต่ในตะวันออกกลาง ซาร์ตเป็นกระบอกเสียงให้กับชาวปาเลสไตน์ที่ถูกรัฐบาลอิสราเอลข่มเหง (เมื่อซาร์ตเสียชีวิต เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นมิตรแท้ทั้งของชาวยิวและชาวปาเลสไตน์) ในสายตาของซาร์ต โลกใบนี้ไม่มีอุดมการณ์ที่ดีหรือเลวในตัวมันเอง ไม่มีแม้กระทั่งคนดีและคนเลว มีแต่ผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่ หน้าที่ของปัญญาชนคือเข้าข้างคนกลุ่มหลัง ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นใครก็ตาม

นี่แหละคือความอลังการที่แท้จริงของนักปราชญ์

C. B. Divakaruni's "The Palace of Illusions"

อยากรู้ว่าถ้ามหาภารตะเดินทางมาถึงประเทศไทย แบบเดียวกับรามยานะ แล้วถ้าเรารู้จักตัวละครต่างๆ ใน The Palace of Illusions ดีเหมือนที่เรารู้จักพระลักษณ์ พระราม นางสีดา หนุมาน ทศกัณฐ์ เราจะรู้สึกยังไงกับพวกเขา

จะรู้สึกแปลกๆ ไหมที่ทิวากรุณีจินตนาการไปเองว่ากฤษณาและกรรณะจริงๆ แล้วแอบหลงรักกัน (กรรณะนี่เท่าที่สืบค้นในวิกิพิเดีย เป็นตัวประกอบแทบไม่มีบทบาทเลย) จะรู้สึกยังไงกับสงครามทุ่งกุรุเกษตรที่เลือดสาดกระเซ็น และเล่าเหตุการณ์ผ่านการร่ำร้องของหญิงม่ายผู้สูญเสียสามีและลูกชาย (นึกภาพรามเกียรติ์ ที่มีเมียยักษ์เมียลิงมาคอยร้องห่มร้องไห้อยู่ริมสมรภูมิ) จะรู้สึกยังไงกับกลลวงของกฤษณะ ที่เสกภาพลวงตาให้ตะวันตกก่อนถึงเวลา จนอีกฝ่ายชะล่าใจ (พวกลูกเล่นแบบนี้ เวลาอ่านในรามเกียรติ์แล้วรู้สึกสนุกมาก แต่เว้าซื่อๆ มันก็คือการโกงนั่นเอง)

รอยเท้าเดียวของมหาภารตะในประเทศไทยคือ กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ แต่กฤษณาของทิวากรุณีไม่มีอะไรเหมือนกฤษณาที่คนไทยคุ้นเคยเลย อย่างแรกคือเธอไม่มีน้องสาว มีแต่พี่ชายฝาแฝด ที่เทพแห่งไฟประทานมาเพื่อให้พ่อของเธอแก้แค้นศัตรูคู่อาฆาต กฤษณาของทิวากรุณีคงไปสั่งไปสอนใครไม่ได้ เพราะเอาตัวเองให้รอดก็แทบแย่แล้ว แทนที่ภาพเจ้าหญิงผู้ทนลำบากตรากตรำกับสามีทั้งห้า ทิวากรุณีวาดภาพเจ้าหญิงจิตๆ ผู้เก็บงำความแค้น ความรัก ความหึงหวงไว้ในใจ ตกเป็นเหยื่อชะตากรรม และเข้ากับแม่สามีไม่ได้ (ความตึงเครียดชิงดีชิงเด่นระหว่างกฤษณาและกุนตี ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่โศกนาฏกรรม)

สำหรับใครที่ไม่รู้ มหาภารตะ คือเรื่องราวสงครามระหว่างตระกูลปาณฑพและตระกูลเการพ หัวหอกของปาณฑพได้แก่สามีทั้งห้าของกฤษณา หนึ่งในนั้นคืออรชุน ลูกพระอินทร์ นักรบที่ได้รับการกล่าวขานว่าเข้มแข็งที่สุด นอกจากนี้อรชุนยังเป็นเพื่อนกับกฤษณะ aka วิษณุอวตาร aka อีกชาติของพระรามนั่นเอง (น่าตื่นเต้นมากๆ นารายณ์อวตารมารับบทบาทเป็นเพียงคนขับเลื่อนให้อรชุน) ส่วนฝั่งเการพมีภีษมะ บุตรแห่งพระแม่คงคา ขิงแก่ที่เผ็ดร้อนที่สุดในอินเดีย (ภาพข้างบนคือกฤษณะหมดความอดทน สู้ยังไงก็สู้ไม่ชนะภีษมะเสียที เลยเสกจักรนารายณ์มาลุยด้วยตัวเอง จนอรชุนต้องเข้าไปห้าม) โทรณาจารณ์ ผู้เป็นอาจารย์ของอรชุน และศัตรูคู่อาฆาตของพ่อของกฤษณา และสุดท้ายก็กรรณะและทุรโยธน์

น่าสงสัยไม่แพ้กันคือ ถ้ามหาภารตะเดินทางมาถึงประเทศไทยแทนที่รามายนะ ถ้าวรรณคดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ไม่ใช่สงครามระหว่างความดีและความชั่วที่แบ่งแยกขาวดำชัดเจน แต่เป็นสงครามทางการเมืองอันสลับซับซ้อน ว่าด้วยวิสัยและสันดานรัก โลภ โกรธ หลงแห่งมนุษย์ ปัจจุบันนี้สังคมไทยจะเป็นอย่างไร