R. Carver's "Elephant"
สงสัยว่าถ้านักเขียนรู้ตัวว่าหนังสือเล่มถัดไป อาจจะเป็นเล่มสุดท้ายแล้วในชีวิต มันจะมีประเด็นอะไรหรือเปล่าให้เขาต้องพยายามเปลี่ยนแนวทางการเขียนของตัวเอง หรือ "เพราะว่า" มันเป็นเล่มสุดท้ายนั่นแหละ ถึงต้องเขียนในรูปแบบที่ตัวเองไม่เคยเขียนมาก่อน
Elephant เป็นรวมเรื่องสั้นลำดับที่ห้า และลำดับสุดท้ายของคาร์เวอร์ เจ้าคุณปู่แห่งลัทธิประหยัดนิยม (minimalism) ในวรรณกรรม เป็นเล่มที่ผิดแผกจากแนวทางปรกติของเขาที่สุด จะเรียกมันว่าประหยัดนิยมยังไม่ได้เลยด้วยซ้ำ เพราะทั้งเล่มมีแค่เจ็ดเรื่องค่อนข้างยาว อย่างเรื่องหนึ่งก็ย้อนยุค แถมผ่าไปเกิดในรัสเซีย เล่นกับบุคคลจริงในประวัติศาสตร์เลย ซึ่งไม่ใช่อะไรแบบที่คาร์เวอร์เคยทำมาก่อนแน่ๆ
เราชอบเล่มนี้น้อยกว่าเล่มอื่นๆ แต่ขณะเดียวกัน ความที่มันอ่อนแอกว่าเพื่อน ก็เลยเปิดให้เราเห็นสายสนกลในของเครื่องจักรที่เรียกว่า "เรื่องสั้นของคาร์เวอร์" การ "เขียน" ความหมายระหว่างบรรทัด การประดิษฐ์ตอนจบที่มั่นใจได้ว่า ผู้อ่านจะต้องจดจำฝังแน่น สิ่งเหล่านี้เผยให้เห็นในเรื่องที่ฟุ่มเฟือยประวัติตัวละคร (แบบที่คาร์เวอร์ไม่เคยเขียนมาก่อน) เช่น Boxes หรือ Whoever was using this bed ลูกเล่นแบบโพสโมเดิร์นกับโครงสร้างบทสนทนาใน Intimacy (ซึ่งย้อนให้เราระลึกไปถึง Fat งานชิ้นเอกชิ้นแรกๆ )
แต่แปลกที่เรื่องที่เราชอบที่สุดในเล่ม กลับไม่ใช่เรื่องในสไตล์คาร์เวอร์เลย Blackbird Pie อาจจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุดติดอันดับเลยก็ได้ พูดถึงสามี ผู้เป็นอาจารย์ประวัติศาสตร์ พยายามปฏิเสธตัวเอง ว่าลายมือในจดหมายภรรยาที่เขียนมาสารภาพว่าทนต่อไปไม่ไหว้แล้ว และกำลังจะเก็บข้าวเก็บของหนีออกจากบ้านนั้น ไม่ใช่ลายมือที่แท้จริงของภรรยา การพูดถึงประวัติศาสตร์ เป็นแนวทางที่ตรงข้ามกับสิ่งที่คาร์เวอร์เขียนมาตลอดชีวิต รวมไปถึงตอนจบแบบหวานเศร้า (ตรงข้ามกับตอนจบแห้งๆ แฝงความเจ็บปวด) แต่ทั้งหมดนี้ คาร์เวอร์ก็เขียนมันออกมาได้อย่างงดงาม
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment