เลอขิ่นมาแล้ววววว...นี่คือการประกาศสี่เล่มสุดท้ายของรางวัลรักชวนหัวอวอร์ดครั้งที่หนึ่ง ขอบคุณฮะที่ติดตามมาตลอด (รักชวนหัวฝากขออภัยที่ทิ้งช่วงนานเหลือเกิน) ขอให้ทุกคนอ่านหนังสือกันเยอะๆ นะฮะ ขอตัวไปรบทัพจับศึกต่อแล้ว ชะแว้บ! (กระโดดเข้าซากปรักหักพังและกองเพลิงที่อยู่ด้านหลัง)
5. เข้าถึงธรรม (จาก เกาะที่มีมนุษย์ล้อมรอบ โดย ขวัญยืน ลูกจันทร์) "เป็นอีกเรื่องที่เขียนถึงยากมาก เพราะอย่างที่สื่อในชื่อเรื่อง มันว่าด้วยการ "เข้าถึงธรรม" และภาวะแห่งเซนที่ถ้าไม่สัมผัสด้วยตัวเอง ก็ยากที่จะบอกเล่าให้ผู้อื่นเข้าใจ นี่คือตัวอย่างความมหัศจรรย์ของการใช้ภาษาและการเล่าเรื่องที่ผิวเผินแล้วแสนจะธรรมดา แต่เมื่อประกอบกันเข้าโดยพิสดาร สามารถส่งผู้อ่าน "เข้าถึงธรรม" ไปพร้อมกับตัวละครได้
เข้าถึงธรรม ว่าด้วยเจ้าอาวาสท่านหนึ่ง ซึ่งพยายามช่วยเหลือชาวบ้านผู้ตกทุกข์ได้ยากและมาพึ่งพิง ไปพร้อมๆ กับการรำลึกถึง "คุณ งาม และ ความดี" ขององค์พระศาสดา (สังเกตการเว้นวรรคที่ผิดธรรมดา) ผู้เขียนตั้งคำถามว่าที่สุดแล้วอะไรกันแน่ช่วยส่งเราไปนิพพาน มันคือการชังจูงอย่างอ่อนโยนด้วยกรรมดี อย่างที่มักเข้าใจกัน หรืออาจเป็นการเตะโด่งด้วยบางสิ่งที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิงเลยก็ได้"
6. กระทำอัญชลี (จาก เส้นผมบังจักรวาล โดย เอื้อ อัญชลี) "กระทำอัญชลี จับตามองเด็กหญิงผู้ไม่มีความสามารถใดโดดเด่นเลย นอกจากรู้จักไหว้คน และเด็กชายผู้เพียบพร้อมด้วยสติปัญญา แต่ไหว้ใครไม่เป็น ที่สุดของปลายทาง ชีวิตใครกันแน่น่าอิจฉากว่ากัน เอื้อ อัญชลีไม่มีคำตอบง่ายๆ ให้กับคำถามนี้ ในทางตรงกันข้าม ไม่กี่ย่อหน้าปิดท้ายกลายเป็นสงครามแห่งสัญญะ การถล่มกันชนิดหมัดต่อหมัดระหว่างทั้งสองฝ่าย กะอีแค่ข้อสรุปง่ายๆ และเป็นกลางอย่าง "คนที่รู้จักไหว้จะประสบความสำเร็จกว่า แต่คนที่หยิ่งทระนงจะมีชีวิตที่ภาคภูมิกว่า" เอื้อ อัญชลียังไม่ยอมให้คนอ่านสรุปได้เลย เพียงแค่ "อิริยาบถ" เล็กๆ น้อยๆ ที่ต่างตัวละครกระทำออกมาในตอนท้าย พลิกบทเรียนโดยสิ้นเชิง กระทำอัญชลี เป็นเรื่องสั้นที่ตีความได้สนุก และสามารถตีกลับไปกลับมาได้อย่างไม่รู้จบด้วย"
7. เงาแห่งฝน (จาก นิมิตต์วิกาล โดย อนุสรณ์ ติปยานนท์) "เล่มนี้มีเรื่องสั้นอยู่มากมายให้เราเลือกหยิบมาชอบที่สุด และเหมือนตัวผู้เขียนเอง ก็อาจไม่ได้มองว่าเรื่องนี้โดดเด่นเท่าเรื่องอื่น แต่แปลกมากว่าที่สุดแล้ว เรื่องสั้นจาก นิมิตต์วิกาล ที่ขโมยหัวใจเราไปได้กลับเป็น เงาแห่งฝน ตัวเรื่องแสนธรรมดา ว่าด้วยการพบปะวิญญาณวีรชนที่ยังเหลือห่วงอยู่ในโลก เอาเข้าจริง เรื่องทำนองนี้แทบจะกลายเป็น genre หนึ่งในงานวรรณกรรมไทยเลยยังได้
ความพิเศษอยู่ที่ฉาก เหตุการณ์ที่แสนคุ้นเคย (ในทางวรรณกรรม) เมื่อไปเกิดในประเทศเพื่อนบ้าน กลับสร้างมิติแปลกใหม่ ผู้เขียนตั้งคำถามว่าหรือบางทีจิตวิญญาณแห่งความเป็นเราไม่ได้สถิตย์อยู่ในท้องถิ่นอย่างที่ปราชญ์หลายคนตีฆ้องร้องป่าว แต่อยู่ในภูมิภาค อยู่ในความไร้พรมแดน ที่สุดแล้วโลกาภิวัฒน์ใช่หรือไม่ ที่จะช่วยพาเรากลับสู่ความเป็นไทย หลังจากถูกตบแต่ง บิดเบือนด้วยเส้นพรมแดนลวงๆ แห่งรัฐชาติมาพักใหญ่แล้ว"
8. กลิ่น (จาก ชีวิตปกติ โดย จารี จัทราภา) "ชอบที่สุดสองเรื่องในเล่มคือ กลิ่น และ สามเหลี่ยมด้านไม่เท่า ตัดใจเลือกเรื่องนี้เพราะมันมีชั้นเชิงทางวรรณกรรมกว่า (ใครที่ชอบเรื่องแนว "ขยี้" ขอบอกว่า สามเหลี่ยมด้านไม่เท่า นี่ ไม่ผิดหวังแน่ๆ ) เป็นเรื่องสั้นประหยัดนิยม (minimalism) ที่ใหม่มากในบ้านเรา ไม่ค่อยเห็นคนไทยเขียน และที่เขียนออกมาได้ดีขนาดนี้ ผู้เขียนอาจเป็นคนแรกเลยก็ได้
เรื่องสั้นแบบนี้คือถึงเล่าเรื่องย่อไปก็ไม่ค่อยมีความหมาย เอาเป็นว่านี่คือจุดจบของอะไรบางอย่าง ของความสัมพันธ์ ความรู้สึก หรือชีวิต หรือบางทีอาจไม่ใช่เรื่องของอะไรเลยก็ได้ นอกจากสิ่งที่หลงเหลืออยู่ในตอนท้าย"
3 comments:
ขอบคุณครับที่มาแนะนำเรื่องสั้นที่น่าอ่าน :)
ชอบเรื่องนี้ของ เอื้อ อัญชลี เหมือนกัน
ตอนนี้ลุ้นให้เธอไม่ก็บุญชิต ฟักมี, please ได้ซีไรต์
เพราะไปยาลใหญ่ฯ ที่คิดว่าน่าจะเข้ารอบแน่ๆ
ดันตลก list ไปอย่างน่าพิศวง
แอบดีใจนิดครับ ที่คุณผาดตกรอบ เพราะรู้สึกว่าการเปิดตัวคุณผาดปีนี้ยังไม่ค่อย "สมศักดิ์ศรี" เท่าไหร่ เปิดตัวปีหน้า และได้ซีไรต์เลยทีเดียวดีกว่า ^^
Post a Comment