C. V. Wedgwood's "The Thirty Years War"


จำไม่ได้แล้วจริงๆ ทำไมจู่ๆ ถึงสนใจสงครามสามสิบปี คุ้นๆ ว่ามาจากปาฐกถาของอาจารย์ธงชัย ในงานครบรอบ 70 ปีอาจารย์ชาญวิทย์ แต่ก็จำไม่ได้อีกนั่นแหละว่าอาจารย์พูดถึงสงครามสามสิบปีขึ้นมาทำไม มันเกี่ยวอะไรกับเมืองไทย หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

เอาเถอะ ยังไงก็ซื้อหนังสือสุดคลาสสิคเล่มนี้มา และอ่านจบไปครึ่งเล่มแล้ว ช่วงแรกของสงครามสามสิบปี เป็นช่วงสงครามกลางเมืองในเยอรมัน สมัยที่ยังเป็น "อาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ" อยู่ เยอรมันในสมัยนั้นแปลกดี คือไม่ได้เป็นประเทศเดี่ยวๆ แบบอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือสเปน แต่มีลักษณะความเป็นแว่นแคว้นสูงมาก ตัวจักรพรรดิ หรือผู้นำแห่งอาณาจักรโรมันก็มาจากการ "เลือกตั้ง" โดยผู้ปกครองของแต่ละแคว้น

สงครามกลางเมืองในอาณาจักรโรมันคือสงครามศาสนาระหว่างผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาธอลิกและนิกายโปรแตสแตนท์ แต่เอาเข้าจริง ความแตกต่างทางศาสนาก็ดูจะเป็นแค่ข้ออ้าง การแย่งชิงอำนาจระหว่างแว่นแคว้นมากกว่า จุดหนึ่งที่เวดจ์วูดย้ำอยู่เสมอคือ สงครามเกิดจากผู้นำบ้าอำนาจ ได้พอๆ กับผู้นำที่ขาดอำนาจและไร้ความสามารถ ถ้าเทียบกับสงครามใหญ่ครั้งอื่นๆ ในยุโรป ที่มักเริ่มต้น หรือมีศูนย์กลางอยู่ที่ผู้นำเพียงไม่กี่คน สงครามสามสิบปีน่าจะเป็นสงครามแห่งสุญญากาศของอำนาจ สงครามที่เกิดขึ้นเพราะไม่มีใครที่เข้มแข็งพอจะคานอำนาจ ความมักใหญ่ใฝ่สูงของขุนพลคนอื่นๆ (เท่าที่อ่านมา 12 ปีแล้ว คงมีแต่คาดินัลริชเชลูแห่งฝรั่งเศสคนเดียวที่เป็น "เซเลป" ทางประวัติศาสตร์ ซึ่งก็ยังไม่ค่อยมีบทบาทเท่าไหร่ในครึ่งแรกของสงครามนี้)

"ตัวละคร" ที่เราชอบสุดในครึ่งแรกของสงครามคือแอเนส วอน มานแฟลด์ ไม่ได้เป็นผู้นำแคว้น แต่เป็นนายพล มานแฟลด์ไม่ได้ขึ้นตรงกับใครเสียทีเดียว เหมือนๆ จะเป็นทหารรับจ้างที่คอยรับใช้ผู้นำฝ่ายโปรแตสแตนท์เป็นหลัก ชีวิตคนแบบนี้มีสีสัน กองทหารรับจ้างเหมือนกับเป็นปรสิตที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับความอ่อนแอของประเทศชาติ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นกุญแจสำคัญ ซึ่งฝ่ายที่ต้องการกำชัยชนะจะขาดไม่ได้ คนแบบมานแฟลด์ไม่จำเป็นต้องอาศัยชาติกำเนิดอันสูงศักดิ์ อาศัยวิธีรบไปเรื่อยๆ เพื่อไต่เต้า (ใครเคยอ่าน Berserk น่าจะอารมณ์คล้ายๆ กรีฟิสและกองพันเหยี่ยวนั่นแหละ) ทหารรับจ้างไม่เหมือนทหารประจำการที่พอหมดสงครามแล้วจะไล่ให้กลับไปทำนาได้ การชุบเลี้ยงคนแบบนี้เอาไว้จึงสิ้นเปลืองทรัพยากรอย่างมโหฬาร (มาคิอาเวลลีถึงได้สอนได้สั่ง ให้หลีกเลี่ยงการใช้ทหารมืออาชีพแบบนี้)

ปัจจุบันแม้จะไม่ค่อยมีอาชีพแบบนี้แล้ว แต่ประเทศหรือผู้นำคนใด คิดหวังพึ่งพิงกองทหารเพื่อความสงบสุขและความมั่นคงของตำแหน่งตัวเอง ก็จงดูความพ่ายแพ้ของนิกายโปรแตสแตนท์ใน (ครึ่งแรกของ) สงครามสามสิบปีเป็นตัวอย่างซะ

No comments: