I. Kant's "Critique of Pure Reason" (part II)
ถึงแม้โสเครติสและเฮเกลจะเป็นนักปรัชญาที่ได้รับเกียรติให้เป็นบิดาแห่งวิภาษวิธี (ทั้งที่จริงๆ วิภาษวิธีของสองคนนี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง) คานท์เองก็มีวิภาษวิธีเหมือนกัน (และน่าจะส่งอิทธิพลทางความคิดไปยังเฮเกลโดยตรง) ในครึ่งหลังของ Critique of Pure Reason ว่ากันด้วยวิภาษวิธีล้วนๆ
คานท์แบ่งวิภาษวิธีออกเป็นสามประเภท (ขี้เกียจจะจำชื่อแล้ว ในหนังสือเล่มนี้คานท์ตั้งชื่อให้คอนเซปสักห้าร้อยคอนเซปได้เป็นอย่างต่ำ) หนึ่งคือวิภาษวิธีที่ว่าด้วยการผสมผสานระหว่างผู้สังเกตและโลกภายนอก ซึ่งกล่าวถึงไปแล้วในครึ่งแรก สองคือวิภาษวิธีที่ว่าด้วยการผสมผสานระหว่างขั้วตรงกันข้าม (ตัวบทและบทแย้ง) สุดท้ายคือวิภาษวิธีที่ว่าด้วยการผสมผสานทุกสิ่งอันในโลกหล้า ก่อกำเนิดเป็นพระเจ้า คานท์ใช้วิภาษวิธีแบบที่สองเพื่อพิเคราะห์ปริทรรศน์สี่ประการ โลกนี้มีที่สิ้นสุดหรือไม่ วัตถุสามารถแบ่งไปเรื่อยโดยไม่มีที่สิ้นสุดได้หรือไม่ (คานท์เรียกปริทรรศน์สองตัวนี้ว่าปัญหาทางคณิตศาสตร์) เจตจำนงค์อิสระมีจริงหรือเปล่า และสุดท้ายพระเจ้ามีตัวตนไหม (ซึ่งคำถามสุดท้ายนี้ ตอบได้ด้วยวิภาษวิธีแบบที่สาม)
คำถามที่เราว่าเจ๋งมากๆ คือคำถามที่สอง บทสรุปของมันคือ วัตถุใดๆ สามารถถูกแบ่งแยกย่อยไปได้ไม่มีสิ้นสุด แต่ไม่อาจประกอบจากชิ้นส่วนอย่างไม่มีที่สิ้นสุดได้ ฟังดูเหมือนจะขัดแย้งในตัวเอง แต่คานท์อธิบายว่า เราสามารถนึกถึงวัตถุชิ้นหนึ่ง และจินตนาการการแบ่งแยกย่อยไปเรื่อยๆ ได้ แต่เราไม่สามารถจินตนาการถึงวัตถุที่เล็กเสียจนต้องหยิบมาอนันต์ชิ้น ถึงจะประกอบเป็นวัตถุชิ้นใหญ่เต็มๆ ได้ อีกนัยหนึ่งก็คือ วัตถุชิ้นเล็กไม่มีคุณสมบัติเป็นของตัวเอง นอกจากเศษส่วนที่แตกจากชิ้นใหญ่
อีกตัวที่น่าสนใจคือตัวที่สาม เพราะมันพูดถึงเหตุและผล ถ้าเราพิจารณาปรากฏการณ์จากประสบการณ์เพียงอย่างเดียว ข้อสรุปที่เราจะได้คือ สิ่งใดเกิดก่อน สิ่งนั้นย่อมเป็นเหตุ (และเอาเข้าจริง ก่อนและหลังก็มาจากอคติส่วนตัวของเราล้วนๆ ) ดังนั้นประสบการณ์จึงเชื่อถือไม่ได้ คานท์เสนอให้ใช้สติปัญญา เพื่อพิเคราะห์ต้นเหตุของสรรพสิ่ง ต้นเหตุที่แท้จริงคือกระแสธารที่ไหลซึมลึกอยู่ในห่วงโซ่ของเหตุและผล ไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่มีสิ้นสุด
สารภาพว่าอ่าน Critique of Pure Reason ไม่สนุกเท่า The Phenomenology of Spirit (แม้จะเข้าใจได้ง่ายกว่าเล็กน้อย) ถ้าพอมีพื้นฐานวิภาษวิถีมาบ้างแล้ว เสนอแนะให้ข้ามไปอ่านเฮเกลเลย ถ้าไม่พอพื้นฐานเลย ให้ตายยังไงก็อ่านเล่มนี้ไม่รู้เรื่องหรอก สรุปคือ ก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะกับใคร
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment