รายชื่อหนังสือส่งประกวดซีไรต์ปี 2554 ออกมาแล้ว มีรวมเรื่องสั้นทั้งหมด 83 เล่ม ไหนๆ ปีนี้ก็เป็นปีแรกที่อยู่เมืองไทย จะลองพยายามอ่านทั้งหมดเท่าที่หาได้ และแปะคำวิจารณ์สั้นๆ นะครับ (ต้องอยู่กันไปอีกนานในวงการนี้ ดังนั้นเราจะไม่เอ่ยชื่อหนังสือที่วิจารณ์ แต่จะใช้วิธีแปะรูปบอกใบ้แทน ถ้าอยากรู้เล่มไหนเป็นเล่มไหน หลังไมค์มาถามกันเองนะ)
1. จุดเด่นของเล่มนี้คือผู้เขียนรู้จักตัวเองเข้าใจจุดด้อยจุดเด่น และจับทางตัวเองถูก เป็นงานเขียนแนววัยรุ่นที่เขียนออกมาได้เต็มเหนี่ยวจริงๆ ไม่วอกแวกไปไหนเลย (ไม่มีการจับปัญหาสังคม ไม่พูดถึงชนบท ไม่ "เพื่อชีวิต") ซึ่งก็น่าชื่นชม แต่ข้อเสียก็เหมือนที่ "ผู้ใหญ่หัวโบราณ" มักวิจารณ์งานแนวนี้ว่า "ไปไม่ไกลกว่าปลายจมูกตัวเอง" จริงๆ นี่ไม่ใช่ปัญหาทางด้านศิลปะ เว้นแต่พอต้องมาอ่านต่อๆ กันในเล่มเดียว ความที่ผู้เขียนหมกมุ่นกับปัจเจก กับตัวตนมากๆ ทุกเรื่องจึงออกมาซ้ำๆ กันไปหมด
2. ผู้เขียนมีแนวทางที่ชัดเจน แปลกแหวกแนว อ่านแรกๆ จะไม่เข้าใจ อาจถึงขั้นหงุดหงิดทำลายหนังสือทิ้งได้ แต่เมื่ออ่านจนจบ เริ่มจับตรรกะและสุนทรียะได้เมื่อไหร่ นี่คือรวมเรื่องสั้นที่น่าจับตามองอีกเล่ม แต่จะมีนักอ่านสักกี่คนที่ให้อภัยและเชื่อมั่นในตัวผู้เขียนมากพอจะไปถึงจุดนั้น และถ้าต้องประเมินแต่ละเรื่องๆ ออกมา เรื่องที่สอบผ่านด้วยตัวของมันเอง อาจจะมีไม่สักกี่เรื่อง
3. จุดเด่นคือการผสมผสานระหว่างนิทานและเรื่องสั้นแนวเพื่อชีวิต ผู้เขียนสร้างสมดุลระหว่างการสะท้อนปัญหาสังคมและภาวะปัจเจกของตัวละครได้อย่างลงตัว คุณภาพเรื่องส่วนใหญ่อยู่ในระดับค่อนไปทางดี แต่ข้อเสียคือไม่มีเรื่องไหนโดดเด่น แม้แต่เรื่องชื่อเล่ม ก็พ้นสมัยไปอย่างน่าใจหาย ชื่นชมคนเขียนตรง เป็นหน้าใหม่แท้ๆ แต่ไม่มีตัวละครตัวไหนเลยที่เป็นนักเขียน (เป็นการผิดวิสัยซึ่งดีมากๆ )
4. ตัวอย่างผลงานของนักเขียนแนวปัจเจกที่อยากนำเสนอสะท้อนภาพสังคม และก็ทำออกมาได้อย่างตื้นเขิน ทางหนึ่งก็เหมือนจะใช้ปากกาแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ในอีกทางก็วนเวียนอยู่แต่กับจริตของตัวเอง อ่านนานแล้วแต่จำได้ว่าไม่มีเรื่องไหนเลยที่ผ่านเกณฑ์ ชอบอย่างเดียวคือปกและรูปประกอบ
5. ผู้เขียนอาจมีความตั้งใจดี และมีความเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่นชุมชน แต่ผู้เขียนก็มีปัญหาในการเล่าเรื่องเป็นอย่างมาก ถ้าไม่ตัวละคร ก็เหตุการณ์เยอะเกินความจำเป็น ขาดความเป็นเอกภาพ เหมือนคนเขียนแยกแยะไม่ถูกว่าเรื่องสั้นไม่ใช่แค่นิยายที่มีขนาดย่นย่อ ปัญหานี้ปรากฏชัดตั้งแต่ในเรื่องชื่อเล่ม ซึ่งอย่างน้อย สมควรจะดีในระดับหนึ่ง
6. มองเห็นใบไม้แต่ไม่เห็นป่า...ใช้ความอยุติธรรมเป็นสะพานก้าวไปสู่ความสามัคคี...ในเมื่อพวกคุณ (หรือคนที่มีวิธีคิดแบบคุณ) เป็นผู้ก่อปัญหา แล้วคุณยังมาทำซึนๆ มึนๆ วิเคราะห์และเสนอทางแก้อีก...นึกถึงตรรกะของดิก เชนนี ทำไมชาวอเมริกันต้องเลือกพรรคริพับลิกันเข้าไปแก้ปัญหาความวุ่นวายในตะวันออกกลาง "เพราะพวกเราคือผู้สร้างปัญหา จึงมีแต่พวกเราเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาได้ หรือใครว่าไม่จริง" ผายลม!
7. เลอเลิศที่สุดในสามโลก! ยิ่งได้อ่านรวดเดียวจบในรถไฟใต้ดินจากปลายทางสถานีหนึ่งไปยังอีกปลายทางหนึ่ง ยิ่งได้อารมณ์ และเหมือนจะช่วยให้เข้าใจสิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อ จากเล่มแรก ผู้เขียนรักษาคุณภาพและสุนทรียะของตัวเองเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ถ้าจะมีที่ติคือ ผลงานลักษณะนี้อ่านรวมๆ กันดีกว่าอ่านแยก พออ่านจบแล้ว นอกจากเรื่องชื่อเล่ม จึงไม่มีเรื่องไหนเด้งออกมา (ซึ่งก็อาจจะเป็นความตั้งใจของผู้เขียนก็ได้)
8. ไม่มีใครชอบเสียงดัง เสียงดังก่อให้เกิดความรำคาญ แต่ในเพลงคลาสสิค บางทีก็มีการเพิ่มความดังเพื่อกระแทกกระทั้นอารมณ์ เล่มนี้อ่านแล้วเหมือนวาทยากรกำลังบอกผู้่ฟังว่า จุดประสงค์ของเพลงนี้คือเพื่อให้คุณรำคาญจนต้องปิดหูนะ ระหว่างที่เล่น ก็เร่งเสียงกลอง เสียงแตร จนคนฟังต้องปิดหูไปฟังไปจริงๆ ...ดูเหมือนคนเขียนไม่รู้ว่าอะไรคือความดังอย่างมีศิลปะ และเสียงดังที่ก่อให้เกิดความรำคาญ
9. อ่านจบด้วยความเสียดาย หลายคนคงรู้สึกว่าเรื่องสั้นแบบนี้เชยไปแล้ว สมัยก่อนเคยมี "กูรู" เขียนเรื่องทำนองนี้ได้ดีมาก จนเมื่อคนรุ่นหลังจะมาเขียนตามอย่าง ก็อดไม่ได้ที่ผู้อ่านจะเอาไปเปรียบเทียบ กระนั้นก็ตาม ด้วยตัวมันเองแล้ว เราก็ยังชอบเล่มนี้นะ แต่ที่เสียดายคือ ภาษา การเล่าเรื่อง การพรรณายังสะเปะสะปะอยู่ ไม่โทษนักเขียน แต่โทษบรรณาธิการ น่าจะ "หนักมือ" กว่านี้หน่อย
10. ช่างเป็นรวมเรื่องสั้นที่แสนจะหมกมุ่นกับตัวเอง ขัดแย้งกับชื่อหนังสือยังไงพิกล อ่านจบแล้วอยากเข้าไปตบบ่าคนเขียน บอกว่าเขียนถึงคนอื่นบ้างอะไรบ้าง อย่าสร้างตัวละครขึ้นมาแต่ตั้งชื่อ ใส่ชีวิตจิตใจและเรื่องราวให้พวกเขาด้วย อย่ามัวแต่หมกมุ่นอยู่กับ "ผม" เดี๋ยวคนอ่านเขารู้แกวหมด
7 comments:
ชอบจังครับ ทำให้อยากอ่านขึ้นมาตะหงิดๆ เลย เล่มที่ชมว่าเลอเลิศในสามโลก
แต่ผมเห็นรูปแล้วเดาไม่ออกว่ามันเป็นเรื่องอะไรอ่ะครับ ใบ้อีกนิดสิครับ (เล่มนี้วิจารณ์ในทางชื่นชมคงไม่เป็นไรมั้งครับ)
ชื่อขึ้นต้นด้วย "พ" ครับ จริงๆ เป็นเล่มที่เคยวิจารณ์ในบลอคนี้ด้วยครับ ลองแวะไปดูสารบัญนะครับ
พอรู้แล้วครับ นักเขียนขึ้นต้นด้วย "ก" ใช่ไหมครับ
ส่วนรูปที่สอง ชื่อเรื่อง "ผ" นักเขียน "ว" ใช่ไหมครับ
ส่วนรูปอื่นยังเดาไม่ถูก
ถ้าผิดก็ขออภัยด้วยครับ
เรื่องแรกเป็นเหมือนอีกสองสามเรื่องใน สนพ. เดียวกันที่พิมพ์ออกมาพร้อมๆกันครับ คือซัดเต็มเหนี่ยว ไม่พูดอะไรที่เกินออกไปจากตัวเอง แต่มันก็ติดอยู่แค่นั้นจริง
เรื่องที่สอง ภาษาและวิธีการเล่าเรื่องทำได้ดีนะครับ เพียงแต่ บางเรื่องในเล่มไม่น่าเขียนเลย จริงๆนะ
เดี๋ยวมาคุยเรื่องที่เหลือต่อครับ :))
เยี่ยมมาก ขอเดา หมายเลข 5 ชื่อเล่ม นำด้วย อักษร น.ใช่มั้ยครับท่าน
เยี่ยมมาก อยากเดา เล่ม 5 ชื่อเล่มขึ้นต้นด้วย อักษร น. ใช่มั้ยครับท่าน
หลวงชา
Post a Comment