M. Proust's "Swann's Way"


ไม่ค่อยอยากเลย การเอาหนังสือสักเล่มหนึ่งมาเป็นตัวอย่างว่าทำไมเราถึงไม่ชอบวรรณกรรมของประเทศนั้นๆ ฟังดูเป็นการเหยียดชาติอย่างไรชอบกล เคยบอกไปแล้วว่าเราเป็นคนไม่ค่อยชอบวรรณกรรมฝรั่งเศสและวรรณกรรมอเมริกัน กรณีหลังอาจยังถกเถียงกันได้ แต่กรณีแรกนี่ชัดเจนพอดู ไม่ว่าจะเป็น Madame Bovary หรือล่าสุดนี่ก็ Swann’s Way เล่มแรกในชุด In Search of Lost Time อันโด่งดังของพรูส ซึ่งถ้าไม่ชอบเล่มนี้ก็คงไม่ต้องไปหวังแล้ว (หรืออย่างไร)

อย่างที่บอก มันคงเป็นไปไม่ได้หรอก ที่จะจับเอาหนังสือเล่มสองเล่มมาใช้อธิบาย เป็นตัวแทนของวรรณกรรมทั้งชาติ ก็ถือว่าคุยขำๆ แล้วกัน ข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่เรามีต่อทั้ง Madame Bovary และ Swann’s Way คือคนฝรั่งเศสไม่ค่อยชอบพูดถึงเรื่องที่ทำงานเลย เรามีรายละเอียดน้อยมากว่าตกลงนายสวรรค์นี่หารับประทานด้วยสัมมาอาชีพใด เรารู้ว่าแกมีตำแหน่งสูงๆ และมีเส้นสายในหมู่คนใหญ่คนโต มีงานอดิเรกเป็นผู้เชี่ยวชาญศิลปะ รู้กระทั่งเข้าไปถึงห้วงแห่งจิตว่าเวลาแกตกหลุมรัก แกหึงหวง แกเป็นอย่างไร แต่กลับไม่รู้ว่าวันๆ แกเอาเวลาไปทำอะไรบ้าง นึกถึงนิยายกำลังภายในจีนที่เวลาพระเอก ผู้ร้ายหยั่งเชิงกันในร้านเหล้า แล้วเสี่ยวเอ้อเข้ามาเก็บตัง พระเอกพูดว่า “ข้าเลี้ยงเอง” เราก็สงสัยว่า “เอ็งจะเลี้ยงเขาได้ยังไง วันๆ ไม่เห็นทำมาหาแดกอะไรเลย”

ก็เล่าไปขำๆ อย่างนั้นแหละ จริงๆ ก็ไม่ถึงกับไม่ชอบ Swann’s Way หรอก หนังสือเล่มนี้เหมือนกับรวมเอาคุณสมบัติสองอย่าง ที่เราชอบและรังเกียจสุดๆ ในวรรณกรรมเข้าด้วยกัน สิ่งแรกคือการสวมมุมมองตัวละคร “ฉลาดๆ “ ตั้งแต่ฉากเปิดนิยาย (อันเป็นฉากโด่งดังอันดับต้นๆ ของวรรณกรรมตะวันตก) จนถึงช่วงครึ่งแรกของเล่ม “ผม” บรรยายภาพชนบทของคอมเบรย์อันเป็นเมืองพักตากอากาศของครอบครัว ระหว่างที่บรรยายก็แทรกเหตุการณ์นั่นนิดโน่นหน่อย ไม่ได้มีเนื้อเรื่อง แต่อ่านแล้วเพลิน พรูสตั้งข้อสังเกตอย่างชาญฉลาดเรื่องเวลาและความทรงจำ (Swann’s Way ฉบับ Barnes and Nobel เขียนตอนท้ายเล่มว่า “ผม” ในเรื่องก็คือ “ชาร์ลส์ สวรรค์” ตอนเด็กๆ ซึ่งไม่ใช่เลย ไม่รู้เหมือนกันว่าสำนักพิมพ์ใหญ่ปล่อยไก่ตัวเบ่อเริ่มเทิ่มขนาดนี้มาได้อย่างไร)

ส่วนสิ่งที่เรารังเกียจสุดในวรรณกรรม ไม่ว่าจะของชาติอะไรก็ตาม คือการสวมมุมมองของตัวละคร “โง่ๆ “ ครึ่งหลังของหนังสือเป็นการเล่าเรื่องราวความรักระหว่างนายสวรรค์และโอเดต เล่าไปก็จิกกัดสังคมฝรั่งเศส และจริตความหลงตัวเองของผู้คนไป ซึ่งอ่านแล้วก็เพลินดี แต่อยู่ดีๆ พอความรักเริ่มจืดจาง นายสวรรค์ระแวงไปหมดว่าโอเดตจะนอกใจไปกับใครบ้าง (ซึ่งก็ใช่ว่าความระแวงนั้นจะไร้มูลเลย) เขาหลงวนเวียนอยู่ในห้วงริษยา เป็นจำนวนเกือบสี่สิบห้าสิบหน้า อ่านช่วงนี้แล้วทรมานพอๆ กับนายสวรรค์ ไม่ได้ทรมานเพราะหึงหวง แต่ทรมานด้วยความรำคาญ

ในทางกลับกัน พอถึงช่วงท้ายของนิยายเป็นตอนที่นายสวรรค์รักษาอาการรักคุดของตัวเองด้วยยาดีที่สุดในโลก นั่นคือเวลา เป็นอีกช่วงที่เรา (ควรจะ) ชอบมากๆ อาการที่ยังสับสนกับตัวเองว่าควรรู้สึกอย่างไรเวลาได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับผู้หญิงที่ตนเคยรัก ความรู้สึกปล่อยวางแต่แอบเจ็บปวดแบบนี้ เราเข้าใจ ถ้าไม่เหนื่อย (และหน่าย) กับอาการหึงหวงของนายสวรรค์ เราจะชอบช่วงนี้มาก (Swann’s Way เป็นแค่เล่มแรกเท่านั้นของมหากาพย์ In Search of Lost Time พออ่านเนื้อเรื่องรวมในวิกิพิเดียจึงทราบว่าสุดท้ายนายสวรรค์ก็ได้แต่งงานกับแม่โอเดต แต่ทั้งสองมาคืนดีกันอีท่าไหน นี่สิออกจะน่าสนใจ)

เขียนบลอคนี้ไปก็เหมือนด่า เหมือนแซวนิยายเล่มนี้ไป ก็คนมันอ่านแล้วไม่เอนจอยนี่หว่า แต่สี่ห้าปีจากนี้ พอจะนึกออกว่าถ้าได้ลองกลับมาอ่านมันใหม่อีกรอบ กระโดดข้ามไปสักร้อย ร้อยห้าสิบหน้า เราอาจจะปลาบปลื้มกับมันขึ้นก็ได้

1 comment:

teighez said...

try this g1e67f3v55 replica gucci replica bags new york Our site h8s41x0z10 fake louis vuitton replica bags review t0d65q2w46 replica nappy bags Website g6k11j8a52 replica bags in gaffar market