C. Taylor's "Hegel and Modern Society"


เราอดขำแกมสมเพชไม่ได้ทุกที เวลาได้ยินนักวิชาการออกมาพูดว่าทักษิณเป็นฮิตเลอร์หรืออภิสิทธิ์เป็นบุช เพราะเอาเข้าจริงๆ ประโยคเหล่านี้ไม่ได้มีนัยยะลึกซึ้งไปกว่าเด็กอนุบาลตะโกนใ่ส่กัน "พ่อกูเป็นซุปเปอร์ไซยา!" "ไม่พ่อกูต่างหาก!" ความสมเพชจะยิ่งทับเท่าทวี หากนักวิชาการคนนั้นชอบออกมาพูดว่า "สถานการณ์ในสังคมไทยซับซ้อนเฉพาะเจาะจง มีแต่คนไทยเท่านั้นจึงจะเข้าใจมัน เราไม่อาจเอาตัวอย่างหรือความเห็นจากภายนอกมาตัดสินเราได้" เออเนอะ...แต่ถ้าตัวอย่างมันพร้อมจะรับใช้อคติของท่าน ท่านก็พร้อมจะยกมันขึ้นมาทันที (สงสัยพูดว่า "ทักษิณเป็นพระเจ้าอลองพญา!" มันฟังดูไม่ค่อยเท่กระมัง)

แต่ในบริบทของฮิตเลอร์และฟาสซิสต์ เราก็ค่อนข้างเห็นด้วยว่าสถานการณ์อาจจะซับซ้อนเกินกว่าจะหยิบตัวละครตัวใดตัวหนึ่งในประเทศไทยไปแปะบนหน้าประวัติศาสตร์เยอรมัน ขนาดเราอ่านหนังสือเกี่ยวกับฟาสซิสต์จบไปเล่มหนึ่ง ก็ยังงงๆ อยู่ดีว่าสรุปแล้วมันคืออะไรกันแน่ Hegel and Modern Society เป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะเข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าว

ต้องบอกก่อนเลยว่าเฮเกลไม่รู้จักหรอก อะไรคือฟาสซิสต์ สมัยนั้นยังไม่มี เคยพูดไปแล้วว่า ผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ คนภายนอกอย่างคนไทยมองปรัชญาเยอรมันด้วยสายตาหวาดระแวง (ขอบคุณหลาย นิทเช่!) แต่ถ้าย้อนกลับไปศตวรรษที่ 19 ประวัติศาสตร์นองเลือดสุดในสมัยนั้นคือการปฏิวัติฝรั่งเศส และ La Terreur เฮเกลเคยอธิบายที่มาที่ไปของปรากฏการณ์ La Terreur ใน Philosophy of Right ซึ่งความเข้าใจตรงนั้น เทเลอร์เอามาปรับใช้กับระบบฟาสซิสต์ โดยสรุปว่า ไม่ใช่ปรัชญาเยอรมันหรอกที่เป็นต้นกำเนิดของฟาสซิสต์ แต่เป็นปรัชญารู้แจ้งของฝรั่งเศสต่างหาก

ฟาสซิสต์เกิดมาจากสิ่งที่เฮเกล/เทเลอร์เรียกว่า "เสรีภาพสัมบูรณ์" (absolute freedom) สภาพสังคมซึ่งปราศจากชนชั้นและการกดขี่ข่มเหง ซึ่งเฮเกลมองว่าสภาพดังกล่าวแฝงปริทรรศน์อยู่ภายใน เมื่อนักปฏิวัติทำลายชนชั้นปกครอง พวกเขาจะสร้างระบบแบบไหนขึ้นมาแทนที่ ต่อให้ระบบใหม่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน สุดท้ายก็ต้องมีเสียงส่วนน้อยอยู่ดี ดังนั้นความเท่าเทียมกันโดยสัมบูรณ์ไม่อาจเกิดขึ้นได้ (ประเทศสังคมนิยมจีน รัสเซียแก้ปัญหานี้โดยการตั้งผู้นำกึ่งเผด็จการขึ้นมา แล้วก็โมเมเอาว่าคนคนนี้แหละที่เข้าใจความต้องการของประชาชนโดยแท้จริง)

ฟาสซิสต์แก้ปัญหานี้โดยการ แทนที่จะหาระบบการปกครองที่ดีที่สุด ก็เปลี่ยนมาสร้างประชาชนที่เหมาะกับระบบการปกครองแทน ประชาชนแบบไหนที่ปกครองง่ายสุด ไม่ต้องฉลาด ไม่ต้องโง่ ขอแค่ให้ต้องการอะไรๆ เหมือนกันเป็นพอ เท่านี้ก็จะไม่มีเสียงส่วนน้อยแล้ว และประชาชนก็จะได้รับเสรีภาพเท่าเทียมกัน อาศัยการโฆษณาชวนเชื่อ สร้างศัตรูทั้งภายในภายนอก ผู้นำก็สามารถหลอกลวงมวลชนให้เชื่อได้ว่าตัวเองกำลังเผชิญภยันตราย และทางออกที่ดีที่สุดคือศรัทธาในตัวผู้นำ แน่นอนว่าเป็นไปไม่ได้หรอกที่การโฆษณาชวนเชื่อจะเข้าถึงทุกหย่อมหญ้า แต่นั่นคือความสวยงามของฟาสซิสต์ เพราะหญ้าหย่อมไหนที่มันไปไม่ถึง ก็ทึกทักเอาเลยว่าหญ้าหย่อมนั้นคือศัตรูภายในที่ต้องกำจัด

ในทางตรงกันข้าม ปรัชญาการเมืองแบบเฮเกลปฏิเสธ "เสรีภาพสัมบูรณ์" เฮเกลไม่เชื่อในความเท่าเทียม เขาเชื่อในชนชั้น เพียงแต่ไม่ใช่ชนชั้นที่กำหนดเองตามใจชอบ หากต้องสอดคล้องกับวัฒนธรรมและปทัสถานของสังคม เฮเกลแยกความแตกต่างระหว่าง Moralitat และ Sittlichkeit ตัวแรกคือศีลธรรมซึ่งอยู่ภายนอกสังคม ต้องเอามาบังคับใช้ ส่วนตัวหลังคือศีลธรรมที่อยู่ในวัฒนธรรมตั้งแต่แรก สังคมที่พัฒนาสูงสุดคือสังคมที่ค้นหา Sittlichkeit ของตัวเองเจอ และนำมันมาเป็นบรรทัดฐาน

ในแง่นี้ ปรัชญาของเฮเกลชวนให้นึกถึงคำพูดอมตะของอาจารย์นิธิที่บอกว่า "วัฒนธรรมสำคัญกว่าความรู้" ตอนที่อาจารย์นิธิพูดประโยคนี้ (เมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว) ไม่แน่ใจว่า "วัฒนธรรม" ของอาจารย์ลื่นไหลและเปิดรับการพัฒนาแค่ไหน เฮเกลเชื่อว่าสังคมต้องก้าวไปข้างหน้า โดยเน้นการ "พัฒนา" มากกว่า "อนุรักษ์" วัฒนธรรม ซึ่งอาจจะต่างจากโมเดลของอาจารย์นิธิ ที่ให้วัฒนธรรมเป็นคำตอบสุดท้ายว่าความรู้แบบไหนบ้างที่สมควรถูกกลั่นกรองเอามาใช้ในสังคม

ในการเมืองไทย มันไม่มีคำตอบง่ายๆ หรอกว่าสีไหนเป็นฟาสซิสต์ ประวัติศาสตร์ไม่ใช่ดรากอนบอล ให้นักวิชาการมาตะโกนใส่กันว่าพ่อใครคือซุปเปอร์ไซยา พ่อใครเป็นฮิตเลอร์

1 comment:

สายลมพเนจร said...

ชอบบทความนี้อ่ะ...(^o^)
"พ่อกูเป็นซุปเปอร์ไซย่า"555
ขอบคุณที่เขียนบทความดีๆให้อ่านนะครับ