Plato's "Symposium"


ก็ไม่แปลกใจเท่าไหร่ทำไม Symposium ถึงเป็นบทสนทนาของเพลโตที่ได้รับความนิยมนัก นอกจากจะกะทัดรัดแล้ว มันยังอ่านเพลินเอามากๆ สำหรับเพลโตผู้ปฏิเสธงานศิลปะทุกแขนง ต้องถือว่า Symposium เขียนได้อย่างมีรสชาติและวรรณศิลป์จริงๆ

"Symposium" แปลตรงตัวหมายถึงงานเลี้ยง ในที่นี้เล่าเหตุการณ์งานเลี้ยงในบ้านของอกาตอนซึ่งประกอบด้วยแขกผู้มีเกียรติหลากหลาย ที่โด่งดังสุดสองคนคือโสเครติสและอริสโตเฟน คนแรกอย่างที่รู้ๆ กันเป็นนักปรัชญา ส่วนคนหลังเป็นนักเขียนบทละครสุขนาฏกรรม (คนอื่นอาจจะดังแต่เราไม่รู้จัก) อยู่ดีๆ คนพวกนี้ดื่มเหล้าไปไม่มีอะไรทำเลยคิดเกมสนุกๆ ขึ้นมา โดยให้แต่ละคนผลัดกันสรรเสริญความรัก เรียงลำดับวนไปเรื่อยๆ แน่นอนว่าปิดท้ายก็ต้องไม่ใช่ใครอื่นนอกจากโสเครติส

ตลกนิดหนึ่งคือบทที่โด่งดังสุดจาก Symposium กลับไม่ใช่นิยามรักของโสเครติสแต่เป็นของอริสโตเฟน ว่าด้วยตำนานมนุษย์ดั้งเดิม ถูกทำให้เป็นอมตะผ่านบทเพลง The Origin of Love ใน Hedwig and the Angry Inch ส่วนนิยามรักของโสเครติส หากตีโดยผิวเผินว่าความรักคือการสืบพันธุ์ ออกจะคล้ายๆ คติแบบคริสเตียนอนุรักษนิยม แต่กลับไปขัดกับวัฒนธรรมรักร่วมเพศของกรีก (ซึ่งไม่ต้องไปดูที่ไหนไกล มีตัวอย่างให้เห็นชัดๆ ใน Symposium นี่เอง) แต่หากมองให้ลึกไปกว่านั้นว่าความรักคือการพิชิตความตาย ซึ่งน่าจะเป็นต้นกำเนิด "Death Drive" ในทฤษฎีของฟรอยด์

ตอนจบของ Symposium มีเหตุการณ์ตลกๆ เกิดขึ้น คือจู่ๆ อัลซิเบียเดส "คนรัก" ของโสเครติสก็ทะลุกลางปล้องเข้ามาในงาน แล้วก็มีฉากหึงหวงกันนิดหน่อย ก่อนหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่นักปรัชญาจะนอนก่ายเกยกัน