J. Rawls's "A Theory of Justice" (2)
จะสิ้นปี 52 แล้ว ถึงแก่การอันควรเสียทีที่จะอ่านและพูดถึงส่วนที่เหลือของ A Theory of Justice ให้มันจบๆ ไป ทวนกันนิดหนึ่ง อภิตำรากฏหมายเล่มนี้ของจอห์น ราลว์ส ประกอบไปด้วยสามส่วน ส่วนแรกคือภาคทฤษฎีซึ่งพูดถึงไปแล้วในบลอคนี้ ส่วนที่สองคือภาคสถาบันซึ่งเก็บเอาไปพูดถึงในอีกเวปหนึ่งแล้ว และส่วนสุดท้ายคือภาคเป้าประสงค์ซึ่งจะพูดถึงในวันนี้
น่าเสียดายว่าภาคเป้าประสงค์เป็นภาคที่น่าอ่านน้อยสุดของ A Theory of Justice และเป็นส่วนที่เราให้ความสนใจน้อยสุดเสียด้วย ความเจ๋งของราลว์สคือการที่แกสามารถนิยามความยุติธรรมขึ้นมาได้ โดยให้มันหลุดพ้นจากกรอบศีลธรรมหรือความดีงาม แต่ในภาคเป้าประสงค์นี้เอง ราลว์สก็เหมือนสูงสุดคืนสู่สามัญ โดยแกย้อนกลับมาพูดว่าจริงๆ ถ้าคนในสังคมเป็นคนดี ก็คงดีนะ และสังคมก็คงจะมีแต่ความยุติธรรม ซึ่งก็ค่อนข้างตีหัวเข้าบ้าน
ความยุติธรรมตามแบบฉบับของราลว์สคือ ข้อตกลงตั้งต้นอย่างสมเหตุสมผลที่สมาชิกสรุปร่วมกัน โดยสมมติว่าไม่มีใครรู้เอาเข้าจริง ๆ แต่ละคนจะมีทุนและปัจจัยที่แตกต่างกันสักเพียงใด ความเหนือชั้นของทฤษฎีนี้คือมันใช้อธิบายความไม่เท่าเทียมกันในสังคมได้ นายเอผู้เป็นชาวนาไม่มีสิทธิบ่นเรื่องความยุติธรรมกับนายบีผู้เป็นเศรษฐี เพราะตอนที่พวกเขาร่างกฎระเบียบร่วมกันนั้น ทั้งนายเอและนายบีไม่มีใครรู้ว่าใครจะได้เป็นชาวนา ใครจะได้เป็นเศรษฐี ในทางตรงกันข้าม ถ้าเรายึดหลักความดีงาม เราอาจบอกได้ว่านายเอซึ่งมีความพอใจในชีวิตตนเองน้อยกว่านาย บี (หรือรู้สึก “ดี” กับชีวิตตนเองน้อยกว่านายบี) ย่อมมีสิทธิไปเรียกร้องหาความยุติธรรม ซึ่งก็จะกลายเป็นการพายเรือในอ่าง เพราะสุดท้ายไม่ว่าใครจะเป็นชาวนา ใครจะเป็นเศรษฐี ก็ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบและอีกฝ่ายได้เปรียบ
ขณะเดียวกันเราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ตั้งต้นตั้งแต่แรกแนวคิดเรื่องความดีงามมันก็แทรกอยู่ในทฤษฎีของความยุติธรรมแล้ว กล่าวคือสมาชิกจะกำหนดระเบียบปฏิบัติอย่างสมเหตุสมผลร่วมกันได้อย่างไร ถ้าไม่เข้าใจว่าอะไรคือความดีงาม ราลว์สเรียกสิ่งนี้ว่า “ทฤษฎีแบบบาง” นั่นก็คือการนิยามความดีงามเพื่อเอามาใช้เป็นรากฐานให้กับทฤษฎีของความยุติธรรม ส่วน “ทฤษฎีแบบเต็ม” นั้นคือการพิสูจน์ว่าสังคมที่อยู่ในกฎเกณฑ์แห่งความยุติธรรมนั้นคือสังคมที่ดี ที่สำคัญความดียังเป็นตัวประกันเสถียรภาพของสังคมอีกแล้ว
สรุปคือ มาเป็นคนดีกันเหอะ เดี๋ยวสังคมก็ยุติธรรมเองแหละ
ศัพท์สันนิษฐาน และอักษรวินิจฉัย (จิตร ภูมิศักดิ์)
คำนิยามที่เรามักใช้เรียกจิตร ภูมิศักดิ์คือ “ปราชญ์ผู้อยู่ในกาล” หมายถึงว่าเป็นผู้ปราดเปรื่องนั่นแหละ แต่ก็ยังถูกจำกัดด้วยกรอบของเวลา ตั้งแต่เวลาของชีวิตจิตรเอง ซึ่งจบลงก่อนวัยอันควร แค่ 34 ปีเท่านั้น สำหรับคนหนุ่มที่มีอายุแค่สามทศวรรษกว่าๆ อย่างไรเสียก็ยังบินติดเพดานบน อีกกรอบหนึ่งคือช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ บรรยากาศในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ดลให้จิตรกลายเป็นปัญญาชนในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งถ้าจิตรได้มีโอกาสผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปแล้ว ก็ไม่จำเป็นว่าเขาจะต้องเห็นด้วยหรือเห็นแย้งกับสิ่งที่ตนเคยเชื่อ
ที่เกริ่นมาแบบนี้ไม่ใช่จะบอกว่า ศัพท์สันนิษฐาน และอักษรวินิจฉัย มีอะไรเสียหาย ภายใต้กรอบของเวลาดังที่ได้กล่าวไปแล้ว จิตรถือเป็นนักวิชาการตัวอย่างคนหนึ่ง ไม่ว่าจะในแง่การสืบค้น อ้างอิงข้อมูล การพิสูจน์หลักฐาน และการเผยแพร่ความคิดตัวเอง ปัญหามันอยู่ตรงวิชานิรุกติศาสตร์เองต่างหาก ตั้งแต่เซอซัวร์ตีพิมพ์ Course in General Linguistics ซึ่งปูทางให้แก่สัญศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ก็ดูจะกลายเป็นของล้าสมัยไปโดยพลัน (ถึงจะล้าสมัยทางภาษาศาสตร์ แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะหมดคุณค่าโดยสิ้นเชิง ในทางประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยา นิรุกติศาสตร์ยังถือเป็นเครื่องมืออันล้ำค่าในการสืบเสาะความเป็นมาเป็นไปของแต่ละเผ่าพันธุ์)
ประเด็นนี้น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับ Serendipities ที่เพิ่งพูดถึงไปหยกๆ ก็เลยอยากขอขยายความ นิรุกติศาสตร์เป็นวิชาซึ่งค้นหาที่มาที่ไปของคำศัพท์ ภายใต้วัฒนธรรมตะวันตก อย่างไรเสียก็คงหนีไม่พ้นการสืบเสาะย้อนอดีตไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอภาษาดั้งเดิมหรือภาษาธรรมชาติของอดัม ก่อนหอคอยบาเบลจะพังพินาศ แน่นอนว่าภายใต้วัฒนธรรมตะวันออกของไทยเรา เราไม่เชื่อเรื่องหอคอยบาเบล และจิตร ภูมิศักดิ์เองก็คงจะไม่เชื่อเหมือนกัน คำถามคือวาทกรรมตัวนี้จะยังอยู่ในนิรุกติศาสตร์แบบไทยๆ หรือเปล่า
คำตอบคืออยู่! ถ้าเอา ศัพท์สันนิษฐาน และอักษรวินิจฉัย มาอ่านแบบรื้อสร้าง เราจะเห็นร่องรอยภาษาของอดัม จิตรแบ่งต้นกำเนิดของคำออกเป็นสามประเภทหลัก ประเภทแรกคือคำเลียนเสียงธรรมชาติตรงๆ เช่น เสียงร้องของวัว หมู หมา กา ไก่ ประเภทที่สองคือคำประเภทแรกที่ถูกกร่อน ถูกแปลงไปจนไม่เหลือเค้าโครงเดิม เช่น “วัว” อาจจะมาจากเสียงร้องของวัว ที่คนสมัยก่อนฟังเป็น “งัว” หรือ “มัว” ประเภทสุดท้ายคือการที่มนุษย์เรากำหนดชื่อให้อวัยวะในร่างกายเช่น “ตา” แล้วต่อมาค่อยไปสังเกตเห็นอะไรที่คล้ายคลึงกันในธรรมชาติ จึงกลายเป็น “ตาไม้” อย่างนี้ เป็นต้น (ไม่รู้ว่าจิตรแบ่งเอง หรือไปอ้างอิงตำราเล่มไหนมา)
เราจะพบว่าทฤษฎีตัวนี้ "ยากจน" มากๆ กล่าวคือมันใช้อธิบายศัพท์เกินค่อนพจนานุกรมไม่ได้ด้วยซ้ำ เช่น "เรือ" "ทะเล" "เงือก" "แมงมุม" "รำ" "กิน" จะบอกว่าทุกคำมาจาก "เสียง" ในธรรมชาติก็ค่อนข้างจะเหลือเชื่ออยู่ แต่วาทกรรมตัวนี้ได้สะท้อนความเชื่อในภาษาของอดัมออกมา ว่าศัพท์ทุกคำนั้นสอดคล้องกับธรรมชาติของสิ่งที่มันหมายถึง (ซึ่งตรงข้ามกับความเชื่อของนักสัญศาสตร์)
ที่หยิบเรื่องนี้มาพูดไม่ใช่เพราะต้องการดูเบาจิตร หรือผู้คนที่ยกย่องนับถือเขา เพียงแต่เราเชื่อว่าสังคมไทยควรจะยึดเอาจิตรเป็นหลักชัยเพื่อการก้าวข้าม มากกว่าจะมองเขาเป็นยอดแห่งปราชญ์ที่ใครๆ ก็แตะต้องไม่ได้ ความเป็น “ปราชญ์ผู้อยู่ในกาล” ของจิตรนั้นไม่ใช่เฉพาะแต่ทางด้านนิรุกติศาสตร์เท่านั้น รวมไปถึงในทุกๆ เรื่องด้วย ถ้ามีโอกาส ภายหน้าคงได้มาพูดถึงอีก
U. Eco's "Serendipities"
นอกจากจะเป็นหนังสือเล่มบางจ๋อยแล้ว Serendipities ยังเหมือนเอาหนังสือสองเล่มมาแปะรวมกันอีกต่างหาก อีโคพูดถึงสองประเด็นซึ่งโดยผิวเผินแล้วไม่เห็นจะเกี่ยวกันเลย ประเด็นแรกคืออิทธิพลของความเท็จ ว่าบางครั้งมันก็มีพลังขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ไม่น้อยไปกว่าความจริง ส่วนประเด็นหลังคือความหลงใหลที่มนุษย์เรามีต่อภาษาต้นแบบ ในที่นี้ก็คือภาษาของอดัมก่อนหอคอยบาเบลจะพินาศ ส่งผลให้มนุษย์กระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง และสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง
เราสนุกกับประเด็นหลังมากกว่าประเด็นแรก (ซึ่งค่อนข้างคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วจากงานชิ้นอื่นๆ อย่าง Foucault’s Pendulum) โดยอีโคแบ่งมันออกเป็นสองช่วง ในบทที่ 2 เขาพูดถึงความพยายามตามหาภาษาต้นแบบจากภาษาโบราณ ตามความเชื่อในคัมภีร์ไบเบิ้ล ภาษาของอดัมน่าจะเป็นภาษาฮิบรูดั้งเดิม ก่อนถูกดัดแปลงไปตามวันเวลาและประวัติศาสตร์ ที่น่าสนใจกว่าก็คือ ชาวยุโรปบางคนเชื่อว่าภาษาที่มาจากต่างถิ่นเช่นภาษาอียิปต์หรือกระทั่งภาษาจีนจริงๆ แล้วอาจเป็นภาษาศักดิ์สิทธิของอดัมก็ได้! ในบทที่ 4 ความพยายามตามหาภาษาต้นแบบดำเนินไปในทิศตรงกันข้าม กล่าวคือเหล่านักปราชญ์ในยุคกลางคิดค้นภาษาจำลองโดยคาดหวังให้มันใกล้เคียงกับภาษาของอดัมที่สุด
ความหลงใหลที่มนุษย์เรามีต่อภาษาต้นแบบนี้จริงๆ แล้วก็เข้าใจได้ไม่ยาก ไม่ว่าใครระหว่างที่เรียนภาษาที่สอง ที่สาม ก็คงรู้สึกบ้างแหละว่า “ไอ้คนที่คิดภาษานี้ มันตั้งคำหอกหักนี่ออกมาได้อย่างไร!” ช่างแสนจะจำยากเย็นและดูไม่เป็นธรรมชาติเสียนี่กระไร ว่ากันว่าภาษาของอดัมเป็นภาษาที่มาจากธรรมชาติเลย กล่าวคือไม่ต้องอาศัยการจดจำหรือฝึกฝน แค่เห็นศัพท์ปุ๊บ เราก็จะเข้าใจได้ทันทีว่ามันแปลว่าอะไร
ในบทที่ 5 ซึ่งเป็นสุดท้าย อีโคถึงได้รวมสองประเด็นนี้เข้าด้วยกัน ในแง่หนึ่งความหลงใหลและความพยายามตามหาภาษาต้นแบบก็อาจมองได้ว่าถูกขับเคลื่อนด้วย “ความเท็จ” หรือ “ความเชื่อที่เป็นเท็จ” ว่าภาษาต้นแบบนั้นเป็นธรรมชาติและดีกว่าภาษาที่ใช้ในปัจจุบัน (ถ้าเรารู้จักอีโคดีพอ นักสัญศาสตร์อย่างแก อย่างไรเสียก็คงไม่เห็นด้วยกับความคิดตรงนี้แน่ๆ ) บางครั้งอะไรที่มาจากธรรมชาติก็ไม่ใช่จะต้องดีที่สุดเสมอไป และที่สำคัญอะไรคือธรรมชาติ อะไรคือของประดิษฐ์ ถ้าภาษามันถูกพัฒนาจนเป็นอย่างที่มันเป็นในปัจจุบัน เราจะเรียกมันว่าไม่ใช่ของธรรมชาติได้หรือ
ลัทธิชาตินิยมไทย/สยามกับกัมพูชา (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ)
สั้นๆ ห้าคำกับ ลัทธิชาตินิยมไทย/สยามกับกัมพูชา: และกรณีศึกษาปราสาทเขาพระวิหาร คือ “เห็นด้วยทุกตัวอักษร!” ขอย้ำให้ใครที่สนใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเราและประเทศเพื่อนบ้าน ต้องไปหามาอ่านกันให้ได้
อาจารย์ชาญวิทย์ตั้งข้อสังเกตว่าในวิชาประวัติศาสตร์ไทย เราย้ำถึงแต่การ “เสีย” ดินแดน โดยไม่ยอมพูดถึงการ “ได้” ดินแดนเลย ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ขำมากๆ เราคุยกันแต่ว่าไทยเสียดินแดนและปราสาทเขาพระวิหารถึงสามครั้งสามครา ต่อให้ “สมมติ” ว่าปราสาทเขาพระวิหารเป็นของไทยแต่โบราณ มันจะ “เสีย” สามครั้งโดยไม่เคย “ได้” มาเลยได้อย่างไร (น่าสนใจว่าการ “ได้” ครั้งหลังสุดคือการ “ได้” ทางเศรษฐกิจโดยแท้ เป็นการแปรรูป “สนามรบ” ให้เป็น “สนามการค้า” เพราะทั้งคนไทยและคนกัมพูชาก็สามารถค้าขายกันที่ชายแดนเขาพระวิหารได้อย่างสงบสุข เลยน่าขบคิดดีเหมือนกันว่าที่เสียไปครั้งหลังสุดนี่ใครกันแน่เป็นผู้ทำให้เสีย)
อาจารย์ชาญวิทย์พูดถึงบทบาทของ “ประวัติศาสตร์บกพร่อง” ซึ่งก็ชวนให้เราขบคิดต่อ จำได้ว่าสมัยเรียนประถมเวลาครูสอนเรื่องสนธิสัญญาเบาริงค์ ความเจ็บแค้นแสนสาหัสประการหนึ่งก็คือสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ถ้าฝรั่งทำผิดในบ้านเมืองเรา ก็จะมีสิทธิไปขึ้นศาลฝรั่งไม่ใช่ศาลไทย (ซึ่งครูสังคมก็จะติ๊ต่างให้เด็กเก็บไปคิดและไปโกรธแค้นกันเอาเองว่าพวกฝรั่งมันคงปกป้องคนผิดของชาติตัวเอง) ซึ่งถ้าเราจำไม่พลาด บทเรียนวิชาสังคมเรื่องนี้มาพร้อมกับบทเรียนวิชาภาษาไทยเรื่อง ขุนช้างขุนแผน พูดถึงตอนที่โจทก์ จำเลยต้องดำน้ำแข่งกันเพื่อตัดสินคดีความ ถ้าเอาหนึ่งบวกหนึ่งเป็นสาม สี่ ห้า ก็พูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า ถ้าไม่มีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ฝรั่งที่ถูกจับในเมืองไทย ก็ต้องไปดำน้ำแข่งกับคู่กรณี ถึงจะตัดสินถูกผิดกันได้
สั้นๆ (คำไทย)หกคำคือ “เป็นกู กูก็ไม่เอา”
(จริงๆ แล้วนี่เป็นการมองแบบจับแพะชนแกะมากๆ เพราะยุคสมัยของ ขุนช้างขุนแผน กับยุคของสนธิสัญญาเบาริงค์ ก็เป็นคนละสมัยกัน ไม่นับว่าฝ่ายแรกเป็นเรื่องแต่งเสียด้วยสิ คดีความในสมัยต้นรัตนโกสินทร์อาจถูกตัดสินด้วยกลวิธีอันแยบคายและยุติธรรมกว่านี้ แต่ในทางตรงกันข้าม ก็มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายที่พูดถึงการลงโทษบนแผ่นดินสยามด้วยวิธีอันทารุณ)
ประเด็นไม่ใช่อยู่ที่ว่าสิทธิสภาพนอกอาณาเขตนั้นมันยุติธรรมหรือเปล่า แต่นี่คือตัวอย่างความบกพร่องใน(วิชา)ประวัติศาสตร์ ที่เรามักจะมองด้านเดียวเสมอ ประวัติศาสตร์จึงกลายเป็นเรื่องของการศึกษาอุดมคติไป ซึ่งนอกจากจะไม่น่าสนใจ ยังแฝงอคติหลายอย่างเอาไว้ด้วย (เทียบกับการศึกษาในอเมริกา จำได้ว่าสิ่งแรกที่เราเรียนในประวัติศาสตร์ตอนที่ไปที่นั่นใหม่ๆ สมัยอยู่มัธยม 6 คือความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ทำให้ลินคอล์นประกาศสงครามการเมือง ซึ่งการเลิกทาสนั้นเป็นแค่ผลพลอยได้จากการแย่งชิงอำนาจระหว่างฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้เท่านั้น)
ลัทธิชาตินิยมไทย/สยามกับกัมพูชา: และกรณีศึกษาปราสาทเขาพระวิหาร เป็นหนังสือที่ไม่ได้เกี่ยวพันใดๆ ทั้งสิ้นกับสำนักพิมพ์ที่มีสีชัดเจน เราก็ไม่รู้ว่ามูลนิธิโตโยต้าแห่งประเทศไทยมีวาระการเมืองแอบแฝงหรือเปล่า แต่อย่างน้อยหนังสือเล่มนี้น่ายืนยันความเป็นกลางทางด้านวิชาการได้ในระดับหนึ่ง
S. Freud's "Totem and Taboo"
หลานของเราคนหนึ่งปีนี้อายุสามขวบแล้ว กำลังอยู่ในวัยน่ารักน่าชัง พูดจาประสาซื่อ หลานคนนี้กลัวห้องพระมากๆ ไม่ว่าจะเป็นของบ้านหลังไหนรวมถึงของบ้านตัวเองด้วย ถ้าต้องเดินผ่านหรือเฉียดใกล้ห้องพระ จะแสดงอาการว้าวุ่นอยู่ร่ำไป มิพักต้องให้แม่เขาบอกว่า “นี่พระนะลูก นี่พระนะ กลัวพระทำไม” หลานเราก็จะตอบกลับไปว่า “ถึงจะเป็นพระ แต่ก็เป็นผีนะ”
เราว่าบทโต้ตอบสั้นๆ ระหว่างแม่ลูกคู่นี้มีประเด็นชวนขบคิด ไม่ว่าจะในแง่ภาษาศาสตร์ มานุษยวิทยา วัฒนธรรม หรือจิตวิทยา ยกตัวอย่าง เช่น การที่แม่ใช้คำพ้องรูปพ้องเสียง “พระ” ซึ่งหมายความได้ทั้งพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์ “ผี” ในความหมายแรกจึงหมายถึงวิญญาณศักสิทธิ์หรือเทพสูงสุดตามแบบความเชื่อเทวนิยม และ “ผี” ในความหมายหลังคือมนุษย์ที่เสียชีวิตไปแล้ว (และต่อไปยังคำถามที่ว่าพระพุทธเจ้าท่านเมื่อปรินิพพานไปแล้วจะกลายเป็น “ผี” ประเภทไหน) แต่ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องไปหา Totem and Taboo ก็คือความกำกวมระหว่างความรัก ความศรัทธาและความกลัวเกรง
ถ้าให้ฟรอยด์มาวิเคราะห์เด็กพุทธชาวไทย หลานของเรา แกก็คงพูดประมาณว่า แรกสุดในพัฒนาการของเด็กคือความรู้สึกเกรงกลัวภูตผีหรือคนตาย ต่อมาความรู้สึกนั้นถูกนำไปเกี่ยวเนื่องกับรูปปั้น รูปเคารพของคนตาย (พระพุทธรูป) และเมื่อเด็กคนนี้โตขึ้นความกลัวก็จะกลายเป็นความรัก ความศรัทธา ซึ่งนี่ก็คือที่มาของจิตสำนึกทางศาสนาในตัวชาวไทยนั่นเอง
Totem and Taboo ไม่ได้เกี่ยวกับจิตสำนึกทางศาสนาในตัวปัจเจกอย่างที่เรากล่าวมาในย่อหน้าที่แล้วเสียทีเดียว แต่มันเกี่ยวกับจิตสำนึกทางศาสนาของผู้คนทั้งสังคม ทำไมชาวป่าชาวดงถึงได้บูชาภูตผีกัน แล้วลัทธินั้นมันพัฒนามาเป็นศาสนา ก่อนจะกลายเป็นวิทยาศาสตร์อย่างในปัจจุบันได้อย่างไร
นอกจากนี้ฟรอยด์ยังพูดถึงลัทธิราชานิยมอีกด้วย หมอบอกว่าความรู้สึกศรัทธาในสถาบันการปกครองสูงสุดนั้น ไม่ว่าจะของประเทศใดก็ตาม เป็นความรู้สึกกำกวมที่มาพร้อมกับความอิจฉาและเกลียดชัง ความชื่นชมนั้นคือ Conscious prohibition (ข้อห้ามของจิตรู้สึกนึก) ซึ่งพยายามกด Unconscious Desire (ความปรารถนาของจิตใต้สำนึก) ยิ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (หรือสีใดสีหนึ่ง) เคลื่อนไหวอย่างเอิกเกริกเท่าไหร่ ก็จะยิ่งดลให้อีกฝ่ายลุกฮือด้วยความแรงเฉกเช่นกัน ส่วนที่ว่าทฤษฎีจิตวิเคราะห์ซึ่งถูกออกแบบมาให้ใช้กับปัจเจก คนไข้คนเดียวจะสามารถหยิบยกมาใช้กับทั้งสังคมได้อย่างแม่นยำสักแค่ไหน ทิ้งไว้ให้ขบคิดกันต่อเอง
อ่านจบแล้ว รู้สึกอยากให้ฟรอยด์เกิดเป็นคนไทย คงได้ผลิตงานวิชาการเจ๋งๆ มาให้เราอ่าน ให้เราวิเคราะห์สังคมบ้านเราอย่างลึกซึ้ง
S. O' Casey's "Three Dublin Plays"
แปลกจัง เวลาอ่านหนังสือหรือนิยายที่มีฉากเป็นเมืองดับลินหรือประเทศไอร์แลนด์ รู้สึกทุกทีว่าสังคมไอร์แลนด์เหมื๊อนเหมือนสังคมไทย ไอร์แลนด์จัดว่าเป็นประเทศที่พิกลอยู่ไม่น้อย คือเป็นประเทศเล็กๆ กำลังพัฒนาท่ามกลางมหาอำนาจยุโรป ในเชิงประวัติศาสตร์ นี่คือประเทศคุ้มดีคุ้มร้าย เดี๋ยวก็ตกเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ เดี๋ยวก็ได้รับอิสรภาพ จะว่าไปก็คงคล้ายๆ โปแลนด์ ต่างแต่คนอังกฤษไม่ใจหินทมิฬเท่าคนเยอรมัน รัสเซีย ไปยึดครองเขา ก็เผื่อแผ่ความเจริญให้เขาไปบ้าง ที่ไอร์แลนด์มีทุกวันนี้ได้ส่วนหนึ่งก็มาจากอิทธิพลของเจ้าโลก (ในอดีต) อย่างอังกฤษด้วย กระนั้นก็ไม่น่าแปลกใจนักหรอกที่คนไอร์แลนด์จะยังเกลียดคนอังกฤษจนถึงทุกวันนี้
ชาวไอร์แลนด์นั้นมีแนวคิดชาตินิยมสูงมาก เพราะไม่ว่าจะย้อนอดีตไปกี่ศตวรรษ ไอร์แลนด์ก็จะมีอังกฤษ เป็นประเทศศัตรูคู่แค้นให้รังเกียจรังชังได้เสมอ ใน Three Dublin Plays เราจะเห็นว่าตาสีตาสา ไม่มีการศึกษา ก็สามารถพูดพล่ามทำเพลงเกี่ยวกับการเมืองได้เป็นย่อหน้าๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเต็มไปด้วยวาทกรรมจำพวกอิสรภาพ หลุดจากความเป็นเมืองขึ้นอะไรทำนองนี้
ซึ่งอดคิดไม่ได้ว่าเหมือนประเทศเราจัง ความสัมพันธ์ระหว่างไอร์แลนด์และอังกฤษก็คล้ายๆ กับความสัมพันธ์ระหว่างไทยแลนด์และอเมริกา ประเทศไทยเจริญผิดหูผิดตาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ก็เพราะความช่วยเหลือจากอเมริกาเป็นหลัก และเพราะอย่างนี้เอง เราถึงได้เกลียดอเมริกานัก เราพยายามยกย่องและสร้างเอกลักษณ์ความเป็นชาติตัวเองขึ้นมา ซึ่งก็คงปฏิเสธได้ยากว่าไม่ใช่ยาขม ที่แฝงความรู้สึกเจ็บใจและอ่อนด้อยกว่าอีกฝ่ายหนึ่งอยู่ด้วย
(ความรู้สึกรักชาติของคนไทยไม่ต้องไปหาดูที่ไหนไกล มหาอมตะภาพยนตร์แห่งสยามประเทศที่จะสร้างออกมาสี่ห้าภาคก็เป็นเรื่องของการทำศึกสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน เราไม่ค่อยมีเรื่องเล่าของกษัตริย์นักพัฒนา นักการทูต หรือนักค้าขายอย่างพระนารายณ์ สมเด็จรัชกาลที่ 3 หรือกระทั่งสมเด็จรัชกาลที่ 5 ยิ่งทุกวันนี้ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะการพัฒนาประเทศ (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “การเมือง” ) ดูจะเอามาวางไว้ในประโยคเดียวกับสถาบันสูงสุดไม่ได้เอาเสียเลย)
ความเหมือนกันอีกอย่างระหว่างไอร์แลนด์และไทยแลนด์คือเรารู้สึกได้ถึงความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างชาวบ้านและปัญญาชน ต่างฝ่ายต่างดูหมิ่นดูแคลนกันและกัน ในนิยายของจอยซ์ ก็จะมีตัวละครอย่างสตีเฟน เดไดลัสผู้รู้สึกแปลกแยกจากสังคมรอบข้าง ในบทนำของ Three Dublin Plays ที่พูดถึงคนเขียน มีประโยคหนึ่งฮามากคือ “เฉกเช่นเดียวกับนักเขียนไอริชผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย [โอเคซี] ตอบแทนบ้านเกิดเมืองนอนด้วยการเผ่นหนีออกจากมันทันทีที่มีโอกาส” ตรงนี้ก็โยงกลับไปหาอาการชาตินิยมที่เกริ่นไว้ข้างต้น คือปัญญาชนไอร์แลนด์ที่ได้รับการศึกษาในระบบอังกฤษ สุดท้ายก็จะถูกมองว่าเป็นคนทรยศ และเข้ากับชาวบ้านชาวช่องไม่ค่อยได้
Three Dublin Plays ประกอบไปด้วยละครสามเรื่องของชอน โอเคซีคือ The Shadow of a Gunman, Juno and the Paycock และ The Plough and the Stars พูดถึงตัวเรื่องก็ธรรมดา แต่เราชอบอ่านบทสนทนาแลกเปลี่ยนระหว่างตัวละครมากๆ อ่านแล้วนึกขำ เหมือนได้เห็นบางอย่างที่คุ้นเคยแต่เปลี่ยนตัวผู้เล่นไป เหมือนเอาหนังไทยไปให้ฮอลลีวูดรีเมคอย่างไรอย่างนั้นเลย
P. Krugman's "The Conscious of a Liberal"
จริงๆ แล้วไม่ยากเท่าไหร่หรอกถ้าจะเล่าว่าครุกแมนเขียนถึงอะไรบ้างใน The Conscious of a Liberal ที่ยากและน่าขบคิดกว่าคือ เราจะรับและปรับสิ่งที่ครุกแมนเขียนมาใช้กับประเทศเรายังไงดี The Conscious of a Liberal พูดถึงที่มาที่ไปของสภาพการแบ่งขั้วการเมืองอเมริกาในปัจจุบัน เหตุใดนักการเมืองและประชาชนกลุ่มรีพับลิกันถึงได้เชื่อ คิด ทำ และโหวตแตกต่างจากเดโมแครตได้ขนาดนี้
ซึ่งโดยผิวเผินก็เหมือนว่าจะรับมาใช้กับสถานการณ์บ้านเราได้ง่ายๆ ตรงๆ ทำไมกลุ่มเสื้อเหลืองและเสื้อแดงถึงคิดต่างกัน และทำอย่างไรถึงจะสมานฉันท์คนสองกลุ่มนี้ เราจะพูดถึงต่อไปว่าทำไมบทเรียนที่ได้จาก The Conscious of a Liberal ไม่ควรจะรับมาใช้ตรงๆ แต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนพอสมควร
สมมติฐานเบื้องต้นของนักเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์คือ สภาพแบ่งขั้วทางการเมืองมาจากสังคมที่เหลื่อมล้ำกันสุดๆ ระหว่างคนรวยและคนจน เราสามารถแบ่งประวัติศาสตร์อเมริกาช่วงศตวรรษที่ 20 ได้เป็นสามช่วงคือ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งครุกแมนเรียกว่า Long Gilded Age เป็นช่วงที่คนรวยและคนจนในอเมริกาเหลื่อมล้ำกันมาก แม้ว่าทั้งประเทศจะร่ำรวยขึ้น แต่ช่องว่างก็ไม่มีทีท่าว่าจะยุบลงเลย ช่วงที่สองคือยุค New Deal ซึ่งรัฐบาลขยายตัวเก็บภาษีคนรวยเป็นเงินจำนวนมหาศาล นำไปสู่สังคมของชนชั้นกลาง ซึ่งในยุคนี้ชาวอเมริกาจะเท่าเทียมกันเกือบหมด และช่วงสุดท้ายคือตั้งแต่ยุคของโรนัล เรแกนเป็นต้นมา เศรษฐกิจกลับไปเป็นแบบ Long Gilded Age อีกครั้ง กฎหมายและเงื่อนไขที่ถูกตั้งขึ้นมาสมัย New Deal ค่อยๆ ถูกยกเลิกไปทีละข้อ และช่องว่างทางสังคมถ่างขึ้นๆ และผลจากความเหลื่อมล้ำนี้เองค่อยนำไปสู่สภาพแบ่งขั้วทางการเมือง
ใน The Conscious of a Liberal ครุกแมนถกเถียงจากมุมมองที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง เขาบอกว่าการเมืองต่างหากที่นำเศรษฐกิจ กล่าวคือฝ่ายขวา หรือกลุ่มรีพับลิกันที่ไม่พอใจกับนโยบายทางสายกลางของประธานาธิบดีไอเซนฮาวเวอร์ (ซึ่งจริงๆ แล้วสมควรเป็นประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกัน แต่ไอเซนฮาวเวอร์กลับไปสนับสนุน New Deal) ก็เลยตั้งกลุ่มแยกย่อยขึ้นมาเรียกว่า Movement Conservation และกลุ่มอนุรักษนิยมเคลื่อนไหวนี้เองที่เป็นพวกขวาตกขอบ ค่อยๆ ซ่องสุมอำนาจ และยึดครองการเมืองอเมริกาได้เป็นผลสำเร็จ
จุดที่เราชอบมากๆ คือครุกแมนให้ความสำคัญกับการเมืองและสังคมนำหน้าเศรษฐกิจ ในความเห็นเรา นักเศรษฐศาสตร์มักจะมี “นิสัยเสีย” อย่างคือชอบปล่อยให้เศรษฐกิจดำเนินไปตามวิถีตลาดหรืออะไรก็แล้วแต่ แล้วทิ้งให้นักรัฐศาสตร์และนักสังคมศึกษาไปนั่งวิเคราะห์กันเองว่าเศรษฐกิจแบบไหนนำไปสู่สังคมแบบไหนบ้าง ข้อเสนอของครุกแมนคือการทุบโต๊ะปัง แล้วบอกว่าแม้แต่นักเศรษฐศาสตร์ก็ต้องมีส่วนร่วมและรับผิดชอบในการสร้างสรรค์สังคมด้วย (เพราะสังคมมาก่อน ตลาดมาทีหลัง)
แต่จุดที่เราไม่ชอบและไม่เห็นด้วยคือครุกแมนดูจะให้ความสำคัญกับทฤษฎีสมคบคิดของกลุ่มอนุรักษนิยมเคลื่อนไหวมากเกินไป ถ้าตามสูตรของครุกแมนคือการเมืองนำหน้าสังคมแล้วค่อยนำไปสู่เศรษฐกิจอีกที แต่เราเชื่อว่าสังคมต่างหากที่นำหน้าการเมืองและทุกสิ่งทุกอย่าง ยกตัวอย่างเช่น การลุกฮือของฮิปปี้ช่วงทศวรรษที่ 60 ดูผิวเผินก็เหมือนจะเป็นการแสดงออกทางเสรีภาพ แต่ขณะเดียวกัน มันก็ก่อให้เกิดกระแสต่อต้าน และเรแกนก็คือนักการเมืองที่เกาะกระแสดังกล่าวปีนป่ายบันไดอำนาจ
กลับมาเรื่องเมืองไทย ถึงแม้ว่าเป้าหมายของ The Conscious of a Liberal จะเป็นการวิเคราะห์เพื่อลดทอนสภาพสองขั้วการเมืองในอเมริกา แต่เรากลับเห็นว่าสภาพสองขั้วการเมืองในประเทศไทยอาจจะเป็นสิ่งจำเป็นกับบ้านเราก็ได้ ที่ผ่านมาการเมืองไทยคือเรื่องของอุดมคติ นักการเมืองคนไหนที่ปากไม่พร่ำปาวๆ ๆ ในอุดมคติหนึ่งเดียวนั้น รับรองว่าไม่มีทางได้เกิด การที่เรามีสองขั้วอำนาจแบบนี้ ก็เป็นไปได้เหมือนที่จะนำไปสู่บทสนทนาทางการเมือง ซึ่งจะช่วยพัฒนาแนวคิดและช่วยให้ประชาธิปไตยแบบไทยๆ เติบโตต่อไปข้างหน้า
มีคำกล่าวหนึ่งที่ใครอ่านนิตยสารฝรั่งจะได้ยินบ่อยๆ คือ “ถ้าปล่อยวิกฤติให้สูญไปเปล่าๆ ก็น่าเสียดายยิ่งนัก” (“A crisis is a terrible thing to waste”) ถึงคำกล่าวนี้จะหมายถึงสภาพฟองสบู่แตก แต่มันก็น่าจะเอามาใช้กับการเมืองไทยได้เหมือนกัน ไหนๆ ตอนนี้เราก็ส่งนักแสดงสองคนขึ้นเวทีการเมืองแล้ว จะลากคนหนึ่งลงมาแล้วปล่อยให้อีกคนพร่ำบ่นโมโนลอคคนเดียวเหมือนที่ผ่านๆ มาก็คงน่าเสียดายอยู่ไม่น้อย
N. Marfouz's "Arabian Nights & Days"
Arabian Nights & Days คือภาคต่อของนิทานอาหรับราตรีที่เราคุ้นเคยกันดีนี่เอง มาฟอยซ์ตั้งคำถามได้น่าขบคิดมากๆ ว่า ถึงแม้ตอนจบของอาหรับราตรี พระเจ้าชาริยาจะกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี อยู่กินกับชาราด เจ้าหญิงนักเล่านิทานอย่างสงบสุข แต่ชาราดจะสามารถรักผู้ชายที่สังหารสตรีและผู้บริสุทธิ์เป็นร้อยๆ คนได้สักแค่ไหน และกษัตริย์ที่เหยียบย่างมาบนเส้นทางของซากศพและกองเลือดอย่างชาริยาจะยึดมั่นในคุณงามความดีได้จริงหรือเปล่า
มาฟอยซ์ใช้รูปแบบของนิทานอาหรับราตรีเล่าเรื่องราวต่อจากนั้น ถึงแม้มันจะถูกจัดว่าเป็นนิยาย แต่ Arabian Nights & Days คล้ายคลึงกับเรื่องสั้นหลายๆ เรื่องที่แบ่งฉากและตัวละครชุดเดียวกันมากกว่า นอกจากชาริยาและภรรยา ตัวละครเด่นอีกตัวคือกาซามา เขาเป็นตำรวจซึ่งรับสินบน โดยบอกตัวเองว่าเขาแค่ไหลไปตามระบบอันโสมมและทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา หลังได้พบกับจินีหรือยักษ์วิเศษ กาซามาตั้งใจกลับตัวเป็นคนดี เขาสังหารผู้บังคับบัญชาที่โกงกินปลิ้นปล้อน และก่อนจะถูกประหารชีวิต ยักษ์วิเศษช่วยเหลือกาซามาโดยการปั้นร่างมายาให้ถูกตัดหัวแทนตัวเขา และแปลงโฉมกาซามาเสียใหม่ เขากลายเป็นคนบ้าเร่ร่อนอยู่ในเมือง คอยผดุงความยุติธรรม และช่วยเหลือผู้อื่น
พูดตรงๆ เราก็จำไม่ค่อยได้เหมือนกันว่านิทานอาหรับราตรีมันมีอะไรบ้าง นอกจากเรื่องเด่นๆ อย่างอาลาดิน ซินแบด หรืออาลีบาบา ซึ่งถ้าจำได้คงอ่าน Arabian Nights & Days ออกรสออกชาติกว่านี้อีก เพราะมาฟอยซ์ดูตั้งใจเล่นกับการเอานิทานคลาสสิกมาเล่าใหม่อยู่พอสมควร (มีตัวละครชื่อซินแบดและอาลาดินอยู่ในนิยายเรื่องนี้ด้วย) โมทีฟหลักๆ นอกจากยักษ์วิเศษก็มีผ้าคลุมล่องหน แหวนวิเศษ ประตูที่ห้ามเปิด หรือกษัตริย์ที่ปลอมตัวออกไปสอดส่องดูความเดือนร้อนของผู้คน นอกจากจะเอานิทานปรัมปรามาดัดแปลงได้อย่างงดงามแล้ว มาฟอยซ์ยังผสานอะไรใหม่ๆ เข้าไปด้วยเช่น ปัญหาชนกลุ่มน้อย หรือการทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างสองชนเผ่า เสียดายที่ประเด็นเหล่านี้ไม่พัฒนาไปไหนนัก
มาระยะหลังๆ นี่เราชักเริ่มสนใจนิทานแล้วสิ โดยเฉพาะบทบาทของมันในประเทศโลกที่สามและประเทศที่พัฒนาแล้ว นักเขียนชาวยุโรป ไม่ว่าจะพยายามทำตัวเป็นนักตะวันออกนิยมแค่ไหน อย่างเฮสเส ก็ไม่ค่อยมีหรอกที่เอานิทานมาประกอบใช้ในงานเขียนของตัวเอง ขณะที่นักเขียนจากประเทศโลกที่สามอย่างรัชดีหรือมาฟอยซ์ดูจะชอบเล่นกับนิทานหรือตำนานเอามากๆ น่าขบคิดว่าในโลกตะวันตก ตำนานเหล่านี้มันหายไปไหน ถูกรวมเข้ากับศาสนา ถูกแทนที่ด้วยวิทยาศาสตร์ หรือว่าเส้นที่แบ่งระหว่าง "วรรณคดี" (หรือเรื่องแต่ง) กับเรื่องจริงมันชัดเจนกว่าในโลกตะวันออกกันแน่
T. L. Friedman's "Hot, Flat and Crowded"
เราชอบประโยคเด็ดของเจฟ แวคเกอร์ที่ไฟรด์แมนหยิบยกมาใน Hot, Flat and Crowded มากๆ เขาบอกว่า “อนาคตอยู่กับเราแล้ว เพียงแต่ว่ามันยังไม่แพร่หลายเท่านั้นเอง” แวคเกอร์หมายถึงเทคโนโลยีที่สามารถแก้ไขปัญหาโลกร้อนและเผด็จการน้ำมันได้ถูกคิดค้นขึ้นมาแล้ว เพียงแต่มันยังขาดกล้ามเนื้อทางนโยบายและการตลาดที่จะกระจายเทคโนโลยีเหล่านั้นไปสู่ผู้บริโภค
สุดท้ายทุกอย่างมันก็ลงเอยอยู่ที่วิชาเศรษฐศาสตร์ ทำให้เรานึกถึงข่าวที่เคยได้ยินมาสมัยเด็กๆ ว่าเนื้อไก่ล้นตลาด ซีพีเลยไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเอาไก่ไปทิ้งทะเล ด้วยความเป็นเด็ก เรานึกเสียดาย เนื้อไก่ที่เหลือๆ เอาไปเลี้ยงคนยากคนจนไม่ดีกว่าหรือ อย่างแย่สุดขนไปแจกหมู่บ้านผู้อดโซในทวีปแอฟริกาก็ยังดี พอโตมาแล้วถึงได้รู้ว่าทุกอย่างมันไม่ง่ายดายขนาดนั้น ถ้าเอาเนื้อไก่ล้นตลาดไปแจกคนยากคนจน ผู้ที่เดือนร้อนก็คือพ่อค้าไก่ที่ต้องทำมาหากิน ในทำนองเดียวกัน ปัญหาความด้อยพัฒนาในทวีปแอฟริกาไม่ได้เกิดจากการขาดแคลนเงินช่วยเหลือ แต่เพราะการโกงกินของนักการเมืองท้องถิ่นทำให้ไม่ว่าจะส่งเงินและสิ่งของไปเท่าใดก็ไม่เคยถึงมือผู้เดือนร้อนตัวจริงสักที
อย่างที่เราท่องจำกันมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ นั่นแหละ เศรษฐศาสตร์คือวิชาที่ศึกษาการแพร่กระจายของทรัพยากรอันจำกัดไปสู่ความต้องการของผู้คนซึ่งไม่มีขีดจำกัด หัวใจของมันคือการแพร่กระจาย ต่อให้นักวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรประดิษฐ์คิดค้นอะไรที่มันโดราเอมอนสักแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นรถแสงอาทิตย์ แผงควบคุมไฟฟ้าประหยัดพลังงาน หรือกังหันลมปั่นไฟถ้าขาดนโยบายทางการตลาดที่ดี เราก็จะไม่มีวันนำของวิเศษเหล่านั้นมาใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงๆ
ใครยังจำโทรศัพท์มือถือรุ่นแรกได้บ้าง เครื่องบักควายที่จะไปไหนมาไหนต้องถือแบตเตอรีขนาดเท่ากระเป๋าใบหนึ่งและตัวเครื่องเท่ากระเป๋าอีกใบหนึ่ง ถึงจะบอกว่าเป็นโทรศัพท์มือถือ แต่อย่างเก่งคือคนส่วนใหญ่ต้องทิ้งมันไว้ในรถ ดูจากสมัยนั้น ใครจะเชื่อบ้างว่ามันคือเทคโนโลยีแห่งอนาคต กระนั้นก็ตาม คนก็ยังซื้อใช้มัน และเพราะมีคนซื้อ มีตลาดนั่นเอง ทางบริษัทมือถือถึงสามารถเอาเงินทุนมาพัฒนาสินค้าต่อไปได้เรื่อยๆ ลองมองรอบตัวเราดู ไม่ว่าจะเป็นไอพอด อินเตอร์เนต (แรกสุดที่ต้องแย่งสายกับโทรศัพท์บ้าน) ไม่มีเทคโนโลยีตัวไหนหรอกที่เริ่มต้นมาอย่างสมบูรณ์แบบ ของวิเศษของโดราเอนมอนก็เฉกเช่นเดียวกันนั่นแหละ
Hot, Flat and Crowded เป็นหนังสือเศรษฐศาสตร์ยั่งยืนที่สมควรหามาอ่านกันมากๆ ไฟรด์แมนเถียงว่าเราไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจหรือการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่การพัฒนาทางเศรษฐศาสตร์ที่ยั่งยืนจะสามารถตอบโจทย์ได้ในทุกๆ เรื่อง เราสามารถแก้ไขปัญหาความยากจน ไปพร้อมๆ กับการลดภาวะโลกร้อนและการรักษาพันธุ์สัตว์ รวมไปถึงความมั่นคงทางด้านการเมืองด้วย
สำหรับคนอ่านกลุ่มเป้าหมายหลักของ Hot, Flat and Crowded ซึ่งเป็นประชาชนชาวอเมริกันนั้น หนังสือเล่มนี้คงไม่ต่างอะไรเท่าไหร่กับคำทำนายของนอสตราดามุส ในทศวรรษหน้า เทคโนโลยีแห่งโลกอนาคตคือพลังงานสะอาด นำกลับมาใช้ไหมได้ และไม่มีวันหมด ซึ่งในแง่นี้อเมริกาตามหลังประเทศยุโรปและญี่ปุ่นอยู่หลายขุม แม้กระทั่งประเทศจีนเองก็ไม่แน่เหมือนกันว่าอาจจะใช้พลังงานสีเขียวยึดครองตลาดโลก (ให้ทายว่าชาวจีนที่ร่ำรวยติดอันดับแปดของประเทศทำธุรกิจอะไร? คำตอบ ขายแผงโซลาเซลล์!) ถ้าชาวอเมริกันและรัฐบาลไม่ทำอะไรสักอย่าง นั่นหมายถึงการสิ้นสุดสถานภาพเจ้าโลกของประเทศอเมริกา
Hot, Flat and Crowded เปิดช่องทางให้เราได้เห็นโอกาสที่จะเสริมสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต แม้เราจะไม่มีพื้นฐานทางวิศวกรรมศาสตร์พอจะไปแข่งขันกับยุโรป ญี่ปุ่น หรือจีนในเรื่องพลังงานสีเขียว แต่เรามีป่าไม้ซึ่งสามารถใช้จำกัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เร็วๆ นี้เพิ่งได้อ่านบทความใน Times ที่พูดถึงอินโดนีเซียรักษาป่าไม้ในประเทศตัวเองและขายคาร์บอนเครดิตให้กับประเทศที่พัฒนาแล้ว ถ้าโครงการณ์นี้สำเร็จลงได้ เหตุใดจะเอามาใช้กับประเทศไทยไม่ได้เล่า
ผู้มีอำนาจครับ กรุณาตื่นตัวด่วน เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมนี่ต่างหากคืออินเตอร์เนตแห่งศตวรรษที่ 21 ประเทศไทยอยากจะมี google เป็นของเราเองหรือไม่
D. Lodge's "Author, Author"
นอกจากจะเป็นจิตรกรเอกที่คนเดินถนนทั่วไปรู้จักชื่อเสียงเรียงนามแล้ว แวนโก๊ะยังเป็นสัญลักษณ์ของศิลปินที่มีชีวิตยากลำเข็ญ แต่เมื่อตายไป รูปวาดของเขากลับขายได้ราคาเป็นล้านๆ เหรียญ แต่แวนโก๊ะไม่ใช่ศิลปินคนเดียวที่อาภัพเช่นนี้ เฮนรี เจมส์ผู้เขียนนิยายสุดคลาสสิกอย่าง The Portrait of the Lady, The Wings of the Dove และ The Turn of the Screw ก็ประสบความสำเร็จภายหลังจากตายไปแล้ว มากกว่าตอนยังมีชีวิตอยู่
ชีวิตของเฮนรี เจมส์ไม่หวือหวาเท่าแวนโก๊ะ นักเขียนไม่เคยไปหลงรักโสเภณี ทะเลาะกับเพื่อนจนต้องตัดหูตัวเองส่งไปเป็นของกำนัล (จริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นแค่ตำนานเท่านั้น) ถูกจับเข้าโรงพยาบาลบ้า และจบชีวิตตัวเองด้วยการฆ่าตัวตาย พูดให้ถูกคือชีวิตของเจมส์ไม่หวือหวาเลยต่างหาก นอกจากจะไม่เคยแต่งงานแล้ว เขายังรักษาสัตย์ความบริสุทธิ์ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์แม้แต่ครั้งเดียว เจมส์เป็นตาแก่สุภาพ ใจดี รักษามารยาท และมีเพื่อนฝูงมากมายทั้งในและนอกวงการ ลักษณะนิสัยตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิงกับนักเขียนร่วมรุ่นสองคนคือออสการ์ ไวลด์ และจอร์จ เบอนาร์ด ชอว์
ถึงจะมีปัญหาเรื่องเงินทองอยู่ตลอดเวลา แต่ชีวิตเขาไม่เคยกัดก้อนเกลือกินถึงขนาดแวนโก๊ะ ในส่วนนี้ก็ต้องถือว่าเจมส์โชคดีกว่ามาก แต่ขณะที่แวนโก๊ะเป็นศิลปินอิมเพรชชันนิสซึ่ง ว่าไปแล้วก็ยากจนถ้วนทั่วทุกตัวตน แวนโก๊ะจึงไม่ต้องเผชิญหน้ากับปีศาจร้ายในชีวิตของเจมส์ นั่นคือความอิจฉา เพื่อนสนิทของเจมส์ ดูมอร์เนีย เป็นนักวาดการ์ตูนที่ค่อยๆ สูญเสียสายตาลงไปอย่างช้าๆ ดูมอร์เนียคิดหาอาชีพอื่นมาทดแทนการวาดภาพ เขาจึงเริ่มจับปากกาเขียนนิยาย (จริงๆ คือดูนอร์เนียเป็นฝ่ายพูด แล้วเอมมา ภรรยาต่างหากที่จับปากกา) นิยายของดูมอร์เนียประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม Trilby กลายเป็นนิยายที่ขายดีที่สุดในโลก เป็นรองแค่ Bram Stoker’s Dracula เท่านั้น เจมส์ซึ่งในเวลาเดียวกันกำลังฝ่าขวากหนามกับอาชีพนักเขียนบทละครของตัวเอง จึงอดไม่ได้ที่จะอิจฉาริษยาเพื่อนที่ตัวเองรักที่สุดในโลก
นิยายที่มีตัวเอกตัวละครหลักเป็นนักเขียนนั้นน่าจะเป็นนิยายที่เขียนยากที่สุด เพราะมันอดไม่ได้เลยที่นักอ่านจะเปรียบเทียบมันกับผลงานจริงๆ ของนักเขียนในนิยาย ยิ่งที่เดวิด ลอจมาจับเอาเฮนรี เจมส์เป็นตัวเอกนั้น ต้องถือว่าโคตรท้าทายเลย เพราะในโลกนี้คงไม่มีใครเลียนแบบภาษาของเจมส์ได้อีกแล้ว อย่างไรก็แล้วแต่ ลอจประสบความสำเร็จอย่างงดงามกับ Author, Author เจมส์เป็นตัวละครที่น่ารัก น่าสงสาร แต่ก็เต็มไปด้วยความขัดแย้งมากที่สุดคนหนึ่ง เขาไม่รังเกียจกิจกรรมรักร่วมเพศ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ชอบให้คนอย่างออสการ์ ไวลด์ออกมาเรียกร้องให้สังคมเปิดเผยและยอมรับผู้ชายเพศที่สาม แน่นอนว่าคนปัจจุบันอย่างเรา ที่เกิดหลังเจมส์ร้อยกว่าปี ไม่เห็นตรงกันกับความคิดนี้ แต่มันก็สะท้อนความแตกต่างระหว่างศตวรรษที่ 19 และ 20 เฮนรี เจมส์คือศิลปินศตวรรษที่ 19 ส่วนออสการ์ ไวลด์คือต้นกำเนิดของลินเซ โลฮัน บริทนี สเปียร์ ปาริส ฮิลตัน ฟิฟตีเซนต์ หรือเลดีกาก้า พวกที่ตั้งใจใช้ความฉาวโฉ่เพื่อขายผลงานโดยอาจจะมีหรือไม่มีฝีมือจริงๆ ก็ได้ (ระหว่างสองสุดโต่งนี้ก็เช่นมาดอนนาหรือแอนดี วาฮอล์ คนที่มีฝีมือแต่ขณะเดียวกันก็ไม่อายที่จะหากินกับชื่อเสีย)
ประเด็นหลักของ Author, Author ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าความสำเร็จที่นอกเหนือไปจากการสร้างผลงานดีๆ (เช่นการมีชื่อเสียงโด่งดัง หรือเงินทองไหลมาเทมา) เป็นเพียงของนอกกาย และร้ายที่สุดมันอาจต้องจ่ายด้วยราคาของความทุกข์ยากเช่นกรณีของดูมอเนียร์เลยก็ได้ Trilby กลายเป็นนิยายที่ถูกลืม ขณะที่ผลงานของเจมส์ต่างหากที่เป็นอมตะ (เรารู้สึกว่าลอจจงใจพยายามประสานปมให้นิยายจบดี เขาแสดงให้เห็นว่าในตอนจบเฮนรี เจมส์ได้เปลี่ยนแปลงตัวเอง และขับไล่ปีศาจแห่งความริษยาออกไปให้พ้นๆ ตัว แต่เมื่อดูจากชีวประวัตินักเขียน และความพยายามฆ่าตัวตายภายหลังจากเหตุการณ์ใน Author, Author บางอย่างคงเป็นปีศาจร้ายที่อยู่คู่กันกับชีวิตของศิลปินไปตราบจนวันสิ้นลมหายใจ)
W. Kamkwanba's "The Boy Who Harnessed the Wind"
บางครั้งก็ต้องยอมรับว่าเรื่องง่ายๆ นี่แหละคือเรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแล้ว The Boy Who Harnessed the Wind คือเรื่องง่ายๆ ของเด็กชายชาวมาลาวีคนหนึ่งชื่อคามความบา เขามาจากครอบครัวที่ยากจนในประเทศที่แสนยากจนในทวีปแอฟริกา เนื่องจากพ่อไม่มีเงินจะส่งเขาเรียนต่อ คามความบาเลยทดแทนความน้อยเนื้อต่ำใจนั้นด้วยการยืมหนังสือจากห้องสมุดมาอ่าน เกี่ยวกับวิชาฟิสิกส์และวิศวกรรมไฟฟ้าขั้นพื้นฐาน จนในที่สุดก็เกิดความคิดที่จะประดิษฐ์กังหันลมปั่นไฟฟ้าขึ้นมาเองจากเศษขยะ
นี่คือเรื่องย่อที่เราหาอ่านได้จากปกหลัง หนังสือจริงๆ ก็ไม่ได้ต่างจากเรื่องย่อตรงนี้เท่าไหร่ แต่สำหรับเรื่องที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้แล้ว ต่อให้ไม่มีอะไรออกมาให้เราแปลกใจเลย ก็ยังต้องยอมรับว่า The Boy Who Harnessed the Wind เป็นหนังสือที่ยิ่งใหญ่มากๆ สมแล้วกับที่มันติดอันดับสิบเล่มยอดฮิตของอเมซอน
ถ้าบอกว่าไม่มีอะไรให้เราแปลกใจเลย ก็ไม่ใช่เสียทีเดียว ยอมรับว่าก่อนจะอ่าน ตัวเองแอบคิดนิดๆ ว่าแค่สร้างกังหันลมได้ไม่เห็นเก่งกาจสักเท่าไหร่เลย พอมาอ่านจริงๆ ถึงรู้ว่าไม่ใช่ว่ากังหันลมเท่านั้น แม้แต่ทรานซิสเตอร์ซึ่งเป็นเครื่องมือที่เปลี่ยนกระแสสลับให้เป็นกระแสตรง หรือคัทเอาท์ที่ใช้ตัดไฟไม่ให้เกิดอัคคีภัยกรณีลวดทองแดงพันกัน (ซึ่งสำคัญมากกับระบบไฟฟ้าสร้างเองที่เอาชิ้นส่วนขยะมารีไซเคิลแบบนี้) คามความบาก็สร้างขึ้นมาทั้งหมดด้วยตัวเอง อันนี่ซิ เรายอมรับว่าแน่จริงๆ เขาไม่ใช่แค่นักประดิษฐ์ที่ลอกตามต้นแบบในหนังสือเท่านั้น แต่ยังเข้าใจถึงกลไกที่อยู่เบื้องหลังสิ่งประดิษฐ์ของตัวเองด้วย
นอกจากจะเป็นนักประดิษฐ์ผู้มีพรสวรรค์แล้ว คามความบาเองก็เป็นนักเล่าเรื่องที่มีความสามารถไม่น้อย การผสมผสานนิทานพื้นเมืองเข้ากับชีวประวัติตัวเองและสังคม ช่วยให้เราเห็นภาพบ้านเมืองของประเทศมาลาวีได้อย่างชัดเจนขึ้น แถมเจ้าตัวเองก็ดูจะรุ่มรวยอารมณ์ขันไม่น้อย ขนาดช่วงที่เล่าถึงความอดโซยากลำบาก ก็ยังอุตส่าห์หยอดมุกตลกเป็นระยะ นี่คือหนังสือที่อ่านแล้วไม่เบื่อเลยสักนิด ส่วนหนึ่งก็ต้องยกผลประโยชน์ให้ไบรอัน มิลเลอร์ ผู้เขียนอีกคนด้วย หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องผ่านสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง ดังนั้นคงเป็นคามความบาให้สัมภาษณ์ แล้วมิลเลอร์เอามาถอดเทปอีกที ก็นับว่าเขาให้เกียรตินักเขียนดีเหมือนกัน ถ้าเป็นบ้านเรามิลเลอร์คงได้เป็นแค่โกสไรท์เตอร์ ไม่มีชื่อขึ้นปกแบบนี้หรอก
เห็นรูปคามความบาที่ตัวเองเอามาแปะข้างบนแล้วก็อดชื่นใจไม่ได้ ในที่สุดเด็กคนนี้ก็ได้ทุนการศึกษาไปเรียนต่อวิทยาศาสตร์สมกับที่ตัวเองตั้งใจ ขอเป็นกำลังใจให้ก็แล้วกัน ขอบคุณมากๆ ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าแค่หนังสือในห้องสมุดก็เปลี่ยนแปลงชีวิตคนคนหนึ่งหรือผู้คนทั้งสังคมได้
F. Taylor's "The Berlin Wall"
หรือว่าเรื่องบางเรื่องมันเหมาะที่จะเป็นเรื่องจริงมากกว่าจริงๆ ด้วย
ในบทแรกของ The Berlin Wall พูดถึงสถานการณ์ในประเทศเยอรมันภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สดๆ ร้อนๆ ระหว่างที่เราอ่านบทนี้ก็บังเกิดความรู้สึกประหลาด คลับคล้ายคลับคลาแต่กลับไม่คุ้นเคย ประหนึ่งเหมือนกำลังชมภาคต่อของภาพยนตร์บางเรื่องซึ่งเราไม่รู้จักชื่อ หรือถ้าพูดให้ถูก นี่คือภาคต่อของ “ภาพยนตร์ทุกเรื่อง” ก็ว่าได้ น่าประหลาดใจมากๆ ว่าขณะที่เหตุการณ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกนำมาสร้างเป็นหนังไม่รู้กี่เรื่องต่อกี่เรื่อง มีตั้งแต่หนังสงครามเน้นความกล้าหาญของฝ่ายสัมพันธมิตร หนังที่แสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายของการฆ่าฝัน หนังว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว มีกระทั่งหนังตลกอย่าง Life is Beautiful จนไปถึงหนังอย่างแสบๆ คันๆ อย่าง Inglourious Basterds และหนังที่พูดถึงความพ่ายแพ้ผ่านสายตาคนเยอรมันอย่าง Downfall
แต่แทบไม่มีหนังเรื่องไหนหรือหนังสือเล่มใดเลยพูดถึงเหตุการณ์หลังสงคราม เราในฐานะมนุษย์ที่เติบโตมากับสื่อ ก็เลยเกิดความเข้าใจผิดๆ ว่าทันทีที่ฮิตเลอร์ตาย ทุกอย่างแฮปปี้เอนดิ้ง สงครามสิ้นสุด ชาวเยอรมันกลับมาเป็นคนดีเหมือนเดิม ทุกประเทศในยุโรปเซนต์สัญญาสันติภาพกันด้วยรอยยิ้ม เพราะฉะนั้นสารภาพเลยว่าแปลกใจมากๆ เมื่อพบว่าสถานการณ์ของชาวเบอร์ลิน เมื่อรถถังโซเวียตเข้ามาเหยียบย่ำเมืองหลวงของประเทศเยอรมัน คือนรกดีๆ นี่เอง ผู้ชายถูกฆ่าตาย ผู้หญิงถูกข่มขืน ที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นคือผู้นำคอมมิวนิสต์ชาวเยอรมันที่ถูกส่งให้มาปกครองประเทศ กลับไม่รู้ไม่เห็นการฆ่าฟันทำลายล้างประชาชนของตัวเอง
แต่ท่ามกลางความโหดร้าย ก็มีความกล้าหาญอยู่ด้วย เมื่อฝ่ายโซเวียตตัดการคมนาคมและพลังงานในเขตปกครองของอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศสในเมืองเบอร์ลิน ด้วยความหวังจะบีบให้ทั้งสามประเทศละทิ้งเมืองนี้ไปอยู่ในอุ้งมือของคอมมิวนิสต์ เลยเกิดเป็นปฏิบัติการขนส่งทางอากาศ โดยนักบินชาวอเมริกันขับเครื่องบินรบผ่านเข้าไปในเขตปกครองของโซเวียต เพื่อนำเอาอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภคไปมอบให้แก่ชาวเยอรมัน โดยฝ่ายโซเวียตเองก็ส่งเครื่องบินเข้ามาก่อกวน ซึ่งแม้จะไม่อาจใช้กระสุนปืนหรือหัวรบยิงเข้าใส่กันตรงๆ แต่ก็มีการขับเครื่องกายกรรมกลางอากาศเพื่อก่อกวน เรื่องแบบนี้นี่ไม่ตื่นเต้นพอหรืออย่างไร ฮอลลีวูด!
(สารภาพความโง่ของตัวเองอย่างหนึ่งคือ เข้าใจมาตลอดว่ากำแพงเบอร์ลินแบ่งเมืองเป็นสองส่วน ซึ่งพอดีกับเส้นที่แบ่งเขตประเทศเยอรมันเป็นตะวันตกและตะวันออก จริงๆ แล้วเบอร์ลินตะวันตกเป็นเพียงพื้นที่เล็กๆ ซึ่งจมอยู่ในเยอรมันตะวันออก ใครอยากไปเบอร์ลินในสมัยนั้นจริง ถ้าไม่นั่งรถไฟผ่านเขตโซเวียต ก็คือต้องบินเข้าไปเท่านั้น เลยมีคนตั้งฉายามันว่า “The Surreal Cage” เป็นกรงที่ถูกล้อมรอบด้วยประเทศคอมมิวนิสต์ แต่ก็เป็นกรงที่มีอิสระยิ่งกว่าภายนอก)
The Berlin Wall เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ครึ่งศตวรรษขนาดย่นย่อ เล่าเรื่องตั้งแต่ภายหลังสงครามโลกใหม่ๆ จนไปถึงการแบ่งเมืองเบอร์ลิน การสร้างกำแพง และไปจบที่การถล่มกำแพง (ซึ่งก็เพิ่งเฉลิมฉลองครบรอบยี่สิบปีไปเมื่อเร็วๆ นี้เอง รู้สึกตัวเองแก่จัง) นอกจากจะได้ความรู้แล้ว ยังเป็นหนังสือที่อ่านเพลินและอ่านสนุกมากๆ จริงๆ ประวัติศาสตร์ช่วง “สันติภาพ” แบบนี้มีอะไรน่าสนใจกว่าสงครามเป็นไหนๆ คนเราก่อและเฉลิมฉลองสงครามกันไม่พอหรืออย่างไร น่าจะหันมาสร้างสรรค์งานศิลปะเกี่ยวกับสันติภาพดูบ้าง ดีไหม
แสงแดดอบร่ำสายฝนพรำห่ม (r.o.d.)
แสงแดดอบร่ำสายฝนพรำห่ม ทำให้เรานึกถึงเรื่องสั้นหนึ่งที่โปรดมากๆ ของคุณกนกพงศ์ จำไม่ได้แล้วว่าชื่อเรื่องอะไร รู้แต่ว่าอยู่ใน ราหูอมจันทร์ เล่มแรก ว่าด้วยตัวละครนักเขียนที่เบื่อหน่ายกับการเขียนเรื่องสั้นเพื่อชีวิตแบบเดิมๆ พูดถึงความยากลำบากแบบเดิมๆ ของชาวนาชาวไร่ที่ไม่รู้ว่าพูดกันมากี่ร้อยพันเที่ยวแล้ว แต่สุดท้ายก็ต้องจำยอมเล่าเรื่องความทุกข์ของชาวสวนตาล นี่คือตัวอย่างเรื่องสั้นเพื่อชีวิตยุคใหม่ที่นอกจากจะพยายามตอบโจทย์คลาสสิคของเพื่อชีวิต (นั่นคือการสะท้อนภาพความเป็นอยู่อันแร้นแค้นของคนต่างจังหวัด) ยังตระหนักดีถึงความล่าหลังของ genre ตัวเอง ที่นับวันจะกลายเป็นโบราณวัตถุเข้าไปทุกขณะ จุดที่ดีมากของเรื่องสั้นนี้คือเมื่อเอาสองประเด็นมารวมกัน มันบังเกิดประเด็นที่สาม สี่ขึ้นมาว่า นักเขียนก็พูดพร่ำกันแต่เรื่องเดิมๆ มาเกือบครึ่งศตวรรษแล้ว แต่บ้านเมืองก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง ซ้ำร้ายพื้นที่ทางวรรณกรรมของคนยากคนจนดูจะกลายเป็นของตกยุคสมัยขึ้นทุกวันๆ (เรื่องบางเรื่องเหมาะที่จะเป็นเรื่องจริงมากกว่า ของคุณจำลองก็มีลูกเล่นคล้ายๆ กันนี้)
ถึงจะบอกว่า แสงแดดอบร่ำสายฝนพรำห่ม เตือนให้เรานึกถึงเรื่องนั้น แต่ก็คงพูดได้ไม่เต็มปากหรอกว่านี่คือจุดประสงค์ของผู้เขียน บางทีนี่อาจจะเกิดจากการอ่านไม่แตกของเราเอง ปัญหาหลักของ แสงแดดอบร่ำสายฝนพรำห่ม คือพออ่านจบ เราก็อดไม่ได้ที่จะรำพึงกับตัวเองว่า “เออ เรื่องของแม่ใหญ่มันไม่น่าเล่าจริงๆ ด้วยแฮะ” ความแตกต่างระหว่าง แสงแดดอบร่ำสายฝนพรำห่ม กับเรื่องสั้นของคุณกนกพงศ์หรือ เรื่องบางเรื่องเหมาะที่จะเป็นเรื่องจริงมากกว่า อยู่ตรงที่เรื่องน่าเบื่อหน่าย เรื่องที่เหมาะจะเป็นเรื่องจริง (แต่ไม่เหมาะจะเป็นเรื่องแต่ง) นั้น พอผู้เขียนเล่าออกมา กลับจับใจและกระชากคนอ่านได้อย่างอยู่หมัด ในขณะที่เรื่องของแม่ใหญ่ ก็เป็นดังเช่นที่ “ผม” เตือนเอาไว้จริงๆ คือไม่ได้มีสีสันหรือความน่าสนใจขนาดนั้น เราเห็นต่างจากคุณอนุสรณ์ตรงปัญหาของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ความเป็น “direct approach” เสียทีเดียว ถ้าพูดถึงฝีมือคนเขียนแล้ว ดูจากเรื่องสั้นนี้และเรื่องอื่นๆ ต่อให้เป็น "direct approach" ก็น่าจะใส่อารมณ์ เล่าเรื่องของแม่ใหญ่ให้น่าตื่นเต้นหรือน่าติดตามได้ไม่ยาก แต่เหมือนคนเขียนจงใจเล่าผ่านๆ อย่างไรไม่ทราบ
อย่างที่บอก เราไม่แน่ใจจริงๆ ว่าอะไรคือจุดประสงค์ของเรื่องสั้นนี้ เราคิดว่ามันมีศักยภาพที่จะเป็นเรื่องสั้นเพื่อชีวิตยุคใหม่ ซึ่งนอกจากจะสะท้อนสังคมชนบทแล้ว ยังจิกกัดวงการน้ำหมึกไปด้วย (ชอบมากตอน “ผม” หยิบยกเอาคำบาลีขึ้นมา ดูมันช่างเลอะเทอะและห่างไกลจากความเป็นจริงนัก) มีอีกจุดหนึ่งที่อยากแนะนำผู้เขียนคือ เท่าที่อ่านดู “ผม” เหมือนจะเป็นลูกชายคนเดียวที่มีการศึกษาสูงกว่าใครเขาในบ้าน ตรงนี้น่าสนใจว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร และส่งผลกระทบอย่างไรต่อความรู้สึกและปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว
ทำไมเราถึงไม่อ่าน SuperFreakonomics
ต้องอธิบายกันก่อน เพราะเหมือนคราวที่แล้วพูดไว้ไม่ค่อยละเอียด Freakonomics เป็นหนังสือเศรษฐศาสตร์สำหรับบุคคลทั่วไป เลวิทและดับเนอร์เจาะปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวันด้วยกลวิธีทางเศรษฐศาสตร์และวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ว่า “ภูมิปัญญา” ไม่จำเป็นต้องถูกเสมอไป SuperFreaknomics คือ “ภาคต่อ” ของเล่มที่แล้ว เป็นหนังสือที่เราจะไม่อ่านทั้งเล่มและสัญญากับตัวเองว่าจะไม่อ่านอะไรอีกแล้วที่เลวิทและดับเนอร์เขียนไปตลอดกาล!
ก็เข้าใจละนะว่าสำหรับนักเศรษฐศาสตร์ที่ต้องการสวนกระแส ไม่ช้าก็เร็วคงหนีไม่พ้นที่จะพูดถึงปรากฏการณ์โลกร้อน ทั้งที่ทำใจไว้แล้วว่าอ่านบทนี้จะต้องโกรธแน่ๆ แต่ก็รับไม่ได้จริงๆ กับ What Al Gore and Pinatubo have in Common นี่คืองานเขียนที่ไม่ได้มาตรฐานทางวิชาการ เต็มไปด้วยการบิดเบือนความจริงเพื่อสวนกระแสมากกว่าจะพิจารณาปัญหาด้วยเหตุและผล ซึ่งน่าเสียดาย เพราะลึกๆ แล้วเราเห็นคุณค่าบางอย่างในบทความนี้
น่าสังเกตว่าพวกที่ไม่เชื่อในปรากฎการณ์โลกร้อน (Global Warming Contrarian) มักจะไม่ได้ไม่เชื่อจริงๆ จังๆ แต่ยอมรับไม่ได้มากกว่าที่ “ฝ่ายตรงข้าม” ลุกขึ้นมาพูดหรือเสนอวิธีแก้ปัญหานี้ก่อนตัวเอง ตั้งแต่กลุ่ม Objectivist ที่เราไปฟังสัมนามาจนถึง SuperFreakonomics สิ่งที่เหมือนกันคือคนเหล่านี้จะเริ่มจาก (1) ปฏิเสธว่าปรากฎการณ์โลกร้อนไม่ได้เกิดขึ้นจริง จากนั้นก็พูดต่อไปว่า (2) แต่ถ้ามันมีจริงเรามีวิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่าที่นักอนุรักษ์ พรรคเดโมแครต หรืออัลกอร์เสนออยู่ในขณะนี้ ซึ่งก็ชวนให้สงสัยยิ่งนักว่า ในเมื่อพวกเขาไม่เชื่อในปรากฏการณ์โลกร้อนตั้งแต่แรก ทำไมถึงต้องเสนอวิธีแก้ปัญหาด้วย
จริงๆ พฤติกรรมสองมาตรฐานแบบนี้อธิบายได้ไม่ยาก สาเหตุก็ด้วยเหตุผลทางการเมือง พรรครีพับลิกัน กลุ่ม Objectivist หรือนักเศรษฐศาสตร์หัวเอียงขวาจัดอย่างไรเสียก็ยอมรับไม่ได้ว่า “ฝ่ายตรงข้าม” ถูก แม้ว่าลึกๆ จะจนด้วยเหตุผลเพียงใดก็ตาม ขณะเดียวกันปัญหาโลกร้อนก็เป็นปัญหาที่ ในทางสุดโต่งแล้ว มีผลกระทบรุนแรงจนไม่มีใครอยากถูกพิสูจน์ว่าตัวเองผิดเข้าสักวันหนึ่ง แม้แต่เลวิทและดับเนอร์ที่อ้างมาตลอดว่าใช้เหตุและผลเพื่อต่อสู้กับ “ภูมิปัญญา” สุดท้ายก็ยังตกอยู่ในกับดักที่ว่า
ขอพูดถึงประเด็น (1) ก่อนก็แล้วกัน สำหรับคนที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ ต้องอธิบายก่อนว่าในแวดวงวิชาการนั้นไม่ได้มีนักวิทยาศาสตร์คนเดียว ศึกษาปัญหาข้อเดียว ด้วยกลวิธีและแบบจำลองเดียว และเอาผลการทดลองเดี่ยวๆ นั้นมาเสนอต่อหน้าสาธารณชน แม้ธรรมชาติจะมีคำตอบเดียว แต่แวดวงวิชาการก็เหมือนสังคมไหนๆ ของมนุษย์ เต็มไปด้วยผู้คนที่มีความคิดและพื้นฐานหลากหลาย พวกเราวิจัยปัญหาหนึ่งๆ ด้วยกลวิธีที่แตกต่างกันและในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า ปรากฎการณ์โลกร้อนนั้นเกิดขึ้นจริง โดยมีปัจจัยหลักคือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นผลมาจากกิจกรรมของมนุษย์
แต่ไม่ได้หมายความว่าผลการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ทุกคนจะต้องออกมาตรงกัน ข้อความที่ปฏิเสธประโยคซึ่งเน้นตัวหนาข้างบนเหมือนบอกว่า “บุหรี่ไม่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง” ซึ่งแน่นอนว่าจากห้องทดลองทางการแพทย์ร้อยพันหมื่นแห่งทั่วโลก มันจะต้องมีสักห้องหนึ่งสิน่าที่ให้ผลตรงข้ามกับข้อสรุปตรงนี้
สิ่งที่เลวิทและดับเนอร์พยายามทำ ซึ่งเป็น “ความไร้มาตรฐานทางวิชาการ” คือการมองความจริงแบบแยกย่อย โดยเพิกเฉยกับภาพรวม ทั้งคู่มุ่งประเด็นไปที่นักวิทยาศาสตร์ไม่กี่คนซึ่งมีความเห็นขัดแย้งกับกระแสหลัก ไม่เพียงเท่านั้น ทั้งคู่ยังจับเอาคำพูดแค่ไม่กี่คำจากบริบทใหญ่เพื่อนำมาใช้เสริมสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ศาสตราจารย์คาลไดราหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่ทั้งคู่สัมภาษณ์ถึงกับออกมากล่าวในภายหลังว่า “คุณนั่งคุยใครทั้งวัน พูดอะไรต่อมิอะไรออกไปมากมาย มันก็ต้องมีบ้างแหละ บางคำพูดที่พอแยกออกมาจากบริบทแล้ว ฟังดูตรงข้ามกับสิ่งที่คุณเชื่อ” (คาลไดราสารภาพว่าไม่ได้อ่านต้นฉบับ SuperFreaknomics อย่างละเอียดก่อนตีพิมพ์ เขารู้สึกว่าภาพตัวเขาที่ถูกนำเสนอในหนังสือเล่มนี้ขัดแย้งกับสิ่งที่เขาเป็นหรือเชื่อจริงๆ )
ว่ากันตรงๆ ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนไหนหรอกที่เห็นตรงกันเปี๊ยบกับข้อสรุปส่วนใหญ่ เหมือนกับบอกว่า “โดยเฉลี่ยแล้วนักเรียนทั้งห้องสูง 150 เซนติเมตร” แต่กลับไม่มีนักเรียนคนไหนเลยในห้องที่สูง 150 เซนติเมตรพอดี อย่างนี้แสดงว่าข้อความในอัญประกาศเป็นเท็จอย่างนั้นหรือ นี่คือ “ความไร้มาตรฐานทางวิชาการ” ที่น่าละอายคือมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยมากๆ กับวิชาเศรษฐศาสตร์ แต่เลวิทและดับเนอร์กลับมากระทำบาปตัวนี้เสียเอง
น่าเสียดายเพราะประเด็น (2) ซึ่งทั้งคู่หยิบยกมาก็น่าใคร่ครวญอยู่ไม่น้อย วิธีแก้โลกร้อนไม่ใช่ด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค (ซึ่งในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์ ทั้งคู่บอกว่ามัน “เป็นไปไม่ได้”) แต่ด้วยกระบวนการ Geo-engineering หรือการขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศโดยตรง เช่นการฉีดสารที่ไม่เป็นอันตรายเข้าไปในชั้นบรรยากาศเพื่อเป็นร่มกันรังสีจากดวงอาทิตย์ ข้อถกเถียงที่ทั้งคู่ยกมาก็คือ “หากว่าปัญหาโลกร้อนรุนแรงถึงขนาดที่อัลกอร์หรือนักอนุรักษ์อ้างเอ่ยจริง คงไม่มีประโยชน์อะไรแล้วที่จะมาลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทางแก้ไขเดียวก็คือ Geo-engineering เท่านั้น” Geo-engineering จัดว่าเป็นประเด็นร้อนประเด็นหนึ่งเลยในหมู่นักอุตุนิยมวิทยา แม้แต่ใน ICCP เอง (คณะนักอุตุนิยมวิทยาที่ได้รางวัลโนเบลร่วมกับอัลกอร์) ก็ยังมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ส่วนตัวแล้วเราอยู่ตรงกลางแต่กว่าจะไปถึงขั้นนั้นได้
(1) เราต้องยอมรับกันก่อนว่าปรากฏการณ์โลกร้อนมีจริง
(2) เราต้องยอมรับข้อมูลและการทดลองของนักวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ปรากฏการณ์โลกร้อน (มิเช่นนั้นก็ไม่มีความหมายอะไรที่จะให้คนกลุ่มเดียวกันนี้มาศึกษา Geo-engineering กระบวนการที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อนยิ่งกว่า Global Warming หลายเท่า)
ซึ่งเลวิทและดับเนอร์ล้มเหลวในสองข้อนี้
เรารู้ได้ว่าใครคนหนึ่งผิดจริง ไม่จริงก็เวลาฟังเขาแก้ตัว ดับเนอร์ออกมาโต้ตอบกับหลายคนที่ชี้จุดผิดพลาดใน What Al Gore and Pinatubo have in Common ซึ่งวิธีการโต้ตอบของดับเนอร์ก็คืออ้างว่าเขาไม่เคยนำเสนอ (1) ประเด็นหลักของ What Al Gore and Pinatubo have in Common มีแค่ (2) เท่านั้น ใครที่ได้อ่านบทความใน SuperFreakonomics น่าจะลงความเห็นเหมือนกันหมดว่าคำแก้ตัวนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับผู้สนใจ
- หาอ่านคำแก้ตัวของดับเนอร์ได้ที่ "ลิงค์นี้"
- ตัวอย่างบทความโต้ตอบ What Al Gore and Pinatubo have in Common ไปที่ "ลิงค์นี้"
- สำหรับคนที่สนใจว่าดับเนอร์และเลวิทปฏิเสธปรากฏการณ์โลกร้อนด้วยวิธีไหนบ้าง หาอ่านได้ที่ "ลิงค์นี้" ซึ่งมีคำโต้ตอบประกอบมาด้วย
D. Adam's "Last Chance to See"
"If you think education is expensive, try ignorance"/"ถ้าคุณคิดว่าการศึกษามันแพงนัก ก็ลองโง่ดูสิ"
นี่คือวาจาอมตะของเดริค บอค นักการศึกษาชาวอเมริกัน ผู้กำกับเคยปริ๊นเอามาติดไว้หน้าโต๊ะทำงาน เราเองก็ชอบมากๆ เหมือนกัน ที่ยกมาไว้ตรงนี้เพราะคิดว่ามันสรุปหัวใจของหนังสือ Last Chance to See ได้ดียิ่งนัก นี่คือรวมบทความกึ่งสารคดีท่องเที่ยวของดักลาส อดัม ผู้โด่งดังจากนิยายชุด The Hitchhiker's Guide to the Galaxy ใน Last Chance to See อดัมและมาร์ค คาวาดีน นักสัตววิทยาออกเดินทางไปทั่วโลกเพื่อเก็บข้อมูลของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ณ สถานที่ต่างๆ
มือระดับอดัมเขียนหนังสือนี่ เรื่องขำน่ะขำแน่ๆ นอกจากนี้ Last Chance to See ยังนำเสนออีกหลายประเด็นที่ลึกซึ้งมากๆ เฉกเช่นในคำพูดของเดริค บอค บางครั้งสิ่งที่เรารู้สึกเหมือนมันไม่มีคุณค่า ไม่มีราคาอะไร เช่นการศึกษาหรือการอนุรักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ถ้าเรามองข้ามสิ่งเหล่านี้ ราคาที่ต้องจ่ายอาจจะแพงเสียยิ่งกว่า ในตอนจบของหนังสือ อดัมยกนิทานปรัมปรามาเรื่องหนึ่ง ดีมากๆ ดีโคตรๆ อ่านแล้วทั้งน้ำตาซึม ทั้งหัวเราะไม่ออก อยากจะแปลมาไว้ตรงนี้ แต่กลัวเสียของ
จะว่าไปนี่คืออาการปรกติของเราในการอ่านหนังสือเล่มนี้ ทั้งขันก็ขัน ทั้งเศร้าก็เศร้า อย่างตอนที่อดัมพูดถึงคาคาโป นกแก้วยักษ์ที่บินไม่ได้ (รูปแปะข้างบน) อดัมอธิบายว่าสัตว์ประเภทนี้โชคร้ายเพราะมันไม่มีภาษาใช้สื่อสาร เมื่อคาคาโปตัวหนึ่งเผชิญหน้ากับสัตว์ล่าเหยื่อที่มาจากภายนอกระบบนิเวศ แม้มันจะหนีรอดมาได้ แต่ก็ไม่สามารถไปบอกกล่าวเล่าเตือนเพื่อนฝูง อดัมให้เราลองจินตนาการดูว่าถ้าคาคาโปเป็นมนุษย์ มันจะบอกเพื่อนๆ ของมันอย่างไร หลังจากหนีรอดจากการถูกแมวตะครุบ
แต่ขณะเดียวกัน อดัมสรุป มนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่มีภาษา ก็โคตรจะไร้ซึ่งความสามารถในการเรียนรู้ข้อผิดพลาดระหว่างกันและกันเลย
อดัมเป็นคนที่ละเอียดลออกับความซับซ้อนของโลก เขาตระหนักดีว่าการที่ตัวเองเข้าไปสอดส่าย ไปยุ่งเกี่ยวกับนักอนุรักษ์นี่มันเป็นการดึงเวลาอันมีค่าจากพวกเขาเหล่านี้แค่ไหน แต่อีกทางหนึ่ง ในฐานะผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์บีบีซี การค้นคว้าและนำเสนอหนังสือเล่มนี้จะมีคุณค่าแก่สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในระยะยาวยิ่งกว่า เฉกเช่นเดียวกับการท่องเที่ยว ถ้าจะมองว่ามันคืออีกรูปแบบหนึ่งของลัทธิล่าอาณานิคมก็มองได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สาเหตุเดียวที่สัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างแรดยังมีชีวิตอยู่ได้ก็เพราะ “ในขณะนี้ แรดเป็นๆ มีราคามากกว่าแรดที่ตายแล้ว”
บทจะฮา Last Chance to See ก็ฮาได้ระเบิดระเบ้อ อย่างตอนที่อดัมและคาวาดีนพยายามหาซื้ออุปกรณ์สำรองในการอัดเสียงใต้แม่น้ำแยงซี หรือตอนที่เขาเล่าถึงนักศึกษาชาวเยอรมันที่เข้าป่าไปดูกอริลลาด้วยกัน ขนาดคนเส้นลึกอย่างเรา อ่านแล้วยังต้องกลั้นหัวเราะแทบแย่ (เพราะอ่านในร้านหนังสือ จะหัวเราะออกมาก็เกรงใจคนรอบข้าง)
พูดก็พูดเถอะ เป็นความผิดพลาดของเราจริงๆ ที่เลือกหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน เพราะช่วงนี้อยู่ระหว่างการเดินทางเลยอยากประหยัดเงินและประหยัดพื้นที่ แทนที่จะซื้อหนังสือมาเก็บไว้ ก็เลยว่าจะอ่านในร้านให้มันเสร็จๆ ไป แต่พออ่าน Last Chance to See จบ นั่งคิดอยู่นานเลย เพราะกับหนังสือดีๆ แบบนี้ ไม่ซื้อเก็บไว้ไม่ได้จริงๆ เอาไงดีหว่า
แต่ก็นะ ถ้าคิดว่าการศึกษามันแพงนัก ก็ลองโง่ดู…
A. Carter's "Shadow Dance"
ไม่รู้เคยบอกไปหรือยังแต่เราชอบมากเลย การได้อ่านนิยายเล่มแรกของนักเขียนคนโปรดเนี่ย ความรู้สึกเหมือนไม่ใช่กำลังอ่านหนังสือ เนื่องจากว่าในการอ่านหนังสือทั่วไป เราจะสมมติว่าผู้เขียนรู้อะไรบางอย่างที่เราไม่รู้ และผู้อ่านมีหน้าที่รับฟังเพียงอย่างเดียว แต่สำหรับกรณีหนังสือเล่มแรก เรารู้ว่าในอนาคตข้างหน้าผู้เขียนจะเขียนอะไรออกมา ยิ่งใหญ่และดีกว่าเล่มนี้สักแค่ไหน เรามองเห็นและเข้าใจบางแง่มุมได้ดีกว่าผู้เขียน (ในขณะนั้น) ด้วยซ้ำ การอ่านเลยเหมือนการสนทนากับผู้เขียนแทน สนทนาไปเราก็ยิ้มแบบพ่อมดเมอร์ลินไปด้วย (หมายถึงรอยยิ้มของคนที่รู้เห็นอนาคต)
Shadow Dance คือนิยายเล่มแรกของคาร์เตอร์ และเป็นเล่มแรกในไตรภาค "Swinging 60s" (เคยพูดถึง Love ซึ่งเป็นนิยายเล่มสุดท้ายในในไตรภาคเดียวกันนี้ไปแล้ว) ว่าด้วยชีวิตของผู้คนในช่วงทศวรรษ 60 อันเป็นยุคที่ชาวอังกฤษเริ่มทำตัวต่อต้านศีลธรรม ความเชื่อ หรืออำนาจของผู้ใหญ่สังคม เป็นยุคของวงดนตรีสี่เต่าทอง ลัทธิสตรีนิยม และเสรีภาพทางเพศ Shadow Dance และ Love มีส่วนคล้ายคลึงกันอยู่ไม่น้อย มีตัวละครเด่นเป็นชายหนุ่มเห็นแก่ตัว เพศสภาพไม่แน่นอน มีอำนาจชังจูงให้ผู้คนให้คล้อยตาม แต่ขณะเดียวกันก็ไขว่คว้าความสุขอันเลื่อนลอยไม่ต่างอะไรจากคนปรกติทั่วไป
เพราะต้องการปกป้องมอริซ เพื่อนรักที่ถูกผู้หญิงสำส่อนประจำเมืองตามรังควาน ฮันนี "สั่งสอน" กริซเลนด้วยการข่มขืนเธอและใช้มีดปาดใบหน้าเป็นแผลยาว Shadow Dance เปิดเรื่องด้วยการที่ฮันนีหนีไปอยู่ลอนดอน และกริซเลนออกจากโรงพยาบาลพร้อมทั้งแผลเป็นน่ารังเกียจ จากจุดนั้นชีวิตของมอริซก็ถูกดึงดูดเข้าไปในวังวนแห่งความทุกข์
เราชอบ Shadow Dance มากกว่า Love ขณะที่ Love กระโดดเข้าไปในยุคสมัยอย่างสุดโต่ง Shadow Dance ยังมีความบรรยะบรรยังอยู่ หลายคน (โดยเฉพาะ "นักเพศนิยม" และสตรีนิยมชาวไทย) ชอบมองว่า Swinging 60s คือยุคแห่งอิสระภาพ การปฏิวัติวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ แต่ถ้าอ่านประวัติศาสตร์ดีๆ จะพบว่านั่นก็เพียงแค่ช่วงเวลาหนึ่ง วัยรุ่นที่เติบโตมาในยุค 60s พอผ่านช่วงนั้นก็กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่ได้ต่างไปจากพ่อแม่ที่ตัวเองพยายามขัดขืน ความหัวก้าวหน้า ความสุดโต่ง หรือความต้องการฉีกตัวเองจากขนบอาจเป็นเพียงภาพลวงตาในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตคนเรา ถ้าเทียบกับ Love แล้ว Shadow Dance ดูจะมองการไกลและเห็นสัจธรรมตรงนี้ได้ดีกว่า
ส่วนที่ชอบที่สุดคือตัวละครหญิงสามคน กริซเลน เอดนา และเอมิลี เป็นผู้หญิงสามแบบที่น่าสนใจแตกต่างกันไป กริซเลนคือผู้หญิงสุดโต่งแบบที่พบได้บ่อยๆ ในนิยายของคาร์เตอร์ เอมิลีเป็นผู้หญิงที่เย็นชาและเข้มแข็งแบบแปลกๆ ส่วนเอดนาคือ "นางร้าย" หัวอนุรักษนิยม เป็นตัวละครชัดเจน จนเราคิดว่าคาร์เตอร์ในยุคหลังๆ คงไม่เขียนอะไรแบบนี้ออกมาอีก ว่าไปแล้ว Shadow Dance ก็เป็นนิยายที่ "สะอาด" เกินไป ตอนจบมีการผูกปมให้ทุกอย่างมีคำตอบที่ชัดเจน ถือเป็นความน่ารักของนิยายเล่มแรกก็แล้วกัน
วีรกรรมเฒ่าทะเล (r.o.d.)
สารภาพคือระหว่างที่อ่านเรื่องสั้น วีรกรรมเฒ่าทะเล ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ เหมือนเหตุการณ์อะไรต่อมิอะไรมันเกิดขึ้นเต็มไปหมด อย่างไม่ค่อยมีที่มาที่ไปเสียด้วย อ่านหลายอย่างที่ผู้เขียนบรรยายแล้วก็ไม่นึกภาพตามไม่ค่อยจะออก กระนั้นพออ่านถึงตอนจบ สะดุดใจว่าจบได้ดี และพอมาครุ่นคิดถึงองค์ประกอบอื่นๆ ก่อนหน้านั้น ก็พอจะมองเห็นว่ามันเข้าท่าเข้าทางดีเหมือนกัน
โดยรวมแล้วต้องบอกว่าชอบครับ ขอตบมือให้กับความแปลกใหม่ของเรื่องสั้นสัจนิยมที่มีตัวเอกเป็นคนชรา แต่ไม่ได้ออกมาเหมือนคนชราในวรรณกรรมทั่วไป ไม่ใช่ไม้ใกล้ฝั่งจะตายวันตายพรุ่งแบบที่นักอ่านชาวไทยคุ้นเคย (แม่พิมพ์ของเรื่องทำนองนี้ที่โด่งดังสุดก็คงเป็น แมว ของอาจารย์ลาว คำหอม) ลุงเรืองใน วีรกรรมเฒ่าทะเล ไม่ใช่คนแก่ธรรมดา ถ้าจะใช้สำนวนไทยว่า "เตะปี๊บดัง" ยังน้อยไปด้วยซ้ำ ต้องบอกว่าลุงเรือง แกโดดถีบปี๊บขาคู่ได้อย่างสบายๆ เป็นยอดมนุษย์คนหนึ่งที่ "เมื่อมีพลังยิ่งใหญ่ ก็ต้องมีความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่" ตามไปด้วย
แต่ในส่วนที่รู้สึกว่าเป็นข้อเสีย ก็ยังเป็นข้อเสียอยู่นะครับ เรื่องนี้มีเหตุการณ์เยอะมากๆ ตั้งแต่ตอนเช้า ลุงเรืองมีเรื่องกับทิดหมี ตอนกลางวันก็ไปช่วยผู้หญิงตกน้ำ ตอนเย็นแข่งขนของ และก็มีเรื่องกันอีกรอบในตอนค่ำ เรื่องที่มีเหตุการณ์เยอะๆ แต่ยาวแค่ไม่กี่หน้าแบบนี้ ทำให้รู้สึกว่าขาดรายละเอียดไปพอสมควร ผู้เขียนควรจะใจเย็นลง บรรยายและพรรณนาแต่ละเหตุการณ์ ว่าเกิดอะไรขึ้นและมีผลอย่างไรกับตัวละคร เท่าที่กะดู เรื่องนี้ควรยาวเพิ่มขึ้นสักสองเท่าถึงจะจับใจความทุกเหตุการณ์ได้อย่างละเอียด (อีกทางแก้หนึ่งคือประหยัดเหตุการณ์ ตัดมันออกไปบ้าง)
ผู้เขียนฝากบอกมาว่าชอบคุณประชาคม ก็ไม่น่าแปลกใจเพราะงานชิ้นนี้ก็มีกลิ่นน้ำเค็มเฉกเช่นเดียวกับผลงานของคุณประชาคม แต่อีกสิ่งที่อยากเตือนคือ กับงานของคุณประชาคมนั้น ต่อให้ผู้อ่านไม่เคยไปเห็นท้องทะเล ไม่เคยขึ้นเรือหาปลา ก็ยังติดตามเรื่องราวได้อย่างสนุกสนาน แต่ปัญหาหลักของ วีรกรรมเฒ่าทะเล คือนึกภาพตามได้ยากมาก เช่นจับใจความได้ว่าลุงเรืองไม่ใช่กะลาสี ไม่ได้มีหน้าที่หาปลา และงานของแกน่าจะเกี่ยวข้องกับการแบกหามข้าวสารมากกว่า ถ้าอย่างนั้นจริงทำไมถึงต้องนั่งเรือออกไปกลางทะเลด้วย (ใช่ไหม) หรือเหตุการณ์คนตกน้ำนี่มันเกิดที่ไหนกัน ริมฝั่งหรือว่ากลางทะเล และผู้หญิงคนนั้นมาจากไหน ยืนอยู่บนเรืออีกลำหนึ่ง หรืออยู่บน "บันได" (ซึ่งเป็นศัพท์เฉพาะหรือเปล่า เพราะนึกภาพไม่ออกจริงๆ ) รายละเอียดทำนองนี้ ผู้เขียนจะต้องทำตัวเป็นมิตรกับคนอ่านให้มากกว่านี้
ชอบตอนจบของเรื่องนี้มาก เป็นการจบที่สะกิดใจยิ่งนัก แม้จะยังมีพื้นฐานหลายอย่างต้องปรับปรุง แต่เมื่อความคิดดีแล้ว สิ่งเหล่านี้ฝึกฝนกันได้ไม่ยากครับ
T. Wolfe's "The Right Stuff"
ใครที่ติดตามอ่านบลอคนี้คงได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งเกี่ยวกับรักชวนหัวนั่นคือ “เราชอบระบบทุนนิยม” ไม่ขอนิยามให้มากความแล้วกันว่าทุนนิยมเป็นอย่างไร ส่วนคำว่าชอบก็ไปตีความกันเอาเองว่าชอบในระดับไหน แต่ที่แน่ๆ คือไม่ได้ชอบลืมหูลืมตาขนาดมองไม่เห็นข้อเสียเลย ข้อเสียของทุนนิยมอันเป็นหอกหลาวทิ่มแทงใจเราก็คือ การที่สินค้าถูกประเมินราคาด้วยท้องตลาด โดยไม่จำเป็นเสมอไปว่าราคานั้นจะต้องสะท้อนคุณค่าที่แท้จริงของมัน ขยะหนึ่งชิ้นก็ขายได้ ถ้ามีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ดีๆ เรื่องแบบนี้ใครที่คุ้นเคยกับวงการบันเทิง และเฝ้ามองปรากฎการณ์กอล์ฟไมค์ย่อมเห็นพ้องต้องกัน
The Right Stuff เป็นนิยายที่กัดจิกทุนนิยมได้อย่างสาแก่ใจ และวูลฟ์ทำเช่นนั้นโดยไม่ต้องอ้างเรื่องความเท่าเทียม การกระจายรายได้ หรืออะไรทั้งสิ้น อาศัยการค้นคว้าอย่างละเอียด วูลฟ์ใช้กลวิธีกึ่งสารคดี เล่าเหตุการณ์ “ศึกชิงอวกาศ” ช่วงปลายทศวรรษ 50 ต้น 60 อันเป็นช่วงที่ประธานาธิบดีไอเซนฮาวเวอร์และเคนเนดีแข่งขันกับโซเวียต ว่าใครจะส่งมนุษย์ขึ้นไปบนอวกาศได้ก่อนกัน และชาติไหนจะขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ได้เป็นชาติแรก
เชื่อว่าแทบทุกคนคงรู้จักนีล อาร์มสตรอง (ชาวอเมริกันคนแรกที่ไปเยือนดวงจันทร์) ใครที่แม่นหน่อย น่าจะรู้จักยูริ เอ กาการีน (นักบินอวกาศคนแรกซึ่งเป็นชาวรัสเซีย) และคงต้องเป็นแฟนพันธุ์แท้การสำรวจอวกาศจริงๆ ถึงจะเคยได้ยินชื่ออลัน เชพพาร์ด (มนุษย์อวกาศคนที่สอง เป็นชาวอเมริกา) หรือจอห์น เกลน (ชาวอเมริกันคนแรกที่นั่งยาวอวกาศโคจรรอบโลก) กระนั้นต่อให้เป็นแฟนพันธุ์แท้แค่ไหนก็คงไม่เคยได้ยินชื่อเยเกอร์ เยเกอร์ไม่ใช่นักบินอวกาศ เขาเป็นคนแรกที่ขับเครื่องบินเจ็ทด้วยความเร็วเกินหนึ่งมัค (ความเร็วของเสียง) ซึ่งสมัยก่อนเคยเชื่อกันว่าเป็นกำแพงทางวิศวกรรมที่มนุษย์เราไม่สามารถฝ่าได้ เอ้า! แล้วเครื่องบินเจ็ทเกี่ยวอะไรกับนักบินอวกาศด้วย ลองดูรูปที่เราแปะไว้ข้างบน จะเห็นว่าระดับความสูงที่เครื่องบินเหล่านี้พุ่งขึ้นไปได้นั้นไม่ธรรมดา กระทั่งเห็นความโค้งของโลกได้ รวมไปถึงชั้นบรรยากาศบางๆ สีฟ้า นี่มันยานอวกาศชัดๆ และคนอย่างเยเกอร์ต่างหากที่น่าจะได้รับการยกย่องว่าเป็นนักบินอวกาศคนแรกของโลก
ที่โดนใจมากๆ ใน The Right Stuff คือความแตกต่างระหว่างคุณค่าที่แท้จริง และคุณค่าในโลกทุนนิยม ซึ่งถูกการประชาสัมพันธ์ตบแต่งขึ้น ภายหลังจากที่รัสเซียส่งดาวเทียมสปุตนิคขึ้นไปโคจรรอบโลกได้เป็นประเทศแรก อเมริกาตื่นตระหนกมาก และตัดสินใจว่าจะต้องส่งมนุษย์ขึ้นไปในอวกาศให้ได้โดยเร็วที่สุด ก็เลยเกิด “แผนสกปรก” เรียกว่าโครงการณ์เมอคิวรี จับมนุษย์ยัดเข้าไปในกระป๋อง ใช้ปืนใหญ่ยิงกระป๋องให้ลอยขึ้นไปถึงอวกาศ และใช้ร่มชูชีพชะลอการตกอีกทอดหนึ่ง วูลฟ์พยายามเน้นมากๆ ว่า “มนุษย์อวกาศ” ที่คนอเมริกาในยุคนั้นเข้าใจกัน แท้ที่จริงก็คือผู้โดยสาร แทบไม่ต่างอะไรจากลิงชิมแปนซีเลย (ตอนที่รับสมัครมนุษย์อวกาศหนแรกสุด ทางนาซาตั้งใจด้วยซ้ำว่าจะให้ “ใครก็ได้” มาสมัคร ไม่จำเป็นต้องเป็นนักบิน)
ขณะที่คนอเมริกันและสื่อมวลชนเฝ้าติดตาม “มนุษย์กระป๋อง” นักบินจริงๆ เขาขับเครื่องบินเจ็ทลอยขึ้นไปถึงอวกาศ ไปไหนต่อไหนแล้ว แต่ก็ไม่เคยมีสนใจพวกเขาเหล่านั้น
The Right Stuff เป็นนิยายที่ช่วยเปิดสายตาเรา ถึงจะเป็นเรื่องโง่ๆ ง่ายๆ แต่บางครั้งคนเราก็ต้องมีใครเตือนว่าคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งที่เราทำ บางทีอาจจะมีแต่ตัวเราเท่านั้นที่จะตัดสินได้ สังคม (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นทุนนิยมเสมอไป ปรากฎการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้ทุกหนทุกแห่ง) พร้อมที่จะสร้างรางวัล สร้างราคา สร้างคุณค่าในท้องตลาดด้วยการอัดประชาสัมพันธ์ คนที่เหมือนจะยืนอยู่บนจุดสุดยอด บางทีเขาก็อาจจะเป็นแค่ลิงอัดกระป๋องเท่านั้น
r.o.d. คืออะไร
คริสเองค่ะ เพื่อนๆ ที่เพิ่งติดตามบลอค "รักชวนหัว" อาจจะงงๆ ว่าเอ๊ะ! ทำไมช่วงนี้มีเรื่องสั้นชื่อไม่คุ้นเคยมาแปะบ่อยจัง แล้วไอ้ r.o.d. นี่มันคืออะไรกันหนอ คริสขอเป็นคนอธิบายนะคะ r.o.d. คือการรวบรวมบทวิจารณ์เรื่องสั้นของรักชวนหัว ซึ่งคุณๆ ทางบ้านส่งมาร่วมสนุกกันคะ เป็นโครงการณ์ซึ่งรักชวนหัวเริ่มต้นไว้ตั้งแต่ปีสองปีที่แล้ว ด๋อยบ้างเป็นพักๆ เนื่องจากไม่ค่อยมีคนส่งมา แต่ช่วงนี้เริ่มมีมาเรื่อยๆ แล้ว ก็จะทยอยๆ อ่านและแปะบทวิจารณ์นะคะ ใครที่สนใจอยากให้รักชวนหัวอ่านเรื่องสั้นของตัวเอง ส่งมาที่ laughable-loves@hotmail.com คะ จำง่ายดีเนอะ
รักชวนหัวฝากให้คริสขอบคุณเพื่อนๆ นักเขียนนักอ่านทุกท่านด้วยค่ะ ทั้งที่ส่งผลงานเข้ามาร่วมสนุก และที่เข้ามาอ่านบลอคเป็นประจำ ไว้เจอกันค่ะ อย่าลืมไปดูรถไฟฟ้าฯ นะ
อ้อ! เกือบลืมแน่ะ r.o.d. ย่อมาจาก read on demand หรือ "อ่านตามสั่ง" นะคะ
Rock (Matter that Matters) (r.o.d.)
ต้องบอกก่อนว่า ในอีเมลที่ผู้เขียนส่งต้นฉบับ Rock (Matter that Matters) มาให้อ่าน มีกำกับไว้ด้วยว่าอาจจะอ่านยากนิดหนึ่งเพราะมีการประดิษฐ์ภาษาไทยกันขึ้นมาดื้อๆ ซึ่งถ้านั่นเป็นสิ่งที่คุณ Lasiara ห่วงจริงๆ ก็เลิกห่วงได้เลยครับ เพราะภาษาคือจุดเด่นสุดของเรื่องสั้นนี้ การเล่นกับห้วงคำ ใช้ "..." คั่นระหว่างวลีแทนที่จะต่อเป็นประโยคเต็มๆ นั้น แม้จะต้องพยายามทำความเข้าใจอยู่บ้าง แต่อ่านเอาเรื่องไม่ยากเลย มิหนำซ้ำยังได้ความรู้สึกวนเวียนงามๆ เหมาะสมกับอารมณ์ของเรื่องสั้นนี้
จุดอ่อนที่สุดของ Rock (Matter that Matters) ไม่ได้อยู่ในภาษา แต่อยู่ที่เนื้อหา เรื่องสั้นชิ้นนี้มีธีมที่เป็นวัยรุ่นมากๆ (การประดิษฐ์ภาษาไทย ทำตัวเป็นขบถกับจารีตก็น่าจะถือเป็นการแสดงออก การสร้างสรรค์ของวัยรุ่นได้เหมือนกัน) เกี่ยวกับพ่อแม่ที่ไม่ใยดีลูก ไม่แม้กระทั่งตั้งชื่อให้ และสุดท้ายเด็กคนนั้นก็ต้องฟันฝ่าสร้างอัตลักษณ์ในโลกกว้างด้วยตัวของเขาเอง เนื้อหาดี แต่ตรรกะหรือวิธีนำเสนอของเรื่องนี้อิงอยู่กับ cliche (ขนบคร่ำครึ) มากเกินไป
คุณ Lasiara เปิดเรื่องให้พ่อแม่เป็นเศรษฐี โยนคำว่า "ทุน" "ทรัพย์สิน" "วัตถุ" เข้าใส่ผู้อ่าน เพื่อให้คนอ่าน "คิดไปก่อน" เลยว่าพ่อแม่แบบนี้จะต้องปล่อยปละละเลยลูกแน่ๆ ซึ่งก็เป็นไปตามนั้น โดยอย่างไม่มีเหตุผลเสียด้วย (เพราะส่วนใหญ่แล้ว ถ้าเป็นเศรษฐีตระกูลดัง น่าจะต้องเลี้ยงลูกชายไว้สืบสกุลและให้ความสำคัญพอสมควร) เด็กที่โตมาในสภาพแวดล้อมแบบนี้ สุดท้ายก็จะเสียคน กระโดดไปอีกบรรทัด อยู่ดีๆ นิรนามก็ลงเอยในโรงพยาบาลบ้าอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย
เรามองว่าจุดนี้คือกับดักของความเป็นวัยรุ่น ยิ่งพยายามต่อสู้กับขนบจารีตไหร่ ก็ยิ่งสร้างอคติต่อสิ่งรอบตัวขึ้นมาได้ง่าย อคติต่อคนรวย อคติต่อคนมีการศึกษา อคติต่อผู้มีอำนาจ (เช่นหมอบางคนในเรื่อง หรือตำรวจที่พอจับลูกชายซึ่งงัดแงะบ้านตัวเอง คำถามแรกคือ "จนๆ แบบนี้คงไม่รู้ละสิว่านี่เป็นบ้านท่านเศรษฐี")
ภาษาและการประดิษฐ์คำของคุณ Lasiara น่าสนใจดีแล้ว และน่าจะนำมาใช้กับเรื่องสั้นได้หลากหลาย Rock (Matter that Matters) เป็นผลงานที่เกิดจากชั่วโมงบินที่ยังน้อยไปหน่อย ถ้าเขียนและปรับปรุงต่อไปเรื่อยๆ จะต้องสร้างผลงานชั้นเลิศได้อย่างแน่นอนครับ
J. Austen's "Pride and Prejudice"
สาบานเลยเอ้า ว่าเราคือหนึ่งในผู้ชายส่วนน้อยที่ไม่ได้ดูดมดูดีอะไรกับเคียรา ไนท์ลี แต่ที่เอารูปเธอมาแปะ เพราะต้องยอมรับว่าสมัยนี้คงหาเอลิซาเบธ เบนเนทที่ดูดีดูทันสมัยเท่าเธอไม่ได้แล้ว
ถึงจะเพิ่งเคยอ่าน Pride and Prejudice เป็นครั้งแรก แต่เรื่องราวอลม่านของครอบครัวเบนเนท ลิซ่าผู้เต็มไปด้วยอคติ และดาซีผู้เต็มไปด้วยความหยิ่งยะโส ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ขนาดนั้น Bridget Jones's Diary ก็เคยดูมาแล้วสองสามรอบ ยังไม่นับภาคหนังเพลงอินเดีย Bride and Prejudice ก็แปลกดีเหมือนกันที่หนังสือของเจน ออสตินมักถูกเอามาดัดแปลงให้ทันสมัย เปลี่ยนฉากจากอังกฤษช่วงศตวรรษที่ 18 เป็นฮอลลีวูด บอลลีวูด หรือว่าลอนดอนในศตวรรษที่ 20 (อย่าง Emma ก็ถูกดัดแปลงมาเป็น Clueless)
ยิ่งมาอ่านหนังสือ ก็ยิ่งแปลกใจ เพราะว่ากันจริงๆ Pride and Prejudice ไม่ได้มีความทันสมัยหรือมีแง่คิดที่เป็นอมตะเลย ในทางตรงกันข้าม เสน่ห์ของมันอาจจะอยู่ที่ความล้าหลังเลยด้วยซ้ำ Pride and Prejudice คือหนังสือที่เต็มไปด้วยตัวอย่างของการแต่งงานที่ล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นคู่สามีภรรยาเบนเนทเอง คุณนายเบนเนทที่คิดแต่จะแต่งลูกสาวจนน่ารำคาญ คู่สามีภรรยาคอลลินส์ ซึ่งผู้หญิงยอมแต่งงานกับผู้ชายที่ไม่ได้ชอบ เพราะรู้สึกว่าหน้าตาเฉยๆ อย่างเธอ หาสามีมั่งคั่งระดับนี้ได้ก็ดีนักหนาแล้ว หรือคู่สามีภรรยาวิคแฮมส์ ซึ่งขนาดออสตินเองยังแย้มพรายว่าคงไม่ได้จบสุขสันต์แน่ๆ
ถ้าอ้างความเชื่อสตรีนิยมว่า "แม้นโลกนี้ไร้ชายใดที่พึงเชย อย่ามีคู่เสียเลยจะดีกว่า" Pride and Prejudice เป็นนิยายที่ปฏิเสธคำพูดนี้อย่างสิ้นเชิง นี่คือหนังสือที่ "เสียทองเท่าหัว ไม่ยอมเสียผัวให้ใคร" ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ผิด ภายในกรอบบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงในยุคเจน ออสติน นี่คือความเชื่อที่ถูกแบบแล้ว
ในแง่วรรณคดีศึกษา Pride and Prejudice เป็นตัวอย่างของวิธีดำเนินเรื่องด้วย "การตระหนักรู้" (aphorism) ออสตินให้ตัวละครเอกได้พบกับความรู้หรือข้อมูลใหม่ๆ ตลอดเวลา (ซึ่งมักจะมาในรูปแบบของจดหมาย) เพื่อให้เธอได้ใช้ข้อมูลตรงนั้น ทบทวนและใคร่ครวญสิ่งที่เกิดในอดีตด้วยมุมมองแบบใหม่ การที่ลิซาพร้อมจะตัดสินคนอื่นโดยไม่รู้จักอีกฝ่ายดีพอ ทำให้เธอเหมาะเจาะมากที่จะเป็นตัวเอกของนิยายเรื่องนี้ ขณะเดียวกันการปิดบังข้อมูล หรือการไม่ยอมให้ผู้อื่น "ตระหนักรู้" ก็ยังเป็นเงื่อนไขในการดำเนินเรื่องและการตัดสินใจของตัวละครด้วย
รู้สึกว่าตัวเองตั้งใจและต้องใช้สมาธิในการอ่าน Pride and Prejudice มากกว่าที่คาดไว้ในตอนแรก อ่านงานชิ้นนี้ของออสตินแล้วนึกถึงเฮนรี เจมส์ แม้ยุคสมัยจะต่างกันเกือบร้อยปี และใช้เทคนิกทางวรรณศิลป์ที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง แต่นิยายของทั้งคู่ว่าด้วยมารยาทในสังคมและการที่คนเราต้องขุดลึกลงไปกว่าเปลือกนอก ถึงจะตัดสินสิ่งที่มองเห็นด้วยตาได้
วัน เวลา และตุลา
ไม่ได้เขียนเรื่องการเมืองมาพักใหญ่แล้ว เอาเสียหน่อย บังเอิญไปเจอบทความน่าสนใจในเวปประชาไท เลยขออนุญาตแปะ "ลิ้งค์" นะครับ
พอช่วงเดือนตุลาทีไร ก็เหมือนในแวดวงการเมืองการหมึกจะคึกคักเป็นพิเศษ ทุกเวปต้องเอาบทความนู่นนี่มาแปะ จุดที่เราว่าน่าสนใจในบทความชิ้นนี้คือขอให้ทุกคนกรุณาดูบรรทัดหมายเหตุว่า ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อไหร่ "มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 10 มกราคม 2547 ปีที่ 23 ฉบับที่ 1221" 2547 นี่มันก็เกือบหกปีมาแล้ว ครึ่งทศวรรษนี่ถือว่าไม่นานเท่าไหร่หรอก แต่ถ้ามองว่าช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมามันเกิดอะไรขึ้นบ้างกับประเทศไทย ต้องถือว่านานเป็นชาติก็คงจะปานนั้นได้ เราคงต้องขอตั้งคำถามกับบทความนี้เฉกเช่นเดียวกับตอนที่พูดถึงหนังสือของอาจารย์ไชยรัตน์ว่า (และเราคงได้ย้ำคำถามนี้ต่อไปในอีกหลายโอกาส) "ถ้าเป็นปัจจุบัน อาจารย์ศิโรตม์ยังจะเขียนบทความนี้อยู่อีกหรือเปล่า"
เราไม่ได้โต้แย้งหรือปฏิเสธสิ่งที่อาจารย์ศิโรตม์เขียนขนาดนั้น และเราเชื่อว่าต่อให้อาจารย์เขียนบทความทำนองนี้อีก ช่วงหกปีที่ผ่านมาคงไม่อาจเปลี่ยนแปลงความคิดหลายสิบปีของอาจารย์จากหน้ามือเป็นหลังมือได้ แต่สิ่งที่เราอยากตั้งคำถามคือทุกวันนี้เรายังจะสามารถหันกลับไปมองเหตุการณ์ 14 ตุลา หรือ "การรวมตัวของประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในประเทศนี้" ด้วยสายตาแบบเมื่อปี 2547 ได้หรือเปล่า
มีคำพูดหนึ่งน่าสนใจดี เข้าใจว่าเป็นของอาจารย์ธงชัย ตอนอาจารย์ไปร่วมงานสัมนาช่วงประมาณปี 2550 ภายหลังรัฐประหาร (เข้าใจด้วยซ้ำว่าเป็นประชาไทนั่นแหละที่จัดงานนี้) โฆษกของงานแนะนำตัวอาจารย์ในฐานะหนึ่งในวีรชนเดือนตุลา ซึ่งไม่รู้ว่าคำพูดของโฆษกไปสะกิดต่อมอะไรในตัวอาจารย์หรือเปล่า แต่สิ่งแรกที่ท่านพูดหลังจากได้ไมค์คือ ทำนองว่า "บางครั้งผมคิดว่าเรื่องเดือนตุลานี่ แค่บรรจุไว้ในหนังสือเรียนก็พอแล้ว อย่าไปอ่านไปศึกษามันมากคงจะดีกว่า..." (หมายเหตุ: ถ้าเราจำผิด ไม่ใช่อาจารย์ธงชัยเป็นผู้พูด หรือเข้าใจและตีความคำพูดของอาจารย์ผิดด้วยอคติส่วนตัว ต้องขออภัยเป็นอย่างแรงครับ)
เราไม่ได้หมายความว่าคนไทยควรรีบๆ ลืมเหตุการณ์เดือนตุลา ความเชื่อของเราที่แตกต่างจากอาจารย์ศิโรตม์ในบทความนี้ก็คือ ด้วยวิสัยของคนไทยแล้ว เรากล้าเอาหัวเป็นประกันเลยว่าเหตุการณ์เดือนตุลาจะถูกนำกลับมาฉายใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ว่าจะในฐานะเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายใดก็ตาม แต่แค่ "จดจำ" เหตุการณ์โดยปราศจาก "ความเข้าใจ" มันแตกต่างอะไรเล่าจากการลืม หรือถ้าเอาคำพูดของอาจารย์ธงชัยมาดัดแปลง "หากคิดจะจดจำกันแค่นี้จริงๆ ลืมๆ ไปซะเลยอาจจะดีกว่า"
ซึ่งนี่ก็เป็นประเด็นหลักในบทความของอาจารย์ศิโรตม์เช่นกัน กล่าวคืออาจารย์บอกว่าแค่จดจำ 14 ตุลาในฐานะผลงานของ "ขบวนการ" มันไม่พอ แต่ต้องดูบริบททางสังคมด้วย 14 ตุลาไม่ได้เกิดมาจากขบวนการแต่มาจาก "ประชาชน" (แต่คำถามหนึ่งที่เราเชื่อว่าถามได้และกล้าถามก็คือ ประชาชนที่ต่อต้าน 14 ตุลาในยุคนั้น มีอยู่มากน้อยแค่ไหน) การมองแบบนี้คือจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ก็อยากเสริมอีกแง่หนึ่งคือ เราไม่ควรมอง 14 ตุลาเฉพาะในแง่ของปรากฎการณ์ภายในประเทศเท่านั้น แต่มันมีส่วนเกี่ยวโยงไปยังการเมืองระหว่างประเทศด้วย มองในมุมกว้าง มองว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับการเมืองระดับโลกตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้
มองให้ทะลุอีกสักนิด แล้วค่อยเริ่มจดจำกันคงยังไม่สายเกินไปหรอกครับ
W. Scott's "Ivanhoe"
อ่าน Ivanhoe แล้วนึกถึงวรรณคดีไทยเรื่องหนึ่ง เป็นมหากาพย์ว่าด้วยการต่อสู้ของวีรบุรุษชาวไทยกับข้าศึกชาวพม่า แต่งโดยมหากวีที่พูดชื่อปุ๊บทุกคนต้องร้องอ๋อ จุดหนึ่งที่เราสงสัยมาตลอดตั้งแต่ถูกบังคับให้อ่านเรื่องนี้สมัยเรียนคือ เป็นความจงใจของมหากวีหรือเปล่าที่แต่งให้วีรบุรุษชาวไทยแบนตะแลดแต๊ดแต๋ ส่วนขุนศึกชาวพม่าก็สุดแสนจะโรแมนติก ลึกซึ้ง เป็นสามมิติเสียอย่างนั้น หรือว่ามันเป็นธรรมเนียมของมหากาพย์ ที่พอพระเอกสุดเก่งสุดกล้าหาญ ก็เลยน่าเบื่อ ไม่น่าสนใจเท่าผู้ร้ายที่พอจะมีข้อเสียอยู่บ้าง
คำถามต่อมาก็คือคนที่อ่านวรรณคดีเรื่องนี้ในสมัยนั้น คิดเหมือนเราหรือเปล่าว่าผู้ร้ายน่าติดตามกว่าพระเอก แล้วคนสมัยนี้คิดอย่างไร เราควรรู้สึกอย่างไรกับการอ่านวรรณคดีเรื่องนี้ ที่สำคัญคือ ครูควรสอนให้ลูกศิษย์คิดอย่างไร
สำหรับ Ivanhoe เราว่าสกอตรู้อยู่แต่แรกแล้วว่าตัวละครที่น่าสนใจที่สุดไม่ใช่อัศวิน ไอแวนโฮและคนรัก โรวีนา แต่เป็นเหล่าตัวประกอบบรรดามี ตั้งแต่อัศวินดำผู้ลึกลับ โรบินแห่งลอกซ์เลย์ นายธนูมือฉมัง (หรือโรบินฮูด ที่เรารู้จักกันดีนี่เอง) เซดริก บิดาของไอแวนโฮ เอเธสเธน อัศวินผู้กล้าหาญแต่ขี้เกียจ รวมไปถึงผู้ร้ายตัวเอ้ ดีบอยส์กิลเบิร์ด และนางรอง รีเบคกา โดยเฉพาะตัวละครคู่สุดท้ายนี่ขโมยซีนกระจัดกระจาย เอาง่ายๆ แล้วกันว่าปกหนังสือ Invanhoe ฉบับ Penguin Classics ก็ไม่ใช่ไอแวนโฮหรือโรวีนาขึ้นปก แต่เป็นภาพดีบอยส์กิลเบิร์ดลักพาตัวรีเบคกาจากปราสาทที่กำลังลุกเป็นไฟ
ไอแวนโฮ ตัวเอกของนิยายมีบทบาทน้อยมาก เราสามารถแบ่งเนื้อเรื่องของนิยายเล่มนี้ออกเป็นสามส่วนด้วยกัน ส่วนแรกสุดคือการประลองยุทธที่จัดโดยเจ้าชายจอห์น ซึ่งแม้ไอแวนโฮจะได้แสดงฝีมือเน้นๆ แต่ก็แทบไม่มีบทพูดเลย แถมยังต้องซ่อนตัวอยู่ในชุดเกราะตลอดรายการ ส่วนที่สองคือการบุกโจมตีป้อมโดยอัศวินดำและโรบินฮูด ระหว่างที่ไอแวนโฮบาดเจ็บจากการประลองยุทธ เลยต้องนอนฟังรีเบคกา พยาบาลสาวชาวยิว เล่าเหตุการณ์ทั้งหมดจากยอดหอคอย (ฉากนี้มหัศจรรย์มากๆ สกอตเขียนถึงการบุกทะลายป้อม กิจกรรมที่เต็มไปด้วยความเอิกเกริกวุ่นวายให้เข้าใจง่ายและเห็นภาพตาม ผ่านปากคำของรีเบคกา มหัศจรรย์พอๆ กับฉากบุกโจมตีหมู่บ้านของคุโรซาวาใน Seven Samurai เลย) ช่วงสุดท้ายคือการประลองระหว่างไอแวนโฮและดีบอยส์กิลเบิร์ดเพื่อรักษาชีวิตของรีเบคกา ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ไอแวนโฮก็ไม่ทันได้แสดงฝีมืออะไร และเป็นช่วงนี้เองที่ผู้อ่านได้สังเกตความสัมพันธ์ด้านมืดอันแสนเศร้าระหว่างรีเบคกาและดีบอยส์กิลเบิร์ด
ดีบอยส์กิลเบิร์ดเป็นตัวละครที่ยอดเยี่ยมมากๆ รีเบคกาพูดถึงผู้ชายคนนี้ว่า “ใช่ว่าจิตใจของท่านจะไม่เคยมีอะไรดีๆ แผ้วผ่านมาเลย ถ้าเปรียบเป็นสวน มันก็เต็มไปด้วยวัชพืชอันชั่วร้าย เมล็ดพันธุ์อะไรที่หว่านลงไปก็เลยงอกงามไม่ได้” ดีบอยส์กิลเบิร์ดเป็นคนเช่นนั้นจริงๆ ด้วยความห้าวหาญและฝีมืออันกล้าแกร่ง แต่เพราะถูกคนรักหักหลัง เขาจึงหลงเข้าไปในโลกแห่งความสามานย์ สุดท้ายชะตากรรมของเขาจึงต้องต่อสู้ไม่ใช่เพื่อนางอันเป็นที่รัก แต่เพื่อปลิดชีวิตนางอันเป็นที่รัก นิยายเรื่องนี้จบด้วยฉากที่รีเบคกา ผู้แอบหลงรักไอแวนโฮ มาพบกับโรวีนาเพื่อฝากให้นางบอกลาสามี ก่อนที่เธอจะอพยพออกจากเกาะอังกฤษ จุดจบอันโดดเดี่ยวของรีเบคกาชวนให้เราคิดถึงคำสัญญาที่ดีบอยส์กิลเบิร์ดมอบให้เธอก่อนตาย
ชีวิตของสองคนนี้คือโศกนาฏกรรมที่ซุกซ่อนอยู่ในมหากาพย์อย่างแยบยล บางครั้งคนเราก็ถูกหน้าที่ ศีลธรรม หรืออำนาจที่มองไม่เห็นบังคับให้เราโยนความสุขทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย ในกรณีของดีบอยส์กิลเบิร์ด ความชั่วช้าคือกำแพงกั้นกลางระหว่างตัวเขาและความสุข แต่ที่น่าเศร้ายิ่งกว่านั้นคือในกรณีของรีเบกกา กลับเป็นความดีงามต่างหากที่ขัดขวางไม่ให้เธอได้มีโอกาสพบความสุขความสมหวัง
กระทั่งตัวละครอย่างเซดริก ที่เหมือนจะถูกเขียนขึ้นมาเพื่อเรียกเสียงหัวเราะและผ่อนคลายบรรยากาศ ก็ยังมีโศกนาฏกรรมเล็กๆ เป็นของตัวเอง โศกนาฏกรรมของความฝันอันล่มสลายของคนชรา ฉากของ Ivanhoe คืออังกฤษยุคหลังจากเผ่านอมันของฝรั่งเศสบุกเข้ามายึดครองเผ่าแซกซอน เซดริกเป็นขุนนางแซกซอนเลือดบริสุทธิ์ที่ต้องการฟื้นคืนเกียรติยศให้กับชาวแซกซอนที่ถูกพวกนอมันเหยียดหยาม แต่จนแล้วจนรอดความฝันนั้นก็ไม่มีวันเป็นจริงขึ้นมาได้ เพราะคนหนุ่มคนสาวอย่างโรวีนา ไอแวนโฮ หรือเอเธสเธนไม่ได้ให้ความสำคัญกับอุดมคติตกยุคสมัยนี้ พอนึกภาพออกเลยว่าถ้าเราอายุมากกว่านี้สักยี่สิบสามสิบปี มาอ่าน Ivanhoe คงจะอินกับตัวละครเซดริกเอามากๆ
ต้องยอมรับว่า Ivanhoe เป็นมหากาพย์อันลึกซึ้ง สมแล้วกับที่มันได้รับการเชิดชูมากว่าสองศตวรรษ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของตัวละครดังที่กล่าวไปแล้ว หรือประเด็นการเหยียดผิวเหยียดเผ่าพันธุ์ ซึ่งถือเป็นแก่นหลักของนิยาย สกอตผสานมันอย่างแนบเนียนเข้ากับประวัติศาสตร์ การผจญภัย และศึกสงคราม อ่านสนุก อ่านไปก็มีอะไรให้ขบคิดไปด้วย
เฮือด (r.o.d.)
ไม่ง่ายเลยกับการวิจารณ์ เฮือด ถามว่ามันดีไหม แน่นอนละว่ามันดี และอาจเป็นเรื่องสั้นดีที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่เคยมีคนส่งมาร่วมโครงการณ์ r.o.d. เลยก็ได้ แต่ขณะเดียวกัน ถามว่ามันมีจุดไหนให้แก้ไขไหม เราก็รู้สึกว่ามันมีอยู่ไม่น้อย เหมือนจะเป็นด้วยว่าจุดเด่นสุดของ เฮือด ก็คือจุดด้อยสุดของมันเช่นกัน
เฮือด เล่าเรื่องด้วยน้ำเสียงและภาษาท้องถิ่น โดยผู้เล่าเรื่องเป็นครู เล่าไปก็มีกรอกเหล้าเมามายเป็นระยะ บางทีก็สลับเอาคนอื่นหรือตัวละครในเรื่องที่เขาเล่ามาพูดคุยกับคนอ่าน อ่านไปก็ได้อารมณ์เหมือนนั่งอยู่ในร้านเหล้า ฟังขี้เมาหลายๆ คนพลัดกันเล่าเรื่อง ส่วนเรื่องที่พวกเขาเล่าว่าด้วยยิ้ม มหาเศรษฐีท้องถิ่น และการเผชิญหน้าของเขากับคู่ปรับคู่แค้นสองรายคือเฮือดแม่ไก่และข้าว แอบสงสัยว่ายิ้มคือสัญลักษณ์ของ “อะไร” หรือ “ใคร” หรือเปล่า แต่ทิ้งไว้ให้คนอ่านสงสัยแบบนี้แหละดีมากแล้ว
อย่างที่บอกว่าจุดเด่นสุดของเรื่องสั้นนี้ก็คือจุดด้อยสุดของมันด้วย ความสะเปะสะปะของการเล่าที่กว่าจะเข้าเรื่องได้ก็ปาเข้าไปสามสี่หน้า จริงๆ แล้วเราชอบตรงนี้นะ น้ำเสียงที่ทำให้ผู้ "อ่าน" กลายเป็นผู้ "ฟัง" และการใช้ภาษาพูดแทนที่ภาษาเขียนถือเป็นเสน่ห์ของ เฮือด ที่อยากแนะนำคือทันทีที่เข้าเรื่องแล้ว ความสะเปะสะปะควรลดน้อยลงกว่านี้ไหม ถ้าลำดับเหตุการณ์เสียใหม่น่าจะช่วยให้ความขัดแย้งในเรื่องสั้นนี้ชัดเจนขึ้น คนเขียนเกริ่นเรื่องเฮือดแม่ไก่ไว้ในตอนต้น ก่อนจะวกมาเรื่องข้าว และกลับไปหาเฮือดอีกทีในตอนท้าย เทคนิกการเล่าแบบนี้น่าจะเหมาะกับนิยายหรือเรื่องที่มีขนาดยาวมากกว่า
เราชอบปมความขัดแย้งระหว่างยิ้มและข้าวมากๆ เป็นนิทานชวนฝันที่หยอกล้อและเสียดสีพฤติกรรมมนุษย์อย่างคมคาย (ไม่นับว่ามันอาจมีแง่มุมหรือสัญลักษณ์ทางการเมืองแฝงนัยอยู่ด้วย) นี่คือตัวอย่างของเรื่องสั้นไทยสัจนิยมมายา (magical realism) ที่ชัดเจนและดีที่สุดเรื่องหนึ่ง แต่ในทางกลับกัน มันเลยข่มปมเฮือดแม่ไก่ให้อ่อนลง (ทั้งที่เป็นชื่อเรื่องแท้ๆ ) รวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงของยิ้ม จากเศรษฐีอิ่มบุญกลายมาเป็นคนบ้าคลั่งก็ยังไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยอยู่ เหล่าเพื่อนทหารของยิ้มก็ดูจะเป็นตัวละครเกินๆ เคอะเขินอย่างไรมิทราบ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าเรื่องนี้ขาดความสะเปะสะปะ อ่านแล้วจะได้อารมณ์คึกคักแบบนี้หรือเปล่า ผู้เขียนคงต้องไปชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียเอาเอง
S. Ozment's "A Mighty Fortress"
ช่วงศตวรรษที่ 20 ต้น 21 นี้ ถ้าพูดถึงประเทศเยอรมัน สิ่งแรกที่หนีจากห้วงความคิดของคนส่วนใหญ่ไปไม่พ้นคือ “สงครามโลกครั้งที่ 2” และ “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว” ถึงขนาดว่าเยอรมันกลายเป็นสัญลักษณ์ของการทำลายล้าง แต่เชื่อหรือไม่ว่า ถ้าย้อนอดีตไปสักร้อยปี จะไม่ใช่เยอรมันหรอกที่ติดปากคนส่วนใหญ่ในฐานะชนเผ่าแห่งความพินาศ แต่เป็นฝรั่งเศสต่างหาก “ปฏิวัติฝรั่งเศส” และ “นโปเลียน” คือสัญลักษณ์แห่งความบ้าคลั่งที่หลอกหลอนชาวยุโรปเป็นเวลาร้อยกว่าปี (สองสิ่งนี้เป็นอย่างเดียวกันหรือเป็นพลังที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง ก็ยังเป็นเรื่องที่นักประวัติศาสตร์ถกเถียงกันจวบจนทุกวันนี้)
คงฟังดูกระแดะมาก ถ้าจะบอกว่าสาเหตุหนึ่งที่เราอ่าน A Mighty Fortress ประวัติศาสตร์เยอรมันฉบับย่นย่อก็เพราะอยากเข้าใจตัวเอง อยากรู้ว่าทำไมเราถึงได้ชอบวรรณกรรมและปรัชญาเยอรมันนัก ขณะเดียวกันก็ต่อต้านอะไรที่มันเป็นฝรั่งเศสไปเสียหมด ซึ่งก็ไม่ผิดหวังเลย A Might Fortress ได้ให้คำตอบในเรื่องนี้ ที่เราต้องการรู้
ปรัชญาเยอรมันตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ตั้งแต่คานท์ เฮเกล นิทเช่ จวบจนไปถึงฟรอยด์ เป็นปรัชญาที่ถูกเขียนโดยนักคิดผู้เฝ้าสังเกตและจับตามองความบ้าคลั่งในฝรั่งเศสระหว่างศตวรรษที่ 18 และ 19 ชนิดหายใจรดต้นคอ ถ้าปรัชญาของโวลแตร์และรุสโซคือต้นกำเนิดแห่งความบ้าคลั่งนั้น คานท์และเฮเกลก็คือผู้รับและดัดแปลงความคิดของลูเธอร์ มาสร้างปรัชญายุคใหม่ที่ผสานขั้วตรงข้ามเอาไว้ด้วยกัน
เท่าที่สังเกตมา คนฝรั่งเศสหมกมุ่นกับความขัดแย้งเอามากๆ เมื่อใดที่มีพลังสองอย่างหักล้างและขับเคี่ยวกันเองอยู่ในชาวหรือสังคมฝรั่งเศส ดูจะเป็นเรื่องที่พวกเขาทนทุกข์ทรมาน และต้องพยายามหาทางออกจากความขัดแย้งตรงนี้ให้ได้ (ไม่ว่าจะด้วยการฆ่าตัวตายหรือไปยิงคนอื่นเพราะ “แดดมันร้อน”) ขณะเดียวกันชาวเยอรมันเคยชินกับการผสมผสานและยอมรับความขัดแย้ง ช่วงศตวรรษที่ 18 ดนตรีของบาคและบทกวีของเกอเตแสดงออกถึงขั้วตรงข้าม ยิ่งในศตวรรษที่ 19 ประเทศเยอรมันยิ่งต้องรักษาสมดุลระหว่างแนวคิดใหม่ที่ระบาดมาจากประเทศเพื่อนบ้านและอำนาจของชนชั้นปกครอง ถ้าเฮเกลและวิภาษวิธีคือรูปธรรมของการผสมผสานความขัดแย้งในเชิงปรัชญา บิสมาร์คก็คงจะเป็นรูปธรรมของการคานอำนาจในเชิงการเมือง
แน่นอนคำถามที่หลีกเลี่ยงไม่พ้นคือ กับประเทศที่เหมือนจะเดินทางสายกลางได้แบบเยอรมัน มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ถ้าพลังแห่งปัญญาคือสิ่งที่ประคับประคองพวกเขาให้รอดพ้นศตวรรษที่ 19 มาได้ แล้วพลังนั้นมันหายไปไหน ออสเมนท์ไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนในเรื่องนี้ เขาก็คงเหมือนกับเรา ในขณะที่คนปัจจุบันพร้อมจะสร้างลักษณะนิสัยบางอย่างให้กับชาวเยอรมัน เพื่อใช้อธิบายสาเหตุสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งเราและออสเมนท์อาจจะเห็นอกเห็นใจและเข้าอกเข้าใจเกินกว่าจะยอมรับคำอธิบายมักง่ายแบบนั้น
S. Pinker's "The Stuff of Thought"
ไม่บอกก็คงเดาได้กระมังว่าปกติรักชวนหัวไม่ติดตาม ASTV จะมียกเว้นอยู่หนเดียวคือวันที่ 19 เดือนก่อน เราทราบข่าวการจราจลหน้าเขาพระวิหารครั้งแรกจาก ASTV ระหว่างกำลังตัดผมอยู่กับช่างประจำตัวที่เป็นเหลืองตกขอบ ถือเป็นประสบการณ์น่าสนใจไม่น้อย ชอบมากๆ คือบทสนทนาโต้ตอบกันทางโทรศัพท์ระหว่างเจ้าหน้าที่ในสถานีและผู้ถูกสัมภาษณ์ หนึ่งในแกนนำ โดยจรรยาบรรณ (และกฎหมาย) เจ้าหน้าที่ข่าวไม่สามารถโกหกได้ แต่ผู้ถูกสัมภาษณ์จะโกหกเท่าใดก็ได้ เราก็เลยได้ชม (ฟัง) กายกรรมพลิกแพลงระหว่างเจ้าหน้าที่ในห้องส่งและแกนนำ โดยฝ่ายหนึ่งถามชี้นำเพื่อเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายโกหก (หรือปิดบังความจริง) ทำอย่างไรที่จะให้สานส์ออกมาในรูปแบบที่พวกเขาต้องการ โดยบิดเบือนความจริงน้อยที่สุด
ไม่ใช่จะพูดเรื่องการเมืองหรอกนะ แต่ในฐานะที่เป็น “คนหนังสือ” คงไม่มีพวกเราคนไหนที่ไม่เชื่อว่า “ภาษาตบแต่งความคิด” ถ้าจำไม่ผิด คุณวาณิชกระมังที่เคยพูดทำนองว่า “นักเขียนไม่ได้เขียนหนังสือด้วยความคิด แต่เขียนหนังสือด้วยคำ” คนธรรมดาชอบเข้าใจว่าการเขียนหนังสือคือการ “สื่อสาร” ประเภทหนึ่ง โดยการนำความคิดในหัวเรา ไปใส่ในหัวอีกฝ่ายอย่างสมบูรณ์แบบและตกหล่นน้อยที่สุด แต่นักเขียนจะรู้ดีกว่านั้น ว่าความคิดเป็นรองภาษา ศิลปะการสื่อสารไม่ได้อยู่ที่ “สานส์” แต่อยู่ที่ “การสื่อ” ดังตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นว่าทำอย่างไรคุณถึงจะชักจูงผู้ฟังให้เห็นตามที่คุณต้องการ โดยไม่ทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย
เกริ่นมาเวิ่นเว้อแบบนี้เพราะจะอธิบายว่าทำไมให้ตายเราและสตีเฟน พิงเกอร์ก็คงมองตาต่อตากันไม่เห็น (“เวิ่นเว้อ” นี่เป็นสำนวนวัยรุ่น ส่วน “มองตาต่อตากันไม่เห็น” นี่เป็นสำนวนฝรั่ง) The Stuff of Thought นี่จริงๆ แล้วเป็นหนังสือเล่มที่สองของพิงเกอร์ที่เราอ่าน แต่เล่มแรก The Language Instinct นั้นอ่านไม่จบเพราะมัวแต่ทะเลาะกับผู้เขียน (อันนี้เป็นการใช้คำอุปมาอุปมัย)
พิงเกอร์เรียกทฤษฎีภาษาศาสตร์ของตัวเองว่า “Conceptual Semantic” ซึ่งเป็นทางสายกลางระหว่างทฤษฎีสุดโต่งสองสายคือ “Nativism” ความเชื่อว่าคำและภาษาฝังอยู่ในหน่วยพันธุกรรม และมีมาแต่กำเนิด และ “Linguistic Determinism” ความเชื่อว่าภาษาเกิดจากการเรียนรู้ทางวัฒนธรรม และตัวภาษาก็ “ตบแต่งความคิด” ของผู้ใช้ในขณะเดียวกัน แน่นอนว่าในเมื่อพิงเกอร์บอกว่าทฤษฎีของตัวเองเป็น “ทางสายกลาง” มันก็ย่อมฟังดูสมเหตุสมผลกว่าทฤษฎีคู่แข่งอีกสองสาย แต่การอ่าน The Stuff of Thought ระหว่างบรรทัดทำให้เราพอมองเห็นว่าพิงเกอร์คงจะเอนเอียงไปทาง Nativism มากกว่า Linguistic Determinism แกดูจะยกย่องบิดาแห่ง Nativism มากๆ (ทั้งที่สำหรับเราแล้ว มันเป็นความคิดสติแตกชัดๆ ) แต่จะล้อเลียน เล่นตลกกับนัก Linguistic Determinism นอกจากนี้ในบทที่พูดถึงอุปมาอุปมัย พิงเกอร์ก็ยังปฏิเสธวาทกรรมที่จะนำไปสู่ข้อสรุปว่า “ภาษาตบแต่งความคิด” อย่างหัวชนฝา
เราคิดว่าปัญหาก็คือพิงเกอร์พยายามศึกษาปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรมอย่างภาษาโดยมองแต่จากแง่มุมทางด้านวิทยาศาสตร์เท่านั้น หนึ่งในแก๊กที่ดังสุดของแกคือการโต้ตัวอย่างของนัก Linguistic Determinism ว่าชาวเอสกิโมมีคำศัพท์ที่แปลว่า "หิมะ" มากกว่าภาษาอื่นๆ พวกเขาจึงสามารถมองและแจกแจงแยกแยะหิมะได้ดีกว่าคนทั่วไป พิงเกอร์บอกว่านั่นไม่ได้หมายความเลยว่าเราจะไม่สามารถจับเอาคนญี่ปุ่น อังกฤษ เยอรมันมาเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างหิมะตามแบบเอสกิโมได้ การโต้กลับแบบนี้แสดงว่าพิงเกอร์ได้หลงประเด็นแล้ว เพราะธรรมชาติของภาษาอยู่ในวัฒนธรรมและชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ห้องทดลองของนักภาษาศาสตร์ การที่โดย "ธรรมชาติ" ชาวเอสกิโมแยกแยะหิมะได้ดีกว่าชนชาติอื่น ก็น่าจะเป็นหลักฐานแล้วว่า Linguistic Determinism เป็นจริงมากกว่าที่แกยอมรับ
The Stuff of Thought เลยกลายเป็นหนังสือที่ไม่สนุกเท่าที่ควร ความเป็น Nativism ของพิงเกอร์ทำให้แกปฏิเสธ (หรืออย่างน้อยก็ตั้งใจมองข้าม) ความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรม ประเด็นหนึ่งที่น่าขบคิดมากๆ ซึ่งแกแตะมาแต่ไม่สานต่อไปไหน คือความแตกต่างระหว่างคำนามนับได้และนับไม่ได้ในภาษาอังกฤษ โดยนามนับไม่ได้จะมีลักษณะของสิ่งที่ไม่อาจแบ่งสัดส่วน หาพื้นผิว หรือขีดจำกัดได้อย่างชัดเจน เช่นน้ำ ทราย หรือนามธรรม ขณะที่สุนัข แมว หนังสือนั้น เราสามารถบอกได้ถึงขอบเขตหรือจุดจบของพวกมัน แต่อย่างภาษาไทย ญี่ปุ่น และจีน ทุกอย่างถือเป็นนามนับไม่ได้หมด (ถึงต้องมีลักษณะนามกำกับการนับ) ซึ่งความแตกต่างตรงนี้มาจากไหน มีความหมายอย่างไร และส่งผลอย่างไรต่อวัฒนธรรม เป็นเรื่องที่พิงเกอร์มองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย
บ่นมาแบบนี้ไม่ใช่ว่าหนังสือเล่มนี้ (รวมถึง The Language Instinct) ไม่ดีนะ แน่นอนว่าถึงจะ “ทะเลาะ” กัน แต่สุดท้ายเราจะเอาอะไรไปสู้ศาสตราจารย์ภาษาศาสตร์จาก MIT ได้ มีหลายอย่างน่าอ่านอยู่ใน The Stuff of Thought เช่นการพิสูจน์ความรู้ a priori ของคานท์ บทที่พูดเรื่องคำสบถ และอีกบทที่พูดถึงมารยาท แต่ในฐานะนักเขียนหรือผู้ที่มองภาษาจากอีกปลายหนึ่ง คงยากที่เราจะเห็นด้วย หรือสนุกไปกับหนังสือของพิงเกอร์ได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์
H. Melville's "Moby-Dick"
ส่วนหนึ่งคงมาจากความหมั่นไส้ด้วยกระมัง Moby-Dick ถึงได้กลายเป็นนิยายคลาสสิกของชาวอเมริกันที่ถูกนำมาวาดภาพประกอบบ่อยที่สุด เนื่องด้วยเมลวิลชอบโอ่อยู่เสมอว่าไม่มีใครสามารถวาดภาพโมบีดิก วาฬเผือกเพชรฆาตได้ แต่อีกส่วนหนึ่งก็คงเพราะ Moby-Dick เป็นนิยายที่อ่านเฉยๆ ไม่ได้ แต่ต้องจินตภาพตามไปอย่างไม่หยุดหย่อน ขณะที่นิยายส่วนใหญ่จะใช้ส่วนผสมกันระหว่างคำพูดของตัวละครและบรรยายโวหารโดยจะเน้นไปที่ส่วนแรกมากกว่า เนื่องจากมันเป็นช่องทางการสื่อสารที่สะดวกดายระหว่างนักเขียนและคนอ่าน น้ำหนักของ Moby-Dick จะทุ่มไปที่บรรยายโวหารและการสร้างภาพ
ความน่าทึ่งที่สุดของมหากาพย์เล่มนี้จึงอยู่ที่ความสามารถของเมลวิลที่จะทั้งสร้างภาพและไม่สร้างภาพ พูดถึงกรณีแรกก่อนแล้วกัน จริงๆ แล้วเนื้อหาของ Moby-Dick สมควรเป็นนิยายที่คิดภาพตามได้ยากมาก เหตุการณ์แทบทั้งหมดของนิยายเกิดบนสำเภาล่าวาฬ ซึ่งในปัจจุบันจะมีสักกี่คนที่เคยโดยสารหรือเดินทางด้วยเรือ ไม่ต้องพูดถึงสำเภาแห่งศตวรรษที่ 19 เลย ยิ่งเป็นสำเภาล่าวาฬด้วยยิ่งแล้วใหญ่ แล้วไอ้กิจกรรมล่าวาฬนี่มีบรรพบุรุษใครเคยสัมผัสบ้างไหม ถ้าให้อ่านนิยายวิทยาศาสตร์มนุษย์อวกาศสู้กับเอเลี่ยนยังนึกภาพตามได้ไม่ยากขนาดนี้เลยกระมัง
ดังนั้นความป๋าของเมลวิลจึงอยู่ตรง Moby-Dick เป็นนิยายที่นึกภาพตามได้ง่ายมาก ตั้งแต่กิจกรรมการล่าวาฬประกอบไปด้วยขั้นตอนอะไร มีอันตรายที่ตรงไหน วาฬล่ามาได้แล้วต้องแล่อย่างไร สกัดเอาน้ำมันจากอวัยวะส่วนใหญ่ Moby-Dick สอนให้เรารู้ว่ากรรมวิธีลอกหนังวาฬแทบไม่ต่างอะไรจากการฝานเปลือกแอปเปิลเลย อีกฉากที่น่าตื่นเต้นเอามากๆ คือลูกเรือตกบ่อน้ำมันในตัววาฬ เชื่อไหมเล่าว่าคนเราสามารถจมน้ำตายในสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งได้ ฉากเด็ดที่สุดซึ่งน่าจะเป็นฉากเอกของนิยายคือตอนที่ลูกเรือพีควอดหลงเข้าไปอยู่กลางฝูงวาฬคลั่งและพบกับสถานที่เลี้ยงลูกอ่อนวาฬ เมลวิลบรรยายทุกภาพที่ไม่น่าจะปรากฎในหัวคนไทยแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างเราได้เด่นชัด ละเอียด และงดงาม
ส่วนหนึ่งก็ต้องยกผลประโยชน์ให้ความเป็นนักวิทยาศาสตร์ของเมลวิล Moby-Dick เป็นนิยายที่อัดแน่นไปด้วยข้อมูล กว่าครึ่งหนึ่งของนิยายไม่มีตัวละครโผล่มาเลย มีแต่ผู้เล่าเรื่องมาอธิบายสารคดีวาฬแบบแฝงอารมณ์ขันหน่อยๆ จำได้ว่าอาจารย์ภาษาอังกฤษสมัยเรียนตรีเคยพูดว่าราวกับเมลวิลเขียนนิยายเล่มนี้ด้วยการ google คำว่า “whale” แล้วเอาข้อมูลกี่ร้อยกี่พันหน้าที่ผุดขึ้นมานั้น มาผสานกันเป็นนิยาย บางบทก็พูดถึงเรื่องที่เบ็ดเตล็ดมากๆ อย่าง กฎหมายการแบ่งสัดส่วนวาฬ หรือเพราะเหตุใดนักล่าวาฬชาวอังกฤษถึงได้ครื้นเครงและมีอารมณ์ขันกว่าชาติอื่นๆ
แต่อีกส่วนหนึ่งที่น่าทึ่งพอๆ กับการสร้างภาพที่ไม่อาจสร้างได้ คือการไม่สร้างภาพเลย ย้อนกลับไปที่คำโอ่ของเมลวิลว่าไม่มีใครสามารถวาดภาพโมบีดิกได้ บางทีเพราะเมลวิลไม่ต้องการให้ภาพของโมบีดิกออกมาเป็นแค่ปลายักษ์ เทคนิกที่เมลวิลใช้ในการนำเสนอ “ภาพ” ของอสูรกายแห่งท้องทะเลตัวนี้ คือวิธีแยกส่วน (segmentation) ซึ่งเป็นเทคนิกที่จะพบได้บ่อยๆ ในทางภาพยนตร์ ผู้เขียนอธิบายแต่ละส่วนอย่างละเอียดตั้งแต่หาง ใบหน้า ลำตัว ขนาด น้ำหนัก ตำนาน ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ แต่จะไม่เอาส่วนต่างๆ เหล่านี้มารวมกัน
ในฐานะที่เราเป็นผู้คนแห่งศตวรรษที่ 21 ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าสมัยนั้นวาฬถือเป็นสัตว์ลึกลับที่ไม่มีใครแน่ใจว่าหน้าตาเป็นอย่างไร คนส่วนใหญ่รู้ว่ามันอาศัยอยู่ในน้ำ ขนาดมหึมา รูปร่างคล้ายๆ ปลาแต่มีหางแนวนอน ในตัวมันมีน้ำมันอันล้ำค่า (สัตว์พิสดารประเภทไหนกันที่แบกบ่อน้ำมันไว้ในตัว) ใครที่มีการศึกษาหน่อยอาจรู้ว่ามันไม่ใช่ปลาแต่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกน้อยนมที่หายใจทางปอด ซึ่งก็จะยิ่งสับสนเข้าไปอีก ชาติหนึ่งของพระนารายณ์ก็เคยเกิดเป็นวาฬ แต่ในจารึกของศาสนาพราหมณ์ วาฬดูเหมือนครึ่งปลาครึ่งงูทะเล ดังนั้นในจินตนาการของชาวตะวันตก วาฬอาจเป็นสัตว์ที่ลึกลับพอๆ กับมังกรเลยก็ได้
การนำเสนอของเมลวิลที่เน้นเอาวาฬมาแตกย่อยเป็นส่วนๆ โดยไม่อาจเอาแต่ละส่วนมารวมกันเป็นสัตว์ตัวเดียวได้นั้น จึงเป็นวิธีการนำเสนอที่ตรงเป้าสุดในการสร้างความพิศวงให้กับอสูรกายตัวนี้
หรือบางทีโมบีดิกอาจไม่ใช่แค่วาฬก็ได้ จุดที่แตกต่างจากนิยายผจญภัยส่วนใหญ่คือ คนอ่านไม่ต้องลุ้นเลยว่ากัปตันอาฮับและลูกเรือพิควอดจะเอาชีวิตรอดจากโมบีดิกได้ไหม ถ้าปะทะกับโมบีดิกตรงๆ ก็ตายหยังเขียดสถานเดียว แล้วเหตุใดพวกเขาถึงมุ่งหน้าต่อไป นักวิจารณ์หลายคนยกให้เป็นเพราะความแค้นและความบ้าคลั่งของกัปตันอาฮับ แต่เรารู้สึกว่ามีบางอย่างลึกซึ้งกว่านั้น โมบีดิกอาจเป็นอุปสรรคและอัตตาบางอย่างที่คนเราไม่อาจก้าวพ้นหรือสลัดทิ้งได้
นอกเรื่องคือได้อ่านประวัติ “เจ้าลัทธิ” (spiritual teacher) คนหนึ่ง เขาเล่าว่าหลังจากค้นพบสัจธรรม เป็นเวลาเกือบสองปีเลยที่เขาไม่ทำอะไร เอาแต่นั่งในสวน มีชีวิตอยู่อย่างเปี่ยมสุขและหลุดพ้นไปวันๆ จะว่าน่าอิจฉาก็น่าอิจฉา เขาคือกัปตันอาฮับที่ตัดสินใจไม่เผชิญหน้าวาฬเผือก (สุดท้ายเจ้าลัทธิคนนั้นก็เขียนหนังสือและเผยแพร่คำสอนของตัวเอง ก็ถือว่าเขาได้สร้างจุดมุ่งหมายในชีวิตขึ้นมาแล้วเหมือนกัน) บางทีชีวิตที่ไม่ต้องเผชิญหน้ากับโมบีดิกเลยอาจเป็นชีวิตที่เปี่ยมสุขกว่าก็ได้
แต่มนุษย์เราสมควรใช้ชีวิตแบบนั้นหรือ
S. D. Levitt, S. J Dubner's "Freakonomics"
ในบทหนึ่งของหนังสือเศรษฐศาสตร์ชวนหัว Freakonomics มีปัญหาข้อหนึ่งน่าสนใจดี เลยอยากหยิบมาวิเคราะห์ต่อ เลวิตและดับเนอร์พูดถึงกรณีที่ชายคนหนึ่งมีส่วนในการทำลายเครือข่ายขององค์กรใต้ดิน KKK อันเป็นองค์กรเหยียดผิวในประเทศอเมริกา พวกนี้เป็นพวกชอบใช้ความรุนแรงกับคนผิวดำ โดย KKK จะใช้รูปแบบขององค์กรลับในยุคกลาง ซึ่งเต็มไปด้วยรหัสและปริศนาในการสื่อสาร หรือแม้แต่ชื่อตำแหน่งก็จะฟังดูอลังการแบบพวกขุนนางและอัศวิน (เช่นหัวหน้าเครือข่ายมีรหัสว่า "มังกรยักษ์" อะไรทำนองนี้)
สิ่งที่ชายคนนั้นทำก็คือ นอกเหนือจากการแฝงตัวเองเข้าไปในเครือข่ายของ KKK แล้ว สเตสันยังเอาข้อมูลภายในออกมาเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ เขียนหนังสือ The Klan Unmasked แฉความลับขององค์กร ผลก็คือจากของที่เคยเป็นความลับ เมื่อถูกเปิดเผยต่อหน้าสาธารณชน ความตื่นเต้นก็ลดหายลงไป ถึงแม้การกระทำของสเตสันจะไม่มีส่วนทำลาย KKK โดยตรง แต่ไม่ช้าความนิยมของกลุ่มก็ลดหายไป สมาชิกใหม่ก็น้อยลงทุกวัน จนค่อยๆ ซาไปเอง เลวิตและดับเนอร์จึงสรุปว่า อาวุธสำคัญที่สุดของ KKK (และกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ ) คือความหวาดกลัวอันเนื่องมาจากความลับ ครั้นเมื่อความลับกลายเป็นความแจ้ง อาวุธตรงนี้ก็สูญเสียประสิทธิภาพไป
หนังสือ Freakonomics ฉบับที่เรามีนั้นเป็นฉบับพิเศษ โดยรวมเนื้อหาเพิ่มเติมภายหลังการตีพิมพ์ครั้งแรกเอาไว้ด้วย และหนึ่งในเนื้อหาเหล่านั้นคือบทความซึ่งเลวิตและดับเนอร์พูดถึงสเตสัน ปรากฎว่าเป็นไปได้มากที่เนื้อหาของ The Klan Unmasked ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่สเตสันกุขึ้นมาเอง เลวิตและดับเนอร์รู้สึกผิดหวังกับสิ่งนี้มาก เนื่องจากเป้าหมายหนึ่งของ Freakonomics คือการล้มล้าง “ภูมิปัญญา” (หรือ conventional wisdom อันนี้แปลมั่วๆ นะครับ อย่าถือเป็นสาระ) หรือความรู้ความเชื่อที่พิสูจน์ไม่ได้ซะ เลวิตและดับเนอร์จบบทความนี้โดยบอกว่า แม้พวกเขาจะผิดหวังที่เรื่องของสเตสันไม่ใช่ความจริงล้วนๆ แต่เขาก็อยากเชิดชูวีรกรรมและความกล้าหาญของชายคนนี้ที่คิดจะทำอะไรดีๆ เพื่อสังคม
เนื่องจากอ่านมาแล้วทั้งเล่ม ผู้เขียนก็ได้ให้วิทยาทานความรู้เราว่า คิดอย่างไรจึงจะเป็นการคิดแบบนักเศรษฐศาสตร์ พอถึงตรงนี้ก็เลยอยากให้ความรู้คืนกลับไปบ้างว่า คิดอย่างไรจึงจะเป็นการคิดแบบนักมานุษยวิทยา เนื่องจากปัญหาที่เลวิตและดับเนอร์เจอนั้น เป็นปัญหาพื้นฐานข้อหนึ่งของมานุษยวิทยา ซึ่งก็คือ “ความจริงนั้นสำคัญไฉน” ถ้าเปรียบองค์กร KKK เหมือนกับชนเผ่าหนึ่ง ขณะที่นิทานปรัมปราและขนบความเชื่อของชนเผ่านั้นแตกต่างกันไปตามแต่ผู้เก็บข้อมูลจะไปสอบถามใคร ความลับขององค์กร KKK ก็เหมือนกันนั่นแหละ กล่าวคือคงไม่มีคู่มือที่แจกแจงอย่างละเอียดหรอกว่ารหัสของ KKK มีอะไรบ้าง ที่ใช้ๆ กันอยู่ก็เป็นการสืบทอด มุขปาฐะระหว่างสมาชิกแต่ละรุ่น เรื่องยกเมฆที่สเตสันเขียนลงใน The Klan Unmasked ขอแค่มีส่วนคล้ายคลึงอยู่บ้างกับรหัสที่พวก KKK เข้าใจกัน แค่นั้นก็เพียงพอแล้วที่จะถือว่าหนังสือเล่มนี้ได้แฉความลับของ KKK อย่างหมดเปลือก
Freakonomics เป็นหนังสือที่ดีนะครับ อ่านสนุก และอย่างที่บอกคือมันได้สอนให้เรารู้ว่านักเศรษฐศาสตร์คิดอย่างไร สิ่งนี้มีประโยชน์ทั้งสองทาง กล่าวคือสังคมไทยจำเป็นมากๆ ที่ชาวบ้านชาวช่องจะต้องคิดอย่างนักเศรษฐศาสตร์ให้มากขึ้น (จะได้ไม่มาตีกันแย่งกองหินชายแดน) ขณะเดียวกันก็จำเป็นจะต้องเข้าใจว่าคนที่เขาคิดแบบนักเศรษฐศาสตร์อยู่แล้วในสังคมไทย (นักธุรกิจ นักการเมือง) เขามีจุดอ่อนในวิธีคิดอย่างไร เพื่อจะได้มองคนเหล่านี้ให้ทะลุปรุโปร่ง
Subscribe to:
Posts (Atom)