S. Pinker's "The Stuff of Thought"


ไม่บอกก็คงเดาได้กระมังว่าปกติรักชวนหัวไม่ติดตาม ASTV จะมียกเว้นอยู่หนเดียวคือวันที่ 19 เดือนก่อน เราทราบข่าวการจราจลหน้าเขาพระวิหารครั้งแรกจาก ASTV ระหว่างกำลังตัดผมอยู่กับช่างประจำตัวที่เป็นเหลืองตกขอบ ถือเป็นประสบการณ์น่าสนใจไม่น้อย ชอบมากๆ คือบทสนทนาโต้ตอบกันทางโทรศัพท์ระหว่างเจ้าหน้าที่ในสถานีและผู้ถูกสัมภาษณ์ หนึ่งในแกนนำ โดยจรรยาบรรณ (และกฎหมาย) เจ้าหน้าที่ข่าวไม่สามารถโกหกได้ แต่ผู้ถูกสัมภาษณ์จะโกหกเท่าใดก็ได้ เราก็เลยได้ชม (ฟัง) กายกรรมพลิกแพลงระหว่างเจ้าหน้าที่ในห้องส่งและแกนนำ โดยฝ่ายหนึ่งถามชี้นำเพื่อเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายโกหก (หรือปิดบังความจริง) ทำอย่างไรที่จะให้สานส์ออกมาในรูปแบบที่พวกเขาต้องการ โดยบิดเบือนความจริงน้อยที่สุด

ไม่ใช่จะพูดเรื่องการเมืองหรอกนะ แต่ในฐานะที่เป็น “คนหนังสือ” คงไม่มีพวกเราคนไหนที่ไม่เชื่อว่า “ภาษาตบแต่งความคิด” ถ้าจำไม่ผิด คุณวาณิชกระมังที่เคยพูดทำนองว่า “นักเขียนไม่ได้เขียนหนังสือด้วยความคิด แต่เขียนหนังสือด้วยคำ” คนธรรมดาชอบเข้าใจว่าการเขียนหนังสือคือการ “สื่อสาร” ประเภทหนึ่ง โดยการนำความคิดในหัวเรา ไปใส่ในหัวอีกฝ่ายอย่างสมบูรณ์แบบและตกหล่นน้อยที่สุด แต่นักเขียนจะรู้ดีกว่านั้น ว่าความคิดเป็นรองภาษา ศิลปะการสื่อสารไม่ได้อยู่ที่ “สานส์” แต่อยู่ที่ “การสื่อ” ดังตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นว่าทำอย่างไรคุณถึงจะชักจูงผู้ฟังให้เห็นตามที่คุณต้องการ โดยไม่ทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย

เกริ่นมาเวิ่นเว้อแบบนี้เพราะจะอธิบายว่าทำไมให้ตายเราและสตีเฟน พิงเกอร์ก็คงมองตาต่อตากันไม่เห็น (“เวิ่นเว้อ” นี่เป็นสำนวนวัยรุ่น ส่วน “มองตาต่อตากันไม่เห็น” นี่เป็นสำนวนฝรั่ง) The Stuff of Thought นี่จริงๆ แล้วเป็นหนังสือเล่มที่สองของพิงเกอร์ที่เราอ่าน แต่เล่มแรก The Language Instinct นั้นอ่านไม่จบเพราะมัวแต่ทะเลาะกับผู้เขียน (อันนี้เป็นการใช้คำอุปมาอุปมัย)

พิงเกอร์เรียกทฤษฎีภาษาศาสตร์ของตัวเองว่า “Conceptual Semantic” ซึ่งเป็นทางสายกลางระหว่างทฤษฎีสุดโต่งสองสายคือ “Nativism” ความเชื่อว่าคำและภาษาฝังอยู่ในหน่วยพันธุกรรม และมีมาแต่กำเนิด และ “Linguistic Determinism” ความเชื่อว่าภาษาเกิดจากการเรียนรู้ทางวัฒนธรรม และตัวภาษาก็ “ตบแต่งความคิด” ของผู้ใช้ในขณะเดียวกัน แน่นอนว่าในเมื่อพิงเกอร์บอกว่าทฤษฎีของตัวเองเป็น “ทางสายกลาง” มันก็ย่อมฟังดูสมเหตุสมผลกว่าทฤษฎีคู่แข่งอีกสองสาย แต่การอ่าน The Stuff of Thought ระหว่างบรรทัดทำให้เราพอมองเห็นว่าพิงเกอร์คงจะเอนเอียงไปทาง Nativism มากกว่า Linguistic Determinism แกดูจะยกย่องบิดาแห่ง Nativism มากๆ (ทั้งที่สำหรับเราแล้ว มันเป็นความคิดสติแตกชัดๆ ) แต่จะล้อเลียน เล่นตลกกับนัก Linguistic Determinism นอกจากนี้ในบทที่พูดถึงอุปมาอุปมัย พิงเกอร์ก็ยังปฏิเสธวาทกรรมที่จะนำไปสู่ข้อสรุปว่า “ภาษาตบแต่งความคิด” อย่างหัวชนฝา

เราคิดว่าปัญหาก็คือพิงเกอร์พยายามศึกษาปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรมอย่างภาษาโดยมองแต่จากแง่มุมทางด้านวิทยาศาสตร์เท่านั้น หนึ่งในแก๊กที่ดังสุดของแกคือการโต้ตัวอย่างของนัก Linguistic Determinism ว่าชาวเอสกิโมมีคำศัพท์ที่แปลว่า "หิมะ" มากกว่าภาษาอื่นๆ พวกเขาจึงสามารถมองและแจกแจงแยกแยะหิมะได้ดีกว่าคนทั่วไป พิงเกอร์บอกว่านั่นไม่ได้หมายความเลยว่าเราจะไม่สามารถจับเอาคนญี่ปุ่น อังกฤษ เยอรมันมาเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างหิมะตามแบบเอสกิโมได้ การโต้กลับแบบนี้แสดงว่าพิงเกอร์ได้หลงประเด็นแล้ว เพราะธรรมชาติของภาษาอยู่ในวัฒนธรรมและชีวิตประจำวัน ไม่ใช่ห้องทดลองของนักภาษาศาสตร์ การที่โดย "ธรรมชาติ" ชาวเอสกิโมแยกแยะหิมะได้ดีกว่าชนชาติอื่น ก็น่าจะเป็นหลักฐานแล้วว่า Linguistic Determinism เป็นจริงมากกว่าที่แกยอมรับ

The Stuff of Thought เลยกลายเป็นหนังสือที่ไม่สนุกเท่าที่ควร ความเป็น Nativism ของพิงเกอร์ทำให้แกปฏิเสธ (หรืออย่างน้อยก็ตั้งใจมองข้าม) ความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรม ประเด็นหนึ่งที่น่าขบคิดมากๆ ซึ่งแกแตะมาแต่ไม่สานต่อไปไหน คือความแตกต่างระหว่างคำนามนับได้และนับไม่ได้ในภาษาอังกฤษ โดยนามนับไม่ได้จะมีลักษณะของสิ่งที่ไม่อาจแบ่งสัดส่วน หาพื้นผิว หรือขีดจำกัดได้อย่างชัดเจน เช่นน้ำ ทราย หรือนามธรรม ขณะที่สุนัข แมว หนังสือนั้น เราสามารถบอกได้ถึงขอบเขตหรือจุดจบของพวกมัน แต่อย่างภาษาไทย ญี่ปุ่น และจีน ทุกอย่างถือเป็นนามนับไม่ได้หมด (ถึงต้องมีลักษณะนามกำกับการนับ) ซึ่งความแตกต่างตรงนี้มาจากไหน มีความหมายอย่างไร และส่งผลอย่างไรต่อวัฒนธรรม เป็นเรื่องที่พิงเกอร์มองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย

บ่นมาแบบนี้ไม่ใช่ว่าหนังสือเล่มนี้ (รวมถึง The Language Instinct) ไม่ดีนะ แน่นอนว่าถึงจะ “ทะเลาะ” กัน แต่สุดท้ายเราจะเอาอะไรไปสู้ศาสตราจารย์ภาษาศาสตร์จาก MIT ได้ มีหลายอย่างน่าอ่านอยู่ใน The Stuff of Thought เช่นการพิสูจน์ความรู้ a priori ของคานท์ บทที่พูดเรื่องคำสบถ และอีกบทที่พูดถึงมารยาท แต่ในฐานะนักเขียนหรือผู้ที่มองภาษาจากอีกปลายหนึ่ง คงยากที่เราจะเห็นด้วย หรือสนุกไปกับหนังสือของพิงเกอร์ได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์

No comments: