N. Marfouz's "Arabian Nights & Days"
Arabian Nights & Days คือภาคต่อของนิทานอาหรับราตรีที่เราคุ้นเคยกันดีนี่เอง มาฟอยซ์ตั้งคำถามได้น่าขบคิดมากๆ ว่า ถึงแม้ตอนจบของอาหรับราตรี พระเจ้าชาริยาจะกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี อยู่กินกับชาราด เจ้าหญิงนักเล่านิทานอย่างสงบสุข แต่ชาราดจะสามารถรักผู้ชายที่สังหารสตรีและผู้บริสุทธิ์เป็นร้อยๆ คนได้สักแค่ไหน และกษัตริย์ที่เหยียบย่างมาบนเส้นทางของซากศพและกองเลือดอย่างชาริยาจะยึดมั่นในคุณงามความดีได้จริงหรือเปล่า
มาฟอยซ์ใช้รูปแบบของนิทานอาหรับราตรีเล่าเรื่องราวต่อจากนั้น ถึงแม้มันจะถูกจัดว่าเป็นนิยาย แต่ Arabian Nights & Days คล้ายคลึงกับเรื่องสั้นหลายๆ เรื่องที่แบ่งฉากและตัวละครชุดเดียวกันมากกว่า นอกจากชาริยาและภรรยา ตัวละครเด่นอีกตัวคือกาซามา เขาเป็นตำรวจซึ่งรับสินบน โดยบอกตัวเองว่าเขาแค่ไหลไปตามระบบอันโสมมและทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา หลังได้พบกับจินีหรือยักษ์วิเศษ กาซามาตั้งใจกลับตัวเป็นคนดี เขาสังหารผู้บังคับบัญชาที่โกงกินปลิ้นปล้อน และก่อนจะถูกประหารชีวิต ยักษ์วิเศษช่วยเหลือกาซามาโดยการปั้นร่างมายาให้ถูกตัดหัวแทนตัวเขา และแปลงโฉมกาซามาเสียใหม่ เขากลายเป็นคนบ้าเร่ร่อนอยู่ในเมือง คอยผดุงความยุติธรรม และช่วยเหลือผู้อื่น
พูดตรงๆ เราก็จำไม่ค่อยได้เหมือนกันว่านิทานอาหรับราตรีมันมีอะไรบ้าง นอกจากเรื่องเด่นๆ อย่างอาลาดิน ซินแบด หรืออาลีบาบา ซึ่งถ้าจำได้คงอ่าน Arabian Nights & Days ออกรสออกชาติกว่านี้อีก เพราะมาฟอยซ์ดูตั้งใจเล่นกับการเอานิทานคลาสสิกมาเล่าใหม่อยู่พอสมควร (มีตัวละครชื่อซินแบดและอาลาดินอยู่ในนิยายเรื่องนี้ด้วย) โมทีฟหลักๆ นอกจากยักษ์วิเศษก็มีผ้าคลุมล่องหน แหวนวิเศษ ประตูที่ห้ามเปิด หรือกษัตริย์ที่ปลอมตัวออกไปสอดส่องดูความเดือนร้อนของผู้คน นอกจากจะเอานิทานปรัมปรามาดัดแปลงได้อย่างงดงามแล้ว มาฟอยซ์ยังผสานอะไรใหม่ๆ เข้าไปด้วยเช่น ปัญหาชนกลุ่มน้อย หรือการทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างสองชนเผ่า เสียดายที่ประเด็นเหล่านี้ไม่พัฒนาไปไหนนัก
มาระยะหลังๆ นี่เราชักเริ่มสนใจนิทานแล้วสิ โดยเฉพาะบทบาทของมันในประเทศโลกที่สามและประเทศที่พัฒนาแล้ว นักเขียนชาวยุโรป ไม่ว่าจะพยายามทำตัวเป็นนักตะวันออกนิยมแค่ไหน อย่างเฮสเส ก็ไม่ค่อยมีหรอกที่เอานิทานมาประกอบใช้ในงานเขียนของตัวเอง ขณะที่นักเขียนจากประเทศโลกที่สามอย่างรัชดีหรือมาฟอยซ์ดูจะชอบเล่นกับนิทานหรือตำนานเอามากๆ น่าขบคิดว่าในโลกตะวันตก ตำนานเหล่านี้มันหายไปไหน ถูกรวมเข้ากับศาสนา ถูกแทนที่ด้วยวิทยาศาสตร์ หรือว่าเส้นที่แบ่งระหว่าง "วรรณคดี" (หรือเรื่องแต่ง) กับเรื่องจริงมันชัดเจนกว่าในโลกตะวันออกกันแน่
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment