ช่วงนี้อ่านหนังสือประวัติศาสตร์เยอะ ก็เพิ่งได้เรียนรู้ศัพท์ใหม่อีกคำคือ posterity ซึ่งแปลว่าคนรุ่นหลังนั่นเอง อะไรที่เกิดในประวัติศาสตร์ สุดท้ายก็มีแต่ posterity หรือคนรุ่นหลังเท่านั้นที่จะตัดสินคุณค่าของมันได้
วอลแตร์จัดว่าเป็น posterity ของกษัตริย์หลุยส์ที่ 14 ระหว่างที่เขียนประวัติศาสตร์ยุคนั้น วอลแตร์เองจะสงสัยไหมว่า posterity ของแก จะมองตัวแกว่าอย่างไร แกจะรู้ไหมว่าจากนิยาย บทละคร และหนังสือประวัติศาสตร์ทั้งหลายแหล่ จะเป็น Candide เล่มบางๆ ที่ผู้คนรู้จักและพูดถึงมันมากที่สุด (วอลแตร์เขียนหนังสือประวัติศาสตร์ไว้เยอะมาก และถ้าทุกเล่มเป็นแบบ The Age of Louis XIV เราต้องประเมินแกใหม่ ในฐานะนักประวัติศาสตร์จอมสืบค้น ข้อมูลแน่นเปรี๊ยะ มากกว่าแค่นักปรัชญา หรือนักเขียนนิยายแล้ว)
ผิดคาดพอสมควรว่าคนเขียน Candide จะเขียนหนังสืออย่าง The Age of Louis XIV ออกมา ถึง Candide จะเป็นนิยายเสียดสี ที่จับเจตนาคนเขียนลำบาก ว่าเรื่องไหนจริงจัง เรื่องไหนล้อเล่น แต่เราเดาว่าวอลแตร์น่าจะต่อต้านสงครามนั่นแหละ กระนั้นใน The Age of Louis XIV สองในสามของเล่มว่าด้วยเรื่องสงครามล้วนๆ จนกระทั่งแกสาธยายวีรกรรม (และความพ่ายแพ้) ของกษัตริย์หลุยส์ที่ 14 จนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถึงค่อยมาแตะๆ เรื่องเศรษฐกิจสังคม
อย่างไรก็ตามวอลแตร์รักษาความเป็นกลางไว้ได้ดีมาก ถึงเปิดหนังสือมา จะมีการยอยศหลุยส์ที่ 14 โดยบอกว่ายุคสมัยของพระองค์เป็นยุคที่ยุโรปเจริญถึงขีดสุด ต่อจากยุคของอเลกซานเดอร์ ซีซาร์ และชาลีมัง แต่พอเริ่มเรื่องจริงๆ ก็ไม่ได้รู้สึกว่าแกสรรเสริญอะไรหลุยส์มากนัก วอลแตร์เล่าให้ฟังว่ากองทัพหลุยส์ที่ยกไปตีฮอลแลนด์เกรียงไกร เริ่ดหรูอย่างถึงที่สุด ทั้งบดขยี้ศัตรูไป ก็สังสรรค์รื่นเริง และโชว์ความอลังไปพลาง (พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นคนแรกที่มากับแนวคิดว่าทหารที่ไปยกทัพจับศึก ไม่จำเป็นเสียหน่อยที่ต้องอยู่อย่างลำบากยากแค้น อะไรที่พอหรูหรา เพลิดเพลินได้ ก็จัดให้เสียหน่อย) สุดท้ายพอเจ้าชายแห่งส้ม (Prince of Orange) กษัตริย์ฮอลแลนด์รวบรวมกำลังพลได้ และตีโต้หลุยส์จริงๆ จังๆ ฝรั่งเศสก็ไปต่อลำบากเหมือนกัน
...จะว่าไป ทั้งเล่มของ The Age of Louis XIV อาจจะเขียนขึ้นเพื่อเสียดสีไม่ต่างอะไรจาก Candide ก็เป็นได้แฮะ
No comments:
Post a Comment