ได้ข่าวว่าสำนักพิมพ์มติชนกำลังจะออก The Value of Nothing ฉบับแปลไทยปลายปีนี้ น่าตื่นเต้นจริงๆ ...ขอหลับหูหลับตา อยู่ในโลกแห่งความฝันว่า การออกหนังสือใหม่ในเมืองไทยเป็นเหตุแห่งการเฉลิมฉลอง ผู้คนจะแห่กันไปซื้อหนังสือเล่มนี้เพื่ออ่าน อ่านเสร็จแล้วก็จะมาถกกันอย่างกว้างขวาง...ช่างน่าตื่นเต้น
ก็จะไม่ให้ตื่นเต้นได้อย่างไร ท่ามกลางกีฬาสี ความขัดแย้ง ทั้งสองฝ่ายสามารถหาอาวุธใหม่ๆ หรือข้อความที่สนับสนุนความคิดของตัวเองได้จากหนังสือเล่มนี้ด้วยกันทั้งนั้น ที่เป็นอย่างนี้เพราะพาเทลไม่ได้เขียนตำราเศรษฐศาสตร์เล่มนี้โดยนึกถึงเมืองไทย เอาเข้าจริงพาเทลน่าจะแทบไม่รู้จักอะไรเกี่ยวกับเมืองไทยเลย (นอกจากการ "บวชต้นไม้" ที่เขาเขียนอย่างชื่นชมเอาไว้ใหญ่โต) ถึงพาเทลจะเขียนหนังสือจากจุดยืนทางอุดมการณ์ แต่มันช่างเป็นอุดมการณ์ที่ตัดผ่าน ทะลุทั้งสองฝ่ายความขัดแย้งในเมืองไทยได้อย่างสวยงาม
นี่คือหนังสือ "ด่าทุนนิยม" เราอยากเสริมด้วยว่าด่าชนิดฮาร์ดคอร์เลย คือไม่ใช่แค่ว่าทุนนิยมไม่ดี เพราะคนไม่ดี เพราะนักการเมืองโกง เพราะการผูกขาดการค้า แต่สิ่งที่ผิดพลาดของทุนนิยมอยู่ที่ปรัชญาพื้นฐาน ตลาดเสรีเลย ดังนั้นไม่ต้องแก้ เพราะแก้ยังไงก็ไม่สามารถทำให้กะปิมันหอมขึ้นมาได้ (ถึงพาเทลจะแอบถอยก้าวสั้นๆ ตอนท้ายเล่มว่า เรายังไม่ควรยกเลิกระบบตลาด หรือทรัพย์สินส่วนบุคคล)
แน่นอนว่าในหนังสือที่ด่าทุนนิยมแบบนี้ คำถามที่ตามมาโดยพลันคือ "อะไรคือทางเลือกใหม่" น่าสนใจว่าพาเทลตอบมายืดยาวในครึ่งหลังของหนังสือ ด้วยการไม่ตอบอะไรเลย เขาเพียงแค่ตามไปรายงานการเคลื่อนไหวของมวลชนในสถานที่ต่างๆ เพื่อยกตัวอย่างการต่อสู้กับทุนนิยมในระดับท้องถิ่น (รวมไปถึงการบวชต้นไม้ ต้านเขื่อนในเมืองไทยด้วย) คำตอบของพาเทลคือ เราไม่สามารถสู้กับระบบทุนนิยมด้วยอีกระบบ หรืออีกทฤษฎีหนึ่ง แต่ต้องสู้ด้วยการเคลื่อนไหวท้องถิ่นที่ผันแปรไปตามสถานการณ์ (แม้แต่ศิษย์อาย แรนด์อย่างเรา ก็ยังยอมรับคำตอบกำปั้นทุบดินแบบนี้ได้ เพราะมันคือการนำความย้อนแย้ง และ paradox มาเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎี) พาเทลสรุปว่า มนุษย์เราต้องหนีออกจากความเป็น "มนุษย์เศรษฐศาสตร์" (ที่ถูกกำหนดโดยตลาด) มาเป็น "มนุษย์การเมือง" ที่ต่อสู้บนวิถีการเมือง เพื่อยกระดับอำนาจของตัวเอง
น่าตื่นเต้น น่าตื่นเต้นจริงๆ จะรอวันที่คนไทยหาซื้อเล่มนี้มาอ่านและถกเถียงกัน
No comments:
Post a Comment