S. Weil's "Gravity and Grace"


Gravity and Grace เป็นหนังสือเล่มที่สองของไวล์ที่เราอ่าน สารภาพว่าไม่ค่อยชอบเล่่มแรกเท่าไหร่ ถ้าไม่บังเอิญอ่านมาจากไหนสักแห่งว่าไอริช เมอดอกชื่นชมเธอมากๆ คงไม่คิดจะอ่านเล่มนี้ด้วยซ้ำ Gravity and Grace ค่อนข้างเป็นหนังสือที่อ่านยากสำหรับเรา โดยตัวมันเองแล้ว เหมือนจะเป็นการรวบรวม สุภาษิต วาทะเจ๋งๆ ความคิดที่แตกกระจาย มากกว่าจะเอาความคิดเหล่านั้นมาสังเคราะห์เป็นปรัชญาเป็นชิ้นเป็นอัน คล้ายๆ กับ Minima Moralia ของอดอร์โน และผลงานหลายชิ้นของนิทเช่ ถ้าเปรียบเทียบกับเรื่องแต่ง นี่คืองานเขียนเชิงปรัชญาที่อิง "บทกวี" ขณะที่บทความที่อิง "เรื่องสั้น" หรือ "นิยาย"

แต่ก็ต้องนับว่าไม่ผิดหวังเท่าไหร่กับ Gravity and Grace ไวล์พูดถึงพระเจ้า ศรัทธา และศาสนาคริสต์ แต่แนวคิดของเธอกลับคล้ายคลึงพุทธศาสนาได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกเพราะช่วงระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้ง เป็นยุคที่ปรัชญาตะวันออกเริ่มแพร่หลายในซีกโลกตะวันตก แต่ถ้าเทียบกับนักเขียนตะวันออกนิยมคนอื่นๆ อย่างเฮสเส เราว่าไวล์เข้าใจศาสนาพุทธลึกซึ้งกว่า

หัวใจของ Gravity and Grace คือมนุษย์ต้องไม่ปฏิเสธความเจ็บปวด ต้องไม่พยายามหลีกเลี่ยงด้วย เพราะมีแต่การอดทนกับความเจ็บปวด หรือทนทุกข์กับความว่างเปล่า (void) เท่านั้น ที่จะสอนให้เราเข้าถึงสัจธรรมแห่งชีวิต แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องวิ่งเข้าหาความเจ็บปวด ไวล์บอกว่าเราต้องใช้ชีวิตให้สมบูรณ์ที่สุด เพื่อที่ว่าเมื่อเราเจ็บขึ้นมาเมื่อไหร่ นั่นคือ "ความเจ็บปวดบริสุทธิ์" ที่จะช่วยให้เราสัมผัสพระเจ้า

อีกแนวคิดหนึ่งเกี่ยวกับการทำความดีที่น่าขบคิดมากๆ คือ ความดีสูงสุดเกิดจากความจำเป็น มีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่ทำความดีได้ ส่วนมนุษย์เป็นแค่แขนขา เครื่องมือของพระองค์ (ตรงนี้นึกถึงสปีชของบรูซ วิลลิสในหนังเรื่อง Die Hard ภาคล่าสุดที่บอกว่าถ้ามีคนอื่นมาทำหน้าที่นี้แทนจอห์น แมคเคลน แมคเคลนไม่มาเสี่ยงอันตรายแบบนี้หรอก) ไวล์เชื่อว่าคนที่ไม่รู้สึก "เขิน" เวลาทำความดี แปลว่ายังไม่ได้ทำความดีอย่างแท้จริง

แต่ส่วนที่เราชอบที่สุดในหนังสือ คือตอนที่ไวล์พูดถึงความเลว เธอบอกว่า ความเลวที่จินตนาการขึ้นมานั้นเป็นเรื่องสนุกสนาน ขณะที่ความดีในจินตนาการกลับเป็นของน่าเบื่อ แต่ในความเป็นจริง ความเลวต่างหากที่น่าเบื่อหน่าย แต่ความดีคือสุดยอดของความงาม ดังนั้นศิลปะที่เกิดจากการแต่งแต้มจินตนาการ ถ้าไม่น่าเบื่อ ก็ต้องผิดศีลธรรมเข้าไว้ แต่ถ้าจะไปให้ไกลกว่านั้น ถ้าศิลปะจะหลุดจากโลกสมมติ เข้าสู่โลกแห่งความจริง และรักษาคุณค่าความงาม ศิลปะนั้นจะต้องถูกศีลธรรม ไม่รู้จริงหรือเปล่า แต่ชาบูๆ

2 comments:

Anonymous said...

นี่บลอคผมครับ http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=rhoetaupsilon

Anonymous said...

ชอบบลอคนี้จังเลยมีแต่หนังสือน่าอ่านทั้งนั้น ผมอ่านแล้วเล่มไหนสนใจก็ไปยืมหนังสือที่หอสมุดมาอ่าน บลอคนี้อ่านแล้วได้ความรู้จังเลย เขียนรีวิวต่อเรื่อยๆเลยนะครับ ติดตามอยู่ ^_^