M. Proust's "Swann's Way"
ไม่ค่อยอยากเลย การเอาหนังสือสักเล่มหนึ่งมาเป็นตัวอย่างว่าทำไมเราถึงไม่ชอบวรรณกรรมของประเทศนั้นๆ ฟังดูเป็นการเหยียดชาติอย่างไรชอบกล เคยบอกไปแล้วว่าเราเป็นคนไม่ค่อยชอบวรรณกรรมฝรั่งเศสและวรรณกรรมอเมริกัน กรณีหลังอาจยังถกเถียงกันได้ แต่กรณีแรกนี่ชัดเจนพอดู ไม่ว่าจะเป็น Madame Bovary หรือล่าสุดนี่ก็ Swann’s Way เล่มแรกในชุด In Search of Lost Time อันโด่งดังของพรูส ซึ่งถ้าไม่ชอบเล่มนี้ก็คงไม่ต้องไปหวังแล้ว (หรืออย่างไร)
อย่างที่บอก มันคงเป็นไปไม่ได้หรอก ที่จะจับเอาหนังสือเล่มสองเล่มมาใช้อธิบาย เป็นตัวแทนของวรรณกรรมทั้งชาติ ก็ถือว่าคุยขำๆ แล้วกัน ข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่เรามีต่อทั้ง Madame Bovary และ Swann’s Way คือคนฝรั่งเศสไม่ค่อยชอบพูดถึงเรื่องที่ทำงานเลย เรามีรายละเอียดน้อยมากว่าตกลงนายสวรรค์นี่หารับประทานด้วยสัมมาอาชีพใด เรารู้ว่าแกมีตำแหน่งสูงๆ และมีเส้นสายในหมู่คนใหญ่คนโต มีงานอดิเรกเป็นผู้เชี่ยวชาญศิลปะ รู้กระทั่งเข้าไปถึงห้วงแห่งจิตว่าเวลาแกตกหลุมรัก แกหึงหวง แกเป็นอย่างไร แต่กลับไม่รู้ว่าวันๆ แกเอาเวลาไปทำอะไรบ้าง นึกถึงนิยายกำลังภายในจีนที่เวลาพระเอก ผู้ร้ายหยั่งเชิงกันในร้านเหล้า แล้วเสี่ยวเอ้อเข้ามาเก็บตัง พระเอกพูดว่า “ข้าเลี้ยงเอง” เราก็สงสัยว่า “เอ็งจะเลี้ยงเขาได้ยังไง วันๆ ไม่เห็นทำมาหาแดกอะไรเลย”
ก็เล่าไปขำๆ อย่างนั้นแหละ จริงๆ ก็ไม่ถึงกับไม่ชอบ Swann’s Way หรอก หนังสือเล่มนี้เหมือนกับรวมเอาคุณสมบัติสองอย่าง ที่เราชอบและรังเกียจสุดๆ ในวรรณกรรมเข้าด้วยกัน สิ่งแรกคือการสวมมุมมองตัวละคร “ฉลาดๆ “ ตั้งแต่ฉากเปิดนิยาย (อันเป็นฉากโด่งดังอันดับต้นๆ ของวรรณกรรมตะวันตก) จนถึงช่วงครึ่งแรกของเล่ม “ผม” บรรยายภาพชนบทของคอมเบรย์อันเป็นเมืองพักตากอากาศของครอบครัว ระหว่างที่บรรยายก็แทรกเหตุการณ์นั่นนิดโน่นหน่อย ไม่ได้มีเนื้อเรื่อง แต่อ่านแล้วเพลิน พรูสตั้งข้อสังเกตอย่างชาญฉลาดเรื่องเวลาและความทรงจำ (Swann’s Way ฉบับ Barnes and Nobel เขียนตอนท้ายเล่มว่า “ผม” ในเรื่องก็คือ “ชาร์ลส์ สวรรค์” ตอนเด็กๆ ซึ่งไม่ใช่เลย ไม่รู้เหมือนกันว่าสำนักพิมพ์ใหญ่ปล่อยไก่ตัวเบ่อเริ่มเทิ่มขนาดนี้มาได้อย่างไร)
ส่วนสิ่งที่เรารังเกียจสุดในวรรณกรรม ไม่ว่าจะของชาติอะไรก็ตาม คือการสวมมุมมองของตัวละคร “โง่ๆ “ ครึ่งหลังของหนังสือเป็นการเล่าเรื่องราวความรักระหว่างนายสวรรค์และโอเดต เล่าไปก็จิกกัดสังคมฝรั่งเศส และจริตความหลงตัวเองของผู้คนไป ซึ่งอ่านแล้วก็เพลินดี แต่อยู่ดีๆ พอความรักเริ่มจืดจาง นายสวรรค์ระแวงไปหมดว่าโอเดตจะนอกใจไปกับใครบ้าง (ซึ่งก็ใช่ว่าความระแวงนั้นจะไร้มูลเลย) เขาหลงวนเวียนอยู่ในห้วงริษยา เป็นจำนวนเกือบสี่สิบห้าสิบหน้า อ่านช่วงนี้แล้วทรมานพอๆ กับนายสวรรค์ ไม่ได้ทรมานเพราะหึงหวง แต่ทรมานด้วยความรำคาญ
ในทางกลับกัน พอถึงช่วงท้ายของนิยายเป็นตอนที่นายสวรรค์รักษาอาการรักคุดของตัวเองด้วยยาดีที่สุดในโลก นั่นคือเวลา เป็นอีกช่วงที่เรา (ควรจะ) ชอบมากๆ อาการที่ยังสับสนกับตัวเองว่าควรรู้สึกอย่างไรเวลาได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับผู้หญิงที่ตนเคยรัก ความรู้สึกปล่อยวางแต่แอบเจ็บปวดแบบนี้ เราเข้าใจ ถ้าไม่เหนื่อย (และหน่าย) กับอาการหึงหวงของนายสวรรค์ เราจะชอบช่วงนี้มาก (Swann’s Way เป็นแค่เล่มแรกเท่านั้นของมหากาพย์ In Search of Lost Time พออ่านเนื้อเรื่องรวมในวิกิพิเดียจึงทราบว่าสุดท้ายนายสวรรค์ก็ได้แต่งงานกับแม่โอเดต แต่ทั้งสองมาคืนดีกันอีท่าไหน นี่สิออกจะน่าสนใจ)
เขียนบลอคนี้ไปก็เหมือนด่า เหมือนแซวนิยายเล่มนี้ไป ก็คนมันอ่านแล้วไม่เอนจอยนี่หว่า แต่สี่ห้าปีจากนี้ พอจะนึกออกว่าถ้าได้ลองกลับมาอ่านมันใหม่อีกรอบ กระโดดข้ามไปสักร้อย ร้อยห้าสิบหน้า เราอาจจะปลาบปลื้มกับมันขึ้นก็ได้
C. Taylor's "Hegel and Modern Society"
เราอดขำแกมสมเพชไม่ได้ทุกที เวลาได้ยินนักวิชาการออกมาพูดว่าทักษิณเป็นฮิตเลอร์หรืออภิสิทธิ์เป็นบุช เพราะเอาเข้าจริงๆ ประโยคเหล่านี้ไม่ได้มีนัยยะลึกซึ้งไปกว่าเด็กอนุบาลตะโกนใ่ส่กัน "พ่อกูเป็นซุปเปอร์ไซยา!" "ไม่พ่อกูต่างหาก!" ความสมเพชจะยิ่งทับเท่าทวี หากนักวิชาการคนนั้นชอบออกมาพูดว่า "สถานการณ์ในสังคมไทยซับซ้อนเฉพาะเจาะจง มีแต่คนไทยเท่านั้นจึงจะเข้าใจมัน เราไม่อาจเอาตัวอย่างหรือความเห็นจากภายนอกมาตัดสินเราได้" เออเนอะ...แต่ถ้าตัวอย่างมันพร้อมจะรับใช้อคติของท่าน ท่านก็พร้อมจะยกมันขึ้นมาทันที (สงสัยพูดว่า "ทักษิณเป็นพระเจ้าอลองพญา!" มันฟังดูไม่ค่อยเท่กระมัง)
แต่ในบริบทของฮิตเลอร์และฟาสซิสต์ เราก็ค่อนข้างเห็นด้วยว่าสถานการณ์อาจจะซับซ้อนเกินกว่าจะหยิบตัวละครตัวใดตัวหนึ่งในประเทศไทยไปแปะบนหน้าประวัติศาสตร์เยอรมัน ขนาดเราอ่านหนังสือเกี่ยวกับฟาสซิสต์จบไปเล่มหนึ่ง ก็ยังงงๆ อยู่ดีว่าสรุปแล้วมันคืออะไรกันแน่ Hegel and Modern Society เป็นอีกหนึ่งความพยายามที่จะเข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าว
ต้องบอกก่อนเลยว่าเฮเกลไม่รู้จักหรอก อะไรคือฟาสซิสต์ สมัยนั้นยังไม่มี เคยพูดไปแล้วว่า ผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ คนภายนอกอย่างคนไทยมองปรัชญาเยอรมันด้วยสายตาหวาดระแวง (ขอบคุณหลาย นิทเช่!) แต่ถ้าย้อนกลับไปศตวรรษที่ 19 ประวัติศาสตร์นองเลือดสุดในสมัยนั้นคือการปฏิวัติฝรั่งเศส และ La Terreur เฮเกลเคยอธิบายที่มาที่ไปของปรากฏการณ์ La Terreur ใน Philosophy of Right ซึ่งความเข้าใจตรงนั้น เทเลอร์เอามาปรับใช้กับระบบฟาสซิสต์ โดยสรุปว่า ไม่ใช่ปรัชญาเยอรมันหรอกที่เป็นต้นกำเนิดของฟาสซิสต์ แต่เป็นปรัชญารู้แจ้งของฝรั่งเศสต่างหาก
ฟาสซิสต์เกิดมาจากสิ่งที่เฮเกล/เทเลอร์เรียกว่า "เสรีภาพสัมบูรณ์" (absolute freedom) สภาพสังคมซึ่งปราศจากชนชั้นและการกดขี่ข่มเหง ซึ่งเฮเกลมองว่าสภาพดังกล่าวแฝงปริทรรศน์อยู่ภายใน เมื่อนักปฏิวัติทำลายชนชั้นปกครอง พวกเขาจะสร้างระบบแบบไหนขึ้นมาแทนที่ ต่อให้ระบบใหม่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน สุดท้ายก็ต้องมีเสียงส่วนน้อยอยู่ดี ดังนั้นความเท่าเทียมกันโดยสัมบูรณ์ไม่อาจเกิดขึ้นได้ (ประเทศสังคมนิยมจีน รัสเซียแก้ปัญหานี้โดยการตั้งผู้นำกึ่งเผด็จการขึ้นมา แล้วก็โมเมเอาว่าคนคนนี้แหละที่เข้าใจความต้องการของประชาชนโดยแท้จริง)
ฟาสซิสต์แก้ปัญหานี้โดยการ แทนที่จะหาระบบการปกครองที่ดีที่สุด ก็เปลี่ยนมาสร้างประชาชนที่เหมาะกับระบบการปกครองแทน ประชาชนแบบไหนที่ปกครองง่ายสุด ไม่ต้องฉลาด ไม่ต้องโง่ ขอแค่ให้ต้องการอะไรๆ เหมือนกันเป็นพอ เท่านี้ก็จะไม่มีเสียงส่วนน้อยแล้ว และประชาชนก็จะได้รับเสรีภาพเท่าเทียมกัน อาศัยการโฆษณาชวนเชื่อ สร้างศัตรูทั้งภายในภายนอก ผู้นำก็สามารถหลอกลวงมวลชนให้เชื่อได้ว่าตัวเองกำลังเผชิญภยันตราย และทางออกที่ดีที่สุดคือศรัทธาในตัวผู้นำ แน่นอนว่าเป็นไปไม่ได้หรอกที่การโฆษณาชวนเชื่อจะเข้าถึงทุกหย่อมหญ้า แต่นั่นคือความสวยงามของฟาสซิสต์ เพราะหญ้าหย่อมไหนที่มันไปไม่ถึง ก็ทึกทักเอาเลยว่าหญ้าหย่อมนั้นคือศัตรูภายในที่ต้องกำจัด
ในทางตรงกันข้าม ปรัชญาการเมืองแบบเฮเกลปฏิเสธ "เสรีภาพสัมบูรณ์" เฮเกลไม่เชื่อในความเท่าเทียม เขาเชื่อในชนชั้น เพียงแต่ไม่ใช่ชนชั้นที่กำหนดเองตามใจชอบ หากต้องสอดคล้องกับวัฒนธรรมและปทัสถานของสังคม เฮเกลแยกความแตกต่างระหว่าง Moralitat และ Sittlichkeit ตัวแรกคือศีลธรรมซึ่งอยู่ภายนอกสังคม ต้องเอามาบังคับใช้ ส่วนตัวหลังคือศีลธรรมที่อยู่ในวัฒนธรรมตั้งแต่แรก สังคมที่พัฒนาสูงสุดคือสังคมที่ค้นหา Sittlichkeit ของตัวเองเจอ และนำมันมาเป็นบรรทัดฐาน
ในแง่นี้ ปรัชญาของเฮเกลชวนให้นึกถึงคำพูดอมตะของอาจารย์นิธิที่บอกว่า "วัฒนธรรมสำคัญกว่าความรู้" ตอนที่อาจารย์นิธิพูดประโยคนี้ (เมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว) ไม่แน่ใจว่า "วัฒนธรรม" ของอาจารย์ลื่นไหลและเปิดรับการพัฒนาแค่ไหน เฮเกลเชื่อว่าสังคมต้องก้าวไปข้างหน้า โดยเน้นการ "พัฒนา" มากกว่า "อนุรักษ์" วัฒนธรรม ซึ่งอาจจะต่างจากโมเดลของอาจารย์นิธิ ที่ให้วัฒนธรรมเป็นคำตอบสุดท้ายว่าความรู้แบบไหนบ้างที่สมควรถูกกลั่นกรองเอามาใช้ในสังคม
ในการเมืองไทย มันไม่มีคำตอบง่ายๆ หรอกว่าสีไหนเป็นฟาสซิสต์ ประวัติศาสตร์ไม่ใช่ดรากอนบอล ให้นักวิชาการมาตะโกนใส่กันว่าพ่อใครคือซุปเปอร์ไซยา พ่อใครเป็นฮิตเลอร์
Plato's "Symposium"
ก็ไม่แปลกใจเท่าไหร่ทำไม Symposium ถึงเป็นบทสนทนาของเพลโตที่ได้รับความนิยมนัก นอกจากจะกะทัดรัดแล้ว มันยังอ่านเพลินเอามากๆ สำหรับเพลโตผู้ปฏิเสธงานศิลปะทุกแขนง ต้องถือว่า Symposium เขียนได้อย่างมีรสชาติและวรรณศิลป์จริงๆ
"Symposium" แปลตรงตัวหมายถึงงานเลี้ยง ในที่นี้เล่าเหตุการณ์งานเลี้ยงในบ้านของอกาตอนซึ่งประกอบด้วยแขกผู้มีเกียรติหลากหลาย ที่โด่งดังสุดสองคนคือโสเครติสและอริสโตเฟน คนแรกอย่างที่รู้ๆ กันเป็นนักปรัชญา ส่วนคนหลังเป็นนักเขียนบทละครสุขนาฏกรรม (คนอื่นอาจจะดังแต่เราไม่รู้จัก) อยู่ดีๆ คนพวกนี้ดื่มเหล้าไปไม่มีอะไรทำเลยคิดเกมสนุกๆ ขึ้นมา โดยให้แต่ละคนผลัดกันสรรเสริญความรัก เรียงลำดับวนไปเรื่อยๆ แน่นอนว่าปิดท้ายก็ต้องไม่ใช่ใครอื่นนอกจากโสเครติส
ตลกนิดหนึ่งคือบทที่โด่งดังสุดจาก Symposium กลับไม่ใช่นิยามรักของโสเครติสแต่เป็นของอริสโตเฟน ว่าด้วยตำนานมนุษย์ดั้งเดิม ถูกทำให้เป็นอมตะผ่านบทเพลง The Origin of Love ใน Hedwig and the Angry Inch ส่วนนิยามรักของโสเครติส หากตีโดยผิวเผินว่าความรักคือการสืบพันธุ์ ออกจะคล้ายๆ คติแบบคริสเตียนอนุรักษนิยม แต่กลับไปขัดกับวัฒนธรรมรักร่วมเพศของกรีก (ซึ่งไม่ต้องไปดูที่ไหนไกล มีตัวอย่างให้เห็นชัดๆ ใน Symposium นี่เอง) แต่หากมองให้ลึกไปกว่านั้นว่าความรักคือการพิชิตความตาย ซึ่งน่าจะเป็นต้นกำเนิด "Death Drive" ในทฤษฎีของฟรอยด์
ตอนจบของ Symposium มีเหตุการณ์ตลกๆ เกิดขึ้น คือจู่ๆ อัลซิเบียเดส "คนรัก" ของโสเครติสก็ทะลุกลางปล้องเข้ามาในงาน แล้วก็มีฉากหึงหวงกันนิดหน่อย ก่อนหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่นักปรัชญาจะนอนก่ายเกยกัน
P. Zimbardo's "The Lucifer Effect"
ถ้ามันเขียนดีกว่านี้สักนิดหนึ่ง เราคงพูดได้อย่างเต็มปากว่า The Lucifer Effect เป็นหนังสือที่ห้ามพลาดสำหรับเมืองไทย ซิมบาโดพูดถึงสาเหตุทำไมมนุษย์ทำเรื่องเลวร้ายหรือ พูดให้เจาะจงยิ่งกว่านั้น ถึง "ปล่อยให้เรื่องเลวร้ายเกิดขึ้นได้"
อุปมาอุปมัยอันเป็นแก่นกลางของหนังสือเล่มนี้คือ ให้นึกถึงรถคันหนึ่งซึ่งมีประสิทธิภาพสูง และคนขับซึ่งนอกจากจะเชี่ยวชาญแล้ว ยังมีความรับผิดชอบ หากจู่ๆ คนขับดึงเกียร์ว่าง แล้วปล่อยให้รถไถลลงทางลาดโดยไม่ทำอะไรเลย ไม่ว่ารถจะเหยียบขยี้บี้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาสักแค่ไหน คนขับก็ยังนิ่งเฉย นั่นแหละคือคำอธิบายของซิมบาโด ว่ามันเกิดอะไรในคุกอาบูการิบ รวันดา หรือเยอรมันช่วงสงครามโลก ไม่สำคัญเลยว่าคุณเป็นคนดีหรือเลว แต่สถานการณ์ต่างหากที่บังคับให้คุณทำเรื่องเลวร้าย หรือปล่อยให้เรื่องเลวร้ายมันเกิดขึ้น
อ่านถึงตรงนี้หลายคนอาจจะเถียงว่า คนขับรถที่มีความรับผิดชอบจริง ย่อมไม่ปล่อยรถให้เกียร์ว่างตั้งแต่แรก ในการทดลองโปรดของซิมบาโด นักวิทยาศาสตร์เชื้อเชิญนักเรียนสาขาเทวะวิทยาให้มาเทศน์ "ซามาริทัน" ออกอากาศทางวิทยุ ("ซามาริทัน"เป็นบทหนึ่งในคัมภีร์ไบเิบิล ว่าด้วยชายใจบุญช่วยเหลือคนแปลกหน้าบนท้องถนน แล้วพบว่าจริงๆ คนแปลกหน้าคนนั้นคือเทวดาที่ปลอมตัวมา) ระหว่างทางไปเทศนา อาสาสมัครแกล้งนอนโอดโอยอยู่บนถนน และมีกล้องคอยจับตาดูปฏิกิริยาของนักเรียน ผลปรากฏว่า ยิ่งนักเรียนคนนั้นไปสายเพียงใด ก็มีความเป็นไปได้มากที่จะไม่ยอมหยุดช่วยเหลือคนที่กำลังเดือดร้อน ในกรณีสายสุดโต่ง ส่งผลให้อัตราการไม่ช่วยเหลือคนแปลกหน้าสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์!
ประเด็นสำคัญของซิมบาโดคือ อย่าประมาทความเลว อย่าคิดว่าเราประเสริฐเสียจนไม่สามารถ "กระทำ" ความเลวได้เลย เพราะความเลวไม่ใช่การกระทำแต่เป็นการปล่อยเกียร์ว่าง (การอยู่เฉยๆ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับความชั่วจึงไม่ใช่ความดีงาม แต่ความดีงามต้องมาจากการกระทำด้วย)
มีเทคนิควิทยามากมายที่คิดค้นกันขึ้นมาเพื่อหลอกล่อให้มนุษย์ปล่อยเกียร์ว่าง (ความสายในการทดลองข้างต้นก็คือตัวอย่างหนึ่ง) ที่เราว่าน่าสนใจสุดคือ "Endlosung" เป็นภาษาเยอรมันแปลว่า "คำตอบสุดท้าย" (ทำเสียงแบบปัญญา) ฮิตเลอร์สามารถหลอกล่อชาวเยอรมันให้รังเกียจและเข่นฆ่าคนยิวได้อย่างไร คำตอบคือเปลี่ยน "สถานการณ์" ให้กลายเป็น "ปัญหา" ฮิตเลอร์ตั้งคำถามแก่ชาวเยอรมันว่าประเทศจะหาทางออกจากวิกฤติเศรษฐกิจและการเมืองได้อย่างไร เมื่อการสังหารชาวยิว (ถูกนำเสนอว่า) เป็นทางออก ทันใดนั้นคนก็ลืมแง่มุมทางศีลธรรมไปสิ้น
อย่างที่บอกว่าถ้าหนังสือเล่มนี้เขียนดีกว่านี้จะน่าอ่านมากๆ เหมือนซิมบาโดไม่ค่อยแน่ใจว่าอยากให้ใครอ่านกันแน่ คนธรรมดาหรือนักจิตวิทยา บางทีก็ให้รายละเอียดของสิ่งที่ไม่จำเป็นมาเสียยาวเหยียด เช่น 200 หน้าแรกพูดถึง Standford Prison Experiment อันโด่งดังของแก อ่านแล้วก็อดคิดไม่ได้ว่าซิมบาโดคงแอบยั๊วะนิดๆ ที่ใครๆ ต่างก็เอาผลงานชิ้นเอกของแกนี้ไปแอบอ้าง ทีนี้ก็เลยเขียนถึงมันด้วยตัวเองบ้าง โดยให้รายละเอียดเสียน้ำท่วมทุ่ง
G. W. F. Hegel's "Phenomenology of Spirit" (part 4)
ทุกปีเราตั้งใจจะก่อวีรกรรมให้เป็นที่กล่าวขานไปชั่วหลานชั่วลูก ปีที่แล้วคือการแก้ลูกบาศก์ปริศนา มาปีนี้ยากพอๆ กันหรือยากกว่าคืออ่าน Phenomenology of Spirit และก็ทำสำเร็จ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าที่เคยอ่านหนังสือมาเป็นร้อยๆ เล่ม ไม่มีเล่มไหนโหดหินเท่าเล่มนี้แล้ว ขนาด Ulysses ยังขี้ๆ จิ๊บจ้อยโดยพลัน
ช่วงสุดท้ายของ Phenomenology of Spirit ว่าด้วยเรื่องศาสนา ถ้าใครตามอ่านมาตลอด จะรู้ว่าเราย้ำอยู่เสมอ ปรัชญาของเฮเกลมีหลายอย่างเอี่ยวไปหาพุทธศาสนา แต่พอถึงบทที่ว่าด้วยศาสนาจริงๆ กลับเป็นบทที่ดูสวนทางกับพุทธศาสนาที่สุด ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะเฮเกลเป็นชาวยุโรปสมัยศตวรรษที่ 19 อย่าว่าแต่ให้พูดถึงพุทธศาสนาเลย เคยได้ยินยังไม่รู้จะเคยหรือเปล่า
เฮเกลเป็นนักปราชญ์รุ่นคลาสสิก จึงมีหลายแนวคิดสวนทางกับกระแสยุคใหม่ (เช่น แกเชื่อในการปกครองแบบอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ รวมถึงระบบไพร่ทาส) แต่พอเป็นเรื่องศาสนา แนวคิดของเฮเกลกลับใกล้เคียงกับลัทธิรู้แจ้ง สำหรับเฮเกล ศาสนาคือความพยายามของมนุษย์ที่จะกลับไปหาจิตวิญญาณ หลังจากที่ได้อธิบายไปแล้วว่ามนุษย์คือจิตวิญญาณที่แตกกระเซ็นออกเป็นสาย แต่ในเมื่อจิตวิญญาณอยู่ในตัวมนุษย์ วิธีการที่ดีที่สุดก็คือเข้าไป “แตะ” ธรรมชาติลึกๆ ภายในตัวเรา
วิวัฒนาการทางศาสนาจึงเริ่มจากการนับถือบูชาดวงอาทิตย์หรือธรรมชาติที่ปราศจากชีวิต จับต้องแตะตัวไม่ได้ พัฒนาการขึ้นมาอีกขั้นคือการบูชาพืชและสัตว์ และสูงส่งขึ้นไปอีกคือการเอาพืช สัตว์ และธรรมชาติมาทำเป็นรูปเคารพ รูปเคารพคือความพยายามของบรรพบุรุษที่จะ “สลัก” จิตวิญญาณออกจากเปลือกนอก ระหว่างนั้นมนุษย์ถึงได้ตระหนักว่า จิตวิญญาณไม่ได้สถิตย์อยู่ในสิ่งนอกกาย แต่เกิดจาก “ความพยายาม” ของมนุษย์เอง จึงเป็นกำเนิดของเกือบที่สุดในทางศาสนา ก็คือการที่มนุษย์บูชางานศิลปะหรือผลผลิตจากน้ำพักน้ำแรงของมนุษย์ด้วยกันเอง
ถามว่าที่สุดคืออะไร ก็คือการตระหนักว่าแม้แต่งานศิลปะก็ไม่จำเป็น เพราะพระเจ้าหรือจิตวิญญาณอยู่ในตัวมนุษย์เรานี่เอง ในที่นี้เฮเกลไม่ได้สนับสนุนให้มนุษย์เลี้ยงอัตตาและบูชาตัวเอง แกมีระบบและคำอธิบายว่าสองสิ่งนี้แตกต่างกันอย่างไร และวิธีการใดที่มนุษย์จะแตะต้องธรรมชาติของจิตวิญญาณในตัวเองได้ ซึ่งก็อาศัยกระบวนการวิภาษวิธีดังที่ได้อธิบายเอาไว้ตั้งแต่ต้นนั่นเอง
ถือว่าจบกันแค่นี้กับ Phenomenology of Spirit อ่านรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ไว้เจอกันใหม่คราวหน้า เมื่อเรากระดูกแข็งขึ้น
Subscribe to:
Posts (Atom)