วัฒนธรรมบันเทิงในชาติไทย (ภัทรวดี ภูชฎาภิรมย์)


เราเป็นคนหนึ่งที่ไม่ชอบภาพยนตร์เรื่อง โหมโรง เอาเสียเลย จากจุดอ่อนทั้งหมดของมัน จุดที่อภัยให้ไม่ได้ที่สุดคือการบิดเบือนประวัติศาสตร์ โดยการตัดต่อความจริงเพื่อนำมาสร้างเป็นภาพเพื่อรองรับสานส์ที่ผู้กำกับต้องการสื่อ กระนั้นก็ตาม นี่อาจจะเป็นจุดอ่อนที่น่าสนใจที่สุดของ โหมโรง เลยก็ได้ แทนที่มันจะนำเสนอสังคมไทยช่วงปี 2495-2500 มันกลับเอาสังคมไทยในปัจจุบัน (คือปี 2547) มาครอบใส่ฉากปี 2497 อย่างแนบเนียน

พงพัฒน์เล่นเป็นนายพลหัวนอก ชอบฟังบาค และคุกคามดนตรีไทยเป็นงานอดิเรก ซึ่งเราคงไม่ปฏิเสธหรอกว่าคนแบบนี้ไม่เคยมีอยู่จริง ช่วงหลังสงครามโลกที่เมืองไทยต้องปฏิรูปตัวเอง เปิดรับ กลั่นกรองวัฒนธรรมต่างชาติ และสร้างความเป็นอารยประเทศและพันธมิตรกับชาติตะวันตก ท่ามกลางความสับสนของเผด็จการทหาร จะมีนายพลเพี้ยนๆ แบบนี้บ้างก็คงไม่น่าแปลกใจ

แต่อย่างน้อยนี่ก็ไม่ใช่ภาพสังคมไทยที่อาจารย์ภัทรวดี นำเสนอใน วัฒนธรรมบันเทิงในชาติไทย หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมความบันเทิงช่วงพ.ศ. 2491 – 2500 อาจารย์ภัทรวดีเผยให้เราได้เห็นบทบาทของรัฐบาลทหาร ในการอนุรักษ์และผสานวัฒนธรรมไทยให้เข้ากับวัฒนธรรมตะวันตก (อย่าลืมว่าสุนทราภรณ์ไม่ใช่วงอินดี้ แต่เป็นวงที่อยู่ใต้กระทรวงโฆษณาการ อีกนัยหนึ่งก็คือเป็นกลุ่มข้าราชการที่รับใช้เผด็จการทหารนั่นแหละ!) คนไทยในยุคนั้นยังไม่มีอาการ “หลงเงาตัวเอง” เหมือนคนไทยในปี 2547 บทบาทของกระทรวงวัฒนธรรมก็ไม่ใช่บทบาทเชิงรับ คอยนั่งเซนเซอร์นู่น เซนเซอร์นี่ แต่เป็นบทบาทเชิงรุก มีหน้าที่คิดใคร่ครวญว่าทำอย่างไรจึงจะให้ดนตรีไทยทันสมัยและถูกจริตผู้เสพย์ ผู้บริโภค

เราชอบคำกล่าวของพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลมาก (ท่านมีศักดิ์เป็นพระปิตุลาของผู้อำนวยการสร้าง โหมโรง) ท่านบอกว่าของเก่าของดีมีคุณค่า เราก็ต้องอนุรักษ์เอาไว้ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าวัฒนธรรมตะวันตกมีอำนาจดึงดูด และตรงจริต รสนิยมคนรุ่นใหม่มากกว่า “ส่วนนาฏศิลป์และดุริยางคศิลปสากลนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ศิลปะประจำชาติของเราก็จริง แต่ก็เปนสิ่งจำเป็นที่จะต้องปลูกฝัง และทนุบำรุง ทั้งนี้ก็เพราะ…นอกจากเปนการบรรเทิงแล้ว ยังเปนการทำให้ความรู้ของเรากว้างขวางออกไปอาจนำความรู้นั้นมาส่งเสริมศิลปะของไทยเราได้”

โจทย์ของผู้หลักผู้ใหญ่ในสมัยนั้นจึงไม่ใช่การสร้างหนังเพื่อหลอกให้คนดูเชื่อว่าพวกนายพลบ้าอำนาจเป็นพวกหัวนอกและชอบฟังดนตรีคลาสสิค แต่ทำอย่างไรจึงจะ “ทนุบำรุง” และนำเอาดนตรีคลาสสิคมา “ส่งเสริมศิลปะของไทยเรา” ต่างหาก

ภาพสังคมไทยกึ่งอุดมคติที่อาจารย์ภัทรวดีนำเสนออาจไม่ได้ถูกต้องไปเสียทั้งหมด แต่การไม่ด่วนสรุปอดีตเพื่อเอามารับใช้อุดมการณ์หรือทฤษฏีในปัจจุบัน คือข้อพึงปฏิบัติของผู้ที่ต้องการศึกษาและนำเสนอประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง