ทะเลน้ำนม (ชัชวาลย์ โคตรสงคราม)


พจนะอมตะของโกวเล้งจากนิยายชุด เซียวฮื้อยี้ (เจ้าลูกปลาน้อย) กล่าวไว้ว่า “ปลาอาจจะตายในน้ำได้ แต่ปลาไม่มีวันจมน้ำตาย” เราเองก็ไม่แน่ใจว่า “ทะเลน้ำนม” ของคุณชัชวาลย์เป็นสัญลักษณ์ของอะไร แต่ถ้าความเข้าใจของเราถูกต้อง “คนเราอาจจะตายในโลกทุนนิยมได้ แต่ทุนนิยมโดยตัวมันเองแล้วไม่เคยฆ่าใคร”

ใช่ไหม?

สิ่งที่เราชอบที่สุดใน ทะเลน้ำนม คือความย้อนแย้งระหว่างสานส์และสื่อ เราไม่รู้จักคุณชัชวาล์เป็นการส่วนตัว ไม่เคยแม้แต่จะอ่านสัมภาษณ์แก จึงไม่ทราบว่าจริงๆ แล้วแกเป็นคนเช่นไร เหมือนกับจูมและนิภา ตัวเอกของนิยายหรือเปล่า ท่ามกลางคำผรุสวาทที่จูมมีต่อระบบทุนนิยม ทะเลน้ำนม เป็นนิยายที่เกิดไม่ได้เลยถ้าปราศจากไอ้ระบบที่ว่านี้

ถ้าไม่มีทุนนิยม คนไทยจะรู้จัก “สัจนิยมมหัศจรรย์” และ “หลังสมัยใหม่” หรือเปล่า จะมีอินเตอร์เนตพวยพุ่งออกมาเป็นสายน้ำพุไหม จะมีใครรู้จักมาโควัลโดบ้าง แล้วยังดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ จักรวาลวิทยา ดาราศาสตร์ สัมพันธภาพพิเศษ ทั่วไป และอีกมากมาย (ในส่วนหนึ่ง เรายอมรับว่ากำลังเหมารวม “ทุนนิยม” และ “โลกาภิวัฒน์” เข้าด้วยกัน แต่พนันได้เลยว่าจะมองสองสิ่งนี้แยกออกโดยสิ้นเชิง ยาก ยิ่งกว่าวิธีมองแบบเราเยอะ)

ทะเลน้ำนม เป็นนิยายที่พลุ่งพล่าน ผสมผสานกันอย่างลงตัว มีการด่าทอเจ้าสัวอดีตรัฐมนตรี พอๆ กับอำมาตย์รัฐประหารผู้พร่ำเพ้อถึงเศรษฐกิจพอเพียง เป็นลีลาศหรรษาของความพินาศถ่ายทอดผ่านท่วงทำนองหลังสมัยใหม่ การที่คุณชัชวาลย์ไม่ได้โอบกอดมายาคติหรือวิธีคิดแบบอนุรักษ์นิยมเต็มเหนี่ยว (ไม่เหมือนนิยายบางเล่มที่ชิงซีไรต์ในปีเดียวกัน) เลยช่วยให้สาระออกมายอกแย้งอย่างน่าสนใจ ท่ามกลางการว่ายทวนน้ำของจูม บางครั้งเราตอบไม่ได้ว่าคุณชัชวาลย์กำลังชี้ชวนให้เราหัวเราะเยาะหรือปรบมือให้กับตัวละครตัวนี้

ถ้าจะมีติก็ตรงความเป็นนิยายของมัน การอ่านหนังสือเล่มนี้ต้องใช้ความอดทนสูง เนื้อหาอ่านง่าย แต่อาจไม่ค่อย “สนุก ชวนติดตาม” เท่านั้นเอง เหมาะแก่การวางไว้หัวเตียง อ่านทีละบทๆ ก่อนนอน เพื่อให้ผู้อ่านเพลินเพลินไปกับความโกลาหลของ “สัจนิยมมหัศจรรย์ระดับพื้นผิว”