J. Conrad's "Lord Jim"

Money lost, something lost. Honor lost, much lost. Courage lost, everything lost-better you were never born 
-- Johann Wolfgang von Goethe
วุ่นวายจนไม่เป็นอันได้อ่านหนังสือเลย หรือถึงอ่านก็ไม่สามารถเขียนบทวิจารณ์ได้   แต่เพื่อไม่ให้ขาดช่วงเลยกัดฟันหยิบ Lord Jim ของคอนราดมาลิ้มๆ ชิมๆ ให้จบ

นี่คือเรื่องเล่าของมาโลว์ (ตาคนเดิมจาก Heart of Darkness) แต่หนนี้ไม่ได้ว่าด้วยความมืดลึกสุดหยั่งของเคิร์ท แต่เป็นเรื่องที่แทบจะตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง   "ท่านจิม" เป็นเด็กหนุ่มผู้ถูกตามหลอกหลอนด้วยความผิดพลาดเพียงหนเดียวในชีวิต

ครึ่งแรกของหนังสือพูดถึงความผิดพลาดนั้น จิมเป็นลูกเรือที่ประสบภัยกลางสมุทร   เขาเอาตัวรอดมาได้ โดยแลกกับชีวิตลูกเรือเกือบสองร้อยคน   เหตุเกิดในยามค่ำคืน จิมเป็นคนแรกที่รู้ว่าเรือกำลังจะจม   เขาตัดสินไม่ยอมปลุกลูกเรือคนอื่นที่กำลังหลับอยู่ เพราะจิมเชื่อว่าต่อให้ปลุกขึ้นมา ก็มีแต่ความโกลาหลวุ่นวาย และสุดท้าย ก็คงไม่ทันการ ต้องตายตกตามกันไปทั้งหมดอยู่ดี   ความ "ขี้ขลาด" นี้เองที่ตามหลอกหลอนจิมไปตลอดชีวิต

จุดที่เราชอบมากก็คือคอนราดย้ำตลอดเวลาว่ามาตรฐานที่จิมใช้ตัดสินตัวเอง ไม่ใช่มาตรฐานสากลที่คนอื่นจะต้องยึดถือด้วย   ตัวละครหลายตัวในนิยาย พอรับรู้อดีตแต่หนหลังของจิมก็ได้แต่ยักไหล่ จะอะไรกันนักกันหนา   คนที่ไม่เข้าใจความทุกข์ยากตรงนี้ (เหมือนเรา) ก็ลองชายตาขึ้นไปอ่านวาทะอมตะของเกอเธอะข้างบนดู

ส่วนตัวเห็นว่า Lord Jim เป็นหนังสือที่ "อ่านยาก" ทีเดียว เพราะคอนราดเล่าเรื่องด้วย "เสียง" ของมาโลว์ที่กำลังสนทนาอยู่กับตัวละครอีกตัวหนึ่ง   ทุกย่อหน้าของ Lord Jim บรรจุอยู่ในเครื่องหมายอัญประกาศ (เพราะเป็นเสียงของมาโลว์) และในเครื่องหมายอัญประกาศ บางทีก็มีอัญประกาศซ้อน เวลาตัวละครในเรื่องเล่าสนทนากันเอง   อ่านไปก็จะงงไปว่าตกลง ย่อหน้านี้ เรากำลังอ่านเรื่องเล่าของมาโลว์ หรือเรื่องเล่าของตัวละครที่ซ้อนอยู่ในเรื่องเล่าอีกที และที่งงหนักขึ้น คืออยู่ดีๆ ทำไมอีตามาโลว์มันมาสนทนายืดยาวจนได้หนังสือเป็นเล่มขนาดนี้   (ไม่เข้าใจว่าทำไมคอนราดถึงเลือกจะเล่าเรื่องด้วยวิธีการอันแสนพิสดารนี้ ให้มาโลว์เป็นผู้เล่าบุรุษที่หนึ่งไปเลยไม่ง่ายกว่าหรือ   จริงอยู่ว่า Heart of Darkness ก็เล่าแบบนี้แหละ แต่อันนั้นมันหนังสือสั้นๆ นี่)

R. Herzog's "Dead Funny"

อารมณ์ขันหรือมุกตลกการเมืองคืออะไร แตกต่างจากอารมณ์ขันทั่วไปตรงไหน   รูดอล์ฟ แฮโซก (ลูกชายของแวเนอร์) นิยามเอาไว้ได้น่าขบคิด   อารมณ์ขันการเมือง เกิดเมื่ออุดมการณ์ของผู้ปกครองสวนทางกันโดยสิ้นเชิงกับสภาพความเป็นจริง   นี่คือสาเหตุที่ทำไมวลี "เอาอยู่" ถึงได้ฮิตติดตลาดข้ามปีข้ามชาติในทุกๆ สี

สังคมไทยในระยะหลังนี้ ยิ่งมีอารมณ์ขันล้อเลียนการเมืองในรูปแบบต่างๆ โผล่บน Social Network   อารมณ์ขันเหล่านี้ โดยนัย มีเป้าหมายคือทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์   แต่บางมุก ก็ลามปามใหญ่โต จมมีคนที่รับไม่ได้ ทั้งฝ่ายอนุรักษ์และเสรีนิยม ออกมาตั้งคำถามถึงกาละเทศะ อะไรควรไม่ควร

ใน Dead Funny แฮโซกพูดถึงประวัติศาสตร์ของมุกตลกในอาณาจักรไรซ์ที่สาม   จริงอยู่ อารมณ์ขันอาจเป็นอาวุธทางการเมือง และการเปลี่ยนแปลงอันทรงประสิทธิภาพ แต่ไม่จำเป็นเสมอไปว่าดาราตลก หรือคนที่ผลิตอารมณ์ขัน ต้องเป็นนักต่อสู้ทางการเมือง   ในทางตรงกันข้าม ดาราตลก ก็เหมือนกับคนทุกสาขาอาชีพ คือต้องการทำมาหากิน   และในเมื่อประชาชนยังรักและสนุกกับการหัวเราะเยาะผู้นำประเทศ ต่อให้อยู่ในรัฐเผด็จการแบบนาซี (โดยไม่จำเป็นเสมอไปว่าคนเหล่านี้ต้องต่อต้านนาซี) ดาราตลกก็ยังหากินกับมุกการเมืองได้   และเมื่อไหร่ที่รัฐบาลเริ่มเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามเสียงหัวเราะ พวกเขาก็พร้อมจะสมยอม ต่อรองเพื่อความอยู่รอด

มุกตลกล้อเลียนการเมืองจึงเป็นผลิตผลของสังคมมากกว่าจะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ "ผลิต" สังคม   มุกตลกตาม Social Network อาจมีต้นกำเนิดมาจากความคึกคะนอง สะใจ สิ้นคิด หรืออะไรก็ตาม แต่การตีกรอบพฤติกรรมของนักล้อเลียนด้วยวาทกรรม "ปุ่มกลางหลัง" นั้นถูกที่ถูกทางจริงหรือไม่   เราอาจด่าพวกเขาได้ว่า "ทำอะไรไม่รู้กาละเทศะ" หรือ "ไม่เห็นจะตลกเลย" (และสมควรจะด่าอย่างยิ่ง ถ้าเราคิดเช่นนั้น) แต่การพูดว่า "ทำแบบนี้ ยิ่งแปลกแยกคนที่คิดต่าง" อาจฟังดูขัดเขิน ในเมื่อเป้าหมายของพวกเขาไม่ได้อยู่ที่การขยายฐานมวลชน หรือเผยแพร่แนวคิดนี้ตั้งแต่แรกแล้ว

เราจับตามองปรากฏการณ์ล้อเลียน ในแง่ว่ามันบอกอะไรเกี่ยวกับเด็กรุ่นใหม่และสังคมไทย มากกว่าจะอยากคาดคั้นหรือประเมินคุณค่าทางศีลธรรมของพฤติกรรมเหล่านี้

L. Svendsen's "A Philosophy of Fear" / M. Douglas's "Risk and Culture"




ใครมั่นใจว่าตัวเองเป็นแฟนพันธุ์แท้ City Hunter (การ์ตูนนะ ไม่ใช่ซีรีส์เกาหลี) ก่อนจะอ่านคำเฉลย ลองตอบมาสิว่า ถ้าไม่นับค้อนของคาโอริ ซาเอบะ เรียวกลัวอะไรอีก...คำเฉลยคือ กลัวการนั่งเครื่องบิน (อันนี้ไม่ใช่มุก แต่มาจากการ์ตูนจริงๆ )   จุดอ่อนหรือสิ่งที่พระเอกกลัว เป็นโมทีฟทั่วไปที่พบได้ในภาพยนตร์และการ์ตูน   เป็นนัยว่าเพื่อไม่ให้ตัวละครไร้เทียมทานเกินไป   ใน City Hunter โมทีฟตัวนี้ถูกนำมาใช้เป็นมุกตลก   ผู้อ่านทุกคนรู้ดีว่าเรียวเป็นโคตรมือปืนที่ไม่มีใครทำอันตรายได้ การที่เขากลัวยานพาหนะซึ่งแสนจะไม่มีอันตราย จึงเป็นที่มาของอารมณ์ขันนี้

แต่จำเป็นเสมอไปหรือเปล่าว่า "ความกลัว" ต้องมาพร้อมกับ "อันตราย"   ในหนังสือสองเล่ม สเวนด์เซน และดักลาสตอบตรงกันว่า "ไม่"   เราไม่ได้กลัวสิ่งที่เป็นอันตราย ในทางตรงกันข้าม เรากลัว "ความชั่วร้าย" ต่างหาก   "อันตราย" เกี่ยวพันกับคุณสมบัติทางชีววิทยาและกายภาพของมนุษย์ ซึ่งไม่ต่างกันมากนักในแต่ละวัฒนธรรม   ดังนั้น ถ้าเรากลัว "อันตราย" จริง ทุกวัฒนธรรมน่าจะกลัวอะไรเหมือนๆ กัน   อย่างไรก็ดี ความกลัวถูกครอบงำด้วยศีลธรรม ที่แยกแยะระหว่างความชั่วร้ายและดีงาม ดังนั้นแต่ละวัฒนธรรมจึงมีความกลัวที่แตกต่างกันไป

ดักลาสวิเคราะห์เปรียบเทียบแนวคิดเรื่อง "มลภาวะ" ระหว่างชนเผ่าพื้นเมือง และมนุษย์ยุคใหม่   ชนเผ่าฮิมาเป็นพวกทำปศุสัตว์ สิ่งที่พวกเขารังเกียจที่สุด (แม้จะหลีกเลี่ยงมันไม่พ้น) คือวิถีชีวิตของชนเผ่าอิรูซึ่งเพาะปลูก ทำไร่ไถนา   "วิทยาศาสตร์" ของฮิมาจึงสร้างแนวคิดเรื่อง "มลภาวะ" ขึ้นมา กล่าวคือใครก็ตามที่กินข้าว (ผลิตผลจากท้องนา) ลงไปผสมกับนม (ผลิตผลจากปศุสัตว์) ในกระเพาะ   ข้าวจะแปดเปื้อนนม ทำให้วัวเจ้าของนมนั้นเสียชีวิตได้   (ชาวฮิมาคนไหนที่ำเป็นต้องกินข้าวจริงๆ หลังจากนั้นต้องอดอาหารเป็นระยะเวลาหนึ่งอาทิตย์ เพื่อรอให้ร่างกายบริสุทธิ์ก่อน)    

แน่นอนว่าสำหรับคนยุคใหม่ที่ศรัทธาในวิทยาศาสตร์อย่างพวกเรา ปรัชญาฮิมาเป็นเรื่องชวนหัว   ดักลาสพยายามชี้ให้เห็นว่า แนวคิดเรื่องมลภาวะสมัยใหม่นั้น ท้ายสุดก็อิงอยู่บนอคติด้านศีลธรรม ไม่ต่างจากชนเผ่าฮิมานัก   ดักลาสใช้ตัวอย่างจากกรณีคาซิโนเจน หรือสารก่อมะเร็ง   เธออ้างว่า กระทั่งในปัจจุบัน นอกจากบุหรี่ที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดค่อนข้างแน่นอนแล้ว วิทยาศาสตร์ก็ยังไม่มีตัวเลขทางสถิติที่น่าเชื่อถือว่าอะไรก่อหรือไม่ก่อมะเร็งเป็นสัดส่วนเท่าไหร่   การหลีกเลี่ยงไม่ยอมใช้ "สารก่อมะเร็ง" บางชนิด สุดท้ายแล้วอาจสร้างความเสียหายทางด้านชีวิตและทรัพย์สินมากกว่าการยอมเสี่ยงกับมันก็ได้ (คลอรีนในน้ำดื่ม และยาฆ่าแมลงดีดีที คือตัวอย่างที่นักคิดสำนักนี้ชอบอ้างกัน)

ความกลัวของมนุษย์ยุคใหม่จึงอิงอยู่บนข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ และความเชื่อในแต่ละวัฒนธรรมว่าอะไรคือสิ่ง "ชั่วร้าย"   ในทางสุดโต่ง ทุกวาทกรรมที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมจึงเป็นวาทกรรมทางการเมือง ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อแบ่งแยกคนออกเป็นสองจำพวก (เทพและมาร ฮิมาและอิรู พวกเราและพวกเขา)   นักอนุรักษ์ไม่ต้องจูบปากนักการเมือง แต่พวกเขาไม่ควรแกล้งหลงลืมไปว่า กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความเสี่ยง และผสานประโยชน์ระหว่างคนหมู่มากเช่นที่พวกเขากำลังทำนี้ ที่สุดแล้วก็คือกิจกรรมทางการเมืองอย่างหนึ่งนั่นเอง

A. Chekhov's "The Cherry Orchard"

ว่ากันว่า "นิยาม" ของหนังสือคลาสสิคคือ เราสามารถหยิบขึ้นมาอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่าได้ โดยความเข้าใจจะแปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามช่วงวัย   แต่ถ้าถามว่าชีวิตนี้ เคยมีประสบการณ์อะไรทำนองนี้ไหม ตอบตรงๆ คือ The Cherry Orchard นี่แหละเป็นครั้งแรก

เจ็ดปีที่แล้วตอนอ่านบทละครเรื่องนี้ครั้งแรก คุ้นๆ ว่านี่เป็นบทละครโศกนาฏกรรม ว่าด้วยชายหญิงวัยกลางคนซึ่งถูกขับไล่ออกจากบ้านของตัวเอง เพราะติดหนี้นายทุน ต้องขายที่ดินมาสร้างเป็นบ้านพักตากอากาศ   ต้นเชอรีเป็นสัญลักษณ์แทนความผูกพันที่หญิงวัยกลางคนมีต่อที่ดิน และความทรงจำในอดีต   ขณะเดียวกันรางรถไฟที่ตัดผ่านสวนเชอรีก็คือสัญลักษณ์ของ "ความเจริญ" ที่มาทำลายวิถีชนบท

แต่พอกลับมาอ่านอีกรอบ พบว่าจริงๆ แล้วเราถูกแค่เสี้ยวเดียวเท่านั้น   มีหลายปมซับซ้อนกว่าที่อธิบายข้างบนมาก   อย่างแรกเชคอฟไม่ใช่พวกกันดารนิยมแต่อย่างใด ออกแนวนครนิยมเสียด้วยซ้ำ   เขาชอบความศิวิไลซ์ งานศิลปะ แสงสีเสียงในเมืองใหญ่   ชนบทกันดารสำหรับเชคอฟหมายถึงความน่าเบื่อหน่าย สิ่งแวดล้อมที่บดเบียด ทิ่มแทงทำร้ายตัวละคร (เชคอฟเป็นนักเขียนคนเดียว ที่ยกระดับความน่าเบื่อหน่ายให้กลายเป็น "ความชั่วร้าย" หลักของเรื่อง)  

"ความเจริญ" ที่มาพร้อมกับรางรถไฟใน The Cherry Orchard จึงน่าจะหมายถึงความเจริญจริงๆ (แบบไม่มีเครื่องหมายคำพูด)   นอกจากนี้เรายังจับได้ถึงช่องว่างระหว่างวัย   ขณะที่ชายหญิงวัยกลางคนคร่ำครวญถึงความสูญเสีย คนรุ่นใหม่โอบกอดความเปลี่ยนแปลง และมองเห็นโอกาสในวิกฤตินี้

ตอนอ่านครั้งแรก เราฉงนมากที่เชคอฟเรียกบทละครเรื่องนี้ว่า "comedy"   ถึงตอนนี้เราอาจพูดได้ไม่เต็มปากว่ามันเป็นบทละครชวนหัว แต่เจ็ดปีผ่านไป ช่วยให้เรามองเห็นความเป็นมนุษย์ และความกำกวมในบทละครชิ้นนี้

S. Zizek's "How to Read Lacan"

วันนี้เป็นวันพืชมงคล เร็วๆ นี้มีคนเอาข้อมูลคำทำนายปริมาณฝนของพระโค (น้ำน้อย น้ำมาก น้ำพอดี) มาเปรียบเทียบกับที่วัดได้จากกรมอุตุฯ พบว่าพระโคทายไม่ค่อยถูกนัก (แต่จะผิดเละเทะขนาดว่าแย่กว่าหนึ่งในสามเลยหรือเปล่า ก็ต้องไปตัดสินกันเอาเอง)   ประเด็นก็คือ ถ้าพระโคและพิธีแรกนาขวัญไม่ได้มีประโยชน์อะไรในการทำนายทายทัก   ในโลกวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องรักษาพิธีนี้ต่อไปไหม และเพื่อการใด

ก่อนจะสรุปว่าพิธีแรกนาขวัญเป็นเรื่องงมงายของโลกยุคเก่า ลองชะแว้บไปดูโลกยุคใหม่กันบ้าง   เมื่อเร็วๆ นี้ อยู่ดีๆ ก็มีเพื่อนโทรศัพท์มา บอกให้ช่วยไปโรงแรมสุดหรูแห่งหนึ่งหน่อย   รักชวนหัวมีภารกิจต้องปลอมตัวเป็นนักข่าว   บริษัทนำเข้าสินค้ายี่ห้อหนึ่งได้รับคำสั่งจากต้นสังกัดให้จัดงานเปิดตัวสินค้า   ปรากฏว่าสื่อมาน้อยกว่าที่คาด   ผลคือรักชวนหัว ต้องไปนั่งปั้นหน้าเป็นสื่อ จดขยุกขยิกลงสมุดโน้ต แล้วยื่น Nokia 3310 (ที่อัดเสียงไม่ได้) จ่อปากฝรั่งขณะให้สัมภาษณ์   พอเสร็จงานถามเพื่อนว่า ต้องไปขอก็อปไฟล์เสียงจากนักข่าว (ตัวจริง) ด้วยหรือเปล่า   มันตอบว่าไม่ต้อง ไม่มีใครเขาอัดเสียงกันหรอก press kit อย่างเดียวก็ข้อมูลพอแล้ว

สรุปคือทั้งหมดที่เกิดขึ้น เป็น ritual หรือพิธีกรรมในโลกทุนนิยม ที่พราหมณ์หรือเจ้าของบริษัทไทยจัดขึ้นเพื่อเทิดทูนเทพเจ้าหรือบริษัทฝรั่งต้นสังกัดนั่นเอง   หากมองกันจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นโลกยุคเก่าหรือยุคใหม่ ทุกสังคมต่างก็สลัดพิธีกรรมไม่พ้น เพราะเหตุใด

ซีเซค (อ่านลากอง) พูดถึง Prayer Wheel ของชาวธิเบต   อุปกรณ์ที่ให้เราใส่คำอธิษฐานลงไป แล้วหมุนล้อ ระหว่างนั้นก็จะถือว่าล้อได้ช่วยสวดช่วยอธิษฐานให้กับเรา   ซีเซคบอกว่าในโลกสมัยใหม่ก็มีอุปกรณ์หลายอย่างที่ทำงานคล้ายคลึงกับ Prayer Wheel เช่น เครื่องอัดรายการโทรทัศน์หรือ Tivo   ผู้ใช้ส่วนใหญ่บอกว่าตั้งแต่มี Tivo ตัวเองดูทีวีน้อยลง เพราะเมื่ออัดรายการโทรทัศน์ไว้แล้ว ก็เหมือนกับว่าเครื่องมัน "ดูแทน" ไปเรียบร้อย เจ้าตัวสามารถเอาเวลาไปทำกิจธุระอย่างอื่นได้

ซีเซคให้เหตุผลว่า เครื่องกลที่ "ทำหน้าที่" แทนมนุษย์ (กรณีนี้ไม่ใช่แค่ "ทำหน้าที่" อย่างเดียว แต่ยังสนุกสนานไปกับรายการทีวี หรือเปี่ยมหวังและศรัทธาได้ด้วย) ก็ไม่ต่างอะไรจากพิธีกรรม   ตรงข้ามกับคำพูดติดปากคริสเตียนว่า "ถ้าท่านไม่เชื่อในพระเจ้า จงโน้มตัวลงและสวดมนต์เสีย แล้วสักพักความเชื่อจะสถิตมาสู่ท่านเอง" ซีเซคบอกว่า "จงโน้มตัวลงและสวดมนต์เสีย ออกอาการเหมือนเชื่อในพระเจ้า แล้วสักพักความเชื่อจะสลัดหลุดไปจากท่านเอง"   พูดแบบ paradox ก็คือ บางทีที่พิธีแรกนาขวัญอาจจะยัง relevant อยู่ในยุควิทยาศาสตร์แบบนี้ ก็ precisely เพื่อให้เราสลัดความงมงายทิ้งนั่นเอง (ฉันทำพิธีแล้ว ฉันไม่ต้องเชื่อแล้ว สามารถเอาเวลาไปทำมาหากิน หรือใช้ชีวิตอยู่ใน "โลกสมัยใหม่" ได้)

ถ้ายังรู้สึกแหม่งๆ กับความคิดนี้ ลองถามตัวเอง เคยไหมที่เผลอไปลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยไม่ได้ตั้งใจ (เช่น เร็วๆ นี้ รักชวนหัวเดินในห้าง แล้วเผลอเอามือไปปัดหัวสิงโตหิน)   เราเลือกจะแสดงออกเชิงพิธีกรรมบางอย่าง (ตบมือตัวเอง หรือยกมือไหว้) ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แล้วบอกว่าฉันไม่ใช่คนงมงาย แต่กลับกลายเป็นว่า วันนั้นทั้งวันเราเอาแต่หมกมุ่นคิดถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น   หากว่าเรายกๆ มือไหว้ไปตั้งแต่ตอนนั้น อาจสลัด "ความเชื่อ" นี้ออกจากหัวได้รวดเร็วกว่าด้วยซ้ำ

J. D. Hunter's "Culture Wars: The Struggle to Define America"


สิ่งแรกที่คุณควรรู้เกี่ยวกับ culture wars หรือ สงครามวัฒนธรรม   คือเมืองไทยกำลังอยู่ในภาวะสงครามวัฒนธรรม การไม่ชอบ ปฏิเสธ หรือทำไม่รู้ไม่ชี้ ไม่ได้ช่วยให้สงครามนี้สงบลง   การตระหนักรู้และเข้าใจที่มาที่ไปต่างหาก ที่จะตีกรอบสงครามให้อยู่แต่ในเขตแดนทาง "วัฒนธรรม" เท่านั้น

สงครามวัฒนธรรมคืออะไร   นิยามสั้นๆ ของวัฒนธรรมคือโครงสร้างที่กำหนดความหมาย ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง และช่วยให้ปฏิสัมพัทธ์ระหว่างผู้คนดำเนินไปอย่างราบรื่น   การช่วงชิงทางวัฒนธรรม ที่สุดก็คือการกำหนด "ศีลธรรม" ของสังคมนั่นเอง   มันคือการต่อสู้เพื่อนิยามว่าสิ่งใดคือความดีงาม สิ่งใดคือความชั่วร้าย

สงครามวัฒนธรรมคือการต่อสู้ระหว่างใครกับใคร   ใน Culture Wars: The Struggle to Define America  ฮันเตอร์ใช้คำว่าฝ่าย orthodoxy และ progressive   orthodoxy หมายถึงความเชื่อว่าคุณค่าที่ใช้ตัดสินความดีงามของมนุษย์ อยู่เหนือขึ้นไปจากสภาวะที่เราพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน หรือไม่ก็ฝังตัวเองอยู่ในอดีตกาลอันไกลโพ้น ขณะที่ progressive เชื่อว่า เฉพาะสิ่งที่พบเห็น สัมผัส และได้ยินในปัจจุบัน สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงจะนำมาใช้ตัดสินความดีงามได้   และประวัติศาสตร์คือยุทโธปกรณ์หลักในสงครามวัฒนธรรมนี้   ต่างฝ่ายต่างพยายามตีความประวัติศาสตร์ เลือกจดจำ และเลือกลืมเลือน ในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตัวเอง เพื่อนิยามความหมายของ "ความเป็นชาติ"

สิ่งที่พึงระวังที่สุดในการตีความสงครามวัฒนธรรม คือการลดทอนมันเหลือเพียงสภาวะสองขั้ว   ดังเช่น ปัญญาชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์ความแตกแยกในบ้านเมืองเราว่าเกิดจาก "ฝั่งหนึ่งต้องการประชาธิปไตย อีกฝั่งหนึ่งต้องการศีลธรรม"   อันที่จริง เป็นไปไม่ได้เลยที่ฝั่งใดจะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยไม่สนใจ หรือ (ยอมรับว่าตัวเอง) ปฏิเสธอีกสิ่งหนึ่งโดยสิ้นเชิง   ดังที่ได้อธิบายไปแล้ว สงครามวัฒนธรรมเป็นเรื่องของการตีความประวัติศาสตร์ *ทั้งหมด* และจำกัดความหมายใหม่ *ทั้งหมด* ให้กับพื้นที่สาธารณะที่แต่ละคนอาศัยอยู่   เป็นเรื่องเปล่าดายที่คนซึ่งอาศัยอยู่บนคนละพื้นที่จะถกเถียงกันในประเด็นเดียว   การลดทอนรูปแบบความขัดแย้งเช่นนี้ ก็เหมือนกับการเล่นฟุตบอล โดยเปิดเกมมาให้กัปตันแต่ละฝ่ายเดาะบอลแข่งกัน หรือให้ศูนย์หน้าแข่งกันโยนบอลไกล

ผลร้ายของการลดทอนรูปแบบความขัดแย้งก็คือต่างฝ่ายต่างคุยกันไม่รู้ภาษา คุยกันคนละเรื่องเดียว จึงไม่น่าแปลกใจที่สุดท้ายแล้ว สงครามวัฒนธรรมไม่ว่าจะเกิดในประเทศไหน ก็มักจะลงเอยที่การใช้คำพูดรุนแรงจั่วหัวซึ่งกันและกัน ลงเอยที่การจับผิด ดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม ("It's not about who's right, but who's left.")

อยากให้หาหนังสือมาอ่าน เพราะนี่อาจจะเป็นอีกเล่มที่สำคัญที่สุดเท่าที่เราเคยถือในมือเลยก็ได้   สั้นๆ สำหรับคนที่อยากรู้ว่าเราจะอยู่กันได้อย่างไรในภาวะสงครามวัฒนธรรมเช่นนี้   คำตอบง่ายมาก วิธีเดียวที่จะตัดสินแพ้ชนะในกีฬาฟุตบอล ก็คือให้ทั้งสองทีมแข่งกันภายใต้กติกาที่กำหนดนั่นเอง (ไว้ว่างๆ อาจจะเขียนถึงเรื่องนี้โดยละเอียดต่อไป)

G. Santayana's "The Sense of Beauty"

ช่างที่ไม่ว่าจะแวะมาบ้านเรากี่ครั้ง แอร์ คอม ทีวี หรือชักโครกก็ยังเสียอยู่นั่นแหละ แท็กซี่ที่ไม่รู้จักถนนหนทาง นักบอลที่เตะลูกโทษแล้วยิงนกตกปลา   คนเหล่านี้ อย่างมากเราก็คงใช้คำว่า "ไม่เอาไหน"​ กับพวกเขา   แต่กับนักเขียนที่เขียนหนังสือ "ไม่เข้าท่า" จิตรกรที่วาดรูป "ไม่เอาอ่าว" หรือนักดนตรีที่ร้องเพลง "ไม่เป็นโล้ ไม่เป็นพาย" รู้สึกไหมว่ามันมีบางอย่างที่เกินกว่า "ไม่เอาไหน"   ศิลปินที่ล้มเหลวในสิ่งที่ตัวเองทำ ความผิดของเขามันช่างใกล้เคียงเหลือเกินกับคำว่า "ชั่วร้าย"

ใช่แล้ว พนักงานรักษาความปลอดภัยจะงีบหลับในเวลางาน อย่างมากก็ "ไม่เป็นมืออาชีพ" แต่พอศิลปินทำตัว "ไม่เป็นมืออาชีพ" บ้าง ความผิดของเขามันร้ายแรงเจียนๆ ผิดศีลธรรมเลยทีเดียว

ซันตายานาวิเคราะห์ไว้ใน The Sense of Beauty ถึงความใกล้เคียงกันอย่างล่อแหลมระหว่าง "ศีลธรรม" และ "ศิลปะ"   พฤติกรรม (ทางศีลธรรม) และผลงาน (ทางศิลปะ) นั้นมีตัวตนอยู่ในโลกภายนอก โลกแห่งความจริง และแม้ว่าเราจะสามารถใช้ทฤษฎีหรือคัมภีร์มาตัดสินคุณค่าของมันได้ แต่ครึ่งหนึ่งของการตีค่าสิ่งเหล่านี้อยู่ที่ตัวผู้เสพเอาพฤติกรรมและผลงานไปแนบไว้กับตัว เพื่อให้ความรู้สึกส่วนบุคคลทำหน้าที่   ด้วยเหตุนี้บาดแผลของการถูกทำร้ายด้วยงานศิลปะ จึงเป็นอีกเวอร์ชั่นย่อๆ ของบาดแผลการถูกทำร้ายด้วยพฤติกรรม (ที่ผิดศีลธรรม)

ประเด็นที่ซันตายานาแวะเวียนกลับมาหาตลอดทั้งเล่มคือ มนุษย์ควรฝึกฝนรสนิยมทางสุทรียะของตัวเองให้หลักแหลมเข้าไว้ เพราะนั่นเท่ากับการฝึกฝนตาชั่งที่ใช้ตัดสินความผิดชอบชั่วดีในตัวเราเฉกเช่นกัน   ช่างดูเป็นความคิดที่แหกคอกไม่น้อย เพราะนั่นเท่ากับการกล่าวอ้างว่าศิลปินระดับโลกทุกคนล้วนเป็นผู้มีศีลธรรมจรรยา   (ซันตายานาเองก็คงตระหนักได้ถึงเรื่องนี้ ถึงไม่กล้าพูดออกมาตรงๆ แต่เป็นธีมหลบๆ ซ่อนๆ อยู่ระหว่างบรรทัด)

แปลกพิกลที่เราค่อนข้างเห็นคล้อยตามความคิดแหวกแนวตรงนี้   เราเชื่ออยู่เสมอว่า เราสามารถ "จับได้"​ ถึงตัวตนศิลปินที่ซ่อนอยู่หลังผลงาน   และแม้จะมี cliche ว่าด้วยแฟนๆ ที่ผิดหวังเมื่อเจอศิลปินที่ตัวชื่นชอบ เราพูดได้อย่างเต็มปากว่า ชั่วชีวิตเราผิดหวังกับนักเขียนตัวเป็นๆ น้อยมาก (เราผิดหวังกับตัวนักดนตรีบ่อยกว่า)