S. Zizek's "Living in the End Times"

ประมาณเดือนที่แล้ว เกิดเหตุการณ์ขำๆ ขึ้น ซึ่งคงไม่มีนามใดอีกแล้ว จะใช้เรียกมันได้อย่างเหมาะสมไปกว่า Zizekian Paradox จู่ๆ หนังสือพิมพ์หลายฉบับก็ลงข่าวว่า ข่าวลือในโลกอินเตอร์เน็ตที่ว่าซีเซ็กและเลดี้กาก้าเป็นเพื่อนสนิทกันนั้น ไม่เป็นความจริง เนื้อข่าวอธิบายว่าเจ้าของทวิตเตอร์ @szizek เป็นตัวปลอม และไม่เกี่ยวข้องอะไรกับสลาโวจ ซีเซ็ก นักปรัชญาชาวสโลเวเนียผู้โด่งดังแม้แต่น้อย ความย้อนแย้งของข่าวลือนี่ก็คือ มีอยู่หลายคนที่ไม่ได้ติดตาม @szizek ดังนั้นนี่เป็นครั้งแรกที่เขาทราบข่าวลือนี้ ทันใดนั้น เรื่องที่ไม่เคยเป็นจริงแม้แต่น้อย ก็กลับกลายเป็นมีค่าความจริงขึ้นมา

ความย้อนแย้งทับทวี ถ้าพิจารณาว่า เอาเข้าจริงทั้งซีเซ็กและเลดี้กาก้าก็มีหลายอย่างหลายคลึงกัน ถ้ามองว่าสารัตถะของความเป็นเลดี้กาก้าอยู่ตรงการโฆษณาตัวเองอย่างไร้ยางอาย (อันนี้ "ชม" ในฐานะแฟน) ซีเซ็กเองก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก ถ้าจะพูดว่าซีเซ็กคือเลดี้กาก้าฉบับนักปรัชญา ก็หาได้ห่างไกลความจริงไม่

Living in the End Times น่าจะเป็นตัวอย่างของการโฆษณาตัวเองอย่างไร้ยางอายได้ชัดเจนที่สุด (อันนี้ก็ "ชม" ในฐานะแฟนอีกเช่นกัน) นานมาแล้วที่เราคาดหวัง อยากให้นักปรัชญารุ่นยักษ์อย่างซาร์ต ไฮแดกเกอร์ หรือเฮเกล มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เพื่อจะได้ฟังว่าคนพวกนี้มีความเห็นยังไงกับอินเตอร์เน็ต กำแพงเบอร์ลิน 911 หรือ เลดี้กาก้า Living in the End Times ในแง่หนึ่งก็คือการตอบสนองความหวังนี้ และทำให้เรานึกถึงคำพังเพยโบราณว่า "จงกลัวความหวังของตัวเอง จะเป็นจริงขึ้นมา"

ซีเซ็กพูดถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มันร่วมสมัย ตั้งแต่ซารา เพลิน จนถึงภาพยนตร์อย่าง Kung Fu Panda หนังสือเล่มนี้อ่านไม่ยาก แต่จับความอะไรไม่ค่อยได้ เพราะเหมือนซีเซ็กจะสนุกกับการกระโดดโลกเต้นไปมา แสดงให้เห็นว่า "ปรัชญาก็แนวได้นะเฟ้ย!" มากกว่าที่พยายามพัฒนาแนวคิด หรือทฤษฎีอะไร ทั้งที่หนังสือก็สตรักเจอร์ตัวเองมากๆ อุตส่าห์แบ่งเป็นห้าบท ตามความรู้สึกห้าขั้นของการรับมือกับความสูญเสียคือ "ปฏิเสธ" "โกรธแค้น" "ต่อรอง" "เศร้าสร้อย" และ "สูญเสีย" แต่ถ้าใช้ Zizekian Paradox มาอธิบาย การสตรักเจอร์ตัวเองหนักๆ แบบนี้ก็เพื่อปิดบังความแตกกระจายของชิ้นงานเสียมากกว่า

พูดแบบนี้เหมือนเราจะด่า ซึ่งก็ด่าจริงๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในความคิดร้อยแปดพันล้านที่เข้ามาในหนังสือเล่มนี้ ที่เจ๋งๆ ก็มีไม่น้อย แต่ที่แป๊กสุดๆ ก็มีเหมือนกัน เช่น ซีเซ็กวิเคราะห์กฏหมายของรัฐบาลจีน บังคับการกลับชาติมาเกิด ซึ่งมีเป้าหมาย เพื่อจะได้กำหนดดาไลลามะองค์ต่อไป ซีเซ็กวิเคราะห์ปรากฏการณ์นี้โดยเปรียบเทียบให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว รัฐบาลจีนต่างหากที่พยายามอนุรักษ์ไว้ซึ่งขนบธรรมเนียม ประเพณี ขณะที่องค์ดาไลลามะตัวจริง ตั้งใจจะสร้างกฎการสืบอำนาจใหม่ที่เป็นตะวันตก​มากขึ้น (คล้ายคลึงระบบการคัดเลือกสันตะปาปาในโรม) ก็อยากรู้ว่าซีเซ็กจะบิดผันความคิดนี้ไปถึงไหน แต่ก็ไม่ได้กล่าวถึงมันอีกเลย

สรุปก็คือเอาเนื้อมาตัดเป็นชุดราตรีสไตล์ซีเซ็กนั่นเอง!

No comments: