โพสต์โมเดิร์นกับเศรษฐศาสตร์ (นรชิต จิรสัทธรรม)
รักชวนหัวไม่เชื่อในความเป็นกลางในทางการเมือง นอกจากมันจะเป็นไปไม่ได้ ความเป็นกลางยังแฝงอคติ โดยเฉพาะในวัฒนธรรมพุทธแบบไทยๆ ที่เรามักเชื่อกันว่าทางสายกลางคือสิ่งดี การไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดเป็นเรื่องถูกแบบ ผลก็คือ สังคมเราเต็มไปด้วยพฤติกรรมแบบนินจา คนที่บอกว่าตัวเองเป็นกลาง จู่ๆ ลุกขึ้นมา "จัดหนัก" คนที่เลือกข้าง และพอฝ่ายหลังจะโต้ตอบบ้าง ก็จะเจอวิชานินจา แฝงตัวเข้าหากำแพง ด้วยคาถา "ผมเป็นกลางนะ ผมทะเลาะมาแล้วกับคนทั้งสองสี" ปัดโธ่! เชื่อหรือไม่ว่าพ่อของพ่อของเหลืองและแดงตัวพ่อ ก็เคยทะเลาะกับคนสีตัวเองมาแล้วทั้งกัน การทะเลาะกับคนทั้งสองสีไม่ได้หมายความว่าคุณไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดเลย
เคยอธิบายไปแล้วทำไมเราถึงเชื่อว่าความเป็นกลางมันเป็นไปไม่ได้ โพสต์โมเดิร์นกับเศรษฐศาสตร์ ของอาจารย์นรชิตเสนออีกแง่มุมหนึ่ง เป้าหมายของหนังสือเล่มนี้คือวิพากษ์วิจารณ์แนวทางเศรษฐศาสตร์คลาสสิค ปัญหาของเศรษฐศาสตร์แบบสมัยใหม่ จากมุมมองของนักหลังสมัยใหม่คือ การกำหนดจุดตั้งต้นที่ปัจเจก และวิเคราะห์ปรากฏการณ์ต่างๆ จากสมมติฐานว่าปัจเจกมีความต้องการอย่างนู้นอย่างนี้
ในสายตาของนักหลังสมัยใหม่ ปัจเจกไม่มีอยู่จริง "ประธาน" คือช่องว่างที่หายไป รสนิยมและความต้องการบริโภคไม่ได้ออกมาจากอัตลักษณ์ของผู้บริโภค ในทางตรงกันข้ามผู้บริโภคซื้อสินค้าเพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้ตัวเองต่างหาก เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าเราต้องการซื้ออะไร จนกว่าเราจะเริ่มซื้อของสักชิ้น และเมื่อเราซื้อของชิ้นนั้นไปแล้ว อัตลักษณ์ในตัวเราจะเกิดขึ้นมา และดลให้เราซื้อของชิ้นอื่นต่อจากนั้น (ยกตัวอย่าง คนที่ติดช่อง True ก็จะเริ่มดู AF และอาจนำไปสู่การดูละครที่เด็ก AF เล่น และไปดูมิวสิคคอลที่ M Theatre) นักหลังสมัยใหม่เรียกพฤติกรรมแบบนี้ว่า "การบริโภคสัญญะ" เราไม่ได้ซื้อยาสีฟันเพราะเราต้องการสุขภาพปากที่ดี แต่เราต้องการสร้างอัตลักษณ์ในตัวเอง นี่คือสภาวะแห่งโลกทุนนิยมซึ่งเราหนีมันไปไม่พ้น ต่อให้เราปลูกต้นไม้ เอารากมาเคี้ยวเพื่อรักษาฟัน สุดท้ายนั่นก็จะเป็นการสร้างอัตลักษณ์อยู่ดี (ที่ลำบากลำบนทำแบบนี้เพื่อจะ "บอกคนอื่น" ว่าฉันเป็นขบถนะ ฉันไม่เอาทุน)
มองในทางการเมือง อัตลักษณ์หรือสีการเมืองอาจไม่ได้อยู่ในตัวปัจเจก แต่อยู่ในสินค้าที่ปัจเจกซื้อ หรือกว้างไปกว่านั้น กิจกรรมที่ปัจเจกทำ เอาเข้าจริงอัตลักษณ์อาจเป็นเรื่องที่ไร้ความหมายเสียด้วยซ้ำ เพราะไม่ว่าสีอะไร ก็ไม่สามารถหาความเป็นหนึ่งเดียวในวาทกรรมที่ใช้อธิบายตนเองได้ (ทำไมสีเพื่อไพร่ถึงเอาทุนนิยม ทำไมสีเพื่อเจ้าถึงเป็นต้นเหตุความเสื่อมของสถาบัน) "ประธาน" คือช่องว่างที่หายไป ดังนั้นเราไม่มีสีเป็นของตัวเองตั้งแต่แรก แต่กิจกรรมที่เราทำ คนใกล้ชิดเรา และวิถีชีีวิตของเราคือตัวกำหนดสีต่างหาก
ในมุมมองแบบหลังสมัยใหม่ อาจจะจริงที่ว่าเราทุกคนไม่มีสี ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นกลาง แต่เพราะตัวเราไม่มีอยู่จริง ตราบใดที่เรายังอาศัยอยู่ในสังคม บริโภค มีปฏิสัมพัทธ์ การเปื้อนสีคือสิ่งที่เราหนีไปไม่พ้น พฤติกรรมแบบนินจา คงไม่เลวร้ายอะไรนัก ถ้าการหลอกผู้อื่นไม่ทำให้เราหลอกตัวเองไปด้วย ต่อให้เราเชื่อว่าสังคมไทยจะดีถ้าทุกคนล้างสีออก เราจะเริ่มการล้างสีได้ยังไง ถ้าเรายังไม่รู้ว่าตัวเองสีอะไร และสีมันแปดเปื้อนส่วนไหนของร่างกายเราบ้าง
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
5 comments:
การไม่เลือกข้าง เรียกว่าเป็นกลางด้วยหรือเปล่าครับ?
เช่น โดนแม่ค้าบังคับให้เลือกซื้อ ระหว่างดอกกุหลาบ กับดอกมะลิ
แล้วผมบอกว่า ไม่เลือก ไม่ซื้อทั้งคู่ ไม่ชอบทั้งสองดอก ไม่อยากได้ ทำไมผมต้องซื้อ ผมอยากได้ดอกหน้าวัวมากกว่า ทำไมต้องมาบังคับผม
แบบนี้ถือว่าไม่เลือกข้างหรือเปล่าครับ?
จขบ รู้หรือยังครับว่าตัวเองเปื้อนสีอะไรบ้าง เริ่มล้างไปบ้างหรือยังครับ
เผอิญมั่นใจในสีที่ตัวเองเป็นครับ ไม่คิดจะล้างอยู่แล้ว
ถ้ามองแบบสุดขั้วสุดๆ ของ PM ความเป็นกลางคงไม่มี เพราะมันเป็นอะไรที่สัมพัทธ์มากๆๆๆๆๆ
ผมว่าคุณูปการของการมองแบบนี้คือ คงไม่บอกว่าสีไหนดี เปื้อนสีไหนแจ่ม แต่เหมือนกับว่าให้เราย้อนมองและตั้งคำถามกับไอ้สีที่ฉาบเราอยู่ไม่ว่าจะสีอะไรก็ตามและเราถูกตบถูกตีถูกบีบถูกอัดถูกครอบ โดยไอ้สีเหล่านั้นยังไง แบบไหนบ้าง
ส่วนที่ว่าเลือกที่จะไม่เลือก ผมว่ามันก็เป็นการเลือกนะ แม้เศรษฐศาสตร์จะถูก PM วิจารณ์มากมาย แต่จักรวาลแห่งการเลือกและค่าเสียโอกาสยังไงก็ยังคงอยู่แหละครับ มนุษย์ยังไงต้องเผชิญการเลือกเสมอ
ไม่ได้เข้า blog นานมากครับ เลยไม่ได้ update ไรเลย พอมาเห็น blog นี้ต้องขอขอบคุณที่สนใจอ่านหนังสือผมนะครับ
This is a grreat blog
Post a Comment