K. Briggs's "The Fairies in Tradition and Literature"
ซัลวาดอร์ เดลีเคยพูดว่า มนุษย์เราไม่สามารถอยู่กับความมีเหตุมีผลที่มากเกินไปได้ สุุดท้ายแล้วก็ต้องหาความไร้เหตุไร้ผลบางอย่างใส่เข้ามาในชีวิต นั่นคือสาเหตุที่ทำไม ยุโรปในยุครอยต่อศตวรรษที่ 19 และ 20 ก่อนหน้าการค้นพบทางวิทยาศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของฟรอยด์และไอนสไตน์ ถึงเป็นยุคแห่ง New Age ยุคแห่งการเผยแพร่ของศาสนาตะวันออก (เรา "เชื่อ" ว่าสิ่งที่ดึงดูดนักคิดผู้ยิ่งใหญ่ชาวตะวันตกเข้าหาศาสนาตะวันออกไม่ใช่ความมีเหตุมีผล แต่เป็นช่องว่างของความงมงายที่ปริแตกจากศาสนาคริสต์ต่างหาก) ในทางกลับกัน คนที่เรียนวิทยาศาสตร์และโตมาในวัฒนธรรมตะวันออกอย่างเรา จะไปหาความงมงายจากไหนกัน
คำตอบคือจากความเชื่อภูตผีและตำนานพื้นบ้าน
ในแง่ประวัติศาสตร์หรือวรรณกรรมวิจารณ์ The Fairies in Tradition and Literature อาจไม่ใช่หนังสือที่โดดเด่นอะไรนัก เพราะมันเพียงแค่รวบรวมเรื่องเล่าเก่าๆ บริกส์แทบไม่ได้วิเคราะห์อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ที่โดนใจเรามากๆ คือความไร้เหตุไร้ผลของเรื่องเหล่านี้ เช่น แม่บ้านสังเกตว่าตอนกลางคืนมีตัวบราวนี (ภูตชนิดหนึ่ง) ออกมาช่วยทำงานบ้าน เมื่อเห็นภูตเหล่านี้ไม่มีเสื้อผ้าใส่ ด้วยความสงสารก็เลยทอผ้ามาวางเตรียมไว้ ทันทีที่ภูตเห็นเสื้อผ้า แทนที่จะปลื้มอกดีใจ กลับต่อว่าเจ้าของบ้านแรงๆ และหายสาบสูญไป ไม่กลับมาช่วยทำงานบ้านอีกเลย ไม่มีใครรู้ว่าทำไมภูตถึงได้เป็นเดือดเป็นแค้นขนาดนี้ บางเรื่องก็เล่าว่า ภูตรังเกียจเสื้อผ้าของมนุษย์ เพราะถ้าสวมใส่แล้วจะเกิดอาการคัน บางเรื่องเล่าว่าเพราะผ้าที่ใช้ตัดราคาถูกเกินไป ถ้าใช้ผ้าอย่างดี ภูตจะสำนึกบุญคุณ แต่ไม่ว่าสาเหตุที่แท้จริงจะเป็นอะไรก็ตาม ความไร้เหตุไร้ผล (ทางศีลธรรม) นี้แหละที่มันดึงดูดเรา
ตำนานที่บริกส์รวบรวมมาจะเป็นเรื่องสั้นๆ หลายเรื่องไม่จบในตัวเอง หลายเรื่องก็เป็นแค่เหตุการณ์ หรือเคล็บลับในการรับมือกับภูต ตรงนี้เองที่ทำให้มันน่าสนใจ นี่คือตำนานปากต่อปากที่บอกเล่าโดยคนที่เชื่อในเรื่องภูตจริงๆ ซึ่งจะต่างกันมากกับเรื่องเล่าในยุคหลัง เมื่อภูตกลายเป็น "ตัวละคร" ในวรรณกรรมหรือบทกวี หรือแย่ไปกว่านั้นคือในหนังสือนิทานเด็ก ซึ่งจะต้องมีบทเรียนทางศีลธรรมมากำกับอยู่เสมอ (อย่างเรื่องบราวนีข้างบน ถ้าใครเป็นแฟน Harry Potter จะคุ้นๆ ว่านี่คือต้นกำเนิดของตัวละครดอบบี ซึ่งเจเคโรลลิงก์พลิกเรื่องใหม่ ให้กลายเป็นบทเรียนสอนศีลธรรมไปเสียฉิบ) แต่ที่บริกส์รังเกียจที่สุด คือการนำเสนอภาพภูตในฐานะพรอพ ใส่เข้าไปประกอบฉากให้ดูขลังขึ้นเท่านั้น
ระยะหลังสารภาพว่าเราสนอกสนใจตำนานพื้นบ้านแบบนี้มากๆ ในความงมงายของมันมี...ก็ความงมงายนั่นแหละ แต่เป็นความงมงายที่เข้าถึงธรรมชาติของมนุษย์ได้อย่างน่าประหลาด อย่าลืมว่าเรื่องราวเล่านี้คือศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ดังนั้นลึกๆ แล้วมันถึงตอบโจทย์ความต้องการทางจิตใจบางอย่างได้
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment