M. Moorcock's "Elric of Melnibone"
เอลริคแห่งเมลนิโบนคือใคร เอลริคคือเจ้าชายจอมขมังเวทย์ ตัวละครเอกของมัวคอก เฉกเช่นเดียวกับพระเอกแฟนตาซีอเมริกันทั่วไป เอลริคถูกสร้างขึ้นมาด้วยความปรารถนาที่จะกลายเป็น "โคแนน" คนที่สอง หากมัวคอกทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับโฮวาร์ดโดยสิ้นเชิง โคแนนล่ำบึก แต่เอลริคเป็นชายเผือกขี้โรค โคแนนเป็นนักดาบ และผู้ร้ายส่วนใหญ่ที่เขาต่อสู้ด้วยคือพ่อมด แต่จุดเด่นของเอลริคคือการใช้คาถา โคแนนและพระเอกหลายคนของโฮวาร์ดเป็นมิตรกับดาบของตัวเอง แต่เอลริครังเกียจอาวุธที่เขาใช้ แต่ก็ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ถ้าปราศจากมัน (ปมประเภทอาวุธชั่วร้ายที่ดูดกลืนพลังงานของผู้ใช้นี่ยอดฮิตเลยในการ์ตูนญี่ปุ่น)
ส่วนตัวแล้ว ไม่ผิดหวังและสนุกสนานเอามากๆ กับการอ่าน Elric of Melnibone แม้ว่าถ้าต้องเปรียบเทียบกับโคแนนจริงๆ เราก็ยืนยันว่ามัวคอกเทียบโฮวาร์ดไม่ติด ภาษาของมัวคอกเหมือนกับนักเขียนนิยายแฟนตาซีรุ่นหลัง ติดสำเนียงยั่วล้อ ขณะที่โฮวาร์ดเขียนหนังสือเหมือนผู้ป่วยโรคจิต ที่เชื่ออย่างจริงจังและโหยหาดินแดนมหัศจรรย์ในจินตนาการของตัวเอง
Elric of Melnibone ไม่ใช่นิยายเสียทีเดียว แต่เป็นรวมเรื่องสั้น ประกอบด้วยห้าเรื่องเล่าขานตำนานของเอลริคแห่งเมลนิโบนตั้งแต่จุดเริ่มต้นของตำนาน เอลริคเป็นกษัตริย์คนสุดท้ายแห่งเอลนิโบน ตัวเขาถูกเนรเทศโดยอัศวินผู้ชั่วร้าย ซึ่งสาปน้องสาวตัวเอง คนรักของเอลริคให้หลับไหลตลอดกาล เอลริคจึงไปขอความช่วยเหลือจากโจรสลัดให้มาถล่มเมืองตัวเอง และจากจุดนั้นโศกนาฏกรรมขององค์ชายเผือกก็เริ่มต้นขึ้น
ข้อสังเกตสองอย่างคือ หนึ่ง เนื้อเรื่องเชยมากๆ ไม่ค่อยสมเหตุสมผลด้วย สอง เอลริคดูไม่ค่อยฉลาดรอบคอบนัก ซึ่งจริงๆ ตลอดทั้งห้าเรื่องสั้นในเล่ม เอลริคแสดงอาการแอบโง่แบบนี้ออกมาเป็นระยะ เราเชื่อว่ามัวคอกคงตั้งใจแหละ ผู้เขียนเหมือนจงใจยั่วล้อชะตากรรมของตัวเอก ซึ่งก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่แตกต่างจากโฮวาร์ด พระเอกสไตล์โคแนนนั้นปึกมากๆ ไม่ว่าจะเอาตัวเองไปเผชิญกับสถานการณ์ใด ก็ไม่เคยตกเป็นรอง ขณะที่เอลริคล้มลุกคลุกคลานและน่าสมเพชในบางเวลา หากพระเอกที่แพ้ตลอดเวลาก็ถือเป็นเสน่ห์ได้เหมือนกัน
G. Greene's "The Lawless Roads"
เห็นอย่างนี้ แต่ก็มีเหมือนกันนะ หนังสือที่เราไม่ชอบอ่าน อย่างแรกคือพวกหนังสือท่องเที่ยว อาจเพราะเราไม่ใช่คนชอบเที่ยวอยู่แล้ว ก็เลยไม่ค่อยประทับใจกับการอ่านเรื่องราวของดินแดนใหม่ เพื่อนใหม่ บทเรียนชีวิตจากการเดินทาง หรือความสะสวยของทัศนียภาพ ที่เตือนให้ระลึกถึงความวิเศษวิไลของโลกใบนี้
แล้วถ้าเป็นหนังสือท่องเที่ยวที่ตรงกันข้ามเลยล่ะ หนังสือท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยความโสโครงพุพัง ผู้คนต่างถิ่นอันหยาบกระด้างไม่น่าคบหา เราจะชอบหนังสือท่องเที่ยวแบบนี้ไหม คำตอบคือ...ก็เปล่าอยู่ดี
ถ้าตั้งใจจะอ่านหนังสือของเกรแฮม กรีนให้จบทุกเล่ม อย่างไรก็คงหนีหนังสือท่องเที่ยวไปไม่พ้น เพราะแกเขียนเอาไว้สี่ห้าเล่มได้ กรีนท่าจะเดินทางไปเหยียบมาแล้วทั่วโลก และในแต่ละท้องที่ที่แกแวะเวียนไป ถ้าไม่ได้นิยายสักเล่ม อย่างน้อยก็ต้องมีบันทึกการเดินทาง The Lawless Roads เขียนตอนที่แกได้รับมอบหมายให้ไปสำรวจดูชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในเมกซิโก หลังการปฏิวัติใหญ่ของพรรคสังคมนิยม ทำให้ศาสนาคริสต์เป็นสิ่งผิดกฎหมาย โบสถ์ถูกปิด นักบวชถูกตามล่า บางคนถึงกับถูกขังคุกหรือประหารชีวิตก็มี
อย่างที่เกริ่นไว้ว่าไม่ชอบหนังสือท่องเที่ยว เล่มนี้ก็ไม่ได้ทำให้เราเปลี่ยนความคิด อ่านได้เพลินๆ หม่นๆ ชอบอยู่ตอนเดียวคือเมื่อกรีนไปถึงกัวดาลูเป (สาวเมกซิโกคนหนึ่งที่เราเคยพยายามกิ๊ก มาจากเมืองนี้ ชอบเล่าถึงความสวยงามของบ้านเกิดให้เราฟังบ่อยๆ เออ...ทีแบบนี้ อยากจะอ่านหนังสือท่องเที่ยวใสๆ ดูบ้าง) ที่โด่งดังของกัวดาลูเปคือพระแม่ประจำเมือง พระแม่นี้เกิดมาในช่วงที่ชาวอินคาถูกพวกสเปนตามล่า กระทั่งวันหนึ่ง ชาวอินคาฝันเห็นพระแม่มาเรีย มาเรียกตัวเองว่า "ลูกชาย" และขอให้ลูกๆ ชาวอินคาสร้างโบสถ์ให้หลังหนึ่ง เรื่องนี้จริงๆ แล้วมีนัยยะทางการเมืองสูงมาก เพราะในทางหนึ่ง มันหมายถึงการบีบบังคับชาวอินคาเข้ามาในวัฒนธรรมตะวันตก แต่อีกทางก็เป็นการโต้ตอบของชาวอินคาเพื่อจะเอาชีวิตรอดจากการถูกไล่ล่าด้วย (การปรากฎตัวของเทวดาให้คนนอกศาสนาเห็น เหมือนกับบันทึกของชาวครูเสด ว่าเทวดาไปหาชาวมุสลิมที่เฝ้าประตูเมืองเยรูซาเลม และขอให้เขาช่วยเปิดประตูให้อัศวินชาวยุโรปเข้าไปตีเมือง)
จนปัจจุบัน พระแม่แห่งกัวดาลูเปศักดิ์สิทธิมากๆ ขนาดที่ว่า ช่วงคอมมิวนิสต์ครองเมกซิโก ขนาดบรรดานายพล ยังไม่มีใครกล้ามาปิดโบถส์พระแม่แห่งชาวอินคาเลย
A. Moravia's "Man as an End"
สารภาพก่อนว่าอ่าน Man as an End ระหว่างนอนซมอยู่บ้าน อ่านไปเบลอไปจึงอาจจับความได้ไม่สมบูรณ์ หากผิดพลาดประการใด ขออภัยมา ณ ที่นี้
Man as an End รวมบทความต่างกรรมต่างวาระของโมราเวีย หัวข้อที่พูดถึงไล่ยาวมาตั้งแต่การเมือง สังคม และวรรณกรรม โดยมีบทความหลักชื่อเดียวกันกับหนังสือ ว่าด้วยการออกมาปกป้องมนุษยนิยมจากการเมืองยุคใหม่แบบมาคิอาเวลลี ซึ่งโมราเวียมองว่า แม้จะสมเหตุสมผล แต่ก็เป็นความสมเหตุสมผลบนตรรกะของคนบ้า
ส่วนตัวแล้วเราไม่ชอบบทความนี้เท่าไหร่ บทความที่เราชอบในหนังสือเล่มนี้จะออกไปในแนววรรณกรรมมากกว่า ทฤษฎีวรรณกรรมของโมราเวียผูกติดอยู่กับแนวคิดเชิงอุดมคติ (ideology) คำถามที่ถูกถามซ้ำไปซ้ำมาในหลายบทความ อะไรคือความแตกต่างระหว่างวรรณกรรมแห่งศตวรรษที่ 19 และ 20 โมราเวียตอบว่า ในศตวรรษที่ 20 หนังสือไม่ใช่หนทางเดียวอีกต่อไปแล้วที่จะสร้าง representation หรือตัวแทนของความเป็นจริงขึ้นมา อันที่จริง มันอาจจะเป็นหนทางที่อับจนที่สุดเลยด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับกล้องถ่ายรูปหรือภาพยนตร์ ด้วยเหตุนี้ แนวทางวรรณกรรมแห่งศตวรรษที่ 20 จึงไม่อาจเป็นการเฝ้าสังเกตธรรมชาติแบบเดียวกับที่ฟลอเบิร์ตหรือบัลซัคเคยทำจนโด่งดังมาแล้วได้ นักเขียนยุคใหม่เล่าเรื่องผ่านบุรุษที่ 1 มากขึ้น วรรณกรรมกลายเป็นเรื่องของการบอกเล่าอุดมคติของคนเขียน มากกว่าการนำเสนอความจริง
แต่ขณะเดียวกัน ในบทความที่ดีที่สุดในเล่ม โมราเวียกล่าวประณามงานศิลปะแบบสัจสังคมนิยม (Socialist Realism) หรือพูดรวมๆ ก็คือศิลปะของประเทศคอมมิวนิสต์ทั้งหลายแหล่ ว่าเป็นงานศิลปะที่แสนจะเฮงซวย ถ้างานศิลปะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรับใช้อุดมคติที่ไม่ใช่ของตัวนักเขียนเอง นั่นจะเป็นที่สุดแล้วแห่งความเสื่อมโทรม แล้วบทความนี้สามารถเอามาอ่านคานกับ ศิลปะเพื่อชีวิต ของจิตร ภูมิศักดิ์ได้สบายๆ (โมราเวีย "เซฟ" ตัวเองโดยบอกว่า ทั้งหมดที่เขากล่าวมานี้ครอบคลุมเฉพาะศิลปะสัจสังคมนิยมในประเทศสังคมนิยมเท่านั้น แต่ถ้าเป็นงานลักษณะเดียวกันในประเทศที่ยังอยู่ในระบบศักดินา หรือทุนนิยม เหมือนกับเจ้าตัวยังก้ำๆ กึ่งๆ อยู่)
การวิเคราะห์เชิงอุดมคติสามารถนำมาปรับใช้แยกแยะความแตกต่างระหว่างเรื่องสั้นและนิยายได้ด้วย (ไม่ค่อยมีนักคิดชาวตะวันตกเขียนถึงเรื่องสั้นเท่าไหร่ เราเคยบอกแล้วว่า ความนิยมงานเขียนลักษณะนี้เป็นเอกลักษณ์ของคนไทยมากๆ ) โมราเวียพูดอย่างน่าคิดตามว่า นิยายต้องประกอบไปด้วยอุดมคติอันหลากหลาย ผ่านตัวละครแต่ละตัว ขณะที่เรื่องสั้นเป็นแค่การมองบางส่วนของชีวิตเท่านั้น เรื่องสั้น (หลายๆ เรื่องรวมกัน) จะนำเสนอภาพรวมของสังคมได้ดีกว่า นักเขียนเรื่องสั้นจึงคล้ายคลึงกับคนทำงานสารคดี แต่นักเขียนนิยายที่ดีต้องเป็นนักปรัชญา และนิยายที่ดีต้องมีความใกล้เคียงกับงานเขียนเชิงปรัชญาด้วย
K. Briggs's "The Fairies in Tradition and Literature"
ซัลวาดอร์ เดลีเคยพูดว่า มนุษย์เราไม่สามารถอยู่กับความมีเหตุมีผลที่มากเกินไปได้ สุุดท้ายแล้วก็ต้องหาความไร้เหตุไร้ผลบางอย่างใส่เข้ามาในชีวิต นั่นคือสาเหตุที่ทำไม ยุโรปในยุครอยต่อศตวรรษที่ 19 และ 20 ก่อนหน้าการค้นพบทางวิทยาศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของฟรอยด์และไอนสไตน์ ถึงเป็นยุคแห่ง New Age ยุคแห่งการเผยแพร่ของศาสนาตะวันออก (เรา "เชื่อ" ว่าสิ่งที่ดึงดูดนักคิดผู้ยิ่งใหญ่ชาวตะวันตกเข้าหาศาสนาตะวันออกไม่ใช่ความมีเหตุมีผล แต่เป็นช่องว่างของความงมงายที่ปริแตกจากศาสนาคริสต์ต่างหาก) ในทางกลับกัน คนที่เรียนวิทยาศาสตร์และโตมาในวัฒนธรรมตะวันออกอย่างเรา จะไปหาความงมงายจากไหนกัน
คำตอบคือจากความเชื่อภูตผีและตำนานพื้นบ้าน
ในแง่ประวัติศาสตร์หรือวรรณกรรมวิจารณ์ The Fairies in Tradition and Literature อาจไม่ใช่หนังสือที่โดดเด่นอะไรนัก เพราะมันเพียงแค่รวบรวมเรื่องเล่าเก่าๆ บริกส์แทบไม่ได้วิเคราะห์อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ที่โดนใจเรามากๆ คือความไร้เหตุไร้ผลของเรื่องเหล่านี้ เช่น แม่บ้านสังเกตว่าตอนกลางคืนมีตัวบราวนี (ภูตชนิดหนึ่ง) ออกมาช่วยทำงานบ้าน เมื่อเห็นภูตเหล่านี้ไม่มีเสื้อผ้าใส่ ด้วยความสงสารก็เลยทอผ้ามาวางเตรียมไว้ ทันทีที่ภูตเห็นเสื้อผ้า แทนที่จะปลื้มอกดีใจ กลับต่อว่าเจ้าของบ้านแรงๆ และหายสาบสูญไป ไม่กลับมาช่วยทำงานบ้านอีกเลย ไม่มีใครรู้ว่าทำไมภูตถึงได้เป็นเดือดเป็นแค้นขนาดนี้ บางเรื่องก็เล่าว่า ภูตรังเกียจเสื้อผ้าของมนุษย์ เพราะถ้าสวมใส่แล้วจะเกิดอาการคัน บางเรื่องเล่าว่าเพราะผ้าที่ใช้ตัดราคาถูกเกินไป ถ้าใช้ผ้าอย่างดี ภูตจะสำนึกบุญคุณ แต่ไม่ว่าสาเหตุที่แท้จริงจะเป็นอะไรก็ตาม ความไร้เหตุไร้ผล (ทางศีลธรรม) นี้แหละที่มันดึงดูดเรา
ตำนานที่บริกส์รวบรวมมาจะเป็นเรื่องสั้นๆ หลายเรื่องไม่จบในตัวเอง หลายเรื่องก็เป็นแค่เหตุการณ์ หรือเคล็บลับในการรับมือกับภูต ตรงนี้เองที่ทำให้มันน่าสนใจ นี่คือตำนานปากต่อปากที่บอกเล่าโดยคนที่เชื่อในเรื่องภูตจริงๆ ซึ่งจะต่างกันมากกับเรื่องเล่าในยุคหลัง เมื่อภูตกลายเป็น "ตัวละคร" ในวรรณกรรมหรือบทกวี หรือแย่ไปกว่านั้นคือในหนังสือนิทานเด็ก ซึ่งจะต้องมีบทเรียนทางศีลธรรมมากำกับอยู่เสมอ (อย่างเรื่องบราวนีข้างบน ถ้าใครเป็นแฟน Harry Potter จะคุ้นๆ ว่านี่คือต้นกำเนิดของตัวละครดอบบี ซึ่งเจเคโรลลิงก์พลิกเรื่องใหม่ ให้กลายเป็นบทเรียนสอนศีลธรรมไปเสียฉิบ) แต่ที่บริกส์รังเกียจที่สุด คือการนำเสนอภาพภูตในฐานะพรอพ ใส่เข้าไปประกอบฉากให้ดูขลังขึ้นเท่านั้น
ระยะหลังสารภาพว่าเราสนอกสนใจตำนานพื้นบ้านแบบนี้มากๆ ในความงมงายของมันมี...ก็ความงมงายนั่นแหละ แต่เป็นความงมงายที่เข้าถึงธรรมชาติของมนุษย์ได้อย่างน่าประหลาด อย่าลืมว่าเรื่องราวเล่านี้คือศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ดังนั้นลึกๆ แล้วมันถึงตอบโจทย์ความต้องการทางจิตใจบางอย่างได้
S. Gauch's "Liberating Shahrazad"
เคยเล่าให้ฟังแล้วว่า สมัยที่ยังอยู่แอลเอ ใกล้ๆ บ้านเรามีผู้หญิงอิหร่านกลุ่มหนึ่งมารวมตัวกันเพื่อประท้วงทั้งรัฐบาลอิหร่านที่กดขี่ข่มเหงผู้หญิงและรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่ดำเนินนโยบายล่าอาณานิคมทางเศรษฐกิจ ใจหนึ่งเราตั้งคำถามแกมดูเบาว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบ "สองไม่เอา" อย่างนี้มันจะเกิดมรรคผลจริงหรือ (คนส่วนใหญ่มักใช้อาการสองไม่เอา เป็นข้ออ้างเพื่อนอนเกาพุงอยู่บ้านมากกว่าลุกขึ้นมาทำอะไร) แต่อีกใจหนึ่งเราเห็นด้วยในหลักการ และคิดว่าการประท้วงสองไม่เอาแบบนี้ดูแปลกใหม่และน่ารักน่าชังอยู่ในที
แต่เอาเข้าจริงปรากฏว่าไม่แปลกใหม่อย่างที่คิด ตั้งแต่ยุคหลังล่าอาณานิคม นักสตรีนิยมในโลกอาหรับตกอยู่ในสภาวะเขาควาย ในทางหนึ่ง การกดขี่ข่มเหงสตรีในโลกมุสลิมมักถูกใช้เป็นข้ออ้างให้ชาติตะวันตกเข้าไปยึดครองดินแดนอาหรับ และในอีกทางหนึ่ง ข้ออ้างที่รัฐบาลอนุรักษนิยมใช้สร้างความแปลกแยกให้กับผู้หญิงหัวก้าวหน้า ก็คือบุคคลเหล่านี้สมคบคิดกับตะวันตก ทรยศขนบธรรมเนียมประเพณีทางศาสนา ด้วยเหตุนี้ การเคลื่อนไหวของนักสตรีนิยมในโลกอาหรับจึงชูธงสองไม่เอามาแต่ไหนแต่ไรแล้ว
สิ่งนี้สะท้อนได้เป็นอย่างดีในนิทานอาหรับราตรี ชีวิตของเจ้าหญิง ฌาราซาด แขวนอยู่บนเส้นด้ายแห่งการเล่าเรื่อง นิทานที่ฌาราซาดเล่าให้สุลต่างฟัง หนึ่งคือต้องไม่ระคายหู สองคือเมื่อเล่าจบในแต่ละคืน ต้องชวนให้อยากรู้ตอนต่อไป และสามแฝงข้อคิด คติที่เมื่อฟังบ่อยๆ เข้า (พันหนึ่งราตรี) สามารถเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์และพฤติกรรมของผู้ฟังได้ ทักษะอันยอดเยี่ยมของฌาราซาดคือการสร้างสมดุลระหว่างข้อบังคับที่ขัดแย้งกันเองเหล่านี้ได้ (ถ้าไม่ระคายหู ผู้ฟังก็จะไม่ได้ข้อคิด ถ้าไม่สนุกเลยก็จะไม่อยากฟังตอนต่อไป ถ้าไม่มีข้อคิดเสียทีเดียว ก็เหมือนกับแค่เล่านิทานต่อชีวิตตัวเองไปคืนๆ )
อาหรับราตรีเป็นนิทานที่มีคุณสมบัติพิเศษ เพราะอยู่ตรงกลางระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออก มีต้นกำเนิดมาจากดินแดนอาหรับ นิทานเรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ชาวยุโรป ต้นฉบับเก่าแก่สุดของอาหรับราตรีเล่าไม่จบ คือมีนิทานแค่ประมาณ 270 ราตรีเท่านั้น นักประวัติศาสตร์และนักผจญภัยในอดีตพยายามรวบรวมนิทานเพิ่มเติมให้ครบพันหนึ่งสมชื่อของมัน ความแตกต่างระหว่างอาหรับราตรีฉบับตะวันออก (ที่ไม่จบ) และตะวันตก (ที่จบ) คือประเด็นหลักของหนังสือ Liberating Shahrazad
ตอนจบของอาหรับราตรี (ที่ชาวตะวันตกเขียน) ไม่ว่าจะฉบับไหนๆ มีจุดร่วมกันอย่างหนึ่งคือ สุดท้ายแล้วผู้เขียน/ผู้แปล/ผู้รวบรวมจะบรรจุฌาราซาดเข้าไปในบทบาทของนางฮาเร็ม เป็นภรรยาที่ดีของกษัตริย์ เชื่อฟังสามี และไม่ปริปากต่อล้อต่อเถียง (ทั้งที่จริงๆ ก็เสี่ยงชีวิตเล่านิทานมาได้นานเกือบสามปี) เกาช์อธิบายว่าตอนจบแบบนี้ แท้จริงแฝงนัยยะการสร้างความเป็นอื่นให้แก่โลกอาหรับ แม้กระทั่งวีรสตรีอย่างฌาราซาด สุดท้ายแล้วก็หนีไม่พ้นการถูกกดขี่ข่มเห่งภายใต้วัฒนธรรมผู้ชายเป็นใหญ่
ในทางตรงกันข้าม การที่อาหรับราตรีฉบับดั้งเดิมไม่มีตอนจบเพราะไม่มีใคร ไม่ใช่นักเขียนแค่คนเดียว จะสามารถผูกตอนจบให้กับเรื่องราวของฌาราซาดได้ ฌาราซาดอยู่ในตัวผู้หญิงมุสลิมทุกคน และตราบจนทุกวันนี้ พวกเธอก็ยังต้องถือคบเพลิงจิตวิญญาณของนักเล่านิทาน ยึดแนวทาง "สองไม่เอา" เพื่อปลดปล่อยตัวเองจากการกดขี่ข่มเหงทั้งภายในและภายนอกประเทศ
A. Camus's "The Fall"
เราคงไม่เสแสร้งว่าตัวเองเข้าใจ The Fall หรือปรัชญาอัตถิภาวนิยมหรอก ไม่ว่าจะของกามูส์ นิทเช่ หรือสายไหนก็ตาม ส่วนตัวเราเชื่อว่าอัตถิภาวนิยมเป็นปรัชญาที่ล้าสมัยไปแล้ว แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สนุกกับการพยายามตีความสิ่งที่คนในอดีตต้องการนำเสนอ
เมื่อเอา The Fall ไปเทียบกับนิยายเล่มอื่นๆ ของกามูส์ก็พอจะเห็นภาพเลือนรางปรากฏชัดเจนขึ้น แปลกดีว่า ขณะที่ "คนเหนือมนุษย์" ของนิทเช่คือผู้ตื่น เข้าใจ และเบิกบาน "คนเหนือมนุษย์" ของกามูส์มักจะกลายเป็นผู้พ้ายแพ่ต่อชีวิต ใน คนนอก กามูส์ออกข้างถือหางตัวเอก เมอโซ ถึงแม้เขาจะมีจุดจบอันแสนเศร้า นัยยะที่แฝงไว้คือเป็นสังคมต่างหากที่ผิดปรกติ (ลงโทษเมอโซเพียงเพราะเขาไม่ยอมร้องไห้ในงานศพแม่ตัวเอง) ใน The Fall ตอบยากเหมือนกันว่าคนเขียนคิดยังไงกับฌองแบบติส
เนื้อเรื่อง The Fall ไม่มีอะไรเลย ฌองแบบติส ตัวเอกของเรื่อง เป็นทนายความ เป็นคนดีพอใช้ มีเมตตากรุณา ชอบช่วยเหลือผู้อื่น ข้อเสียประการเดียวที่บุคคลภายนอกพอจะจับเค้าได้คือความเจ้าชู้ (ซึ่งในสมัยนั้น อาจไม่ได้จัดเป็นข้อเสียรุนแรงอะไรนัก) ชีีวิตของฌองแบบติสสมบูรณ์แบบทุกอย่าง กระทั่งวันหนึ่งเขาเดินผ่านสะพานตอนกลางคืน และได้ยินเสียงผู้หญิงกระโดดลงน้ำ การที่ฌองแบบติสลังเลไม่ยอมกระโดดตามไปช่วยผู้หญิงคนนั้น ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของเขาไปชั่วนิรันดร
เราตีความว่าสิ่งที่กามูส์ต้องการวิพากษ์วิจารณ์คือศาสนาและกระบวนการยุติธรรม ซึ่งพยายามสร้างกฏหมายและกฎศีลธรรมมากำกับการกระทำของสมาชิกในสังคม แต่เอาเข้าจริง ท้ายที่สุดสิ่งเหล่านั้นก็ "ไม่เพียงพอ" (ขณะที่นิทเช่น่าจะมองสวนทางว่าสิ่งเหล่านี้ "มากเกินไป") มนุษย์เราสามารถใช้ชีวิตไหลเวียนอยู่ในทั้งสองระบบนี้ เป็นประชาชนที่ดีของรัฐ เป็นคริสตศาสนิกชนที่ดี แต่ลึกๆ เขาอาจจะมีความเลวร้ายแฝงอยู่ในแก่น ในขั้วเลยก็ได้ ศาสนาหรือกฎหมาย ในทางตรงกันข้าม เป็นเครื่องมือที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อลดความรู้สึกผิดในการกระทำสิ่งเลวร้ายต่างหาก
แนวคิดนี้น่าจะตรงข้ามกับนิทเช่ เท่าที่เราเข้าใจนิทเช่มองว่าทุกอย่างต้อง "เหนือกว่าความดีและความเลว" กามูส์มองว่าความดีและความเลวนั้นมีอยู่จริง เพียงแต่ไม่ได้ถูกนิยามด้วยระบบอะไรก็ตามแต่ที่มนุษย์สร้างขึ้นมา แม้ว่าจะมีแต่มนุษย์เท่านั้นที่เข้าใจว่าอะไรคือความดีและความเลว ปัจเจกต้องเป็นทั้งผู้พิพากษา โจทย์ จำเลย ทนาย และลูกขุน ตัดสินคดีด้วยมาตรฐานที่แต่ละคนสร้างขึ้นมาเอง เราจึงจะเข้าถึงความดีงามที่แท้จริงได้ (ซึ่งในที่สุดก็อาจจะวนกลับมาหาสิ่งที่นิทเช่เชื่ออยู่ดี)
D. Grann's "The Lost City of Z"
เปิดปี 2011 ด้วยหนังสือที่น่าสนใจในความรู้สึกของเรามากๆ ไม่ใช่ตัวหนังสือที่น่าสนใจ แต่เป็นความรู้สึกเราต่างหาก เท่าๆ กับความชอบหนังสือเล่มนี้ คือการที่เรารังเกียจตัวผู้เขียน
พูดถึงประเด็นแรกก่อนก็แล้วกัน The Lost City of Z จัดเป็น Historical Narrative หรือเรื่องเล่าในประวัติศาสตร์ นักวิจัย (ส่วนใหญ่เป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์) จะค้นๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ข้อมูลให้มากที่สุด เพื่อพยายามปะติดปะต่อเหตุการณ์สำคัญในอดีต ส่วนไหนที่ค้นไม่เจอก็เอาจินตนาการผนวกลงไปเอง หนังสือประเภทนี้ที่เคยอ่านและวิจารณ์ในบลอคนี้มาแล้ว ได้แก่ In Cold Blood, Devil in the White City และ Manhunt ถ้าจะบอกว่านี่เป็นแนวหนังสือที่เราไม่ชอบที่สุด (พอๆ กับหนังสือท่องเที่ยวและฮาวทู) ก็คงไม่เกินจริงนัก
ในแง่นี้ต้องนับว่า The Lost City of Z สอบผ่านอย่างรุนแรง เพราะเราอ่านมันได้สนุกมากๆ The Lost City of Z ว่าด้วยชีวประวัติของฟอเซตต์ นักสำรวจอเมซอน หนึ่งในผู้สละชีวิตให้แก่ความฝันในการตามหานครแห่งทองคำเอลโดราโด ธรรมดาแล้วเราไม่ค่อยชอบการมองประวัติศาสตร์ผ่านแว่นขยาย การเจาะไปที่ตัวละครหรือนักแสดงตัวใดตัวหนึ่งนัก หากแกรนน์ฉลาดพอที่จะรู้ว่า สิ่งที่น่าสนใจจริงๆ ไม่ใช่ตัวฟอเซตต์ (เราคนหนึ่งล่ะที่ไม่เคยได้ยินชื่อหมอนี่มาก่อน) แต่เป็นยุคสมัยแห่งการสำรวจ สมัยที่ "นักสำรวจ" หรือคนที่เดินทางเข้าไปในแดนเถื่อน ไม่ว่าจะเพื่อหาสมบัติ โบราณสถาน หรือวัดตัวเลขนู่นนี่ เป็น "อาชีพ" จริงจัง The Lost City of Z เป็นทั้งแว่นขยายและกล้องพาโนรามาที่ช่วยให้เรามองเห็นผู้คนและยุคสมัย
แต่สิ่งที่แกรนน์ "ไม่ฉลาด" เอาเสียเลยคือการบรรจุตัวเองลงไปในหนังสือ ตัวละคร "ผม" พยายามเดินตามรอยเท้าของฟอเซตต์เพื่อไขปริศนาว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ในการออกสำรวจครั้งสุดท้าย และเหตุใดคณะสำรวจถึงไม่ได้กลับออกมาจากป่าลึก ด้วยเหตุนี้ The Lost City of Z ออกจะคล้ายคลึงกับภาพยนตร์ Capote มากกว่าหนังสือ In Cold Blood หากเดวิด แกรนน์ไม่ใช่ทรูเมน คาโปต ส่วนนี้ของหนังสือทั้งน่ารำคาญและแสนจะฟุ่มเฟือย เหมือนเป็นความพยายามแทรกมุกตลกแบบซิตคอมลงไปคั่นฉาก หลายสิ่งที่ "ผม" ค้นพบสามารถเอามาผสานกับเนื้อเรื่องหลักได้อย่างง่ายดาย การเปรียบเทียบตัวเองกับฟอเซตต์ (แม้จะเพื่อเชิดชูอีกฝ่าย) ยังไงก็หนีข้อหายกหางตัวเองไม่พ้น
เพราะความไม่ชอบคนเขียนนั่นเอง เราถึงยกผลประโยชน์การอ่านเพลินทั้งหมดให้กับหัวข้อเรื่อง ให้แก่อาชีพนักสำรวจ ตัวฟอเซตต์ และป่าดงดิบอเมซอน และเชื่อว่าใครก็ตามเอาเรื่องนี้มาเขียนก็คงสนุกทั้งนั้น และเผลอๆ จะสนุกกว่านี้ด้วยซ้ำ
Subscribe to:
Posts (Atom)