H. Murakami's "The Second Bakery Attack"


ยากจัง อ่านและวิจารณ์หนังสือของนักเขียนสักคนที่เราประกาศตัวไปแล้วว่า "ไม่ชอบ" เนี่ย เหมือนไม่ว่าจะตัดสินใจไปทางใด ก็มีอคติแทรกไปหมด โดยเฉพาะนักเขียนขวัญใจมหาชนอย่างมุราคามิด้วยแล้ว แต่พูดแบบนี้ออกไป โดยรวมก็ต้องถือว่าชอบเลย กับรวมเรื่องสั้นเล่มนี้

จุดสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ เรื่องสั้นของมุราคามิเหมือนจะถูกประกอบขึ้นมาเพื่อรายล้อม "ภาพภาพหนึ่ง" อย่างสองเรื่องที่เราชอบที่สุดในเล่มคือ ช้างหาย และ ฝาแฝดและทวีปที่จมดิ่ง ในเรื่องแรก มุราคามิผสานเอาภาพลวงตา "ห้องยักษ์" (ซึ่งเข้าใจว่าเป็นผลิตผลของวัฒนธรรมญี่ปุ่น) เข้าหาบริบททางสังคมได้อย่างแนบเนียน ส่วนเรื่องหลัง มีฉากความฝันที่ชวนให้นึกถึง The Cask of Amontillado ของโป บวกกับอารมณ์แบบเซอร์เรียล ในเรื่องที่เราชอบรองๆ ลงมาคือ คำสาปร้านเบเกอรี ก็มีแก่นกลางเป็นการปล้นร้านแฮมเบอเกอร์ที่แสนจะลักลั่นและน่าขบขัน

แน่นอนละว่าบริบทก็มีส่วนสำคัญที่ขับเน้นความหมายของภาพนั้น แต่สิ่งที่เราอดถามตัวเองไม่ได้คือบริบทพวกนั้นมัน "หลวม" เกินไปหรือเปล่า ถ้าไม่มีภาพนั้นแล้ว เรื่องสั้นจะยังพยุงตัวเองอยู่ได้ไหม เราค่อนข้างมีปัญหากับ ตำนานนกไขลาน และก็แอบรู้สึกทึ่งว่าเรื่องสั้นนี้มันมีเสน่ห์พอให้คนเขียนสปินออฟออกมาเป็นนิยายเล่มหนึ่งเลยหรืออย่างไร ส่วน พี่ชาย น้องสาว แม้จะไม่มีภาพที่เป็นแก่นเรื่องในลักษณะนั้น แต่เราก็เห็นด้วยกับเต้ ว่าเสน่ห์ของมันคงอยู่ที่ลูกเล่นภาษาแบบ incest ที่ใส่เข้ามาเป็นระยะๆ มากกว่า

เราว่ามุราคามิเป็นคำตอบที่ถูกจริตของสังคมไทยในยุคหนึ่งมากๆ เรื่องสั้นของปัจเจคที่ตัดขาดตัวเอง หรือยอมรับการตัดขาดตัวเองจากปัญหาสังคมภายนอก (ถึงแม้เรื่อง ช้างหาย จะมีประเด็นการเมือง แต่ก็เหมือนถูกใส่เข้ามาเพื่อให้รับใช้ปัญหาปัจเจคมากกว่า ไม่ต้องพูดถึง อาณาจักรโรมันล่มสลายฯ ที่แทบจะ "ตบหน้า" ประวัติศาสตร์โลก โดยการเอามันมารับใช้ประวัติศาสตร์และบันทึกส่วนบุคคลเลย) เหมือนเป็นแว่นขยายที่ส่องให้เห็นตัวบุคคล จนสิ่งแวดล้อมที่เขายืนอยู่อาศัยอยู่เป็นเพียงภาพเบลอๆ แต่จุดหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าเรารู้จักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นน้อยมากๆ จนบางทีอาจจะมองข้ามหรือมองไม่เห็นบริบททางสังคมที่มันรายล้อมตัวผลงานอยู่ก็ได้

ขอนำความเห็นรุ่นพี่สองคนมาแปะเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ดังนี้ครับ

ความเห็นแรก

"อ๊าก แค่นี้เองหรือ ที่ "ตัดสิน" ว่ามูราคามิ เป็นสลิ่มแล้ว พี่เข้าใจว่าที่งานมูราคามิเป็นที่นิยมในญี่ปุ่นมาก เพราะสังคมญี่ปุ่นกีดกัน "ปัจเจก"มาก การแสดงตัวตนในพื้นที่ของญี่ปุ่นแสดงได้ยากมาก ความเป็นกลุ่ม องค์กร สูงมาก จนถึงตอนนี้คนอ่านหนัง...สือในญี่ปุ่นยังต้องห่อปกอยู่เลย เข้าใจว่าเป็นเพราะ การอ่านอะไรในที่สาธารณะ ไม่ควรแสดงตัวเองในที่สาธารณะ

จริงๆ พี่จะบอกแต่แรกแล้วว่า พอบอกว่า "สลิ่ม" คือการเอางานของมูราคามิไป "ทาบ" กับบริบททางการเมืองไทยตอนนี้ใช่ไหม พี่รู้สึกว่ามันแหม่งๆ ตั้งแต่ตอนนั้นแล้วล่ะ เอาเข้าจริงบ้านเรารับเข้างานมูราคามิช้ามากเลยนะ หลายๆเรื่องที่แปลมามูราคามิเขียนตั้งแต่ปี 1985 แล้วมาแปลในบ้านเราปี 2010 อะไรประมาณนี้ แล้วการไปเอาบริบททางการเมืองไทยตอนนี้ไปทาบกับงานมูราคาิมิ พี่ว่ามันแปลกๆ ( แต่เรื่องใหม่ล่าสุดที่ภาษาอังกฤษ ยังไม่แปลออกมา ขอบอกว่าภาษาไทยเริ่มแปลแล้ว คือแปลจากภาษาญี่ปุ่นเลย)

แล้วพี่จะบอกว่า จริงๆ บ.ก.ไม่ควรเลือกปฏิบัติต่้องานชิ้นใดชิ้นหนึุ่ง) แต่ในฐานะคนอ่านบอกได้ว่าใน คำสาปร้านเบเกอรี่ พี่ชอบ" อาณาจักรโรมันล่มสลาย ฯ มากที่สุด พี่ว่ามันเป็นเรื่องที่แปลยากมาก ( เหมือนเรื่อง เยอรมันฝันเพ้อที่โตมรแปลในเล่มหนึ่ง) พี่เชื่อว่า เรื่องแบบนี้มันตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์เดิมๆ ที่เราเคยรับรู้มาหมดเลย มันตั้งคำถามว่าเราควรเชื่อแบบนั้นไหม เราควรเดินตามขนบแบบเดิมๆ นั้นไหมต่างหาก

คนอ่านชอบบอกว่า เรื่องของมูราคามืเป็นเรื่องของคนเหงา ซึ่งพี่ค่อนข้างเซ็งเมื่อเจออะไรแบบนี้ แต่เอาเถอะใครอ่านแบบไหนก็ตีความแบบนั้น แต่สำหรับพี่ มูราคามิตอบได้ว่า ในเมื่ออุดมคติในการดำเนินชีวิตแบบเดิมๆ ที่เราเคยยึดถือ เคยเชื่อ มันถูกสั่นคลอนไปหมดแล้ว เราจะอยู่ได้อย่างไรท่ามกลางซากปรักหักพังเหล่้านั้น-นี่คือสิ่งที่พี่ชอบในงานมูราคามิ"

ความเห็นที่สอง

"เป็นคนหนึ่งในพวกโดนเซ็ง ^^" ที่คิดอย่างนั้นเหมือนกันค่ะว่าคนที่อ่านมูรคาคมิส่วนใหญ่เป็นคนเหงา แต่เป็นคนเหงาที่อยู่อย่างมองเห็นความสวยงามที่ซ่อนอยู่ในความเหงาและอยู่กับความเหงาได้เป็นอย่างดี มีความสามารถสูงในการจัดการกับความเหงาได้อย่างละเมียดละไม (ไปหารายละเอียดอื่นๆมาโป่ะความเหงาว่างๆ จนมันไม่เหงาและลืมไปว่านั่นพึ่งจะเหงามา)

ตัวเองเคยอ่านเล่มเดียวคือสดับลมขับขานตั้งแต่ที่พิมพ์ใหม่ๆ แล้วก็รู้สึกว่ามันโหวงเหวง เหมือนคนเขียนพยายามทำความเข้าใจความโหวงเหวงบางอย่างในชีวิตของเขา และก็ทำได้ดี (และไม่ช่วยอะไรกับคนที่โดยตัวกำลังโหวงเหวงและต้องการคำตอบบางอย่างไปซะเลย ^^") จากนั้นก็ไม่คิดจะอ่านอีก แต่ก็มีน้องสาวคนหนึ่งรักมูราคามิมาก โดยเฉพาะความตายในเล่มนอร์วีเจียน ถ้าจะเอามาโยงกับเรื่องสลิ่ม ไม่รู้จะนับเธออย่างไร เธอเป็นคนเข้าใจเสื้อทุกสีเธอคิดว่าเสื้อแดงมีเหตุผล แต่เธอก็สรุปว่าประวัติศาสตร์ต้องเดินต่อไปตามแบบของมัน และเธอพอในจะใช้ชีวิตในแบบของเธอโดยไม่ให้การเมืองมาทำให้ตัวเองต้องวุ่นวายใจ เธอมีความสุขแบบเหงาๆที่จะนั่งมองเรื่องใหญ่ในแบบเพียงปรากฎการณ์ และมองเรื่องเล็กๆอย่างชุ่มชื่นใจและเปี่ยมความหมาย เธอชอบท่องเที่ยวดูผู้คน เฉยๆ และครุ่นคิดกับตัวเองเงียบๆ ไม่ต้องการเป็นความสั่นสะเทือนใดๆเธอพร้อมจะมองเห็นแง่ดีและยอมรับได้ทั้งขนบเก่าและใหม่ ส่วนถ้าในแง่บุคคลิก หากใครไม่รู้จักเธอก็คิด เธอคือสลิ่มแท้แน่นอน"

2 comments:

Anonymous said...

สลิ่มคืออะไรครับ?

hook said...

ขนมไทยชนิดหนึ่ง ทำจากแป้ง มีลักษณะเป็นเส้นเล็กๆ หลายสี กินกับน้ำกะทิ น้ำแข็ง อร่อยมากครับ อิอิ