T. Cohen's "Jokes"


พูดแบบหลงตัวเองหน่อยๆ สำหรับคนที่ "ศึกษา" เรื่องตลกอย่างเรา หนังสือ Jokes: Philosophical Thoughts on Joking Matters ของโคเฮนก็ไม่ได้มีอะไรใหม่นักหรอก ถ้าจะมีอะไรบางอย่างที่หนังสือบางๆ เล่่มนี้ช่วยเปิดหูเปิดตาเราก็คือ โคเฮนเป็นคนแรกที่พูดถึง "อันตราย" ของเรื่องตลก มาร์ค ทเวนเคยกล่าวไว้ว่า "ไม่มีอะไรจะยืนหยัดการจู่โจมของอารมณ์ขันได้" ทั้งเราและโคเฮนเห็นด้วย และเราสองคนก็เห็นพ้องตรงกันอีกว่า มีบางอย่างที่สมควรจะยืนหยัดอยู่ในโลกนี้

เราเคยพูดเรื่องนี้บ่อยแล้ว เลยขี้เกียจเล่าอย่างละเอียด แต่เราคิดว่าในช่วงแรกๆ ของความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทย "อารมณ์ขัน" ถูกนำมาใช้เป็นอาวุธในการโจมตีฝ่ายตรงข้าม และเป็นอาวุธทางวัฒนธรรมที่ทรงประสิทธิภาพมากๆ เรื่องตลกจะทำงานได้ก็ต่อเมื่อผู้เล่าและผู้ฟังมีประสบการณ์ ความคิดเห็นร่วมกันบางอย่าง และในทางกลับกัน บางครั้งผู้ฟังก็พร้อมจะรับความคิดเห็นเหล่านั้นมา เพียงเพื่อจะได้หัวเราะไปกับเรื่องตลก การที่คุณได้ยินเรื่องตลกซ้ำไปซ้ำมา โดยเรื่องตลกนั้นได้แทรกมุมมองทางการเมืองเอาไว้ สุดท้ายคุณก็จะรับเอามุมมองดังกล่าวมาโดยไม่รู้ตัว เพียงเพราะคุณอยากหัวเราะไปกับมันเท่านั้น (มิลาน กุนเดระถึงได้เคยพูดถึง "เสียงหัวเราะของเทวดา" ว่าเป็นเสียงที่น่ารังเกียจและน่าขยะแขยงที่สุด)

ใน Jokes โคเฮนทำในสิ่งที่เราสงสัยมาตั้งนานแล้วว่าทำไมไม่เคยมีนักปรัชญาคนไหนทำมาก่อน นั่นก็คือการพูดถึง "ตลกไร้รสนิยม" (bad taste) เช่นเรื่องตลกที่อิงอยู่บน stereotype ทางเพศหรือเชื้อชาติ ประเด็นนี้น่าสนใจมาก เพราะว่าเรื่องตลกส่วนใหญ่มันก็อิง stereotype ทั้้งนั้น (อาจจะเรียกว่าโดยนิยามเลย) แต่อะไรที่แบ่งเรื่องตลกดีๆ กับเรื่องตลกที่ไร้รสนิยมออกจากกัน ใช่เส้นแบ่งทางศีลธรรมหรือเปล่า (ตัวอย่างเรื่องตลกไร้รสนิยมที่โคเฮนยกขึ้นมาคือ "ถาม: ทำอย่างไรถึงจะหยุดยั้งคนผิวดำกลุ่มหนึ่งไม่ให้ข่มขืนผู้หญิง ตอบ: โยนลูกบาสเกตบอลเข้าไปกลางวง)

ถึงเราจะพูดเสมอๆ ว่าหนังสือที่ดีมันต้องตั้งคำถามให้คนอ่านฉุกคิด แต่โคเฮนตั้งคำถามลูกเดียว โดยไม่ให้เสนอคำตอบอะไรเลย (ว่ะ) ซึ่งก็น่าผิดหวังชะมัด ไม่เป็นไร เอาไว้ถ้ามีโอกาส จะศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมเอง

B. Greene's "The Fabric of the Cosmos"


ทุกๆ ห้าหกปี เราจะหยิบหนังสือฟิสิกส์สำหรับคนทั่วไปขึ้นมาอ่านสักเล่ม เพื่อจะได้รู้ว่าเดี๋ยวนี้นักฟิสิกส์เขาไปถึงไหนต่อไหนกันแล้ว อ่านจบ บางทีก็นึกเสียดาย ถ้าชีวิตเราเปลี่ยนแปลงไปจากนี้สักนิดหนึ่ง บางทีป่านนี้เราอาจจะได้เป็นหนึ่งในเหล่า "พ่อมด" ที่ศึกษาความลับของจักรวาลอยู่ในขณะนี้ก็ได้

ไบรอัน กรีนถือเป็นหนึ่งในนักฟิสิกส์ดาวรุ่ง เขาเคยเป็นดารารับเชิญในซิทคอมเรื่องเฟรนด์ พูดกันแบบขำๆ คือ หลังจากไฟนแมนส์ เหมือนกับวงการฟิสิกส์ต้องพยายามหา "ดาวเด่น" สักคนมาเป็นหน้าเป็นตา คอยเรียกร้องความสนใจจากสื่อและสาธารณชน ขณะนี้ก็น่าจะเป็นไบรอัน กรีนแข่งกับลีออน ลิเดอร์แมน (แต่กรีนน่าจะภาษีดีกว่า เพราะหนุ่มกว่า หล่อกว่า)

กรีนเปิดหนังสือ The Fabric of the Cosmos โดยยกเอาประโยคเด็ดของกามูส์จาก The Myth of Sisyphus ว่า "ปัญหาเดียวที่น่าใคร่ครวญคือเรื่องของการฆ่าตัวตาย" เหตุใดมนุษย์เราถึงไม่พากันจบชีวิตตัวเองให้หมดทุกข์หมดโศกกันเสียที คำตอบของกรีนคือ การเข้าใจความยิ่งใหญ่และลี้ลับของจักรวาล จะช่วยเปิดหูเปิดตาให้มนุษย์เราเห็นว่าจักรวาลนี้มันเต็มไปด้วยเรื่องราวอันน่ามหัศจรรย์สักแค่ไหน

ซึ่งเป็นคำตอบที่สลิดมากๆ

อย่างไรก็ตามแต่ เราก็พอจะเห็นด้วยกับกรีนในระดับหนึ่ง ถ้าสัมผัสถึงความลี้ลับของวิชาฟิสิกส์ได้แล้ว ปรัชญาทั้งหลายแหล่ ไม่ว่าจะเป็นวิภาษวิถี ทวินิยม ประจักษนิย จนถึงมาร์คซิส ล้วนแล้วแต่ "ขี้ๆ " ทั้งนั้น เรากำลังพูดถึงวิชาที่เชื่อว่าจักรวาลไม่ได้มีแค่สามมิติ บน ล่าง ซ้าย ขวา หน้า หลัง และไม่ได้มีแค่สี่มิติ คืออีกมิติเวลา แต่มีมิติทั้งหมดรวมกัน 11 มิติ! โลกนี้คงไม่มีอะไรเข้าใจยากไปกว่านี้อีกแล้วล่ะ

ไฟนแมนส์มีคำพูดอมตะอยู่คำพูดหนึ่งคืออัจฉริยะที่แท้จริงต้องสามารถอธิบายเรื่องยากๆ ให้เป็นเรื่องง่ายๆ ได้ ในแง่นี้ต้องถือว่ากรีนสอบผ่าน ถึงแม้จะแอบขำกับความพยายามทำตัวป็อปของเขา (เช่น การยกตัวอย่าง The Simpsons มาเป็นสื่อทัศนะช่วยอธิบายวิชาฟิสิกส์) แต่ก็ต้องถือว่ากรีนอธิบายเรื่องซับซ้อนได้แจ่มแจ้งดีทีเดียว ถ้าจะติหนังสือเล่มนี้ ก็อาจจะเรื่องการเลือกเนื้อหามากกว่า เช่น กรีนไม่น่าเอาจักรวาลวิทยาใส่เข้ามาเลย ตัวกรีนเองเป็น String Theorist พอถึงบทที่เกี่ยวกับจักรวาลวิทยา เลยเหมือนกับเจ้าตัวจะทำได้แค่ยกตัวอย่างเรื่องนู้นเรื่องนี้ใส่ๆ เข้ามามากกว่า

สนุกกับ The Fabric of the Cosmos ในระดับหนึ่ง และถ้าใครสนใจวิชาฟิสิกส์ยุคใหม่ และ String Theory โดยไม่มีพื้นฐานทางคณิตศาสตร์เลย ขอแนะนำเล่มนี้ แต่ส่วนตัว เราก็ยังอยากได้อะไรที่มันซับซ้อนกว่านี้นิดหนึ่ง จะมีบ้างไหม หนังสือฟิสิกส์ ไม่ใช่สำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับคนที่จบปริญญาตรีวิชานี้ พอมีพื้นสัมพันธภาพพิเศษ และควอนตัมฟิสิกส์เบื้องต้นอยู่แล้ว อยากได้อะไรที่ไปไกล และไปลึกกว่านี้สักนิดหนึ่ง

G. Greene's "The Comedians"


อยากรู้จังว่าศาสนาประเภทไหนกันที่ให้กำเนิดเทพเจ้าอย่าง "บารอนซาเมดิ" ขึ้นมา เทพก็ไม่ใช่ ผีก็ไม่เชิง ใส่สูท ถือไม้เท้า และสวมหมวกทรงสูง (นี่มันผู้นำแฟชั่นกอธชัดๆ !) เราเคยเรียนเรื่องศาสนาวูดู ถ้าจำไม่ผิด บารอนซาเมดิเป็นเทพเจ้าแห่ง "คนตาย" และ "ขอทาน" ซึ่งจะแตกต่างจากเทพวูดูตนอื่นตรงที่ไม่สามารถ "อยู่กิน" กับร่างทรงได้ (ศาสนาวูดูจะสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับการทรงเจ้า) เข้าใจว่าวัฒนธรรมซอมบี้ ก็น่าจะเกี่ยวข้องกับเทพตนนี้

บารอนซาเมดิยังเป็นสัญลักษณ์ของ "ปาปาดอก" หนึ่งในผู้นำของเฮติที่ทรงอิทธิพล ชั่วร้าย และเป็นเผด็จการที่สุดเท่าที่ประเทศนี้เคยประสบพบมา ปาปาดอกจะมีลิ่วล้อคือ "ตอนตอน มาคูส" แปลว่า "ปีศาจ" ในภาษาท้องถิ่น คล้ายๆ กับเกสตาโปของฮิตเลอร์ มีหน้าที่คอยเกะกะระราน และสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน

The Comedians ว่าด้วยเรื่องของนายบราวน์ เจ้าของโรงแรมชาวโมนาโกที่มาตั้งรกรากอยู่ในเฮติ สมัยที่ปาปาดอกกำลังเรืองอำนาจ นอกจากโจนส์ ยังมีตัวละครสำคัญอีกสองตัวคือบราวน์และสมิธ สมิธเป็นอดีตผู้แข่งขันตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา เดินทางมาเฮติเพื่อก่อตั้งศูนย์มังสวิรัติ ส่วนโจนส์เป็นนักต้มตุ๋น เช่นเดียวกับนิยายหลายเล่มของกรีน เนื้อเรื่องวนเวียนอยู่กับเรื่องการสืบสวน ปลอมตัว หักหลัง และรักสามเส้า

ถ้าเทียบกับเล่มอื่นแล้ว The Comedians เหมือนจะยาวกว่า ด้วยเหตุนี้กระมัง เราเลยรู้สึกว่าเนื้อเรื่องมันไม่ค่อยรัดกุมเท่าไหร่ ตัวละครอย่างสมิธจะมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ เพราะเอาเข้าจริงๆ ความสำคัญก็อยู่แค่บราวน์ และการต้มตุ๋นของโจนส์ นี่อาจจะเป็นนิยายเล่มแรกของกรีนที่เราอ่านแล้วรู้สึกว่ามัน "ยืดยาด"

แต่ขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราค่อนข้างผูกพันกับตัวเอกของ The Comedians บราวน์เป็นผู้ชายที่ไม่มีประวัติศาสตร์ ไม่เชื่อถือในอะไรทั้งสิ้น และก็รักใครไม่เป็น แต่ขณะเดียวกันเขาก็รู้สึกผูกพันอย่างประหลาด กับประเทศที่แสนอันตรายแห่งนี้ เป็นตัวละครที่อยู่ตรงกลางพอดีระหว่างสมิธและโจนส์ ประเด็นของเรื่องที่กรีนพยายามจะสื่อคือมนุษย์เราต้องมีศรัทธาในอะไรสักอย่าง ขนาดพร้อมที่จะตายเพื่อมันได้ ไม่ว่าของสิ่งนั้นจะดูโง่เง่า ไร้สาระในสายตาคนอื่นแค่ไหน สมิธ ที่เป็นเหมือนตัวตลกมาตั้งแต่ต้นเรื่อง กลับกลายเป็น "วีรบุรุษ" ขณะที่โจนส์เหมือนจะพบแสงสว่างในวินาทีสุดท้ายของชีวิต ส่วนบราวน์ เช่นเดียวกับคนอ่าน ยังคงต้องค้นหาความหมายของชีวิตตัวเองต่อไป

H. Murakami's "The Second Bakery Attack"


ยากจัง อ่านและวิจารณ์หนังสือของนักเขียนสักคนที่เราประกาศตัวไปแล้วว่า "ไม่ชอบ" เนี่ย เหมือนไม่ว่าจะตัดสินใจไปทางใด ก็มีอคติแทรกไปหมด โดยเฉพาะนักเขียนขวัญใจมหาชนอย่างมุราคามิด้วยแล้ว แต่พูดแบบนี้ออกไป โดยรวมก็ต้องถือว่าชอบเลย กับรวมเรื่องสั้นเล่มนี้

จุดสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ เรื่องสั้นของมุราคามิเหมือนจะถูกประกอบขึ้นมาเพื่อรายล้อม "ภาพภาพหนึ่ง" อย่างสองเรื่องที่เราชอบที่สุดในเล่มคือ ช้างหาย และ ฝาแฝดและทวีปที่จมดิ่ง ในเรื่องแรก มุราคามิผสานเอาภาพลวงตา "ห้องยักษ์" (ซึ่งเข้าใจว่าเป็นผลิตผลของวัฒนธรรมญี่ปุ่น) เข้าหาบริบททางสังคมได้อย่างแนบเนียน ส่วนเรื่องหลัง มีฉากความฝันที่ชวนให้นึกถึง The Cask of Amontillado ของโป บวกกับอารมณ์แบบเซอร์เรียล ในเรื่องที่เราชอบรองๆ ลงมาคือ คำสาปร้านเบเกอรี ก็มีแก่นกลางเป็นการปล้นร้านแฮมเบอเกอร์ที่แสนจะลักลั่นและน่าขบขัน

แน่นอนละว่าบริบทก็มีส่วนสำคัญที่ขับเน้นความหมายของภาพนั้น แต่สิ่งที่เราอดถามตัวเองไม่ได้คือบริบทพวกนั้นมัน "หลวม" เกินไปหรือเปล่า ถ้าไม่มีภาพนั้นแล้ว เรื่องสั้นจะยังพยุงตัวเองอยู่ได้ไหม เราค่อนข้างมีปัญหากับ ตำนานนกไขลาน และก็แอบรู้สึกทึ่งว่าเรื่องสั้นนี้มันมีเสน่ห์พอให้คนเขียนสปินออฟออกมาเป็นนิยายเล่มหนึ่งเลยหรืออย่างไร ส่วน พี่ชาย น้องสาว แม้จะไม่มีภาพที่เป็นแก่นเรื่องในลักษณะนั้น แต่เราก็เห็นด้วยกับเต้ ว่าเสน่ห์ของมันคงอยู่ที่ลูกเล่นภาษาแบบ incest ที่ใส่เข้ามาเป็นระยะๆ มากกว่า

เราว่ามุราคามิเป็นคำตอบที่ถูกจริตของสังคมไทยในยุคหนึ่งมากๆ เรื่องสั้นของปัจเจคที่ตัดขาดตัวเอง หรือยอมรับการตัดขาดตัวเองจากปัญหาสังคมภายนอก (ถึงแม้เรื่อง ช้างหาย จะมีประเด็นการเมือง แต่ก็เหมือนถูกใส่เข้ามาเพื่อให้รับใช้ปัญหาปัจเจคมากกว่า ไม่ต้องพูดถึง อาณาจักรโรมันล่มสลายฯ ที่แทบจะ "ตบหน้า" ประวัติศาสตร์โลก โดยการเอามันมารับใช้ประวัติศาสตร์และบันทึกส่วนบุคคลเลย) เหมือนเป็นแว่นขยายที่ส่องให้เห็นตัวบุคคล จนสิ่งแวดล้อมที่เขายืนอยู่อาศัยอยู่เป็นเพียงภาพเบลอๆ แต่จุดหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าเรารู้จักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นน้อยมากๆ จนบางทีอาจจะมองข้ามหรือมองไม่เห็นบริบททางสังคมที่มันรายล้อมตัวผลงานอยู่ก็ได้

ขอนำความเห็นรุ่นพี่สองคนมาแปะเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ดังนี้ครับ

ความเห็นแรก

"อ๊าก แค่นี้เองหรือ ที่ "ตัดสิน" ว่ามูราคามิ เป็นสลิ่มแล้ว พี่เข้าใจว่าที่งานมูราคามิเป็นที่นิยมในญี่ปุ่นมาก เพราะสังคมญี่ปุ่นกีดกัน "ปัจเจก"มาก การแสดงตัวตนในพื้นที่ของญี่ปุ่นแสดงได้ยากมาก ความเป็นกลุ่ม องค์กร สูงมาก จนถึงตอนนี้คนอ่านหนัง...สือในญี่ปุ่นยังต้องห่อปกอยู่เลย เข้าใจว่าเป็นเพราะ การอ่านอะไรในที่สาธารณะ ไม่ควรแสดงตัวเองในที่สาธารณะ

จริงๆ พี่จะบอกแต่แรกแล้วว่า พอบอกว่า "สลิ่ม" คือการเอางานของมูราคามิไป "ทาบ" กับบริบททางการเมืองไทยตอนนี้ใช่ไหม พี่รู้สึกว่ามันแหม่งๆ ตั้งแต่ตอนนั้นแล้วล่ะ เอาเข้าจริงบ้านเรารับเข้างานมูราคามิช้ามากเลยนะ หลายๆเรื่องที่แปลมามูราคามิเขียนตั้งแต่ปี 1985 แล้วมาแปลในบ้านเราปี 2010 อะไรประมาณนี้ แล้วการไปเอาบริบททางการเมืองไทยตอนนี้ไปทาบกับงานมูราคาิมิ พี่ว่ามันแปลกๆ ( แต่เรื่องใหม่ล่าสุดที่ภาษาอังกฤษ ยังไม่แปลออกมา ขอบอกว่าภาษาไทยเริ่มแปลแล้ว คือแปลจากภาษาญี่ปุ่นเลย)

แล้วพี่จะบอกว่า จริงๆ บ.ก.ไม่ควรเลือกปฏิบัติต่้องานชิ้นใดชิ้นหนึุ่ง) แต่ในฐานะคนอ่านบอกได้ว่าใน คำสาปร้านเบเกอรี่ พี่ชอบ" อาณาจักรโรมันล่มสลาย ฯ มากที่สุด พี่ว่ามันเป็นเรื่องที่แปลยากมาก ( เหมือนเรื่อง เยอรมันฝันเพ้อที่โตมรแปลในเล่มหนึ่ง) พี่เชื่อว่า เรื่องแบบนี้มันตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์เดิมๆ ที่เราเคยรับรู้มาหมดเลย มันตั้งคำถามว่าเราควรเชื่อแบบนั้นไหม เราควรเดินตามขนบแบบเดิมๆ นั้นไหมต่างหาก

คนอ่านชอบบอกว่า เรื่องของมูราคามืเป็นเรื่องของคนเหงา ซึ่งพี่ค่อนข้างเซ็งเมื่อเจออะไรแบบนี้ แต่เอาเถอะใครอ่านแบบไหนก็ตีความแบบนั้น แต่สำหรับพี่ มูราคามิตอบได้ว่า ในเมื่ออุดมคติในการดำเนินชีวิตแบบเดิมๆ ที่เราเคยยึดถือ เคยเชื่อ มันถูกสั่นคลอนไปหมดแล้ว เราจะอยู่ได้อย่างไรท่ามกลางซากปรักหักพังเหล่้านั้น-นี่คือสิ่งที่พี่ชอบในงานมูราคามิ"

ความเห็นที่สอง

"เป็นคนหนึ่งในพวกโดนเซ็ง ^^" ที่คิดอย่างนั้นเหมือนกันค่ะว่าคนที่อ่านมูรคาคมิส่วนใหญ่เป็นคนเหงา แต่เป็นคนเหงาที่อยู่อย่างมองเห็นความสวยงามที่ซ่อนอยู่ในความเหงาและอยู่กับความเหงาได้เป็นอย่างดี มีความสามารถสูงในการจัดการกับความเหงาได้อย่างละเมียดละไม (ไปหารายละเอียดอื่นๆมาโป่ะความเหงาว่างๆ จนมันไม่เหงาและลืมไปว่านั่นพึ่งจะเหงามา)

ตัวเองเคยอ่านเล่มเดียวคือสดับลมขับขานตั้งแต่ที่พิมพ์ใหม่ๆ แล้วก็รู้สึกว่ามันโหวงเหวง เหมือนคนเขียนพยายามทำความเข้าใจความโหวงเหวงบางอย่างในชีวิตของเขา และก็ทำได้ดี (และไม่ช่วยอะไรกับคนที่โดยตัวกำลังโหวงเหวงและต้องการคำตอบบางอย่างไปซะเลย ^^") จากนั้นก็ไม่คิดจะอ่านอีก แต่ก็มีน้องสาวคนหนึ่งรักมูราคามิมาก โดยเฉพาะความตายในเล่มนอร์วีเจียน ถ้าจะเอามาโยงกับเรื่องสลิ่ม ไม่รู้จะนับเธออย่างไร เธอเป็นคนเข้าใจเสื้อทุกสีเธอคิดว่าเสื้อแดงมีเหตุผล แต่เธอก็สรุปว่าประวัติศาสตร์ต้องเดินต่อไปตามแบบของมัน และเธอพอในจะใช้ชีวิตในแบบของเธอโดยไม่ให้การเมืองมาทำให้ตัวเองต้องวุ่นวายใจ เธอมีความสุขแบบเหงาๆที่จะนั่งมองเรื่องใหญ่ในแบบเพียงปรากฎการณ์ และมองเรื่องเล็กๆอย่างชุ่มชื่นใจและเปี่ยมความหมาย เธอชอบท่องเที่ยวดูผู้คน เฉยๆ และครุ่นคิดกับตัวเองเงียบๆ ไม่ต้องการเป็นความสั่นสะเทือนใดๆเธอพร้อมจะมองเห็นแง่ดีและยอมรับได้ทั้งขนบเก่าและใหม่ ส่วนถ้าในแง่บุคคลิก หากใครไม่รู้จักเธอก็คิด เธอคือสลิ่มแท้แน่นอน"

M. E. Montaigne's "Essays"


ประโยคที่เราชอบที่สุดในรวมบทความของมอนแตญจ์คือ (ประมาณว่า) “สิ่งที่ผมเขียน ก็เหมือนเป็นเพียงด้ายเส้นเล็กๆ ที่เอามามัดช่อดอกไม้เข้าด้วยกันเท่านั้นเอง" มอนแตญจ์มองว่า เขาก็แค่เอาคำพูดเจ๋งๆ ของคนโบราณมารวมกันเป็นบทความ แล้วสร้างบริบทใหม่ๆ ให้กับคำพูดเหล่านั้น ผ่านข้อคิดและความเห็นของตัวเขาเอง หากพระเอกตัวจริงก็ยังเป็นวาทะอมตะของซิเซโร เปลโต โสเครติส พลูทาช และนักปรัชญากรีก โรมันคนอื่นๆ ที่เกลื่อนกลาดตั้งแต่ปกหน้ายันปกหลังหนังสือ

คำพูดนี้ฟังดูอ่อนน้อมถ่อมตนดี และถ้าให้เราจับลักษณะนิสัยบางอย่างของมอนแตญจ์จากบทความเหล่านี้ ก็คงเป็นความอ่อนน้อมถ่อมตนนี่เอง (ไม่รู้จริงหรือเปล่า) เขาเหมือนนักวิชาการคลาสสิค ผู้เฝ้าสังเกตเรื่องราว และหาข้อขบคิดต่างๆ จากสิ่งรอบตัว เอามาถ่ายทอดลงในหนังสือแบบตรงไปตรงมา ถ้าจะมีที่ไม่อ่อนน้อมก็คือในบทความหนึ่งแกบอกว่าชอบการถกเถียงประชันความคิดมากๆ มอนแตญจ์เชื่อว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญสุดสำหรับการพัฒนาสติปัญญา

นอกจากความอ่อนน้อม มอนแตญจ์ยังเป็นคนเกลียดการหน้าไหว้หลังหลอก เขาย้ำอยู่ในหลายบทความว่า วิญญูชนที่แท้จริงจะต้องปฏิบัติตัวต่อหน้าฝูงชน เหมือนกับที่ปฏิบัติหลับหลัง เขายังมีเรื่องเล่ามาสนับสนุนความเชื่อตรงนี้ของตัวเอง (ประมาณว่า) สมัยโรมันมีนักปกครองอยู่คนหนึ่ง วันดีคืนดีก็มีสถาปนิกมายื่นข้อเสนอว่า เขาจะออกแบบบ้านให้ใหม่ โดยให้มีห้องหับเป็นสัดเป็นส่วน รับรองว่าไม่มีใครมองเข้ามาในบ้านได้ โดยเขาคิดค่าออกเป็นเป็นทองพันช่าง (สมมติ) นักปกครองคนนั้นตอบกลับไปเลยว่า จะให้สามพันช่าง ถ้าสามารถออกแบบบ้าน ให้ทุกคนมองทะลุกำแพงเข้ามาได้ตลอดเวลา แสดงให้เห็นถึงความสุจริตขั้นเทพของนักปกครองคนนั้น

อีกนิสัยหนึ่งของมอนแตญจ์คือแกดูเป็นคนต่อต้านวิทยาศาสตร์เอามากๆ โดยเฉพาะเรื่องการแพทย์ ในบทความหนึ่ง แกพูดถึงเรื่องที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ไม่ได้แต่สามารถเกิดขึ้นได้ เช่นจู่ๆ ผู้หญิงก็มีน้องชายงอกออกมากลางหว่างขา และกลายเป็นผู้ชาย ส่วนอีกบทหนึ่ง แกปฏิเสธการรักษาโรคของแพทย์ โดยให้เหตุผลว่าแพทย์ส่วนใหญ่มักจะพูดจากขัดแย้งกันเอง ถ้ามีคนหนึ่งบอกคนไข้ว่าให้ดื่มน้ำเยอะ แกก็มั่นใจว่าจะหาหมอได้อีกคนที่สั่งคนไข้คนเดิมว่าห้ามดื่มน้ำ มอนแตญจ์เชื่อว่า "อุปนิสัย" นั่นแหละคือตัวยาที่ดีที่สุด เช่น ถ้าเราชอบกินแตงโม คุ้นเคยกับการกินแตงโต ธรรมชาติสั่งให้เรากินแตงโม แตงโมนั่นแหละคือยอดแห่งยาแล้วสำหรับเรา

นิตยสาร New York Times เคยพูดถึงมอนแตญจ์ว่าหนังสือของแกเป็นต้นกำเนิดของนิยายในศตวรรษที่ 17 และ 18 ก่อนที่ "การเล่าเรื่อง" จะกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของนิยาย นิยายในยุคนั้นก็แค่จับเอาความคิดที่แตกกระจายของคนเขียนมาอัดรวมกันเป็นเล่ม อาจจะมีหรือไม่มีเนื้อเรื่องบ้าง (ประเด็นของบทความคือจะชี้ให้เห็นว่า นิยายในยุคหลังสมัยใหม่ ที่จริงแล้วเป็นการกลับไปหาผลงานคลาสสิคอย่างมอนแตญจ์ หรือเซอวานเต้นั่นเอง) พอได้มาอ่านรวมบทความจริง เรากลับไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะงานของมอนแตญจ์เป็นบทความซื่อๆ ที่ปราศจากความพยายามในการเล่าเรื่องหรือผู้เป็นนิยาย (ถ้าเทียบกับนักเขียนไทย ก็น่าจะประมาณงานสัพเพเฮฮาของคุณวาณิช) มันจะเป็นแรงบันดาลใจให้เรื่องแต่งได้จริงหรือเปล่า

ความจริงในภาพวาด (พิพัฒน์ พสุธารชาติ)


นานมาแล้วเราเคยจีบสาวคนหนึ่งทาง hi5 เธอเรียนเอกรัฐศาสตร์ และต้องทำรายงานห้าข้อสำหรับวิชาปรัชญาการเมืองร่วมสมัย ข้อแรกของคำถามนั้น เราเมพ ช่วยเธอได้ แต่พอถึงข้อสอง จำคำถามไม่ได้แล้ว แต่คุ้นๆ ว่าเกี่ยวกับ Ontology ของรัฐบาลหรืออะไรสักอย่างนี่แหละ คำคำนั้นก็ใช่ว่าจะไม่เคยได้ยินนะ แต่ยังไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ เลยจอดป้ายสนิท กินแห้วไปตามระเบียบ

ให้มันได้อย่างนี้สิ รับรองว่าถ้าตอนนั้นได้อ่าน ความจริงในภาพวาด บทวิจารณ์ว่าด้วยสุนทรียศาสตร์ของไฮเดกเกอร์ และแดร์ริดา คงไม่ต้องมานั่งหวาน กรอบ มันหรอก

หนังสือเล่มนี้ช่วยตอบคำถามที่ค้างคาใจมานานว่า Ontology คืออะไร อาจารย์พิพัฒน์ใช้ตัวอย่างกรณีการถกเถียงระหว่างไฮเด็กเกอร์ ซาพิโร และแดร์ริดา เรื่องภาพวาดรองเท้าของแวนโก๊ะมาจับประเด็นนี้

อาจารย์พิพัฒน์อธิบายไว้ในหนังสือได้ดีมาก แต่ขออนุญาตอธิบายใหม่ด้วยภาษาของตัวเองแล้วกัน ตัวอย่างที่ดีมากๆ คือสัมพันธภาพพิเศษของไอนสไตน์ (เคยใช้ตัวอย่างนี้ไปแล้วตอนพูดถึงฟูโกต์ แต่ทนๆ เอาหน่อยแล้วกัน) จุดเริ่มต้นหนึ่งของสัมพันธภาพพิเศษคือการตระหนักว่าแสงไม่ได้มีความเร็วเป็นอนันต์ และถ้าแสงมีความเร็วค่าหนึ่ง ก็หมายความว่าปรากฏการณ์ที่เรามองเห็น อาจไม่ได้เกิดเช่นนั้นจริงๆ แต่เกิดเพราะการบิดเบี้ยวและนำพาของแสง ตัวอย่างง่ายๆ คือดวงดาวที่อยู่ห่างออกไปสี่ปีแสง ความจริงมันอาจแตกสลายไปตั้งแต่สี่ปีที่แล้ว แต่ภาพการสิ้นสุดของมันยังมาไม่ถึงตาเรา

ถ้าเอาแนวคิดแบบญาณวิทยา (epistemology) และ ภววิทยา (Ontology) มาใส่ตรงนี้ การพูดว่าดาวจริงๆ มันดับไปตั้งนานแล้ว คือการมองแบบภววิทยา หรือภาวะที่แท้จริงของวัตถุ แต่การพูดถึงแสงเดินทางและนำภาพดาวมาเข้าสู่ลูกตาเรา คือปรากฏการณ์แบบญาณวิทยา หรือการรับรู้ธรรมชาติของวัตถุ

อาจารย์พิพัฒน์ไม่ใช่แค่แปลหรือลอกความคิดของนักปรัชญาชื่อดังมาอย่างเดียว แต่อาจารย์ยัง "เถียง" กลับและแสดงความไม่เห็นด้วย ซึ่งการเถียงกลับของอาจารย์นี้ยิ่งช่วยเปิดหูเปิดตาให้ผู้อ่านรับสาส์นได้อย่างถ่องแท้ เราก็เลยอยากจะขอรับสืบทอดวิธีนี้และ "เถียง" กลับอาจารย์บ้าง

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ครูฟิสิกส์ปวดเศียรเวียนเกล้ามากๆ คือ ทำอย่างไรจะให้เด็กเข้าใจว่า สัมพันธภาพพิเศษลึกซึ้งกว่ากรอบคิดแบบกลศาสตร์นิวตันว่า "จริงๆ มันเป็นแบบนั้นแหละใช่ไหม เพียงแต่เราเห็นมันแบบนี้เท่านั้นเอง"

สัมพันธภาพพิเศษคือตัวอย่างสุดโต่งของญาณวิทยา เป็นญาณวิทยาที่ "กิน" และไม่เหลือพื้นที่ให้ความจริงแบบภววิทยาหลงเหลืออยู่ เนื่องจากแสงมีความเร็วคงที่ และไม่มีอะไรเร็วไปกว่าแสงได้ ดังนั้นต่อให้ดาวดับไปเมื่อสี่ปีที่แล้ว ถ้าเรามองไม่เห็นมัน (และไม่มีวันมองเห็น) เราก็ต้อง "ยอมรับ" ว่าดาวยังคงอยู่ ในโลกของสัมพันธภาพ ไม่มีอะไร "จริงๆ " คุณสมบัติทางภววิทยาล้วนเป็นเรื่องนอกประเด็น

พออ่านข้อถกเถียงกับแดร์ริดาของอาจารย์พิพัฒน์แล้ว ความเข้าใจของเราคือ เหมือนอาจารย์จะยืนยันว่า วัตถุสามารถมีคุณสมบัติทางภววิทยาและญาณวิทยาไปได้พร้อมๆ กัน ดั้งนั้นถ้าตาของเรามีปัญหา (เช่น ตาบอดสี) การรับรู้ทางญาณวิทยาทำให้เราเห็นวัตถุเป็นภาพขาวดำ แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงคุณสมบัติทางภววิทยาของมันให้เป็นขาวดำไปด้วย ส่วนตัวเราคิดว่า ถ้าเป็นคนที่เชื่อในญาณวิทยาอย่างสุดโต่ง เขาน่าจะปฏิเสธคุณสมบัติทางภววิทยาตั้งแต่แรก และยืนยันว่ามีแต่การรับรู้เท่านั้นที่กำหนดคุณสมบัติของสรรพสิ่งได้ การจะเข้าใจวาทะอมตะของแดร์ริดา "There is nothing outside the text.” น่าจะเริ่มจากจุดยืนตรงนี้

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าถกเถียงไม่น้อยคือการที่อาจารย์บอกว่า เราสามารถรับรู้สิ่งสิ่งหนึ่งได้โดยไม่ต้องอาศัยการเปรียบเทียบกับสิ่งอื่น เช่น การมองช้างใกล้ๆ โดยไม่ให้เห็นฉากหลังเลย เราก็ยังคงจะรู้ได้อยู่ดีว่าช้างเป็นช้าง แต่มันจริงหรือเปล่า พัฒนาการของ macro-photography รวมไปถึงฉากซูมใกล้ในหนังที่สร้างความพิศวงให้คนดูว่าเรากำลังมองอะไร (ล่าสุดคือใบปิด เจ้านกกระจอก ที่ถ้ามองไม่ดีจะไม่รู้เลยว่าเป็นรูปลูกตา) น่าจะเป็นตัวพิสูจน์แล้วหรือเปล่า ว่าการรับรู้ของคนเราอิงอ้างอยู่กับระบบสัญศาสตร์ที่ยากจะหนีพ้นการเปรียบเทียบและความแตกต่าง