L. Carrington's "The Hearing Trumpet"


ตั้งแต่ตอนที่อ่าน Nadja เราก็ครุ่นคิดของเรามาตลอดว่าวรรณกรรมเซอเรียลเป็นอย่างไร มีใครเขียนแนวนี้บ้าง และจะเขียนให้ดีๆ สักเล่มได้อย่างไร (ให้เจาะจงกว่านี้คือ เขียนอย่างไรให้ออกมาดีกว่าที่เบรตัน บิดาแห่งวรรณกรรมเซอเรียลเขียน) อย่างที่เคยพูดไปแล้ว ปัญหาของวรรณกรรมเซอเรียลไม่ใช่ว่าคนอ่านรับความเหนือจริงไม่ได้ แต่มันจะแบ่งแยกตัวเองออกจากวรรณกรรมเหนือจริงแนวอื่นได้อย่างไร โดยเฉพาะสัจจนิยมมายา ซึ่งเหมือนจะเป็นแชมป์ ครองความเหนือจริงทางวรรณกรรมเอาไว้แทบทั้งหมด

แองเจลา คาเตอร์คลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นคำตอบที่เราค้นหา ในจำนวนนักเขียนโปรดสิบกว่าคนของเรา เธอเขียนเรื่องแนวเหนือจริงอยู่คนเดียว กระนั้นก็ตาม เคยได้อ่านได้ยินมาว่านิยาย และเรื่องสั้นของคาเตอร์เป็นแนวตำนานนิยม (mythologism) มากกว่า surreal ซึ่งเราก็ค่อนข้างเห็นด้วยนะ แม้จะยังไม่ชัดเจนในความแตกต่างระหว่างสอง genre นี้ พื้นฐานการเขียนของคาเตอร์อิงอยู่กับนิทาน ตำนานโบร่ำโบราณ มากกว่าทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ (ซึ่งแตกต่างจากศิลปิน surrealist อย่างมากริต หรือเดลี)

The Hearing Trumpet คือส่วนผสมของเซอเรียล และตำนาน ช่วงร้อยแปดสิบหน้าแรกเป็นนิยายเหนือจริง ว่าด้วยการผจญภัยของ "ฉัน" ในบ้านพักคนชรา (ด้วยอายุเก้าสิบสอง ตัวเอกของแคริงตันน่าจะเป็นตัวเอกที่ชราภาพสุดในนิยายเรื่องไหนๆ ) มีทั้งคดีฆาตกรรม ปริศนาลึกลับของแม่ชีในรูปวาด จิตแพทย์ที่สติแตกยิ่งกว่าคนไข้ และชมรมคนทรงเจ้า พอถึงยี่สิบหน้าสุดท้าย ใกล้จบนิยาย แคริงตันโยนความจริงทิ้ง และผัน The Hearing Trumpet ให้กลายเป็นตำนานนิยมเต็มตัว เริ่มจากเทวดาหกปีกบินหนีจากหอคอยคุมขัง แผ่นดินไหวถล่มโลกา และยุคน้ำแข็งมาเยือน

ความแตกต่างระหว่างช่วงแรก และช่วงใกล้จบของ The Hearing Trumpet รวมไปถึงความแตกต่างในสไตล์การเขียนของแคริงตัน และคาเตอร์ เป็นเรื่องน่าศึกษา สำหรับใครก็ตามที่อยากเขียน หรือเข้าใจนิยายแนวเหนือจริง โมทีฟเรื่องเพศของแคริงตันไม่ชัดเจนเท่าคาเตอร์ ขณะที่องค์ประกอบเหนือจริง และสมจริงในนิยายของคาเตอร์ปะปนกันอย่างแยกไม่ออก เราจะเห็นความสมดุล และกลศาสตร์ระหว่างสององค์ประกอบนี้ในนิยายของแคริงตัน เพราะนิยายแนวเหนือจริง ไม่ใช่การละทิ้งความจริงโดยสิ้นเชิง

ความล้มเหลวในนิยายแนวเหนือจริงของคนไทยที่เคยๆ อ่านมา คือการสร้างนิยายนามธรรม (abstract) ซึ่งหลุดจากกรอบความจริง และการเล่าเรื่องโดยสิ้นเชิง เราเชื่อว่านี่คือความคิดที่ผิดพลาด งานเขียน โดยเฉพาะนิยาย ถึงอย่างไรก็ต้องมีโครงสร้างการเล่าเรื่องปะปนอยู่ กระทั่งใน The Hearing Trumpet การเล่าเรื่องเพิ่งมาพังทลายในช่วงยี่สิบหน้าสุดท้าย จริงๆ แล้วเราชอบช่วงนี้มาก เป็นการส่งต่ออย่างเป็นธรรมชาติระหว่างแนวเหนือจริง และแนวตำนานนิยม ที่สำคัญคือมันไม่ยาวเกินไป ถ้าการเปลี่ยนแปลงตรงนี้เกิดช่วงกลางๆ เล่ม ก็บอกไม่ได้เหมือนกันว่า หากต้องอ่านอะไรมั่วๆ สั่วๆ ร้อยกว่าหน้า จะยังชอบมันได้อยู่หรือเปล่า

M. Kammen's "Visual Shock"


ถ้าความขัดแย้งด้านการเมืองในประเทศไทยช่วงสาม สี่ปีที่ผ่านมา จะมีข้อดีอยู่บ้าง ประการหนึ่งคือมันช่วยให้คนรุ่นใหม่รู้ว่าราษฎรอาวุโสคนไหน "มีวิชา" และคนไหนเป็นแค่ "ราษฎรอาวุโส" ประเทศไทยนี่แปลกอย่างหนึ่งคือ ใครๆ ก็ชอบออกมาให้ความเห็นทางด้านการเมือง ไม่ว่าจะเต่าตุ่นสักแค่ไหน แต่พอเป็นเรื่องศิลปะ ต่อให้ไม่ชอบ ไม่เห็นด้วย ก็ได้แต่ยิ้มๆ ผงกศีรษะ ท่องในใจว่าลางเนื้อชอบลางยา

หน้าที่ของศิลปะคือสร้างความขัดแย้ง สร้างข้อถกเถียงให้ผู้คนออกมาปะหมัดกันทางความคิด (จะได้ไม่เอาพลังงานไปปะหมัดกันในเรื่องอื่นที่คอขาดบาดตายยิ่งกว่า) พิพิทธภัณฑ์ศิลปะไม่ใช่สถานที่กล่อมเกลา หรือยกระดับจิตใจผู้ชมด้วยความสวยงาม พิพิทธภัณฑ์ต้องเป็นสนามรบ เป็นเวทีมวย เป็นหม้อต้มเดือด...เอาล่ะ ไม่เสมอไปหรอก แต่อย่างน้อย Visual Shock ก็นำเสนอแง่มุมนี้ของศิลปะได้อย่างน่าสนใจ

เนื้อหาหลักๆ ของ Visual Shock คือความขัดแย้งด้านศิลปะในประเทศอเมริกา บางอย่างก็เป็นเรื่องเก่าเล่าใหม่ เช่นความขัดแย้งระหว่างผู้มีอำนาจมือถือสากปากถือศีล และศิลปินนักปฏิวัติ แต่บางความขัดแย้งก็แฝงแง่มุมอื่นด้วย อย่างงานศิลปะที่สร้างด้วยเงินภาษีราษฎร สมควรเป็นงานศิลปะที่เข้าใจง่าย และเข้าถึงคนหมู่มากหรือเปล่า ป๊อปอาร์ต หรือศิลปะเพื่อมวลชนถือกำเนิดมาจากกระแสต่อต้านงานศิลปะยุคใหม่ (modern art) ซึ่งเข้าใจได้เฉพาะหมู่คณะ วาฮอล หรือลิคเคนสไตน์ดัดแปลงวัสดุซึ่งพบเห็น และถูกใช้ในชีวิตประจำวันมาเป็นงานศิลปะ แตขณะเดียวกันความ "เพื่อมวลชน" ก็รับใช้กลไกทางธุรกิจด้วย คำพูดของวาฮอลที่เด็ดมากคือ "การทำเงินเป็นศิลปะ การทำงานเป็นศิลปะ และการประสบความสำเร็จด้านธุรกิจคือศิลปะที่ดีที่สุด" (ไปๆ มาๆ ปัจจุบันป๊อปอาร์ตกลายเป็นงานศิลปะที่เข้าใจยากยิ่งกว่าโมเดิร์นอาร์ตเสียอีก เมื่อเอาคุณค่าทางธุรกิจมาคิดคำนวณแล้ว คนรุ่นใหม่ตั้งข้อกังขาว่าทำไมภาพกระป๋องซุปถึงราคาเป็นล้านได้)

ถึงจะอ่านไปขำไปใน "ความเฉิ่ม" ของคนอเมริกา แต่ขณะเดียวกันเราก็อดอิจฉาลึกๆ ไม่ได้ ทำไมประเทศไทยถึงไม่มีการถกเถียงอะไรแบบนี้บ้าง คนไทยชอบคิดว่าศิลปะเป็นเรื่องของรสนิยมซึ่งไม่ควรนำมาทับเส้นกัน (ประกอบกับเราไม่มีโครงการทางศิลปะใหญ่ๆ เช่นรูปปั้นราคาเป็นล้านในสวนสาธารณะ) เท่าที่จำได้ ปมขัดแย้งในแวดวงวรรณกรรมเช่น โทษฐานที่รู้จักกัน ของอุดม แต้พาณิช กลายเป็นหนังสือขายดีสุดในประวัติศาสตร์ หรือหนังสือได้รางวัลซีไรต์ซึ่งหลายคนเห็นว่าไม่สมควรอย่าง ความน่าจะเป็น หรือ ความสุขของกะทิ ซึ่งเล่มหลัง ทีแรกเหมือนจะต้มเดือด แต่สุดท้ายไฟก็มอดลงไปเฉยๆ

ถ้าจะมีด้านหนึ่งที่ผู้คนไม่สมควรสามัคคีกัน ก็เรื่องศิลปะนี่แหละ เราควรสนับสนุนให้มีคนอย่างคุณวาณิช ที่ชอบติหนังสือดังๆ พวกผลงานซีไรต์ (แม้จะไม่ค่อยมีเหตุผลในบางทีก็ตาม) เพิ่มขึ้นในบ้านเรา ควรมีองครักษ์พิทักษ์ศิลปินออกมาโต้กับคนที่วิจารณ์นักเขียนที่พวกเขาชื่นชม ควรจะมีเวทีสำหรับให้คนสองประเภทนี้มาแลกเปลี่ยนความคิดกัน และเมื่อมีคนคนหนึ่งตะโกนออกมาว่า "??????? เป็นหนังสือที่ห่วยฉิบหาย!" คนที่ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ควรตบมือสรรเสริญเขา

ความขัดแย้งโด่งดังล่าสุดคือกรณีภาพยนตร์ แสงศตวรรษ ซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถามเรื่องการเซนเซอร์ ถ้าคิดแทนศิลปิน ก็เข้าใจได้ว่าทำไมผู้กำกับถึงผิดหวังที่หนังตัวเองไม่ได้ฉายในประเทศบ้านเกิด (ทั้งที่ไปคว้ารางวัลมากมายจากเมืองนอก) แต่ถ้ามองในระยะยาวแล้ว หากประเด็นนี้ถูกสานต่อ (ไม่ใช่มอดดับไปเหมือน ความน่าจะเป็น และกระแสหลังสมัยใหม่) บางทีนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของอะไรดีๆ ก็ได้

J. Kristeva's "Desire in Language"


Desire in Language เป็นหนังสือที่หนัก และเหนื่อยมากกว่าจะอ่านจบได้ แต่ก็ยอมรับว่าคนเขียนเหนือจริงๆ จูเลีย คริสเตวาผนวกปรัชญาสัญศาสตร์ (และภาษาศาสตร์แขนงอื่นๆ ) เข้ากับจิตวิเคราะห์ เพื่อต่อยอดไปยังสตรีศึกษา และศิลปะวิจารณ์ เป็นหนึ่งในหนังสือเปิดโลก ที่อ่านจบแล้วถอนหายใจเฮือก เหมือนเพิ่งท่องไปในทะเลทราย เปิดหูเปิดตา พบเห็นอะไรใหม่ๆ แต่พอกลับถึงที่พักก็อดไม่ได้จะทรุดตัวลงกับพื้น

มีสองประเด็นหลักที่เราจับได้ ประเด็นแรกต่อยอดมาจากเซอซัว เคยพูดไปแล้วว่าเซอซัวไม่เชื่อว่าคำเป็นหน่วยย่อยสุดของภาษา คริสเตวาไปไกลกว่านั้นอีก โดยเธอบอกว่าแม้แต่หนังสือก็ไม่ใช่หน่วยย่อย กล่าวคือไม่มีหนังสือเล่มไหนอยู่โดดเดี่ยวด้วยตัวเอง การอ่าน และการเขียนหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง คือการอ่าน และการเขียนหนังสือทุกเล่มที่อยู่ "ใกล้เคียง" กัน ไม่ว่า "ใกล้เคียง" ในที่นี้จะถูกนิยามในแง่ไหนก็ตาม (แนวเรื่อง ยุคสมัย คนเขียน และอื่นๆ ) มีศัพท์เฉพาะเรียกแนวคิดนี้ว่า "intertexual" หรือการผสานระหว่างตัวบทจากหนังสือหลายเล่ม ภาษาไทยเหมือนจะใช้คำว่า "วรรณกรรมล้อ" ซึ่งเป็นความหมายที่แคบชะมัด เพราะไพล่ไปแปลเอา "parody" ซึ่งเป็นซับเซทของ "intertexual" อีกที

แนวคิดนี้ไปไกลกว่าทฤษฎีวรรณกรรมไทยทั่วไปมาก กล่าวคือวรรณกรรมไม่ใช่ภาพสะท้อนทางสังคมอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นการสะท้อนสังคม ที่ในขณะเดียวกันต้องสามารถบรรจุตัวเองในบริบทของความเป็นวรรณกรรมอีกด้วย หนังสือเล่มหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการเปิดเปลือยความจริงทางสังคม ก็อาจกลายเป็นหนังสือที่ล้มเหลวได้ ถ้ามันไม่สามารถตอบโจทย์ความเป็นวรรณกรรม กล่าวคือเมื่อเอาหนังสือเล่มนั้นไปเทียบกับหนังสือเล่มอื่นที่ใกล้เคียงกัน แล้วพบว่าด้วยเหตุผลบางอย่าง มันถูกด้อยค่าลงในทันที

นี่คือสาเหตุที่ทำไมนักเขียนต้องอ่านหนังสือเยอะๆ และคือสาเหตุว่าทำไมประสบการณ์อย่างเดียวไม่อาจนำไปสู่วรรณกรรมชั้นเลิศ คุณวินทร์เคยให้สัมภาษณ์ได้ใจมาก ในยุคที่กระแสสถานการณ์ภาคใต้กำลังมาแรง คุณวินทร์เชื่อว่าแม้ตัวเขาจะไม่ได้ลงไปสัมผัสเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ก็สามารถเขียนหนังสือสักเล่มที่ตอบโจทย์สังคม ผ่านสายตาคนกรุงเทพ และอาจจะดีกว่าหนังสือของนักเขียนบางคนที่มาจากภาคใต้ และอยู่ในเหตุการณ์เสียด้วยซ้ำ

อีกแนวคิดหลักใน Desire in Language คือความแตกต่างระหว่างคุณค่าทางสัญญะ (semiotic) และสัญลักษณ์ (symbolic) ในงานศิลปะ สัญลักษณ์คือการอ่านเอาเรื่อง ส่วนสัญญะคือผลกระทบที่หยั่งรากลึกไปกว่านั้น อาจมาจากอิทธิพลบางอย่างในร่างกายเรา เป็นสิ่งที่ปลูกฝังอยู่ในดีเอนเอ คริสเตวาให้ความสำคัญกับทำนอง และจังหวะในงานเขียน บทกวีแม้ไม่มีคุณค่าทางสัญลักษณ์ แต่อย่างน้อยต้องมีคุณค่าทางสัญญะ กล่าวคือต้องมีท่วงทำนองที่ปลุกเร้าบางอย่างในตัวผู้อ่าน (ในภาพวาด รูปทรงคือคุณค่าทางสัญลักษณ์ ส่วนสีคือสัญญะ) ความคิดนี้ในแง่หนึ่งก็คือการเอาจิตใต้สำนึกของฟรอยด์มาพัฒนา โดยเชื่อมต่อกับทำนองของภาษานั่นเอง

เราไม่ใช่คนชอบอ่านกลอน เลยไม่ได้ตื่นเต้นอะไรมาก แต่คริสเตวาคงนิยมความคิดนี้เอามากๆ ในบทหนึ่งเธอถึงกับเขียนกึ่งปฏิญญา กึ่งบทความที่เล่นกับจังหวะ และท่วงทำนอง อ่านแล้วก็น่าสนใจดีเหมือนกัน ทำให้อยากรู้เลยว่าผู้หญิงคนนี้จะเขียนนิยายประเภทไหนออกมา (นอกจากบทความแล้ว เธอเขียนนิยายออกมาสี่ห้าเล่ม เชื่อว่าคงได้อ่านในเร็ววันนี้)

C. Bukowski's "Ham on Rye"


อยากอ้างถึงบทความนี้ เพราะรู้สึกว่าเข้ากันดี กับที่นิยายกึ่งอัตชีวประวัติของบูคอฟสกี บทความดังกล่าวว่าด้วยความสวยงามทางวรรณศิลป์ และศีลธรรม โดยผู้เขียนตั้งคำถามว่าเราจะตัดสินความงามของนิยายผิลศีลธรรมเช่นเงาสีขาว ได้อย่างไร ต้องออกปากก่อนว่าเราไม่เคยอ่านเงาสีขาว หรือผลงานเรื่องใดของแดนอรัญเลย ดังนั้นสิ่งที่เรากำลังจะพูดต่อไปนี้ ไม่เกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้นกับนักเขียนแมวเครา

นิยายผิดศีลธรรมไม่ใช่ปรากฎการณ์แปลกใหม่ เราอาจแบ่งนิยายผิดศีลธรรมได้เป็นสามประเภท เช่นนิยายเพื่อชีวิต หรือสัจนิยมสาธารณ์ (socialist realism) การผิดศีลธรรมของผู้ร้าย นำมาซึ่งโศกนาฏกรรมในชีวิตพระเอก และส่งผลให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกหดหู่ หรือฮึกเหิมต่อต้าน ตัวอย่างเช่น งู ของคุณวิมล ไทรนิ่มนวล หรือรวมเรื่องสั้น ฟ้าบ่กั้น ของอาจารย์ลาว คำหอม ประเภทที่สอง คล้ายๆ กัน คือนำเสนอเรื่องราวผิดศีลธรรมเพื่อสะท้อนความจริงในสังคม เป็นแนวสัจนิยม

ไม่ว่าจะแนวสัจนิยม หรือเพื่อชีวิตนิยม เป้าหมายของการผิดศีลธรรมในเรื่อง ก็เพื่อผลักดันให้คนอ่านเปลี่ยนแปลงสังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อไม่ให้ใครต้องเผชิญชะตาชีวิตยากลำบาก และความอยุติธรรมเฉกเช่นเดียวกับตัวเอก แม้ว่าเรื่องจะผิดศีลธรรม แต่เป้าหมายก็ยังคงเป็นการสร้างศีลธรรมในสังคม

ซึ่งแตกต่างจากประเภทสุดท้าย เรื่องแนวผิดศีลธรรมซึ่งถูกเขียนในยุคหลังๆ ผู้เขียนต้องการสื่อว่า ผิดศีลธรรมเพราะมันเป็นธรรมชาติ ศิลปินแนวนี้ชอบประนามผู้มีอำนาจมือถือสากปากถือศีล ว่าปฏิเสธธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องกิน ขี้ ปี้ นอน พวกเขานำเสนอพฤติกรรมผิดศีลธรรมเพื่อให้สังคมยอมรับแรงขับตามธรรมชาติ โดยพยายามหลีกเลี่ยงคำถามที่ว่า มันต่ำ หรือสูง สมควรที่จะแก้ไข หรือปกปิดไหม

ส่วนตัวเราคิดว่ามีความทวิมาตรฐานบางอย่างในงานศิลปะแนวนี้ กล่าวคือ พฤติกรรมผิดศีลธรรมที่พวกเขาอ้างว่าเป็นของธรรมชาติ มักเกี่ยวพันกับเพศรส สุราเมรัย หรือการพนัน สรุปสั้นๆ คือบาปคนจนทั้งหลายแหล่ ไม่เคยอ่านหนังสือเล่มไหนที่บอกว่านักการเมืองโกงชาติเป็นเรื่องธรรมชาติ หรือคนรวยเอารัดเอาเปรียบคนจนได้ ในคำพิพากษา เราจะรู้สึกว่าครูใหญ่เลวแสนเลว ขณะที่ฟักเป็นเหยื่อผู้น่าสงสาร ทั้งที่จริงๆ ต่างฝ่ายต่างผิดศีลกันคนละข้อ (ครูใหญ่ลักทรัพย์ ส่วนฟักติดสุรา) เอาความดีเลวมาชั่ง จะต่างกันสักกี่มากน้อย

จะอย่างไรก็แล้วแต่ เรื่องผิดศีลธรรมสามแนวที่เอ่ยมาข้างต้นนี้ ก็ยังผิดศีลธรรมในกรอบของศีลธรรม กล่าวคือ เพราะผู้เขียนเชื่อว่าศีลธรรมมีอยู่จริง คนเราถึงผิดศีลธรรมได้

เกริ่นมายาวเหยียด เพราะจะบอกว่างานเขียนของบูคอฟสกีอยู่ "นอกศีลธรรม" ใน Ham on Rye เราไม่อาจบอกได้ว่าเฮนรี ชินาสกีคือตัวละครผิดศีลธรรม (ประเด็นพระเจ้าถูกนำมาเล่นใหม่ซ้ำไปซ้ำมา เพียงเพื่อให้ผู้อ่านรับรู้ว่าชินาสกีไม่เชื่อในพระเจ้า และพระเจ้าก็ไม่เชื่อในชินาสกีเช่นกัน) คนที่เข้าใจว่าบูคอฟสกี้จงใจแสดงความดิบเถื่อนในสันดานมนุษย์ (เฉกเช่นเดียวกับนิยายผิดศีลธรรมประเภทที่สาม) เป็นการอ่านที่ผิด

และชินาสกีใน Ham on Rye ก็ไม่ได้ชั่วช้าอะไรนักหนา ชินาสกีใน South of No Noth อาจข่มขืนผู้หญิง และต่อยผู้ชายจนเลือดกบปาก เก้าปีผ่านไป เมื่อบูคอฟสกีลงมือเขียนนิยายอัตชีวประวัติ เขาไม่เห็นความจำเป็นใดๆ ที่ต้องใช้ชินาสกีเป็น "จินตนาการสมปรารถนา" (ชินาสกี้ในเล่มนี้ไม่เคยเปิดซิงตั้งแต่หน้าแรกยันหน้าสุดท้าย) Ham on Rye ไม่ใช่นิยายที่เรียกร้องให้ผู้คนยอมรับพฤติกรรมผิดศีลธรรม แต่มันบอกให้คนอ่านโยนกรอบศีลธรรมทิ้ง และใช้ชีวิตอย่างดีที่สุด ทำให้คนที่เรารักภาคภูมิใจ และไม่เบียดเบียนผู้อื่น เป็นนิยายหลังสมัยใหม่ (postmodern) อย่างแท้จริง

J. E. Stiglitz's "Globalization and its Discontents"


ทุกปี ปีละเล่มสองเล่ม เราจะหาหนังสืออย่าง Globalization and its Discontents มาอ่าน หนังสือซึ่งพูดอะไรที่โดยพื้นฐานแล้วเราไม่เห็นด้วย หนังสือที่มั่นใจว่าอ่านแล้วต้องรู้สึกขัดแย้ง ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อไม่ปิดกั้นตัวเอง และถือโอกาสออกไปสำรวจอาณาบริเวณของข้าศึกว่าเขาไปถึงไหนกันแล้ว

เกริ่มมาแบบนี้ ใช่ว่าเราจะไม่เห็นด้วยกับสติกลิทซ์เอาเสียเลย (ต่อให้ไม่เห็นด้วย เขาก็เป็นนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ส่วนความรู้เศรษฐศาสตร์เรายิ่งกว่างูๆ ปลาๆ อีก) ตั้งแต่บทแรก สติกลิทซ์ประกาศว่า เขาไม่ปฏิเสธแนวคิดของคนที่เห็นต่างจากเขา แต่คนเหล่านั้นมักยึดมั่นอย่างไม่ลืมหูลืมตา Globalization and its Discontents จึงถูกเขียนมาเพื่อตีกบาลพวกเขา ให้หัวอ่อนลงหน่อย จะได้ยอมรับความเห็นตรงข้ามบ้าง

เจาะจงกว่านี้คือสติกลิทซ์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน เขียนหนังสือเล่มนี้สำหรับชาวอเมริกัน ซึ่งส่วนใหญ่ศรัทธาลัทธิทุนนิยมตั้งแต่แรก ดังนั้นถ้าคนไทย ซึ่งมีพื้นฐานทางวัฒนธรรมเป็นไม้เบื่อไม้เมากับไอ้คำสั้นๆ สามพยางค์นี้ อ่านหนังสือเล่มนี้ ก็ควรอ่านอย่างมีวิจารณญาณ อ่านระหว่างบรรทัด อ่านสิ่งที่สติกลิทซ์ไม่ได้เขียน (เราถึงกับโทรศัพท์ไปถามเพื่อนที่เรียนเศรษฐศาสตร์เลยว่า นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เขาเขียนหนังสือกันแบบนี้หรือ คำตอบคือใช่ นักเศรษฐศาสตร์มักจะโผงผาง พูดจาสุดโต่ง เพราะพวกเขาถือว่า เสนออะไรไป อย่างไรก็มีอีกโรงเรียนหนึ่งมาคอยคัดง้างความเชื่อของพวกเขาอยู่ดี)

ทั้งนี้ทั้งนั้นใช่ว่าสติกลิทซ์จะต่อต้านทุนนิยมหรืออะไรหรอก เขาไม่ได้ต่อต้านกระทั่งโลกาภิวัฒน์เหมือนในชื่อหนังสือด้วยซ้ำ เป้าโจมตีของ Globalization and its Discontents คือองค์กรการเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ IMF (สติกลิทซ์ไม่ได้พูดถึงธนาคารโลกในแง่ลบเลย เพราะตัวเขาเองก็เคยทำงานอยู่ที่นั่น ซ้ำยังแอบชื่นชมด้วย บอกแล้วว่านักเศรษฐศาสตร์ต้องสุดโต่ง) สรุปสั้นๆ คือความล้มเหลวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศตั้งแต่รัสเซีย แอฟริกา จนถึงเอเชีย มีต้นเหตุมาจาก IMF และการ "แก้ปัญหา" ของ IMF ส่งผลเสีย มากกว่าผลดี

ถ้าให้สรุปสั้นๆ ในภาษาของเราเอง ความผิดพลาดหลักของ IMF คือการสับสนระหว่าง diachronic และ synchronic rules หรือกฎที่ใช้ในการพัฒนาประเทศ และกฎที่ใช้ในประเทศซึ่งพัฒนาแล้ว (ศัพท์สองตัวนี้ไม่อยู่ใน Globalization and its Discontents หรอกนะ แต่มาจาก Courses in General Linguistics บอกแล้วว่าเล่มนั้นของเขาดีจริงๆ ) ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เอกชนเข้ามาดำเนินการจัดการทรัพยากร แต่ไม่ได้หมายความว่า การทำประเทศด้อยพัฒนา ให้กลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วต้องโอนถ่ายทรัพยากรจากหน่วยรัฐ ไปยังหน่วยเอกชนในทันที แบบนั้นเรียกว่า shock treatment ซึ่งเป็นต้นเหตุของความล้มเหลวในรัสเซีย

ในฐานะที่มีรุ่นพี่ใจดีทำงานอยู่ IMF เราอยากออกตัวปกป้องสถาบันการเงินระหว่างประเทศสถาบันนี้สักเล็กน้อย ไม่ได้หมายความว่าเราไม่เห็นด้วยกับสติกลิทซ์หรอกนะ แต่เราเข้าใจความขัดแย้งระหว่างปรัชญาเศรษฐศาสตร์ของสองโรงเรียนนี้ IMF เชื่อว่าประเทศที่ยากจน ต้องทำตัวเป็นประเทศยากจน รัดเข็มขัด ประหยัดตัง และสร้างสมดุลบัญชี ให้รายได้ มากกว่ารายจ่าย สติกลิทซ์ไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ เขามองว่าช่วงวิกฤติเงินบาทลอยตัว IMF บังคับให้ประเทศไทยนำเข้า มากกว่าส่งออก ทำให้วิกฤติการเงินแพร่ไปยังอินโดนีเซีย สิงคโปร์ จีน เกาหลี และประเทศอื่นๆ เลยยิ่งส่งผลให้สถานการณ์โดยรวมเลวร้ายลงไปใหญ่ พูดอย่างง่ายๆ โง่ๆ สติกลิทซ์เชื่อว่า ประเทศยิ่งยากจน ก็ยิ่งต้องมือเติบ (อย่างถูกวิธี) คืออัดโครงการพื้นฐานสังคม (infrastructure) เพื่อสร้างงาน ความคิดนี้ค่อนข้างขัดแย้งกับปรัชญาพอเพียงแบบไทยๆ (ซึ่งใกล้เคียงกับปรัชญา IMF มากกว่า)

ไม่ทันไรก็ทำตัวเป็นนักเศรษฐศาสตร์แล้วเรา ที่กล่าวไปนี้เป็น Stiglitzism ฉบับ bastardized มากๆ เพราะวิกฤติมาในรูปแบบที่แตกต่างกัน จะแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้หมดคงไม่ได้ จริงๆ เราสนใจเรื่องนี้มาก แอบอยากเขียนต่อว่าถ้าสติกลิทซ์ได้มีโอกาสพูดถึงนโยบายทุนนิยมสุดโต่งของคุณทักษิณ เขาจะวิจารณ์มันในแง่ไหนบ้าง แต่วันนี้ขี้เกียจคุยเรื่องการเมือง ขอจบแค่นี้แล้วกัน

F. de Saussure's "Course in General Linguistics"


ถ้าให้จัดอันดับสิบหนังสือยอดเยี่ยมที่เราอ่านประจำปีนี้ แน่นอนว่าต้องมี Course in General Linguistics แน่ๆ ไม่บ่อยนักจะได้อ่านหนังสือสักเล่มซึ่งซับซ้อน ลุ่มลึก แต่ก็อ่านง่าย และสวยงามในขณะเดียวกัน

Course in General Linguistics น่าจะเป็นต้นกำเนิดของวิชาสัญศาสตร์ (semiotics) ที่มีอุมเบโต เอโคเป็นนักวิชาการหัวหอก ใน Course in General Linguistics เซอซัวสร้างวิชาการแขนงใหม่นี้ขึ้นมา โดยแยกสัญศาสตร์ออกจากภาษาศาสตร์ และปรัชญาการสื่อสารแขนงอื่นๆ เช่นนิรุกติศาสตร์ (Philology) หรือการศึกษาประวัติศาสตร์ภาษาผ่านศิลาจารึก และบันทึกชนเผ่า (นักนิรุกติศาสตร์ที่โด่งดังของไทยได้แก่จิต ภูมิศักดิ์) โดยให้เหตุผลว่าภาษาเขียนเป็นแค่รูปเงาของ "ภาษา" หรือการจับ "ภาษา" มาแช่แข็งให้หยุดนิ่งคงที่ผ่านวันเวลา "ภาษา" ของเซอซัวหมายถึงระบบโครงสร้างระหว่างสัญลักษณ์ และความหมาย

ใครอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วจะพบว่า "ภาษา" เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มากๆ เพราะมันมีทั้งความสุ่มมั่ว (random) และความหยุดนิ่ง (static) ได้พร้อมกัน ไม่มีเหตุผลใดที่การผสมกันระหว่างพยัญชนะ ต เต่า และ สระอา หรือ "ตา" จะหมายถึงอวัยวะที่ใช้มองเห็น แต่ขณะเดียวกัน อยู่ดีๆ เราไม่อาจลุกขึ้นมาประกาศว่าตั้งแต่บัดนี้อวัยวะที่ใช้มองเห็นคือ "ตู" น่าทึ่งไปกว่านั้น คือภาษาหยุดนิ่งได้ เพราะมันสุ่มมั่ว ไม่มีใครสามารถยืนยันว่า "ตา" ไม่เหมาะจะเป็นอวัยวะที่ใช้มอง เพราะถ้าเราทำแบบนั้น ก็อาจมีคนตั้งคำถามว่า ทำไม "หู" ถึงเหมาะจะเป็นอวัยวะที่ใช้ฟังเสียง เมื่อนั้นก็หมายถึงการพังทลายของภาษา

ความสุ่มมั่วคือความยุติธรรมของสังคม คนเราไม่อาจถกเถียงกับความสุ่มมั่วได้ (แม้ว่านักสังคมนิยมเช่นจิตร ภูมิศักดิ์จะพยายามทำเช่นนั้นมาตั้งแต่ร้อยกว่าปีที่แล้วก็ตาม)

จริงๆ คงมีคนตระหนักมาตั้งนานแล้วว่า "ภาษา" คือความสัมพันธ์ระหว่างสัญลักษณ์ และความหมาย แต่ที่แปลกใหม่ในระบบความคิดของเซอซัวคือการจับโครงสร้างนิยาม (Structuralism) มาอธิบายความสัมพันธ์ดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น "มานีมีตา" เวลาเราอ่านประโยคนี้ เราไม่ได้คิดว่า สัญลักษณ์ "มานี" เป็นประธานหมายถึงเด็กผู้หญิงชื่อมานี กระทำกิริยา "มี" และสิ่งที่เธอมีนั้นคือ "ตา"

การคิดแบบข้างบนคือการแยกแต่ละคำออกมาเป็นหน่วยย่อยของภาษา แต่เซอซัวเชื่อว่าภาษาคือสิ่งที่ไม่อาจแตกย่อย กล่าวคือเวลาเราอ่านประโยค "มานีมีตา" ความหมายของ "มี" และ "ตา" ได้แทรกอยู่ใน "มานี" ตั้งแต่ต้น เมื่อเราเจอสัญลักษณ์ "มานี" เราจะคิดในใจทันทีว่าประธานตัวนี้ต้องการกริยา อาจจะเป็น "มี" "บิน" "ถีบ" หรือว่า "วิ่ง" ซึ่งถ้าเป็น "มี" หรือ "ถีบ" ก็ต้องมีกรรมแทรกอยู่ในความหมายของ "มานี" ด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความหมายของคำสามคำ "มานี" "มี" และ "ตา" แทรกสอด และหลั่งไหลเข้าไปยังคำอื่นๆ ที่อยู่ในประโยคเดียวกัน

ความคิดนี้เจ๋งโคตรๆ และเราเชื่อว่าจริงมากๆ ลองเปรียบเทียบสี่ประโยคนี้ดู

มานีมีตา
Manee has eyes.
Manee hat Augen.
Maneesan wa, me ka imasu.

ยิ่งภาษาที่เราอ่านไม่รู้เรื่องเท่าไหร่ การหลั่งไหลของความหมายไปยังคำที่อยู่ใกล้เคียงก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น คนที่พอรู้ญี่ปุ่นงูๆ ปลาๆ อย่างเรา พอเจอประโยคที่สี่ ต้องมาค่อยๆ ตีสัญลักษณ์ทีละตัว ก่อนนำความหมายมาประกอบเข้าด้วยกัน ซึ่งแตกต่างจากการอ่านสองประโยคแรกอย่างชัดเจน

นอกจากความคิดจะสุดยอดแล้ว เซอซัวยังอธิบายมันได้อย่างเรียบง่าย และสง่างาม ใครที่อ่านบลอคนี้ไม่เข้าใจ แต่สนใจสัญศาสตร์ ขอให้รีบไปหา Course in General Linguistics มาอ่านโดยด่วน เพราะนอกจากเข้าใจง่ายแล้ว ยังมีรูปประกอบชัดเจน และสวยงามอีกด้วย

as the world falls down


คืนนี้เหงาจัง ทั้งที่จริงๆ วันนี้มีเรื่องน่ายินดีเกิดขึ้นกับเรา แต่ก็คงเหมือนที่เขาพูดๆ กันนั่นแหละ ว่าความเหงา คือการที่เรามีเรื่องน่ายินดี แต่ไม่มีใครแบ่งปันความสุขนั้น หรือบางทีอาจเป็นเพราะไปดูหนังเรื่อง The Wrestler มา หนังดีมาก ดูไปร้องไห้ไปเลย เรื่องของผู้ชายที่ล้มเหลวในชีวิตส่วนตัวโดยสิ้นเชิง แต่มีเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจคือกีฬามวยปล้ำที่เขารัก หรืออาจเพราะมาริสา โทเมหน้าตาคล้ายๆ ผู้หญิงคนหนึ่ง ที่เราอยู่ด้วยในคืนวันคริสมาสต์ปีที่แล้ว...

ขอฝากเพลงเหงาๆ สักเพลง ในคืนนี้แล้วกัน จากภาพยนตร์เรื่อง Labyrinth ขับร้องโดยเดวิด โบวี (จริงๆ เพลงเอกของ The Wrestler ที่บรูซ สปริงทีนร้องก็เพราะมากๆ เช่นกัน)
As such a sad love
Deep in your eyes, a kind of pale jewel
Open and closed within your eyes
I'll place the sky within your eyes
รักแสนโศกา ในดวงตาเธอ ประกายริบหรี่ ดุจดังมณีร้าว...ฉันขอระบายนภาในตาคู่นั้น
There's such a fooled heart
Beating so fast in search of new dreams
A love that will last within your heart
I'll place the moon within your heart
หัวใจอันโง่งม ยังตามหาความฝันใหม่ และรักที่ยืนยง...ฉันขอวางจันทราในฤทัยเธอ
As the pain sweeps through
Makes no sense for you
Every thrill has gone
Wasn't too much fun at all
But I'll be there for you
As the world falls down
แสนปวดร้าวทรมาน ไม่อาจเอ่ยบอกใคร ความตื่นเต้นละเลือนหาย ความสนุกจากมลาย แต่ฉันจะอยู่ที่นั่น ตราบวันสิ้นโลกา
I'll paint you mornings of gold
I'll spin you valentine evenings
Though were strangers till now
Were choosing the path between the stars
I'll leave my love between the stars
ฉันจะระบายอรุณรุ่งให้เป็นสีทอง สายัณต์ให้เป็นสีชมพู แม้เราเป็นแค่คนแปลกหน้า แต่เราจะท่องจักรวาลไปด้วยกัน และฝากรักไว้กับดวงดาว
As the pain sweeps through
Makes no sense for you
Every thrill has gone
Wasn't too much fun at all
แสนปวดร้าวทรมาน ไม่อาจเอ่ยบอกใคร ความตื่นเต้นละเลือนหาย ความสนุกจากมลาย
...But I'll be there for you
As the world falls down...
...แต่ฉันจะอยู่ที่นั่น อยู่กับเธอ ตราบวันสิ้นโลกา...

J. Mitchell's "Psychoanalysis and Feminism"


ก่อนที่ The Interpretation of Dreams จะได้ถูกตีพิมพ์ในปี 1899 ฟรอยด์คงคาดไว้อยู่แล้วว่าหนังสือเล่มนี้คงก่อให้เกิดกระแสต่อต้าน (นี่คือตำราต้นกำเนิดของปมออดิปุส ลูกชายฆ่าพ่อเพื่อเอาแม่มาเป็นเมีย) แต่เป็นการต่อต้านในลักษณะใด ฟรอยด์จะรู้ล่วงหน้าหรือเปล่าว่าไม่ใช่โบสถ์ หรือกลุ่มอนุรักษ์นิยม แต่เป็นนักวิชาการฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ และกลุ่มสิทธิสตรีที่เป็นหัวหอกโต้แย้งแนวคิดของเขา ไปๆ มาๆ กลับกลายเป็นทฤษฎีของฟรอยด์ถูกมองว่าเป็นเครื่องมืออุดมคติของชนชั้นปกครอง

Psychoanalysis and Feminism ถูกตีพิมพ์ประมาณปี 1970s จะมองว่ามันคือจดหมายรักของมิทเชล แด่ฟรอยด์ ศัตรูคู่อาฆาตของนักสิทธิสตรีเช่นเธอก็ได้ หลักๆ ของหนังสือเล่มนี้คือวิภาษวิธีจิตวิเคราะห์ โดยมิทเชลพูดถึงทฤษฎีของฟรอยด์ (thesis) ทฤษฎีโต้ฟรอยด์ ทั้งจากค่ายคอมมิวนิสต์ และค่ายเฟมินิสต์ (antithesis) ก่อนจะปิดท้ายด้วยการผูกสองทฤษฎีนี้เข้าด้วยกัน (synthesis)

มิทเชลยกตัวอย่างนักคิดโต้ฟรอยด์จากค่ายคอมมิวนิสต์มาสองคน คือวิลเฮม ไรช และอาร์ ดี แลงก์ สารภาพเลยว่าไม่ค่อยประทับใจไรชเท่าไหร่ รู้สึกหมอเป็นพวกฉลาดแบบแกนๆ รู้ครึ่งไม่รู้ครึ่ง อ่านฟรอยด์ไม่แตก แล้วยังดันทุรังไปโต้ (ว่ากันจริงๆ ก็เหมือนพวกนักวิชาการหัวเอียงซ้ายส่วนใหญ่นั่นแหละ ชี้ๆ หน้าได้เลยว่ามีสักกี่คนที่เข้าใจทุนนิยม) แลงก์น่าสนใจกว่ามาก เขากล่าวว่าพัฒนาการของเด็กชาย และเด็กหญิงตามที่ฟรอยด์เสนอ (ปมออดิปุส ความอิจฉาองคชาติ การกลัวถูกตอน และอื่นๆ ) เป็นจริงได้เฉพาะแต่ในสังคมทุนนิยมเท่านั้น ซึ่งตรงนี้คล้ายๆ กับแนวคิดของไซมอน ดี บัวเวียร์ นักสตรีวิทยา ที่บอกว่าทฤษฎีของฟรอยด์ใช้ได้เฉพาะในสังคมที่เพศผู้เป็นใหญ่

Psychoanalysis and Feminismมีประเด็นน่าสนใจเยอะ แต่เหมือนมิทเชลสรุปรวบยอดแนวคิดของคนอื่น มากกว่าจะพยายามพูดถึงอะไรแปลกใหม่ หรือที่เป็นของตัวเอง เหมาะสำหรับคนที่ต้องการเรียนลัดจิตวิเคราะห์ สตรีวิทยา และจิตวิเคราะห์-มาร์กซิส (ซึ่งเราเองก็อยู่ในกลุ่มนี้) จนกว่าจะถึงวันที่เราอ่าน Ecrits รู้เรื่อง Psychoanalysis and Feminism คงเป็นหนึ่งในบันไดที่ช่วยให้เราก้าวไปถึงวันนั้น

J. Rose's "Sexuality in the Field of Vision"


เราชอบ Carrie มาก ไม่ว่าจะเป็นฉบับหนังของเดอพัลมา หรือนิยายของคิงก์ Carrie เป็นหนึ่งในนิยายเล่มแรกๆ ที่เราอ่านเป็นภาษาอังกฤษ (Thinner ของคิงก์เหมือนกันคือเล่มแรก) ฉบับหนังก็ดู และหลงรัก(?)มาตั้งแต่เด็ก กระนั้นถ้าจะมีอะไรที่เราอยากเปลี่ยน ก็คือ split screen ช่วงแครีเผางานพรอม กำลังอินอยู่ดีๆ โดน split screen เข้าไปปุ๊บ รู้สึกเหมือนถูกซัดให้หลุดออกจากโลกของภาพยนตร์ทันควัน

ใน Sexuality in the Field of Vision โรสบอกว่าเธอชอบหนังเรื่องนี้เช่นกันโดยเฉพาะฉากนี้ นักจิตวิเคราะห์สตรีวิทยาผู้นี้เชื่อว่าภาพยนตร์คือศิลปะแห่งการนำเสนอ (representation) เสน่ห์ของภาพยนตร์คือผู้เสพสามารถ disavowal หรือแยกตัวเองออกจากสิ่งที่ตนกำลังดู อีกนัยหนึ่งคือสะกดจิตตัวเองว่าสิ่งที่ฉันเห็นมันไม่จริง (เป็นแค่ภาพ) แต่ตอนนี้ฉันจะยอมโง่ และเชื่อว่ามันคือความจริงไปก่อน พูดง่ายๆ สำหรับโรสแล้ว หนังที่ดีต้องมีความ meta อยู่บ้าง ไม่ใช่หลอกให้คนดูเชื่อสนิทตั้งแต่ต้นจนจบ (ใน Femme Fatale ภาพยนตร์ยุคหลังของเดอพัลมาก็มี split screen เหมือนกัน แต่เหมือนใช้เป็นเครื่องมือหลอกคนดู ให้อินไปกับเรื่องมากกว่า เช่นเดียวกับ split screen ของอังลีใน The Incredible Hulk)

อะไรคือคุณค่าของหนังที่ซัดคนดูออกจากโลกแห่งภาพยนตร์? โรสอ้างลากอง ผู้กล่าวว่าภาษา อันเป็นเครื่องมือพื้นฐานเชื่อมต่อปัจเจกและโลกภายนอก คือศาสตร์แห่งการนำเสนอเช่นกัน เมื่อเราพูดถึง "สุนัข" คำนาม "สุนัข" ถูกใช้แทนสิ่งที่ไม่อยู่ตรงหน้า มิเช่นนั้นก็คงใช้อวัจนภาษาชี้ไปที่สุนัขเลยจะสะดวกกว่า แต่ภาษาถูกใช้ในชีวิตประจำวันจนเราลืมคุณสมบัติความเป็นปริทรรศน์ของมันไปเสีย การชมภาพยนตร์ก็คือการถูกกระตุ้นเตือนให้ระลึกถึงความซับซ้อนตรงนี้

หนังอีกเรื่องที่โรสชอบคือ Coma โดยเธอให้เหตุผลว่าตัวเอกเป็นผู้หญิง สืบสวนคดีฆาตกรรมในโรงพยาบาล ซึ่งธรรมดาบทบาทนี้มักเป็นของตัวละครชาย ถึงจะไม่มีเทคนิกทางภาพยนตร์แปลกๆ (ผู้กำกับ Coma ไม่ใช่ใครอื่น ก็ไมเคิล คริชตันนี่แหละ) แต่การที่ซูซาน ซาแรนดอนแสดงนำให้ "ภาพยนตร์สไตล์ฮิชคอก" ก็บ่งบอกถึงความ meta แล้ว โรสจึงอดไม่ได้จะผิดหวังนิดๆ เมื่อสุดท้ายก็เป็นไมเคิล ดักลาสขี่ม้าขาวมาช่วยนางเอก (ไม่รู้เหมือนกันโรสจะคิดอย่างไรกับหนังซุปเปอร์ฮีโรหญิงในปัจจุบัน)

พูดเรื่องหนังมาเสียยาว จริงๆ แล้วประเด็นนี้เป็นแค่ติ่งเดียวเองของ Sexuality in the Field of Vision หนังสืออีกเล่มหนึ่งที่อ่านยากมาก โรสพูดถึงสตรีวิทยาซึ่งพัฒนามาจากจิตวิเคราะห์ โดยเธอเน้นว่าความแตกต่างระหว่างผู้หญิง และผู้ชาย คือโครงสร้างหลักของภาษา พูดกันอย่างสุดโต่ง จนกว่าเด็กจะเรียนรู้ และสำนึกในอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง (ขณะเดียวกันก็แยกแยะตัวเองจากเพศตรงข้ามได้) พัฒนาการทางภาษาไม่อาจเกิดขึ้นในตัวเด็กคนนั้น

ยังมีอะไรที่เราต้องศึกษาอีกมาก ถ้าวันหลัง ได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับหัวข้อนี้เพิ่มเติมเมื่อไหร่ คงได้แวะเวียนมาพูดถึงมันอีก

S. Jackson's "The Melancholy of Anatomy"


เชลลี แจคสันเคยมาพูดที่มหาวิทยาลัยเราด้วย จำหัวข้อสัมนาไม่ได้แล้ว คุ้นๆ ว่านิยายเหนือจริงๆ อะไรสักอย่างแล้วตบท้ายด้วย "...ลูกสาวของแองเจลา คาเตอร์" ผู้สัมนานอกจากแจคสัน ยังมีนักเขียนหญิงอีกสามคน ต่างล้วนเขียนหนังสือในสไตล์ของแองเจลา คาเตอร์ (หนึ่งในนั้นคือเอมี เบนเดอร์ อาจารย์ที่สอนวิชาการเขียนให้กับเรา จำได้ว่าเธอยังเคยเอาเรื่องสั้น In the Company of Wolves ของคาเตอร์ มาให้เราอ่านในชั้นเรียนเลย)

The Melancholy of Anatomy ดีกว่าที่คาด บางเรื่องก็ชวนให้นึกถึง Cosmicomic ซึ่งเราถือว่าเป็นสุดยอดรวมเรื่องสั้น เรื่องที่ดีสุดในเล่มนี้พอฟัดพอเหวี่ยงกับผลงานของคาลวิโนอยู่เหมือนกัน (โดยเฉพาะ Blood ว่าด้วยผู้หญิงกลุ่มหนึ่งซึ่งมีหน้าที่ขัดล้าง เช็ดถูเลือดพระแม่ธรณี ผู้หญิงเหล่านี้ต้องลงไปสำรวจโพรงใต้ดินซึ่งต่อไปยัง "จิ๋ม" ของพระแม่ธรณี และทุกๆ เดือนจะมีเลือดประจำเดือนไหลออกมา ถ้าบอกว่าคาลวิโนเขียน Blood สำหรับ Cosmicomic ภาคสาม ก็พอจะเชื่อได้ไม่ยาก) แต่ไปเสียคะแนนตรงไอ้เรื่องอื่นๆ จากสิบสามเรื่องสั้นในเล่ม ที่สุดยอดจริงๆ มีสักสอง หรือสาม และที่สอบไม่ผ่าน มีอีกครึ่งหนึ่งได้

The Melancholy of Anatomy ถูกแบ่งเป็นสี่บทตาม "ธาตุอารมณ์" ทั้งสี่ choleric, melancholic, phlegmatic และ Sanguine โดยแต่ละบทแบ่งเป็นสามเรื่องย่อย บวกกับเรื่องสั้น Heart เปิดเล่ม ธาตุอารมณ์สี่ชนิดนี้มีความหมาย แต่รู้สึกว่าไม่สัมพันธ์กับสามเรื่องสั้นในบทขนาดนั้นแฮะ เลยคิดว่าแจคสันตั้งไว้เท่ๆ มากกว่า

ชอบ "โจทย์" ของแจคสันในเล่มนี้ เธอจงใจเล่นกับ "คำ" และ "หมายความ" จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคำเรียกส่วนหนึ่งของร่างกายมนุษย์ที่เราคุ้นเคยดี ถูกใช้ในความหมายอื่น เช่นใน Sperm สเปิร์มคือสิ่งมีชีวิตอีกประเภทหนึ่ง กึ่งๆ ซอมบี้ กึ่งๆ ม้า รสโอชา แต่ถ้าไม่ควักสมองออก จะไม่มีวันตาย สาวๆ ชอบเอามาเลี้ยงตอนยังเป็นตัวอ่อน แต่พอโตขึ้นมา ก็ดุร้ายใช่เล่น หรือ Foetus ซึ่งตัวอ่อนในเรื่องหมายถึงมนุษย์ต่างดาว (หรือสิ่งมีชีวิตไม่จำกัดนิยามอันมีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับมนุษย์ต่างดาว) ตอนไปฟังแจคสัน ก็คุ้นๆ ว่าเธอจะพูดเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง "คำ" และ "ความหมาย" และการย่อยแยกโครงสร้างของภาษา

ใน Nadja ได้พูดไปแล้วว่าปัจจุบัน ไม่ค่อยมีใครเขียนนิยายเซอร์เรียล กรณีแจคสัน เราอยากเรียกมันว่าเรื่องสั้น "ทดลองย่อยแยก" มากกว่า ยกเว้น Egg และ Hair ซึ่งได้บรรยากาศแบบเซอร์เรียล Hair เป็นเรื่องสั้นที่ไม่มีอะไรน่าจดจำเลย ยกเว้นแค่ย่อหน้าเดียว เมื่อตัวเอกหญิงบรรยายว่าหลังจากเขียนจดหมายรัก และเซนต์ชื่อเสร็จ อยู่ดีๆ ลายเซ็นของเธอมันก็ติดปากกาขึ้นมาด้วย เธอถึงเพิ่งตระหนักว่าตัวอักษรทั้งหมดที่เธอเขียน จริงๆ คือเส้นผมยาวๆ และเมื่อเธอยกปากกาขึ้น ทุกอย่างก็หายสูญไปเหลือเพียงเส้นผมติดปลายปากกา สุดยอด! นึกถึงตอนไปดูภาพของมากริต บางภาพชอบมากถึงขนาดว่า ถ้าเขียนเรื่องสั้นสักเรื่อง แล้วยัดภาพสวยๆ แบบนี้ลงไปให้คนจดจำได้ ก็ถือว่าสอบผ่านแล้ว

ประทับใจแจคสันจากสัมนาคราวนั้นมาก (เธอยังเล่าให้ฟังถือ Skin Project ซึ่งเป็นการสักคำแต่ละคำจากเรื่องสั้นเรื่องใหม่ของเธอ ลงบนผิวหนังอาสาสมัคร 1000 คน) จริงๆ แล้วก็ประทับใจหมดทั้งสี่คนเลย ว่ากันตรงๆ ในทะเลอันกว้างใหญ่ของวรรณกรรมอเมริกา ลูกสาวสี่คนนี้ยังจัดว่าอยู่ในขั้น "ปลายแถว" แต่พอฟังพวกหล่อนพูด ทั้งอึ้ง และทึ่งว่าทำไมถึงได้ชาญฉลาดกันขนาดนี้ พูดถึงความแน่นทางด้านทฤษฎีวรรณกรรมแล้ว นักเขียนชั้นนำของเมืองไทยชิดซ้ายกันเป็นแถว

I. Murdoch's "The Red and the Green"


ถ้าให้ตอบสั้นๆ ว่าชอบไหม คงตอบว่า "ไม่ชอบ" แต่ The Red and the Green ก็เป็นนิยายที่มีประเด็นให้หยิบยกมาพูดคุยได้ร้อยแปด ประการแรกเพราะมันต่างจากเล่มอื่นของผู้เขียนค่อนข้างมาก เมอดอชเกิดในปี 1918 นิยายส่วนใหญ่ของเธอจึงเซ็ทในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีบรรยากาศที่ "ไร้กาล" เป็นเรื่องของตัวละครในจักรวาลปิด อันไม่เกี่ยวไม่ข้องใดๆ กับประวัติศาสตร์ เว้นแต่ทฤษฎีประวัติศาสตร์ และการเมืองซึ่งตัวละครถกเถียงกันเพื่อความบันเทิงของผู้อ่าน

The Red and the Green คือนิยายที่บรรจุตัวเอง (อย่างไม่แนบเนียน) ลงไปในประวัติศาสตร์ (หรือจะพูดว่าบรรจุประวัติศาสตร์ลงไปในนิยายอย่างไม่แนบเนียนก็ได้) เหตุเกิดช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (ก่อนเมอดอชจะเกิดสามปี) เมื่อหน่วยกู้ชาติไอแลนด์ทำสัญญาอย่างลับๆ กับรัฐบาลเยอรมัน ว่าจะช่วยช่วยก่อศึกในบ้านให้อังกฤษ โดยแลกกับอิสรภาพบนแผ่นดินไอร์แลนด์ แน่นอนว่านี่คือนิยายเมอดอช ยังไงก็ขาดรักหลายเส้าไปไม่ได้ นอกจากประวัติศาสตร์กู้ชาติไอร์แลนด์แล้ว ยังมี "มะรุมมะตุ้มรุมรักมิลลี" ด้วย สองส่วนของนิยายนี้ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกันเท่าไหร่ เราถึงบอกว่าเป็นการผสานอย่างไม่ค่อยแนบเนียน

มีบางอย่างในโลกของ The Red and the Green ที่ช่างไม่เข้ากันกับนิยายเมอดอชเอาเสียเลย กระทั่งถึงบทสุดท้าย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในอีกยี่สิบปีให้หลัง เราถึงตระหนักว่า ประวัติศาสตร์ยุโรปก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง "บริสุทธิ์" เกินไปสำหรับเมอดอช ในยุคนั้น เรายังบอกได้ว่าใครดี ใครเลว ประเด็นด้านการเมืองเลยไม่เข้มข้นเท่าที่ควร เวลาฟังตัวละครถกเถียงกัน เยอรมันปะทะอังกฤษ สังคมนิยมปะทะทุนนิยม สงครามปะทะสันติภาพ แล้วไม่เข็ดฟันได้ใจเหมือนใน The Book and the Brotherhood หรือ A Fairly Honorable Defeat

ประเด็นนิยาย "น้ำเน่า" ของมันก็ไม่ลุ่มลึกเท่าไหร่ด้วย มิลลีซึ่งเป็นศูนย์กลางของเรื่อง ถ้าเทียบกับ "แม่มด" คนอื่นๆ ของเมอดอชแล้วชิดซ้ายตกขอบ ถ้าใช้คำบรรยายของตัวละครในเล่ม มิลลีดูเหมือน "ผู้หญิงชั้นต่ำ" วิ่งพล่านไปนู่นมานี่ เพื่อสนองความต้องการฉับพลันของตัวเอง ทั้งที่ชะตาชีวิตของเธอน่าเห็นใจ และน่าสาสมอยู่ไม่น้อย แต่เรากลับไม่ผูกพันกับตัวละครตัวนี้ น่าผิดหวัง และน่าแปลกใจ เพราะธรรมดาตัวละครอย่างมิลลี เมอดอชหลับตาข้างเดียว ก็เขียนได้ไม่ยาก มิลลีคือแม่มดผู้ปราศจาก "เวทมนต์" อันที่จริงนี่เป็นนิยายแห้งๆ ปราศจากเวทมนต์โดยสิ้นเชิง ทั้งที่เกิดในไอร์แลนด์ดินแดนแห่งภูตแท้ๆ

ถ้าให้เราวิเคราะห์ ความล้มเหลวของนิยายเรื่องนี้อาจเป็นเหตุผลส่วนตัวของผู้เขียน เมอดอชแทบไม่เคยเขียนอะไรเกี่ยวกับไอร์แลนด์อีกเลย ทั้งที่เธอก็เป็นไอริชแท้ๆ (เราเองก็เพิ่งรู้ ถ้าให้เดา จะบอกว่าเธอเป็นยิว) บางทีเมอดอชอาจมีปมบางอย่างเกี่ยวกับต้นกำเนิดของตัวเอง การเขียน The Red and the Green ทำให้เธอได้ใกล้ชิดกับ "ปีศาจ" ของตัวเอง จึงตัดสินใจว่า คงดีกว่าหากเธอปล่อยไอร์แลนด์ให้เป็นหน้าที่ของนักเขียนคนอื่น

A. Breton's "Nadja"


เอนเดร เบรตันคือบิดาแห่งวรรณกรรมแนวเหนือจริง (surrealism) วรรณกรรมแนวเหนือจริง คือวรรณกรรมที่ปัจจุบันไม่มีใครอ่าน หรือเขียนมันอีกแล้ว Nadja ซึ่งถูกตีพิมพ์ในปี 1928 สมควรจะเป็นคัมภีร์ของวรรณกรรมแนวเหนือจริง แต่แปดสิบปีผ่านไป มันกลายเป็นตัวอย่างความล้มเหลวของวรรณกรรมแนวเหนือจริงเสียมากกว่า (ใช้คำว่า "ไม่มีใครอ่าน หรือเขียน" อาจฟังแล้วรุนแรงเกินไป แต่อย่าลืมว่าภาพวาดเซอร์เรียลเป็นที่นิยม และมีคนรู้จักมากสักแค่ไหน)

ใช่ว่าวรรณกรรม "เหนือจริง" หรือ "ไม่สมจริง" จะไม่มีให้เราอ่านเลย แต่วรรณกรรมเหล่านั้น ถูกจัดให้อยู่ภายใต้ฉลากอื่นเช่น สัจนิยมมายา หลังสมัยใหม่ แฟนตาซี วิทยาศาสตร์ กระแสสำนึก หรือ แนวไร้สาระ เป็นเรื่องตลกที่เบรตันคงขำไม่ออก ว่าสิ่งที่กลืนวรรณกรรมเซอร์เรียล ไม่ใช่วรรณกรรมสมจริง (อัตนิยม) แต่เป็นวรรณกรรมเหนือจริงแนวอื่นต่างหาก

น่าสนใจมากว่า สัจนิยมมายา หลังสมัยใหม่ และแนวไร้สาระ มันเหมือน หรือแตกต่างจากแนวเหนือจริงตรงไหน เบรตันปฏิเสธปรัชญาจิตวิเคราะห์ (psychoanalysis) ใน Nadja เขาได้ทำนายว่าอีกไม่นาน จะไม่มีใครอ่านนิยายแนวจิตวิเคราะห์อีกต่อไปแล้ว! (ฮา) แปลว่าเซอร์เรียล ต้องปฏิเสธฟรอยด์ หรือจุงกระนั้นหรือ ในฐานะที่เราคุ้นเคยกับเดลี มากริต และเอิร์น ตอบได้เลยว่า "ไม่" มิฉะนั้นสำนักพิมพ์เพนกวินจะเอาภาพวาดของศิลปินเหล่านี้มาเป็นปกหนังสือชุดของฟรอยด์ได้อย่างไร

เบรตันต่อต้านฟรอยด์ เขาไม่เชื่อในการอ่านความฝัน ที่จริงเบรตันปฏิเสธนิยายแนวจิตวิทยาทุกประเภท Nadja ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างเบรตัน หรือ "ผม" ในนิยาย และผู้หญิงลึกลับจึงมีคุณสมบัติคล้ายความฝัน แต่ขาดความลึกซึ้ง และแง่มุมทางจิตวิทยา ซึ่งขัดกับสามัญสำนึกของนักอ่านในปัจจุบัน เรามักโยงอะไรที่ "เหนือจริง" หรือ "ไม่สมจริง" เข้าหาวิทยาศาสตร์ เวทมนต์คาถา หรือถ้าไม่อย่างนั้นก็จิตวิทยา

Nadja จะว่าไป ก็เป็นนิยายที่น่าสงสารอยู่ไม่น้อย เมื่อปราศจาก "นิยายลูก" คัมภีร์เซอร์เรียลเล่มนี้เลยดูน่าเย้ยหยันโดยพลัน ลองคิดง่ายๆ ว่า ถ้านิยายของคาฟคาไม่ดลบันดาลให้เกิดนิยายลูกเรื่องอื่นๆ ตามมาเลย The Trial จะเป็นหนังสือที่น่าเย้ยหยันสักแค่ไหน Nadja เหมือนสัตว์สูญพันธุ์ ที่แม้จะไม่ผ่านกระบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติ แต่ในความล้มเหลว มักมีแง่มุมน่าศึกษา น่าสนใจซ่อนอยู่เสมอ